เคยไหมคะ เห็นป้ายฟรีที่ไหน เป็นต้องตาลุกวาว เดินเข้าไปดูเหมือนโดนแม่เหล็กดูด แล้วก็ต้องคอตกกลับมา เมื่อเจอเงื่อนไขตัวเล็กจิ๋วขนาด 4pt พร้อมดอกจันสามดอกด้านล่าง คงเป็นเหมือนที่ใครหลายคนบอกกันว่า “ของฟรีไม่มีในโลก” แต่เอ๊ะ ได้ข่าวว่าจะมีให้ลงทะเบียนขึ้นรถไฟฟ้าฟรี รึป่าวน๊าาาา

ออกตัวไว้แล้วตั้งแต่ประโยคแรกว่าเป็นสาวกของฟรี แต่เรากำลังจะพูดถึงแนวคิด ของฟรีไม่ควรมีในโลก อ่ะ งงมะ
ที่เปลี่ยนใจมาเชื่อแบบนี้เพราะได้มีโอกาสฟังบรรยายของ Dr.Paul Polak เจ้าของแนวคิด Zero-Based Design ค่ะ
แนวคิดของดร.โพลอค คือการมองความยากจนในมุมใหม่ ผ่านเลนส์ที่เห็นทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่แบ่งชนชั้น และเคารพซึ่งกันและกัน เราทุกคนต่างเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ เมื่อทุกคนต้องการของฟรี และเป็นไปไม่ได้ที่ทุกคนจะได้ของฟรี เรามีสิทธิ์อะไรไปตัดสินว่าใครควรได้ ใครควรให้ และถ้าให้ ต้องให้ไปถึงเมื่อไหร่ล่ะ ดร.โพลอคเชื่อว่าคนที่มีรายได้น้อยนั้นไม่ได้ต้องการของฟรี แต่ต้องการของที่เขาซื้อไหว และนั่นคือโอกาสทางธุรกิจและการเปลี่ยนแปลงสังคมที่สำคัญ
ความยากจนนั้นมีอยู่จริง แต่ใครคือคนจน ใครคือคนรวย ใครเป็นคนแบ่ง?
ความยากจน หมายถึงคนที่ใช้ชีวิตด้วยเงินน้อยกว่า 2 ดอลลาร์ต่อวัน (ค่ารถไฟฟ้าไปกลับก็หมดแล้วเนี่ย) ซึ่งมีจำนวนมากถึง 767 ล้านคนในปี 2013 ตามสถิติของ World Bank สิ่งที่น่าสนใจคือ ดร.โพลอคมองว่าคนกลุ่มนี้คือลูกค้ารายใหญ่ของเขา…ใช่ค่ะ “ลูกค้า” ดร.โพลอคไม่ได้มองว่ากลุ่มนี้คือคนจนที่รอรับความช่วยเหลือแบบฟรีๆ แต่คือคนที่ขาดโอกาสที่จะได้ซื้อสินค้าและบริการในราคาที่พวกเขาจ่ายไหว และนี่ก็คือโอกาสของดร.โพลอคเองเช่นกันที่จะออกแบบสินค้าและบริการเพื่อรองรับคนกลุ่มนี้ ซึ่งนับเป็นตลาดขนาดใหญ่ และเพื่อให้ทุกคนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นร่วมกัน ซึ่งสินค้าของเขาก็คือน้ำสะอาด Spring Health Water

Design for Social Innovation
จากความเชื่อว่าแจกของฟรีไม่ใช่ทางออกของปัญหา เราสามารถเริ่มจากศูนย์ได้ Zero-Based Design จึงเป็นแนวความคิดในการออกแบบจากศูนย์ จินตนาการถึงสิ่งที่เราอยากให้มี ดร.โพลอคยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า เปลี่ยนจากที่ปกติบริษัทจะมีงบมาก่อนแล้วค่อยคิดว่าจะเอาไปทำอะไร กลับมาเริ่มจากว่าอยากทำอะไร พอเริ่มจากศูนย์ ก็จะเป็นแรงผลักให้เราใช้ทรัพยากรเท่าที่มีเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และทรัพยากรที่มีค่าสูงสุดนั้นก็คือสมองของเรานั่นเอง
8 องค์ประกอบของ Zero-Based Design
- Listening อย่ามองว่าคนยากจนคือผู้ที่ต้องรอของแจกเสมอไป รับฟังและทำความเข้าใจเขา เรียนรู้สภาพแวดล้อม ความต้องการ ความกลัวของพวกเขา
- Transforming the market โตไปด้วยกัน สร้างธุรกิจที่สร้างตลาดใหม่ เปลี่ยนระบบวงจรเศรษฐกิจในชุมชนนั้น ไม่เพียงแต่สร้างกำไรให้เรา แต่ยังแก้ปัญหา สร้างงาน สร้างอาชีพ และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้ชุมชนด้วย
- Scale วางแผนการขยายตลาดและกิจการในอนาคต ที่ไม่ใช่แค่การเพิ่มการผลิตสินค้าหรือยอดไลค์แต่เป็นการสร้างระบบที่ยั่งยืนทั้งตัวธุรกิจ และชุมชนที่ซื้อสินค้า
- Ruthless affordability แพงที่ความคิด ออกแบบระบบที่สามารถลดต้นทุนให้ได้สินค้าในราคาที่ทุกคนเอื้อมถึง
- Private capital ออกแบบระบบแบบคนธรรมดา ลงทุนที่กลุ่มเป้าหมายหรือคนที่ประสบปัญหานั้นโดยตรง แทนการลงทุนผ่านมูลนิธิหรือนโยบายรัฐ
- Last-mile distribution ไกลแค่ไหนก็ไปถึง ขยายกิจการสู่ระบบชุมชน สร้างเครือข่าย ชาวบ้านเป็นคนซื้อ เป็นคนขาย และเป็นคนควบคุมกลไกในตลาด
- Aspirational branding สร้างแบรนด์ให้คนมีความอยากซื้อ
- Jugaad innovation ทำงานต่อยอดจากสิ่งที่อยู่ในมือ ไม่หยุดเรียนรู้ ทดลอง และพัฒนา อย่างไม่ท้อถอย
เมื่อน้ำสะอาดคือปัจจัยพื้นฐานที่ทุกคนต้องการ การทำให้คนกลุ่มนี้เข้าถึงน้ำสะอาดได้จึงช่วยให้พวกเขามีความเป็นอยู่และสุขอนามัยที่ดีขึ้น มากกว่านั้นคือมีเงินหมุนเวียนในกิจการ ต่อยอดกิจการและขยายไปสู่รายย่อย เปิดโอกาสให้ชาวบ้านเข้ามาเป็นทั้งผู้ขายและผู้ซื้อเพื่อสร้างอาชีพและรายได้ให้คนในชุมชน และเมื่อมันไม่ได้ได้มาแบบฟรีๆ ผู้รับจึงเห็นคุณค่าในสิ่งของและเห็นคุณค่าในตัวเองมากขึ้นอีกด้วย
หลังจากคาบเรียนนี้เราก็เปลี่ยนตัวเองจากสาวกของฟรีมาเป็นสาวก ดร.โพลอคเลยค่ะ พร้อมทั้งความคิดและมุมมองต่อคนจนและความยากจนที่เปลี่ยนไป สิ่งที่เราเรียนรู้จากดร.โพลอค คือเคารพและให้เกียรติกัน ทุกคนเป็นคนเท่าเทียมกัน เราต่างอยากเป็นคนซื้อและคนขาย เมื่อไม่มีอะไรได้มาและให้ไปแบบฟรีๆ เราไม่ได้มองว่าคนอื่นขาดเราจึงให้ และคนรับก็ไม่ได้ได้ของมาอย่างง่ายดายจนไม่เห็นคุณค่า รายได้น้อยไม่ได้แปลว่าไม่อยากซื้อ แต่อาจจะเป็นเพราะซื้อไม่ไหว และสิ่งที่เราจะช่วยกันได้คือการช่วยให้ทุกคนมีโอกาสเข้าถึงในสิ่งที่เขาควรจะ(ซื้อ)ได้ต่างหาก
ถ้าโลกนี้จะมีของฟรีสักหนึ่งอย่าง ก็ขอให้มันเป็น โอกาส ที่เราจะให้กันได้ ละกันนะ 🙂
ใครสนใจอยากรู้เรื่องนี้เพิ่มเติม ไปหาหนังสือเล่มนี้มาอ่านได้เลยจ้า