เส้นทางการทำงานของ The Guidelight ที่มีจุดตั้งต้นจากความตั้งใจจะช่วยนักศึกษาที่บกพร่องทางการมองเห็นในมหาวิทยาลัยให้เรียนจบ เริ่มต้นตั้งแต่ปีแรก จนมาถึงปีนี้เป็นปีที่ 4 จูน-เมธาวี ทัศนาเสถียรกิจ ผู้ก่อตั้ง ได้ค้นพบ Insight อะไรบ้างจากการทำงาน
เมื่ออ่านบทความนี้ ถึง Insight และ Challenge ที่ The Guidelight เจอแล้ว อยากชวนผู้อ่านหยุดสักนิด แล้วลองคว้ากระดาษ-ปากกามาลองคิดไปพร้อมกันว่า “ถ้าเป็นเรา เราจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร”
ช่วง 1-2 ปีแรก
คำถามแรกของ The Guidelight คือ ทำอย่างไรจะช่วยให้นักศึกษาที่บกพร่องทางการมองเห็นเรียนจบและมีงานทำ จากประสบการณ์ส่วนตัวของจูนเองที่มีทั้งเพื่อนและรุ่นพี่ที่ตาบอดต้องพยายามอย่างหนักมากในการเรียนมหาวิทยาลัย ทีมจึงเริ่มต้นจากการสัมภาษณ์น้องๆ ที่บกพร่องทางการมองเห็นในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จำนวนประมาณ 20 คน โดยใช้การลงพื้นที่สอบถามและการโทรศัพท์ ปัญหาที่ค้นพบที่เป็นรูปธรรมที่สุดคือ “นักศึกษาตาบอดไม่มีสื่อการเรียน” (ส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบหนังสือ / ชีทข้อสอบเก่า) The Guidelight จึงเริ่มต้นจากการสร้างเว็บไซต์ง่ายๆ เปิดรับอาสาสมัครมาช่วยพิมพ์สื่อการเรียนการสอนและอัพโหลดขึ้นบนเว็บไซต์ให้นักศึกษา หลังจากทำเว็บไซต์รวบรวมสื่อการเรียน เรามีการนัดน้องๆ เพื่อติดตามการเรียนพบว่า แม้จะมีสื่อการเรียนแล้วแต่ยังมีน้องๆ จำนวนมากสอบไม่ผ่าน

สิ่งที่ The Guidelight ทำต่อมาคือ ออกแบบเครื่องมือ เขียว เหลือง แดง ให้น้องประเมินตัวเองว่า วิชาไหนมีความเสี่ยงที่จะสอบไม่ผ่านให้แทนด้วยสีแดง วิชาไหนมีโอกาสสอบผ่านปานกลาง คือสีเหลือง และวิชาไหน สอบผ่านแน่ๆ ให้ใส่สีเขียว จากการให้น้องๆ ประเมินความเสี่ยงรายวิชาและการพูดคุย ทำให้พบ Insight ที่สำคัญ คือเราสามารถแบ่งน้องๆ ออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่ม 1 มีแรงบันดาลใจสูง เข้าห้องเรียน อ่าหนังสือ ทำสื่อการเรียนเอง ผลการเรียนดี 15%
กลุ่มที่ 2 เข้าห้องเรียนบางวิชา อ่านหนังสือ 50%
กลุ่มที่ 3 ไม่เข้าห้องเรียน ไม่อ่านหนังสือ 35%
เว็บไซต์รวบรวมสื่อการเรียนที่ทำในตอนแรกนั้น ตอบโจทย์น้องๆ แค่กลุ่มที่ 1 และกลุ่มที่ 2 เท่านั้น ไม่ตอบโจทย์เด็กกลุ่มที่ 3 ทำให้รู้ว่าแค่เว็บไซต์อย่างเดียวยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการของนักศึกษาได้
ความท้าทายคือ จะทำอย่างไรให้นักศึกษาเข้าห้องเรียน อ่านหนังสือมากขึ้น และมีผลการเรียนที่ดี?
Insight ที่ค้นพบต่อมาคือ
สาเหตุนักศึกษาไม่มีแรงจูงใจเข้าห้องเรียน
– บางคนไม่รู้ว่าจะเรียนไปทำไม
– เรียนไปก็ไม่รู้ว่าได้งานทำจริงหรือไม่
– ห้องเรียนไม่ค่อยเอื้อต่อการเรียนรู้ ทำให้รู้สึกเบื่อ ไม่อยากเรียน
– บางคนที่บ้านไม่สนับสนุนให้เรียน เพราะคิดว่าเรียนจบไปก็ไม่สามารถหางานดีๆ
ความท้าทายคือ ทำอย่างไรจะช่วยให้นักศึกษามีแรงจูงใจในการเข้าห้องเรียน?
นักศึกษาส่วนหนึ่งแม้จะอ่านหนังสือเยอะ แต่กลับมีผลคะแนนไม่ดี เพราะเขียนตอบไม่ทัน เขียนตอบไม่เก่ง เนื่องจากไม่เคยได้ฝึกเขียน เวลาเรียนปกติอาจารย์จะแจกกระดาษและให้นักศึกษาเขียนส่งให้ตรวจ ทำให้ได้ฝึกฝนและทดลองเขียนก่อน พอสอบจริงนักศึกษาสามารถเขียนตอบข้อสอบได้ดีขึ้น แต่น้องที่บกพร่องทางการมองเห็นอาจไม่ได้ขวนขวายหาตัวอย่างข้อสอบมาฝึกเขียนเพราะส่วนใหญ่ตัวอย่างข้อสอบจะอยู่ในรูปแบบชีทที่เป็นกระดาษ
ความท้าทายคือ ทำอย่างไรให้นักศึกษาสามารถเขียนคำตอบได้ทันและได้คะแนนดี?
ถ้าเป็นคุณ คิดว่าจะใช้ Insight ที่ได้มานี้
ออกแบบแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างไร ?
แน่นอนว่าหลายๆ ไอเดียที่คิดมา The Guidelight ได้ทดสอบแนวทางแก้ปัญหาเพื่อตอบโจทย์ความท้าทายทั้ง 3 ข้อหลากหลายวิธี เช่น จัด Workshop เสริมทักษะ, ทำ Toolkit ให้อาจารย์รู้วิธีการปรับห้องเรียนให้เหมาะสมกับนักศึกษาบกพร่องทางการมองเห็น(ปัญหาที่พบอย่างหนึ่งคือ การเรียนห้องใหญ่ อาจารย์ไม่ทราบว่ามีนักศึกษาตาบอด หรือแม้ทราบก็ไม่รู้ว่าจะต้องปรับการเรียนการสอนของตัวเองเพื่อช่วยให้นักศึกษาให้เรียนได้อย่างไร) , ทำ Audiobook สำหรับหนังสือแนวสร้างแรงบันดาลใจและพัฒนาตัวเอง, จัดทำโปรแกรม Budddy Guide จับคู่เด็กตาดีและตาบอดให้เป็นเพื่อนกันจะได้ช่วยเหลือกัน
แต่กิจกรรมทั้งหมดที่ทดลองทำไม่ประสบความสำเร็จและแทบไม่ช่วยให้น้องมีแรงจูงใจมากขึ้นหรือเขียนตอบได้ดีขึ้นเลย !!!

อย่างไรก็ตามมีกิจกรรมที่ได้ผลคือ ติวเตอร์ โดยเชิญรุ่นพี่นิติศาสตร์เป็นอาสาสอนน้องๆ ตาบอด ก่อนจะพัฒนาเป็นโมเดลให้รุ่นพี่นิติศาสตร์ที่ตาบอดสอนน้องตาบอด จากการติวเตอร์พบว่าน้องๆ ที่สนใจเข้าร่วมการทั้งคนที่ติวและคนที่ได้รับการติวมีผลการเรียนดีขึ้น
หลังจากนั้น The Guidelight โอกาสได้พบมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม และมองเห็นโอกาส(Opportunity) ในการใช้กฏหมายมาตรา 35 พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ที่นายจ้างหรือผู้ประกอบการสามารถจัดจ้างเหมาช่วงงานหรือจ้างเหมาบริการคนพิการโดยวิธีกรณีพิเศษ จึงคิดไอเดียต่อยอดจากโครงการรุ่นพี่ติวรุ่นน้อง เสนอโครงการจ้างเหมาบริการทำสื่อการเรียนเพื่อพัฒนานักศึกษาพิการ โดยมีบริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด(มหาชน) เป็นผู้สนับสนุน ทำให้น้องๆ มีรายได้ระหว่างเรียน 9,000 บาทต่อเดือน
ระยะเวลาดำเนินโครงการ ปีที่ 2-3
The Guidelight ต้องการเพิ่มสื่อการเรียนประเภทหนังสือ เนื่องจากยังมีช่องว่าง(Gap) ที่ค้นพบตั้งแต่ตอนเริ่มต้นทำโครงการว่าสื่อการเรียนส่วนใหญ่อยู่ในรูปหนังสือทำให้นักศึกษาที่บกพร่องทางการมองเห็นไม่สามารถเข้าถึงได้ จึงสนับสนุนน้องตาบอดในโครงการเพื่อพูดคุยกับคณะนิติศาสตร์ เชิญ Ookbee และ Nectec เข้าร่วมหารือเพื่อดำเนินโครงการ โดยมีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมจัดทำหนังสือชนิดไฟล์เสียงสำหรับนักศึกษาตาบอด
จากการดำเนินโครงการจ้างเหมาบริการทำสื่อการเรียนเพื่อพัฒนานักศึกษาพิการในปีแรกที่เริ่มทำปรากฏว่าพบปัญหานักศึกษาส่งงานล่าช้า ไม่มีวินัย การทำรายงานผลงานของนักศึกษามีความยุ่งยาก เนื่องจากต้องทำบนไฟล์ Excel ซึ่งนักศึกษาตาบอดสามารถทำได้แต่ไม่สะดวกและไม่เรียบร้อย ปรากฏว่าน้องส่งงานแค่เพียง 30% เท่านั้น แม้จะเพิ่มการจัดอบรมสอนวิธีการทำงานต่างๆ พบว่าน้องส่งงานเพิ่มขึ้นเป็น 50%
ในปีที่ 2 The Guidelight จึงใช้เงินสนับสนุนจากสสส. จัด The Guidelight Internship Program เป็นค่าย 2 วันเพื่ออบรม พัฒนา และคัดเลือกนักศึกษาเพื่อเข้าโครงการจ้างเหมาบริการทำสื่อการเรียนเพื่อพัฒนานักศึกษาพิการ โดยกำหนดให้น้องในโครงการทำงานดังต่อไปนี้
- เข้าห้องเรียน 2 วิชา จดสื่อการเรียน และอัพโหลดลงเว็บไซต์
- เข้าประชุมเดือนละ 1 ครั้ง
หลายๆ ครั้ง เวลาเราพบ Insight ว่าคนไม่มีความรู้ หรือ ไม่มีแรงจูงใจในการทำบางอย่าง สิ่งแรกๆ ที่เรานึกถึง คือ ให้ความรู้ จัดค่าย ทำกิจกรรม โดยคาดหวังว่าเมื่อเขารู้แล้ว เขาน่าจะเปลี่ยนพฤติกรรม หรือนำไปสู่ผลลัพธ์บางอย่างที่เราวางไว้ พบว่าบนเส้นทางของ The Guidelight การให้ความรู้ จัดกิจกรรมอย่างเดียว ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมด หรือการแก้ไขปัญหาด้วยการทำ Platform ที่เอาคนที่มีความต้องการตรงกันมาเจอกันดูน่าจะเป็นไอเดียที่ดี แต่เบื้องหลังการทำงานยังต้องการรายละเอียดอีกมากมาย เพื่อออกแบบวิธีการ
กรณีของ The Guidelight แม้จะมีความตั้งใจอยากช่วยนักศึกษาตาบอดให้เรียนดี เรียบจบ จะเห็นว่ายังสามารถแบ่งกลุ่มย่อยของ Persona ลงไปได้อีก มีหนทางที่ต้อง“เลือก” เช่น เราจะช่วยแต่เด็กเรียนดี ขยัน ตั้งใจทำงานไหม (ซึ่งเป็นงานง่าย ไม่ต้องทำเด็กพวกนี้ก็น่าจะรอดด้วยตัวเองในระดับนึงแล้ว) หรือจะเลือกงานยากช่วยทั้งหมด โดยกลับไปดูว่าอะไรเป็นสาเหตุและแรงจูงใจให้เขาไม่อยากเรียน ไม่ส่งงาน
การพิจารณาดูว่าสิ่งที่กำลังทำ ช่วยให้ไปถึงเป้าหมายที่เราวางไว้ไหม คือช่วยเขาเรียนดีขึ้นและโฟกัสทำสิ่งนั้น อะไรที่ไม่นำไปสู่ผลลัพธ์ที่เราอยากได้ เสียเวลาก็ตัดออกไม่ทำ ไม่โฟกัสอยู่แค่ผลผลิตอย่างจำนวนนักศึกษาที่มาเข้าร่วมกิจกรรม
ด้วยความตั้งใจอยากแก้ไข”ปัญหาสังคม” The Guidelight จึงมุ่งเป้าช่วยเด็กให้ได้มากที่สุด ทำให้ต้องทำความเข้าอกเข้าใจ (Empathy) ลึกลงไปถึงเหตุผล แรงจูงใจต่างๆ จนรู้ว่าเพราะเหตุใดกลุ่มเป้าหมายจึงเลือก หรือไม่เลือก ทำหรือไม่ทำสิ่งต่างๆ รวมไปถึงย้อนกลับไปดูอีกครั้งว่า ใครคือกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริงของเราบ้าง แม้จะอยากช่วยให้ได้มากที่สุด แต่ไม่ใช่ทุกคนที่เราสามารถช่วยได้ด้วยทรัพยากรที่มี ณ วันนี้ นำข้อมูลเหล่านี้มาออกแบบแนวทางแก้ไขปัญหาจาก Insight ในทุกๆ รายละเอียดสำคัญโดยมองผลลัพธ์ที่ต้องการเป็นหลัก
ระยะเวลาดำเนินโครงการ ปีที่ 3-4
ผลลัพธ์จากโครงการปีที่ 2 โครงการจ้างเหมาบริการทำสื่อการเรียนเพื่อพัฒนานักศึกษาพิการ นักศึกษาส่งงานมากขึ้น แต่มีเพียงนักศึกษา 50% เท่านั้นที่ส่งงาน
ความท้าทายคือ ทำอย่างไรที่เราจะเพิ่มอัตราการส่งงานของน้องๆ นักศึกษาให้ได้มากขึ้น?
Insight ในฝั่งของทีมงานที่ค้นพบคือ การต้องตามน้องๆ ให้ส่งงานส่งผลให้ทีม guidelight ซึ่งมีขนาดเล็ก ไม่มีเวลาทำงานประเภทอื่นๆ เพื่อพัฒนาโครงการ
จากการทำงานกับน้องๆ อย่างใกล้ชิด ทำให้รวบรวมปัญหาในการทำงาน การใช้เว็บไซต์ การทำรายงานส่งบริษัท รวมถึงปัญหาของทีมงาน The Guidelight ที่ต้องเสียเวลาจำนวนมหาศาลในการติดตามงาน
ดังนั้น The Guidelight จึงแก้ปัญหาด้วย 2 วิธีหลักๆ ดังนี้
- ขอโควต้าบริษัทมาจ้างงานน้องที่พิการทางการเคลื่อนไหว(ใช้วีลแชร์) เป็นผู้ติดตามการทำงานของน้องตาบอด
- ใช้เงินที่ได้รับจากกองทุน สสส. จัดทำเว็บไซต์ใหม่ ที่ไม่ใช่แค่รวบรวมสื่อการเรียนแต่ยังเป็นระบบติดตามการทำงานของนักศึกษาในโครงการ โดยเว็บไซต์ของ The Guidelight จะให้คะแนนน้องๆ ทุกคน 100 คะแนน หากไม่ส่งงาน ไม่เข้าประชุมประจำเดือนจะถูกตัดคะแนน ในทางกลับกันถ้าหากน้องๆ เข้าร่วมกิจกรรมพิเศษเพื่อพัฒนาตัวเองจะได้คะแนนเพิ่ม ระบบของเราจะประเมินผลการทำงานของน้องๆและ export เป็นรายงานส่งให้บริษัท นอกจากนั้นในส่วนระบบรวบรวมสื่อการเรียนยังเพิ่มฟีเจอร์ฝึกเขียนข้อสอบ และ จัดทำ resume สำหรับสมัครงานอีกด้วย
ระบบดังกล่าวทำให้น้องส่งงานมากขึ้นโดยปีที่ 3 ของโครงการ จ้างเหมาบริการทำสื่อการเรียนเพื่อพัฒนานักศึกษาพิการ น้องส่งงาน 80% และวิชาที่น้องต้องทำงานส่ง น้องๆในโครงการสอบผ่าน
จากการทำงานในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาทำให้ได้แนวทางในการดำเนินงานเพิ่มเติมจากเดิม โดยออกแบบจาก Insight ที่ได้ส่งผลให้สถิติการส่งงานของน้องๆ สูงขึ้น คือ
- จัดกิจกรรมค่ายเพื่อพัฒนาทักษะและชี้แจ้งวิธีการทำงานอย่างชัดเจน
- มีกระบวนการคัด เลือกน้องที่มีความตั้งใจ
(ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีการจัดค่ายและคัดเลือกเลย ใครสมัครเข้ามาเรารับหมด ทำให้เขาไม่เข้าใจรูปแบบการทำงานว่าเป็นอย่างไร ไม่มีการตั้งเป้าหมายการทำงานร่วมกัน และเราเองไม่มีโอกาสได้คัดเลือกคนที่ต้องการโอกาสและตั้งใจจริง) - มี workshop เพื่อสอนการทำงานสำหรับน้องๆ ที่ผ่านการคัดเลือก
- มีระบบสำหรับส่งงานที่มีการวัดผลการทำงานของน้องแต่ละคนอย่างชัดเจน
- มีการนัดประชุมประจำเดือนเพื่อติดตามงาน
- มีน้องที่นั่งวีลแชร์ช่วยติดตามงาน
บทสรุป
จากการตกผลึกการทำงาน The Guidelight จนถึงปัจจุบันแบ่ง Mission เป็น 3 ส่วน ดังนี้
- Guide to Learn พัฒนาระบบรวบรวมสื่อการเรียนและระบบอำนวยการสะดวกในการเรียนเพื่อคนตาบอด
- Guide to Work โครงการ The Guidelight internship program และสร้างรายได้ให้น้องๆ ระหว่างเรียนได้ 2,248,400 บาท
- Guide to Skills จัดค่ายและกิจกรรมเพื่อสนับสนุนและพัฒนาทักษะให้น้องๆ พร้อมทำงาน
ที่ผ่านมา The Guidelight ประสบปัญหาไม่มีโมเดลสร้างรายได้ที่ชัดเจน แต่หากจะให้ทำธุรกิจ เช่น ขายสื่อการเรียน ทีมไม่มีความพร้อมเนื่องจากมีทีมงานหลัก 3 คน ทำงานด้านการพัฒนาระบบและดูแลน้องในโครงการ ไม่มีเวลาสร้างโมเดลหารายได้จากทางอื่น เช่น โมเดลการหาเงินแบบ b2C ที่จะต้องมีคนคอยตอบคอยดูแลลูกค้า เราอยากโฟกัสการพัฒนาระบบเพื่อช่วยพัฒนานักศึกษาตาบอดต่อไปมากกว่า
เมื่อไม่นานมานี้มีโอกาสได้พูดคุยกับพี่ๆ ในวงการ AI (Artificial Intelligence) พบว่า การที่จะพัฒนา AI ให้ฉลาดต้องใช้ข้อมูลมหาศาล แต่วงการ AI ขาดแรงงานในการ label ข้อมูลต่างๆ เพื่อใช้ในการพัฒนา AI ในขณะเดียวกันประเทศไทยมีแรงงานคนพิการวัยทำงานกว่า 300,000 ที่ว่างงาน จากช่องว่างดังกล่าว ประกอบกับการจัดทำโครงการที่ใช้การจ้างเหมาบริการตามมาตรา 35 มา 3 ปี the guidelight จึงจับมือกับ บริษัท AI ชื่อ Ava Advisory เพื่อสร้างโปรเจกต์ Vulcan coalition ทำ platform data labeling สำหรับคนตาบอดเพื่อทำงาน label ข้อมูลเสียง โดยรายได้จากการขายข้อมูลและ AI ที่พัฒนาจากข้อมูลเสียงดังกล่าว โดยมีการแบ่งโมเดลรายได้ระหว่างคนพิการในและ Vulcan นอกจากนี้ the guidelight มีรายได้จากการบริหารดูแลน้องๆ ผู้พิการให้ Vulcan อีกด้วย
จะเห็นว่าเส้นทางของนักสร้างการเปลี่ยนแปลง ใช้เวลาในการทำความเข้าใจปัญหา และหา insight ในทุกๆ ช่วง ตั้งแต่ทดสอบไอเดียในการแก้ไขปัญหา ลงมือทำไปแล้ว ช่องว่าง และโอกาส ต่างๆ เราสามารถค้นพบได้เสมอ ตราบใดที่เรายึดมั่นในภาพที่เราอยากเห็น (Vision) หมั่นทบทวนและตั้งคำถามที่ถูกต้อง