Scoping Problem – Finding the right problem to solve
Hear & Found เริ่มก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2018 จนถึงวันนี้เป็นระยะเวลากว่าสองปี กับเส้นทางการทำความเข้าใจปัญหาสังคมในมิติที่ซับซ้อน ที่ใครหลายๆ คนอาจจะตั้งคำถามว่า กำลังทำอะไรอยู่ และกำลังจะแก้ไขปัญหาอะไร เป็นปัญหาสังคมอย่างไร?
ปีแรกที่ Hear & Found ตั้งขึ้นเป็นปีแห่งการทำความเข้าใจปัญหา ระบุปัญหาสังคมที่อยากแก้ไข และทดสอบ prototype เราจึงอยากจะเล่าเทียบเคียงไปกับ Finding Insight Journey เพื่อให้ทุกคนเห็นภาพเส้นทางนี้ อาจจะไม่ตรงเป๊ะๆ แต่น่าจะทำให้พอเข้าใจได้ว่า กว่าเมและรักษ์จะเข้าใจปัญหา และเริ่มตั้งคำถามที่ถูกต้องได้นั้น บางครั้งใช้เวลา เหมือนการปรับเปลี่ยนมุมมอง Paradigm เดิมที่เรามองปัญหาไปสู่มุมมองใหม่
รักษ์กับเม เดินเข้ามาใน Penguin Incubation ของ School of Changemakers พร้อมกับความ “อิน” ในเรื่องดนตรีและวัฒนธรรมชนเผ่า เลือกระบุปัญหาโดยมีสมมติฐาน (Scope#1) ว่า
“กลุ่มนักดนตรีท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน คนชนเผ่าเป็นกลุ่มที่ร่ำรวยทางวัฒนธรรม และกำลังจะสูญหายไป เนื่องจากไม่มีการเก็บบันทึก และไม่มีคนฟัง ทำให้นักดนตรีต้องเลิกอาชีพนี้ ไปทำอย่างอื่นแทน เพราะว่าไม่สามารถทำเป็นอาชีพได้” และอยากจะทำลงมืออะไรบางอย่างเพื่อช่วยแก้ไขปัญหานี้ โดนโค้ชและทุกคน ยิงคำถามรัวๆ ว่า แล้วมันเป็นปัญหายังไงนะ ถ้าดนตรีนี้หายไป จะมีใครเดือดร้อนกับปัญหานี้บ้าง ?
จึงเริ่มต้นสำรวจปัญหาด้วยการสัมภาษณ์นักดนตรีท้องถิ่นมากกว่า 30 คน (Primary Research) Insight ที่พบคือ
ต้นเหตุของการสูญหายของดนตรีท้องถิ่นและดนตรีพื้นบ้าน ส่วนหนึ่งคือวัฒนธรรมการเรียนการสอน ไม่มีการจดบันทึก ไม่มีตัวโน้ต ไม่เหมือนดนตรีสากล การเรียนการสอนและการส่งต่อจึงเป็นไปได้น้อยและยากสำหรับเด็กๆ รุ่นใหม่ ประกอบกับโลกที่เปลี่ยนไป คนเสพย์เพลงสากล / เพลง pop มากขึ้น บวกกับวัฒนธรรมการฟังเป็นการฟังเพลง pop มากกว่าท้องถิ่น นักดนตรีท้องถิ่นจึงไม่มีอาชีพที่มั่นคง เลิกเล่นดนตรีแล้วไปทำนากุ้ง หรือทำอย่างอื่นแทน ดังนั้นประเด็นปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาสังคมในเชิงอาชีพที่สันนิษฐานไว้ในทีแรกเสียทีเดียว เพราะหากล้มเลิกอาชีพดนตรี คนก็ยังสามารถสร้างรายได้จากอาชีพอื่นได้
นอกจากนี้งาน Reserch ของ UNESCO (Secondary Research) ย้ำอีกว่า การสูญหายทางวัฒนธรรม เกิดขึ้นจากโลกาภิวัฒน์ การท่องเที่ยวทำให้รูปแบบของการละเล่น การแสดง ถูกจัดทำขึ้นเพื่อความบันเทิงแก่ผู้ชมและนักท่องเที่ยวจากภายนอก ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้งานประเพณีบิดเบือน เกิดการกลายร่างของวัฒนธรรม ทำให้ความดั้งเดิมหายไป นอกจากนี้ยังทำให้คนเข้าใจผิดถึงวิถีชีวิต เพราะดูจากความสวยงามและความบันเทิงเป็นหลัก
เมื่อยังไม่สามารถระบุปัญหาที่จะแก้แน่ชัดได้ (Scope#2) เมและรักษ์ลองข้ามไปตั้งคำถามเพื่อกลับมามองจุดตั้งต้นของตัวเองแทน (Why me) ว่าจริงๆ แล้วสนใจเรื่องอะไรกันแน่ ทำไมถึงต้องเป็นเราที่ลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหานี้ ทำไมถึงเชื่อเรื่องของคนกับวัฒนธรรม และทำไมถึงเชื่อว่าเราจะทำอะไรได้ จนมาเจอว่าทั้งสองคนเห็นภาพของ Hear & Found เป็นพื้นที่ในการสื่อสาร ช่วยสืบสานวัฒนธรรม เพราะ passion ลึกๆ คือไม่อยากเห็นความสวยงามเหล่านี้หายไป รู้สึกเสียดาย เพราะมีความผูกพันเป็นการส่วนตัว
เมื่อชัดเจนกับ Why ของตัวเองแล้ว Hear & Found ได้กลับไปค้นหาข้อมูลอีกครั้ง (Secondary Research) เกี่ยวกับตัวชี้วัดทางวัฒนธรรมจนเจอว่า วัฒนธรรมจะถูกวัดว่าหายไปก็ต่อเมื่อภาษาหายไป ซึ่งเมื่อเข้าใจแบบนี้แล้ว เราก็มาดูว่าแล้วในประเทศไทยมีภาษาที่หายไปจริงหรือไม่ พบว่ามีมหาลัยที่ทำเรื่องการรักษาภาษาอยู่ ซึ่งตัวเมและรักษ์เองไม่ได้มีความถนัดเรื่องนั้น หาข้อมูลไปเรื่อยๆ จนเจอจากหนังสือ “ผู้คน ดนตรี ชีวิต” เป็นบทสัมภาษณ์ของชิ สุวิชาน เขียนไว้ว่า “ต้องการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องโดยใช้ดนตรีเป็นเครื่องมือสื่อสาร” ประโยคนี้ทำให้พวกเราตั้งคำถามต่อว่า เกิดอะไรขึ้น ทำไมต้องสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกันแน่ จึงไปสัมภาษณ์และไปงานชาติพันธุ์ 4.0 เพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์ปัญหาว่าจริงๆ แล้ว คนชนเผ่าถูกเข้าใจผิดเรื่องอะไร ที่มาของประเด็นนี้คืออะไร ใครบ้างที่ได้รับผลกระทบ และได้รับผลกระทบอย่างไร
Insight ต่อมาที่พบ คือ
คนชนเผ่ามักถูกเข้าใจผิดจากสื่อต่างๆ ทำให้เป็นเหยื่อสังคม โดนข้อครหาว่าเป็นคนเผาป่า ค้ายาเสพติด ข่าวมักจะสื่อสารว่าชาวเขาค้ายาเสพติด มากกว่าการสื่อว่า นาย A ค้ายาและถูกวิสามัญ เป็นต้น
จากการพูดคุยครั้งนั้น ทำให้เพบว่า สิ่งที่ตั้งสมมติฐานไว้ภาพมันชัดขึ้น เราเข้าใจถึงผลกระทบที่เค้าได้รับ สะท้อนให้เห็นภาพที่เราต่างเห็นตามข่าวหนังสือพิมพ์จริงๆ เราถามตัวเองเช่นกันว่า “ทำไมเวลาเราเห็นพี่ๆชนเผ่าบนหนังสือพิมพ์ หรือสื่อที่เค้าถือป้ายไปประท้วง ลึกๆ เราก็มีความคิดว่า กลุ่มคนเหล่านี้น่าสงสาร ชอบออกมาเรียกร้อง ไม่รู้จะทำไปทำไม หรือ ทำไมเค้าชอบเรียกร้องจัง” การตั้งคำถามนี้ในหัวมันผุดขึ้นมาทุกครั้งที่เห็นภาพ ซึ่งเป็นไปในเชิงลบทั้งหมด ทำให้ทั้งสองคนรู้สึกว่าเรื่องราวมักจะถูกสื่อสารแค่ฝั่งเดียว คนชนเผ่าถูกทำให้เข้าใจผิด เรารู้สึกว่าเค้าไม่ได้รับความยุติธรรม และคิดว่าการได้พูดถึงหรือสื่อสารจากอีกฝั่งหนึ่งของเรื่องราวเป็นเรื่องจำเป็น
เมื่อเริ่มเห็นภาพของปัญหาจากแหล่งต่างๆ แล้ว เมและรักษ์อยากจะเจาะลงไปให้ลึกขึ้นจึงเดินทางไปพิสูจน์ด้วยตัวเอง นั่นคือ การไปเห็นไร่หมุนเวียนของจริง (ที่มาของคำว่าชาวเขาเผาป่า) ด้วยการลงพื้นที่อยู่บ้านพี่ดิปุ๊นุ ซึ่งเป็นนักดนตรีชาวปกาเกอะญอ ที่ จ.ลำพูน เป็นเวลา 3 วัน ไปกิน นอน เดินเล่นในหมู่บ้าน คุยกับชาวบ้าน (กลับมาทำ Primary Research อีกครั้ง) พี่เขาเล่นให้เราฟังทุกเพลง แต่ละเพลงมันมีเรื่องราว เช่น ไม่ยอมบอกว่าตัวเองเป็นคนชนเผ่า บอกว่าเป็นคนจังหวัดไหน พยายามพูดภาษาไทย หรือเพลงกระเหรี่ยงรักสันติภาพ ที่เล่าเรื่องของการไม่ได้รับความยุติธรรม โดนเผาบ้าน เอาเปรียบต่างๆนาๆ ยิ่งทำให้พวกเราตั้งคำถามว่า เขาเจออะไร เพลงถึงได้มีเรื่องราวแบบนี้ เพราะการจะแต่งเพลงได้ มันก็คือการหยิบจับสิ่งที่เกิดขึ้น ความรู้สึก เรื่องใกล้ตัวมาใส่ทำนอง
ที่สำคัญที่สุดคือ ได้ไปดูไร่หมุนเวียน ภาพของไร่หมุนเวียนที่คิดไว้ คือภาพแห่งปัญหาที่ถูกสื่อออกไปว่า เป็นการเผาป่า ต้นไม้ดำเป็นตอตะโก แต่ภาพที่เราเห็นคือ ทุ่งข้าวสีเหลืองพร้อมเก็บเกี่ยว บริเวณใกล้เคียงคือป่าไม้สมบูรณ์ทั้งหมด ภาพธรรมชาติที่สวยขนาดนี้กลับไม่เคยถูกสื่อสารออกไป มากไปกว่านั้นการไปอยู่ในพื้นที่ คือการทำความเข้าใจวิถีชีวิต ความเชื่อและบริบท ทำให้เราเห็นถึงกระบวนการของการทำไร่หมุนเวียนว่า ภาพที่เผาป่านั้นเป็นการเลือกพื้นดินส่วนหนึ่ง ซึ่งต้องได้รับการอนุญาตทางความเชื่อก่อนด้วย เมื่อเลือกได้แล้วจึงทำการหว่านไถ เผา เพื่อสร้างพื้นที่ในการปลูกข้าว พืนพันธุ์ต่างๆ ที่สำคัญที่สุดคือข้าวเหล่านี้ใช้กินในหมู่บ้านตลอดปี เมื่อเก็บเกี่ยวเสร็จแล้วจะทำการปล่อยป่าให้เติบโต 7 ปี โดยในระหว่างนั้นจะมีพิธีกรรมดูแลพื้นที่เป็นระยะ ฉะนั้นการไปลงพื้นที่ คือการไปทำความเข้าใจ สร้างความเห็นใจ สร้างมิตรภาพ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เราสามารถทำงานต่อได้อย่างมีเป้าหมาย
เมื่อเราเข้าไปอยู่ในปัญหากับเขา พยายามทำความเข้าใจว่าภาพที่เราเห็นมันมีที่มาที่ไปอย่างไร เราก็เริ่มเปลี่ยนมุมมองจากการมองของคนนอกที่คอยตัดสิน เป็นว่าตอนนี้เขาประสบปัญหาอะไรอยู่ ถึงทำให้ออกมาเรียกร้อง เปลี่ยนจากการตัดสินเป็นพยายามทำความเข้าใจแทน
ณ จุดนี้ Hear & Found สามารถระบุปัญหาที่ต้องการแก้ไข (Scope#2) ได้ว่าเป็นเรื่อง ความเข้าใจผิดของคนทั่วไปที่มีต่อคนชาติพันธุ์ ทำให้เกิดปัญหาในการอยู่ร่วมกัน จึงอยากจะใช้ดนตรีเป็นสื่อกลางในการลดความขัดแย้ง
สิ่งที่ได้เรียนรู้ คือ
- คำว่า “ปัญหาสังคม” ในตอนแรก การระบุของเรายังไม่ชัด
คือ ไม่เคยถูกสอนว่าปัญหาสังคมแปลว่าอะไร หรืออะไรที่เข้าเกณฑ์การเป็นปัญหาสังคมบ้าง เพราะส่วนตัวแล้วการสูญหายของวิถีชีวิต วัฒนธรรมหายไป เราก็มองว่าเป็นปัญหา ซึ่งกระบวนการทำความเข้าใจ ใช้เวลาค่อนข้างมาก - การจะเข้าใจปัญหาได้ อาจจะต้องทำความเข้าใจกับตัวเองด้วยเช่นกัน ว่าทำไมเราถึงมี passion เรื่องนี้ ทำไมถึงไม่ปล่อยผ่าน เพราะหากเข้าใจแล้ว สิ่งนี้จะช่วยทำให้เรายึดอยู่กับเรื่องนี้ได้ เหมือนตามหา why ของเราเจอ มีเป้าหมาย ภาพที่เราอยากเห็นชัดๆ
- การทำ Research คือ การหาข้อมูล การคิดสมมติฐานว่าใช่แบบที่เราคิดหรือไม่ และต้องหาทางพิสูจน์ ไม่ว่าจะวิธีการสัมภาษณ์ พูดคุย หาข้อมูล เป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้งานเดินหน้า การระบุให้ชัดเจนทำให้ปัญหาที่เราคิดว่าต้องการจะแก้ไข ชัดเจนมากขึ้นเช่นกัน
- การ Define ปัญหาในช่วงแรก เราจะใช้คำว่า สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นคำที่คนทั่วไปเข้าใจยาก การสื่อสารให้คนอื่นฟังบ่อยครั้ง แม้จะเจอคำถามมากมาย แต่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เรากลับมา define การเรียกปัญหานี้ให้เข้าใจง่าย จนเราปรับมาใช้คำว่าการแบ่งแยก (Discrimination)
- การตรวจสอบความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาสังคม ผลกระทบ ความสำคัญของปัญหา ไม่ได้เป็นเพียงการหาคำตอบในสโคปพื้นที่หรือในประเทศ แต่เราสามารถค้นหาข้อมูลนี้ไปเรื่อยๆ เราพบว่ายิ่งเราค้นหา เราก็ยิ่งเข้าใจและเห็นถึงความสำคัญ และเป็นคุณค่าที่กลับมาตอบว่าทำไม Hear & Found ควรจะมีอยู่ มีอยู่ไปเพื่ออะไร
- การหาข้อมูล หรือจำนวนคนชาติพันธุ์ เป็นเรื่องยากมาก เช่น คนชาติพันธุ์ทั่วโลกมีอยู่จำนวนกี่คน มีกี่ชนเผ่า กลุ่มที่มีข้อมูลเหล่านี้คือ UN และ Cultural Survival ซึ่งเป็นหน่วยงานต่างประเทศ
- สำหรับเมเอง เริ่มต้นแนวคิดการทำ Hear & Found ด้วยการเห็นช่องว่างทางตลาด และมองว่าปัญหาสังคมคือการสูญหายทางวัฒนธรรม และเราจะทำกิจกรรมอะไร เพื่อมาตอบโจทย์ทั้ง 2 ฝั่ง จึงไม่ลึกกับการหาคำตอบในเชิงปัญหาสังคม เลยจะเน้นการคิดโมเดล ช่องทางการทำธุรกิจ ตลาดเป็นใคร เป็นแบบไหน และเราทำอะไรได้บ้างเพื่อสร้างรายได้ ในช่วงแรกจึงหลงไปกับการมองฝั่งธุรกิจมากกว่าการมองหาปัญหาสังคม
“สมมติฐานของเราที่คิดไว้เกี่ยวกับปัญหา ควรได้รับการพิสูจน์เพื่อทำความเข้าใจปัญหา และผลกระทบ
เม Hear & Found
เรามักจะคิดว่า เราจะทำอะไร มากกว่าเราทำไปเพราะอะไร หรือ เราต้องการอะไร ทำให้เราเสียเวลาและพลังไปกับการทำงานที่ไม่รู้ว่าทำอะไรแล้วดี ไม่ดี ใช่หรือไม่ใช่ เป็นช่วงที่สับสนกับตัวเองค่อนข้างมาก ด้วยความอยากลงมือทำ มากกว่าตั้งคำถามที่ถูกต้องกับตัวเองและปัญหา”
ใครที่อ่านมาถึงตอนนี้ หรือกำลังอยู่ในช่วงสับสนว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ ขอให้กำลังใจด้วยเส้นทางของ hear & found ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ อาจจะพอเบาใจขึ้น (ว่าเราไม่ใช่คนเดียวที่หมกมุ่นเฝ้าหาคำถามว่า ปัญหาที่อยากจะแก้อยู่ที่ตรงไหน) ค่อยๆ ลองกลับไปตั้งคำถามกับงานที่ตัวเองทำอยู่ และตั้งใจใช้เวลาหาคำตอบว่าปัญหาที่เราคิดจะลุกขึ้นมาแก้หรือกำลังแก้ไขอยู่ คือปัญหาอะไร ปัญหานั้นเป็นปัญหาสังคมที่ส่งผลกระทบกับใคร อย่างไรบ้าง รวมถึงลองกลับมาเชื่อมโยงกับตัวเองดูว่า ทำไมเราจึงอยากแก้ไขปัญหานี้ มีคุณค่าอะไรที่เราให้กับปัญหานี้ ภาพการเปลี่ยนแปลงที่เราอยากเห็นคืออะไร สุดท้าย ทำไมต้องเป็นเราที่แก้ไขปัญหานี้ เพื่อที่จะได้ชัดเจนในขั้นต่อไป