JOURNALS

[Changemakers Club] สรุปกิจกรรม Prototype testing Learning Space : ทดลองไอเดียสร้างความยั่งยืนพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชน

17 ตุลาคม 2022
,

เมื่อวันเสาร์ที่ 8 ตุลาคม 2565 เวลา 13.00-15.00 น. ณ. ศูนย์เรียนรู้อเนกประสงค์ TK Park ชั้น 8 เซ็นทรัลเวิลด์

School of Changemakers ร่วมกับ TK Park และ สสส. ชวนผู้ที่สนใจสนับสนุนการสร้างเปลี่ยนแปลงมาร่วมให้ ความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนมุมมองไอเดียการสร้างพื้นที่เรียนรู้ กับองค์กรภาคสังคมและกิจการเพื่อสังคมที่กำลังจะขยายงานการสร้างสรรค์พื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ

วิทยากร

คุณพรจรรย์ ไกรวัตนุสสรณ์  

เนื้อหากิจกรรม

พี่ผึ้ง ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมทุกคน และพูดคุยถึงความสำคัญของการพัฒนาพื้นที่เรียนรู้ ปัจจุบันพบว่า เด็กมีข้อจำกัดเรื่องการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ แม้กระทั่งเด็กในกรุงเทพฯ หรือหัวเมืองใหญ่ซึ่งมีจำนวนแหล่งเรียนรู้มากกว่าแต่ก็ไม่เพียงพอทั้งจำนวนและความหลากหลาย ทำให้เด็กจำนวนมากใช้เวลาว่างนอกเวลาเรียนไปกับหน้าจอมือถือ ขาดโอกาสเรียนรู้ผ่านการเล่นหรือการลงมือทำงานสร้างสรรค์

เริ่มต้นกิจกรรมโดยการนำเสนอพื้นที่การเรียนรู้ของทั้ง 11 ทีมทีมละ 30 วินาที

จากนั้นวิทยากรอธิบายบทบาทของผู้เข้าร่วมในวันนี้ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ

1.Team : นักเปลี่ยนแปลงที่สร้างสรรค์พื้นที่เรียนรู้ในโปรแกรมบ่มเพาะพื้นที่เรียนรู้รวมทั้งโค้ชประจำทีมทั้ง 11 ทีม รวม 41 คน ดังนี้

โปรแกรมบ่มเพาะเพื่อขยายงานพื้นที่เรียนรู้ Incubation
ทีมที่ 1 ฟาร์มผาสุข
ฟาร์มผาสุข จังหวัดอุตรดิตถ์ ทำการเกษตรแบบออร์แกนิค เกษตรธรรมชาติตามวิถีชุมชนแบบครบวงจร และเป็นศูนย์การเรียนรู้ออกแบบการเรียนรู้ให้กับเด็กๆ ในระดับประถมศึกษาปีที่ 1-มัธยมศึกษาปีที่ 3 เน้นการสร้างทักษะชีวิต การสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริง การเสริมทักษะและการใช้ชีวิตที่เท่าทันสถานการณ์ปัจจุบัน และการสร้างเป้าหมายชีวิตของตัวเอง
ทีมที่ 2 สำนักกิจกรรมกิ่งก้านใบ
เริ่มต้นทำพื้นที่การเรียนรู้จากการทำงานกับเยาวชนหลังห้อง เยาวชนที่มีพฤติกรรมเสี่ยงฯ โดยพบว่าเยาวชนต้องการพื้นที่ในการแสดงออก ต้องการพื้นที่สร้างสรรค์ในการแสดงพลังของตัวเอง จึงเริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนพื้นที่เสี่ยงให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ พัฒนามาเรื่อยๆ จนเกิดเป็นพื้นที่การเรียนรู้ที่เป็นรูปธรรมในชุมชนในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก สุโขทัย และกำแพงเพชร
ทีมที่ 3 ศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านเกาะทัง
กลุ่มแกนนำชุมชนบ้านเกาะทัง จ. พัทลุง ได้รวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการพัฒนาชุมชนในปีพ.ศ.2549 และได้มีการออกระเบียบกลุ่มที่จะตัดกำไรจำนวนหนึ่งคืนให้กับเด็กและเยาวชนที่เป็นลูกหลานของสมาชิกกลุ่ม จึงเกิดการสำรวจต้นทุนชุมชน พบว่า เด็กๆ ในชุมชนเองไม่ได้สนใจและเข้าใจถึงเรื่องราวในชุมชนตนเอง รวมถึงการมีอยู่ของกลุ่มออมทรัพย์ฯ     จึงเริ่มจัดค่ายเรียนรู้วิถีชุมชนให้กับเด็กๆ ในหลากหลายชุมชน และกลายเป็นพื้นที่เรียนรู้ เปิดพื้นที่ในสวนและใต้ถุนบ้านเป็นห้องสมุดและพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนเข้ามาทำกิจกรรมอย่างสร้างสรรค์ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
ทีมที่ 4 สถาบันพัฒนาเยาวชนและชุมชนเพื่ออนาคต
พื้นที่การเรียนรู้ร่วมกันระหว่างเด็กและครูภูมิปัญญาในจังหวัดอุทัยธานี ตั้งใจสื่อสารและสืบสานภูมิปัญญาดั้งเดิมในพื้นที่ชาติพันธุ์ โดยมีพิพิธภัณฑ์บ้านเล่าเรื่อง เปิดให้เด็กๆ ได้เข้ามาเรียนรู้กับครูภูมิปัญญาที่มีความรู้เรื่องสมุนไพร วิถีพรานบ้าน และของเล่นโบราณ นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่เรียนรู้ด้านอาหารพื้นบ้าน ที่ครูภูมิปัญญาได้มาสอนเด็กๆ ทำขนมท้องถิ่นและอาหารพื้นบ้าน ที่ใช้ในงานประเพณี งานบุญ และงานสำคัญต่างๆ ของชุมชน 
ทีมที่ 5 กลุ่มพงลีแป
กลุ่มอาสาสมัครในจังหวัดนราธิวาส เริ่มทำงานตั้งแต่ปีพ.ศ.2553 มีจุดเริ่มต้นคือการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในชุมชน และมุ่งให้เยาวชนมีพื้นที่ทำกิจกรรมร่วมกัน รวมถึงสร้างพื้นที่ฝึกซ้อมศิลปะการป้องกันตัว “สีลัต” เพื่อสืบสานศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นที่จะกำลังจะหายไปพร้อมกับคนรุ่นก่อน 
ทีมที่ 6 พลังโจ๋
พื้นที่การเรียนรู้ในจังหวัดแพร่ เป็นพื้นที่ปลอดภัย ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนที่หลุดออกนอกระบบได้ฝึกทักษะอาชีพผ่านการลงมือทำ และสร้างกลไกชุมชนในการปกป้องคุ้มครองเด็ก และร่วมกันสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการสร้างเสริมสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว รวมไปถึงการผลักดันภาคีเพื่อการดำเนินงานในระดับจังหวัด
ทีมที่ 7 มูลนิธิไทยอาทร
มูลนิธิทำงานร่วมกับชุมชนเพื่อสร้างศูนย์การเรียนรู้ที่จะพัฒนางานกลไกท้องถิ่น เพื่อเด็กปฐมวัยและครอบครัวในตำบลนาหนองทุ่ม จ.ขอนแก่น โดยมีเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์บริการและถ่ายทอดองค์ความรู้และพัฒนาทักษะกระบวนการส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยและครอบครัว อย่างมีส่วนร่วมกับชุมชน
โปรแกรมบ่มเพาะเพื่อสร้างความยั่งยืน Accelelator 
ทีมที่ 8 สานพลังดี
กลุ่มคนที่มีประสบการณ์มากกว่า 10 ปีในการทำงานวิชาการและจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับหลากหลายหน่วยงาน จนเกิดแรงบันดาลใจอยากเป็นกลไกสนับสนุนในสังคมที่ทำงานเชื่อมต่อความร่วมมือของกลุ่มคน หน่วยงาน หรือบริษัทที่มีศักยภาพและความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ เข้ากับการพัฒนาและสนับสนุนกลุ่มคนด้อยโอกาส เพื่อให้คนกลุ่มนี้ได้รับโอกาสในการมีชีวิตที่ดีขึ้น โดยเน้นที่การสร้างเสริมสุขภาวะของเด็ก เยาวชน และครอบครัว
ทีมที่ 9 กลุ่มใบไม้
กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่รวมตัวกันทำงานจิตอาสา ในด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผ่าน “ความงาม – ความจริง – ความดี” โดยเริ่มจากการออกไปเรียนรู้ธรรมชาติโดยการสัมผัสประสบการณ์ตรง เช่น การเดินป่า การดูนก การใช้เกมเรียนรู้ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมศึกษา และได้ลงมือทำงานจิตอาสาเพื่อการแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรฯ นำไปสู่การเป็นเครือข่ายอาสาสมัครด้านการอนุรักษ์ ฯ ที่เข้มแข็ง
ทีมที่ 10 โรงเล่นพิพิธภัณฑ์เล่นได้
องค์กรพัฒนาสังคมตั้งอยู่ในชุมชนตำบลป่าแดด อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย เติบโตมาจากกลุ่มคนเฒ่าคนแก่ซึ่งส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนประเภทหัตถกรรมจากไม้ (ของเล่นพื้นบ้าน) สร้างพื้นที่เล่นในชนบทเป็นแหล่งเรียนรู้ในรูปแบบที่จับต้องได้ โรงเล่นได้ศึกษาและนำของเล่นพื้นบ้านซึ่งทำด้วยมือจากวัสดุธรรมชาติปลอดภัยส่งต่อให้กับครอบครัวและโรงเรียนที่สนใจกระบวนการเรียนรู้ด้วยการเล่น รวมถึงสร้างเครื่องมือการพัฒนาชุมชนบนฐานภูมิปัญญาพื้นถิ่น
ทีมที่ 11 Life Education (Thailand)
องค์กรมุ่งเน้นการสร้างการเรียนรู้ด้านการดูแลลูกให้กับพ่อแม่ ผ่านกลไกระบบการศึกษา เพราะค้นพบว่า การทำงานร่วมกันระหว่างโรงเรียนและครอบครัวคือ ช่องว่างและโอกาสที่สำคัญ จึงวางตัวเป็นตัวช่วยสำหรับโรงเรียนและสถาบันการศึกษาให้สามารถเชื่อมโยงความร่วมมือของครอบครัวผู้เรียน เข้ามาเป็นส่วนสำคัญของการสร้างการเรียนรู้และเสริมสร้างอุปนิสัยไปพร้อมกันได้

2. Supporter : ผู้ที่สนใจปัญหาด้านการศึกษา การพัฒนาเด็กและเยาวชน เข้าร่วมทดลองไอเดียสร้างความยั่งยืนและขยายผลพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชน และให้ความคิดเห็นเชิงบวกแก่เหล่านักเปลี่ยนแปลงในโปรแกรมบ่มเพาะพื้นที่เรียนรู้โดย Supporter ที่มาร่วมแสดงความคิดเห็นจะได้รับการแบ่งกลุ่มตาม persona (กลุ่มเป้าหมาย) ที่ทีมนักเปลี่ยนแปลงต้องการความคิดเห็น โดยทีมนักเปลี่ยนแปลงและ Supporter จะได้แสดงและรับความคิดเห็น 2 รอบ รอบละ 30 นาที

ขอขอบคุณ Supporter ทั้ง 39 คน ที่มาร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นเพื่อช่วยสนับสนุนให้ทีมนักเปลี่ยนแปลงได้รวบรวมความคิดเห็นไปใช้ในการปรับไอเดียหรือต้นแบบโมเดลการขยายผลหรือโมเดลสร้างความยั่งยืนของพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็นและเยาวชนต่อไป หลังจากจบโปรแกรมทาง SOC จะส่งข้อมูลการพัฒนาต้นแบบที่ทุกท่านได้ร่วมสนับสนุนให้ติดตามนะคะ

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโปรแกรมบ่มเพาะพื้นที่เรียนรู้ได้ที่นี่

Album รูปกิจกรรม

กิจกรรม CM Club ครั้งต่อไป เสาร์ 12 พฤศจิกายน 13-16.00 Learning Plus Workshop วางแผนพัฒนาทักษะการเรียนรู้ที่เหมาะที่สุดสำหรับตัวเราเอง!

ณ ศูนย์การเรียนรู้อเนกประสงค์ อุทยานการเรียนรู้ TK Park

ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น 8 (ไม่มีออนไลน์*)*

ใส่ความเห็น

เข้าสู่ระบบด้วย

หรือ