ตลอดเส้นทางการทำงานพื้นที่เรียนรู้ของ 10 พื้นที่ตัวอย่าง เต็มไปด้วยประสบการณ์ ความสมหวัง ผิดหวัง บทเรียน รวมไปถึงหลุมพรางที่เคยเจอและต้องการบอกเล่าเป็นวิทยาทานแก่ผู้ที่สนใจสร้างพื้นที่เรียนรู้ ให้ระมัดระวัง แต่ไม่ใช่หวาดระแวง คำเตือนเหล่านี้จะเป็นเสมือนเพื่อนร่วมทางที่ให้รู้ว่า หากพบเจอสถานการณ์หรือสภาวะคล้ายกันนี้ คุณไม่ใช่คนแรกและคนเดียวที่เจอ ตกหลุมพรางเมื่อไหร่ ให้เก็บไว้เป็นบทเรียนอันล้ำค่า
- ระวังทัศนคติของเราจะทำร้ายเราเอง
- ยอมรับความจริง เพื่อก้าวให้ทันตามโลกที่เปลี่ยนไป
“มีหลายอย่างที่จะต้องยอมรับกับการเปลี่ยนแปลง เช่น เราไม่สามารถบอกให้เด็กไปกอดต้นไม้เพื่อจะรักต้นไม้ได้ เพราะเด็กไม่รู้สึกจริง ๆ เราไม่จำเป็นต้องสอนเด็กเรียนรู้การหุงข้าวจากหม้อสนามอีกต่อไปแล้วเมื่อเขามีหม้อหุงข้าว ผมเคยเป็นหนึ่งคนที่คิดว่า “ทำไมเด็กเดี๋ยวนี้ติดมือถือ” แต่สุดท้ายก็เรียนรู้ว่าเราจะก้าวไปข้างหน้าตามโลกไม่ได้เลย หากเราไม่ยอมรับความจริง เราจึงต้องเปลี่ยนจากการห้ามนำโทรศัพท์เข้ามาในค่าย เป็นคิดค้นกิจกรรมที่ทำให้มือถือซึ่งเด็กถือทุกวันได้ใช้ประโยชน์สูงสุดแทน” - ซัม นูรฮีซาม บินมามุ, กลุ่มยังยิ้ม
- หลุมพรางของ ‘ผู้ให้’
“การคิดว่าเราเป็นผู้รู้-ผู้ให้ ที่กำลังทำงานกับ ผู้ไม่รู้-ผู้ที่ขาดโอกาส เราจึงสามารถทำอะไรกับเขาก็ได้ อาจจะไม่เตรียมตัวเตรียมงานมาอย่างดีที่สุด ด้วยเหตุผลว่าดีไม่ดีอย่างไรเขาไม่รู้ ไม่มีสิทธิจะว่าอะไร หรือ ที่เราให้ก็ดีกว่าที่เขาเคยได้มาแน่นอน (เพราะเขาไม่เคยได้โอกาสอะไรเลย) หลุมพรางนี้จะทำให้เราทำงานอย่างไม่ยั่งยืนและไม่เกิดผลระยะยาว” - สมิต อรุณฉัตร คุรุวาณิชย์, Life Education
- พื้นที่เรียนรู้มีชีวิต อย่าคิดว่าที่ทำไปมันโอเคแล้วสำเร็จแล้ว
“พื้นที่เรียนรู้จริง ๆ จะต้องเกิดการมีส่วนร่วมได้จริงไปตลอด เป็น Active Learning เสริมความรู้ ความสามารถ หรือ ฝากเรื่องราวให้ขบคิด ไม่ใช่หมดการเรียนรู้ตอนเดินออกจากพื้นที่ และเช่นเดียวกับพื้นที่เรียนรู้ คนทำพื้นที่เรียนรู้ก็ต้องเรียนรู้ไปได้ตลอดชีวิตด้วย อย่างตอนเราได้รู้เรื่องผ้า เราก็จะถูกพาไปรู้จักอาหารต่อ รู้เรื่องสิ่งแวดล้อมต่อ การเรียนรู้ไม่มีวันจบ” - ป้าโก้ สิริวรรณ ศรีเพ็ญจันทร์, บ้านไร่อุทัยยิ้ม
- ระวังความคิดที่เป็นเผด็จการ
“พื้นที่เรียนรู้ตามความหมายแล้วต้องมีการเรียนรู้เกิดขึ้นจริง ๆ แม้แต่ผู้ทำเอง เราก็ต้องระวังว่าเราไม่ได้ถูกเสมอไป หรือคิดว่าเรารู้มากกว่า ฉลาดกว่า โดยเฉพาะเวลาทำงานกับคนในชุมชนที่อาจจะเข้าไม่ถึงโอกาสมากนัก รวมถึงอย่ามองคนที่เข้ามาใช้พื้นที่เรียนรู้เป็นพร็อพ อย่าทำเพื่อได้รูป ได้เอกสาร เพราะการทำงานแบบนั้น ไม่สามารถสร้างผลกระทบในชีวิตได้เลย หากต้องการจะห่างความคิดที่เป็นเผด็จการ ต้องรับฟัง เตือนตัวเอง ทำอะไรด้วยการรู้ตัวให้มากที่สุด และมีกระบวนการที่เหมาะสมให้คนอื่นไปด้วยกันได้ ไม่ใช่ทำไปแล้วไปคนเดียว วงแตก ไม่มีใครไปด้วย ถ้าทำผิดก็ยอมรับและเรียนรู้จากความผิดพลาด” - เกด การะเกต์ ศรีปริญญาศิลป์, สิริเมืองพร้าว
- อย่ากลัวความล้มเหลว
“Feel Trip ผ่านเส้นทางของความล้มเหลวในการพยายามเปลี่ยนความคิดของผู้คนเกี่ยวกับการศึกษา จนเกิดความสับสนและความรู้สึกท้อถอย ซึ่งเป็นสิ่งที่คนทำงานสังคมอาจต้องเผชิญ แต่สิ่งสำคัญคือการตระหนักว่า “ถ้าเราลงแรงทำอะไรบางอย่าง ต่อให้ล้มเหลว ก็ได้เรียนรู้ว่าเราพยายามอย่างที่สุดแล้ว...เราเองก็กลัว กลัวทุกครั้งที่มีอะไรใหม่เข้ามา แต่เราจะทำ อยากบอกน้อง ๆ ให้กลัวเลย ไม่มั่นใจก็ทำเลย แต่ขอให้มีโอกาสเปิดรับความท้าทายใหม่ ๆ และกระโดดลงไปในความท้าทายนั้น ให้มีโอกาสได้ลองทำบางอย่าง ถ้ามันล้มเหลวก็เรียนรู้มัน ถ้ามันสำเร็จ ดีงาม ก็ชื่นชม ชื่นใจ แล้วก็ไปต่อ เมื่อมันมีค่าต่อจิตใจของคุณ นี่แหละคือการเติบโตอย่างอกงามทางการศึกษา” - ตุ้ม อินทิรา วิทยสมบูรณ์, Feel Trip
- บริหารจัดการดีมีชัยไปกว่าครึ่ง
- อย่ายึดติด ต้องจัดระบบให้คนรุ่นใหม่ขึ้นมามีบทบาทผู้นำ เพื่อความยั่งยืนขององค์กร
“การบริหารจัดการพื้นที่เรียนรู้ ต้องคิดให้ครอบคลุมและชัดเจน เพราะจะเชื่อมโยงไปถึงการบริหารให้องค์กรอยู่ได้นาน ถ้าบริหารได้ดี องค์กรมีระบบ จะเป็นประโยชน์ในการส่งต่อให้คนรุ่นใหม่พัฒนาและขึ้นมามีบทบาทมากขึ้น จะไม่ต้องอยู่ในมือคนคนเดียว คลองเตยดีจังไม่ใช่เราคนเดียว ถ้าเราไม่อยู่แล้ว เขาก็สามารถบริหารจัดการไปได้” - แอ๋ม ศิริพร พรมวงศ์, คลองเตยดีจัง
“...เตือนตัวเอง ให้นิ่ง แล้วค่อย ๆ แจกแจงงานที่มีจำนวนมากให้น้อง เพราะความท้าทายคือการบริหารองค์กร ปั้นแกนนำขึ้นมาจัดการต่อและให้น้อง ๆ สนุกกับการคิดกิจกรรมเหมือนที่เราเคยสนุกมา เราต้องมองให้รอบด้านมากขึ้น…” - แอน ปาณิศา อายะนันท์, พลังโจ๋
- บริหารจัดการเพื่อเตรียมรับมือกับวิกฤตที่คาดไม่ถึง
“...ให้รอบคอบในการบริหาร ในสภาวะวิกฤตเรามีทุนแบบ “พออยู่รอด” แต่ไม่มีเงินสำรอง จนกระทั่งเกิดโควิด-19 ไม่มีอะไรให้ไปต่อ สมาชิกตกลงกันว่าจะแยกย้ายกันไปเพื่อให้แข็งแกร่งอีกครั้งก่อนจะกลับมารวมตัวกัน ถ้าเราวางแผนดีตั้งแต่ต้น เราน่าจะยืดหยุ่นได้มากกว่านี้ และมีความมั่นคง ตามความตั้งใจที่อยากจะให้ภาพของคนที่ทำเพื่อสังคม เป็นคนสมาร์ท ฉลาด และไม่ใช่เรื่องน่าสงสาร” - เก่ง โชคนิธิ คงชุ่ม, กลุ่มใบไม้
- ทบทวนตัวเองอีกครั้ง ก่อนลงมือทำ
- มีหลักการ เป้าหมายชัดเจน
“เราจะต้องชัดเจนในตัวเองก่อนว่าอะไรที่ต้องการจะให้เกิดขึ้น สร้างพื้นที่เรียนรู้เพื่อสร้างประโยชน์อะไรให้กับกลุ่มเป้าหมายใด ถ้าวันนี้ทำไม่ได้ ต้องหาทางทำให้ได้ เพราะฉะนั้นการมี Passion หรืออยากทำอย่างเดียวนั้นไม่พอ หากทำด้วยเป้าหมายทางสังคมที่ชัดเจน เราจะยั่งยืนกว่า วิ่งได้นานกว่า เปรียบเสมือนการวิ่งมาราธอน ไม่ใช่วิ่งระยะสั้น” - สมิต อรุณฉัตร คุรุวาณิชย์, Life Education
- เลือกทำในสิ่งที่มาจากแก่นแท้
“สิ่งที่อยากย้ำเตือนคือ ประเมินศักยภาพของตัวเอง มีระบบที่จะจัดการคน งาน เงิน โดยไม่เบียดเบียนตัวคนทำ และเลือกทำในสิ่งที่มาจากแก่นแท้ข้างใน เพราะการทำให้พื้นที่ปรากฏนั้นไม่ยาก แต่ความยากคือการทำให้ต่อเนื่อง หากทำสิ่งใดจากแก่นแท้ของตัวเอง แม้จะต้องยืนอยู่ลำพังหรือต้องผ่านทางที่ยากลำบาก ก็จะหาทางไปต่อได้” - เหมียว อุไรรัตน์ หน้าใหญ่, โรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้
- อย่าคิดมากจนเกินไป
“อย่าคิดมากกับการเริ่มต้นมากจนเกินไป ไม่จำเป็นต้องสร้างโรงเล่นหรือลานเล่นที่ใหญ่โต สำหรับเด็ก แค่บ่อทราย ลานดิน และผู้ใหญ่ที่เข้าใจ ก็สามารถเป็นพื้นที่เล่นได้แล้ว หากมัวแต่คิดว่าจะทำอย่างไรให้เกิด ก็จะไม่เกิด ไม่จำเป็นต้องเล่นของเล่นอย่างเดียว หากคุณเป็นเชฟ ศิลปิน ช่างไม้ คุณก็ทำพื้นที่เรียนรู้ได้ ใคร ๆ ก็ทำได้ ขอเพียงลงมือทำด้วยจิตใจที่เปิดรับ โอบอุ้ม และสร้างสรรค์อย่างมนุษย์ที่โตมาก่อนจะดูแลมนุษย์ที่เกิดตามมา เพราะโรงเล่นเชื่อว่าเด็กคนนึงเติบโตมาต้องช่วยกันดูแลทุกภาคส่วน เป็นเรื่องสำคัญและเป็นวาระที่เราต้องมาร่วมมือและทำให้เด็กรู้ว่าโลกนี้มันดีและปลอดภัย เพราะที่ผ่านมาผู้ใหญ่ใช้ชีวิตแบบที่ทำให้เด็กรู้สึกหวาดกลัวกันมามากแล้ว…ทำเลย” - จิ๋ว วีรวรรณ กังวานนวกุล, โรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้
“ทำเลย วิธีการมันอาจจะไม่เหมือนกันก็ได้ อยากทำแบบไหนก็ทำเถอะ ถ้าทำด้วยสิ่งที่เรารัก เดี๋ยวมันก็พาไปเจอสิ่งที่มันเป็นเราเอง” - อ๊อด ทองแสง ไชยแก้ว, สำนักกิจกรรมกิ่งก้านใบ
สุดท้ายแล้ว ผู้ที่ลงมือทำเท่านั้นที่จะได้รับประสบการณ์และบทเรียนอันล้ำค่า เช่นเดียวกับเจ้าของ 10 พื้นที่เรียนรู้ตัวอย่างนี้ หากทบทวนตัวเองจนมั่นใจแล้ว ว่าเส้นทางของการสร้างพื้นที่การเรียนรู้คือทางที่ใช่ และอยากลงมือทำ สมัครเลย!