knowledge

Lesson 2 – Dream it Do it

15 ตุลาคม 2014


ระยะเวลา1 ชั่วโมง

วัตถุประสงค์

สามารถระบุสิ่งที่ตนเองสนใจหรือแรงบันดาลใจ (passion)และประเด็นปัญหาสังคม (social issue) ที่มีความสนใจ พร้อมกับแนวคิดที่เป็นไปได้ในการแก้ปัญหาสังคมนั้นๆ (ideas) ในแบบของตนเอง

เพื่อเปิดโอกาสในการเรียนรู้และทำความรู้จักตัวตนของเพื่อนรวมทีมให้มากยิ่งขึ้น

กิจกรรมที่ 1: Dream It Do It – Individual Challenge (กิจกรรมเดี่ยว)

จากบทเรียนแรก เราคงได้ทำความเข้าใจกันแล้วว่า Changemaker และผู้ประกอบการสังคม (Social entrepreneur) คืออะไร และควรจะมีคุณสมบัติอย่างไร ในบทเรียนนี้เราจะมีโอกาสทำความรู้จักกับตัวเองให้มากยิ่งขึ้นเพื่อที่จะเข้าใจว่าสิ่งที่เราสนใจหรือแรงบันดาลใจ (passion) ของเราคืออะไร และเราจะสามารถนำแรงบันดาลใจเหล่านี้ไปเชื่อมโยงกับประเด็นปัญหาสังคม (social issue) ที่เรามีความสนใจได้อย่างไร

นอกจากที่เราจะได้มีโอกาสทำความรู้จักกับตัวเองให้มากขึ้นแล้ว ในบทเรียนนี้เราจะได้มีโอกาสทำความรู้จักเพื่อนร่วมกลุ่มของเรามากยิ่งขึ้น

กิจกรรมที่ 1: Dream It Do It – Individual Challenge (กิจกรรมเดี่ยว)

เพราะว่าแนวคิด (idea) ดีๆ ที่สามารถนำไปสู่แนวทางการแก้ไขปัญหาสังคม สามารถเกิดขึ้นได้จากภายในตัวของเราเอง คนเราทุกคนมีความสามารถและความสนใจที่แตกต่างกัน ถ้าหากว่าเราจะสามารถดึงเอาความสามารถของตัวเองออกมาใช้หรือเอาความสนใจของตนเองเป็นตัวตั้งผนวกเข้ากับประเด็นทางสังคมที่เราสนใจ แนวคิดดีๆ ใหม่ๆ และมีความสร้างสรรค์ก็สามารถเกิดขึ้นได้

เราอาจจะสงสัยว่า ทำไมเราถึงต้องการแนวคิดใหม่ๆ ที่สร้างสรรค์เพื่อนำมาแก้ไขประเด็นทางสังคม คำตอบของคำถามนี้มีได้หลากหลาย เช่น

(1) วิธีแก้ปัญหาแบบเดิมๆ อาจจะยังไม่ได้ผล เพราะเราก็ยังพบเห็นปัญหาอยู่

(2) ถ้าเรายังคงยึดวิธีแก้ปัญหาแบบเดิมๆ เราสามารถทำให้ดีขึ้น มีประสิทธิภาพสูงขึ้นได้หรือไม่

(3) เนื่องจากโลกมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เราต้องการนวัตกรรม (Innovation) ที่จะช่วยทำให้เราแก้ปัญหาได้

ดังนั้นเราจึงมีความเชื่อว่าแนวคิดดีๆ ใหม่ๆ สามารถเกิดขึ้นได้ถ้าหากเรานำเอาจุดแข็งหรือความสนใจของตัวเองมาใช้ในการแก้ปัญหาประเด็นทางสังคมที่เราเองก็มีความสนใจเช่นเดียวกัน

สำหรับกิจกรรมนี้ เราจะใช้เวลาประมาณ 10-15 นาที โดยมีขั้นตอนดังนี้

  1. เริ่มจากระบุสิ่งที่ตนเองสนใจหรือสิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจ (passion) ทั้งหมด ลงในช่องซ้ายมือของ Dream It Do It worksheet
  2. ระบุประเด็นทางสังคมหรือสิ่งที่เราอยากจะช่วยทำให้ดีขึ้นทุกประเด็นลงในช่องขวามือของ Dream It Do It worksheet
  3. จากสิ่งที่เราสนใจทั้งหมดและประเด็นทางสังคมทุกประเด็นที่เราได้ระบุไปแล้วจากข้อ (1) และข้อ (2) เราสามารถสร้างแนวคิดใหม่ๆ อะไรได้บ้างเพื่อเป็นการแก้ประเด็นทางสังคมนั้นๆ ลองใส่แนวคิดที่ได้ทั้งหมดลงในช่อง ‘แนวคิด’ ใน Dream It Do It worksheet
  4. หลังจากได้แนวคิดใหม่ๆ เป็นจำนวนมากแล้ว ลองใช้เวลาที่เหลือมานั่งดูว่าแนวคิดใดที่โดดเด่นในความรู้สึกของเรามากที่สุด บางทีแนวคิดนั้นอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นในการเริ่มดำเนินการโครงการเพื่อสังคม (social venture) หรือธุรกิจเพื่อสังคม (social enterprise)

ตัวอย่างในการทำกิจกรรม Dream It Do It Challenge สามารถดูได้จากคลิปด้านล่างนี้Venture guide: Choosing a topic http://www.youtube.com/watch?v=O-wuZv2NJ9c

​กิจกรรมที่ 2: Dream It Do It – Group Challenge (กิจกรรมกลุ่ม)

กิจกรรมที่ 2: Dream It Do It – Group Challenge (กิจกรรมกลุ่ม)

เพราะสิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งสำหรับการเป็น Changemaker คือ การมีกลุ่มที่แข็งแรงและสมาชิกในกลุ่มมีความเคารพซึ่งกันและกัน และสามารถทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี ดังนั้น กิจกรรมนี้จึงจัดขึ้นเพื่อให้ทุกคนในกลุ่มได้มีโอกาสในการทำความรู้จักและเรียนรู้กันมากยิ่งขึ้น

สำหรับกิจกรรมนี้ จะใช้เวลาประมาณ 45-50 นาที โดยกิจกรรมจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่

กิจกรรมย่อยที่ 2.1: โมเลกุลของตัวเรา (The Personal Molecule)

ขั้นตอนในการทำกิจกรรมย่อยเรื่องโมเลกุลของตัวเรา มีดังต่อไปนี้

  1. แจก Personal molecule worksheet ให้สมาชิกทุกคนในกลุ่ม หลังจากนั้น ให้แต่ละคนเขียนชื่อพร้อมวาดโลโก้ที่แสดงถึงตัวเองลงในช่อง name (personal logo)
  2. ให้แต่ละคนในกลุ่มเลือกคำ 5 คำที่บ่งบอกถึงลักษณะหรือความเป็นตัวเอง แล้วเขียนใส่ลงในช่อง attribute ใน Personal molecule worksheet ของตน ในขั้นตอนนี้ไม่ควรใช้เวลาเกิน 5 นาที
  3. เมื่อทุกคนเขียนคำเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้ตัดวงกลมทั้ง 6 วงออกมา
  4. จากนั้น ให้สมาชิกแต่ละคนในกลุ่มเล่าถึงคำ 5 คำที่ตนเองเลือกไว้ รวมไปถึงโลโก้ของตนเอง พร้อมทั้งอธิบายเหตุผลอย่างสั้นๆ
  5. หลังจากที่สมาชิกคนแรกเล่าเสร็จ ให้นำเอาวงกลมทั้งหมดไปวางไว้บนพื้นที่ว่างซึ่งอาจจะเป็นโต๊ะหรือบอร์ด จากนั้นให้สมาชิกคนต่อไปเล่าถึงคำ 5 คำของตนเอง เมื่อเล่าจบ ให้เลือกนำคำที่มีความหมายหรือลักษณะใกล้เคียงกันกับสิ่งที่สมาชิกคนแรกได้เลือกไว้ไปวางใกล้ๆกันให้เป็นหมวดหมู่ แต่ถ้ามีคำใดหรือลักษณะใดที่แตกต่างไปจากสิ่งที่มีอยู่บนโต๊ะหรือบอร์ด ให้วางคำนั้นๆ แยกออกไปให้เห็นชัดเจน

ตัวอย่างเช่น ถ้าสมาชิกคนแรกของกลุ่มมีคำว่า ‘เข้ากับคนได้ง่าย’ หากสมาชิกคนที่สองมีคำว่า ‘มนุษยสัมพันธ์ดี’ เป็น 1 ใน 5 คำทั้งหมด สมาชิกคนที่สองจะนำเอาคำนี้ ไปวางไว้ใกล้ๆ กับคำว่า ‘เข้ากับคนได้ง่าย’ ของสมาชิกคนที่หนึ่ง แต่ถ้าคำถัดไปของสมาชิกคนที่สอง คือ คำว่า ‘เป็นนักกีฬา’ คำๆนี้จะถูกนำไปวางแยกจากคำว่า ‘เข้ากับคนได้ง่าย’ และ ‘มนุษยสัมพันธ์ดี’ เนื่องจากมีความหมายที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน

  1. หลังจากที่ทุกคนได้เล่าถึงคำที่ตัวเองได้เลือกไว้ และวางลงบนโต๊ะหรือบอร์ดแล้ว ให้ภายในกลุ่มพูดคุยกันถึงสิ่งที่เห็นจากการจัดเรียงกลุ่มคำทั้งหมด ภายในกลุ่มมีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร? การได้เห็นคำเหล่านี้ทำให้เราได้รู้จักเพื่อนในกลุ่มมากขึ้นอย่างไร?



กิจกรรมย่อยที่ 2.2: เรื่องราวของฉัน (The Story Graph)

ในกิจกรรมนี้ สมาชิกในกลุ่มจะได้มีโอกาสเล่าถึงเรื่องราวในชีวิตของตัวเองโดยเรื่องราวที่นำมาเล่า สามารถเป็นได้ทั้งเรื่องที่มีผลกระทบในเชิงบวกหรือลบต่อชีวิตของเรา จำนวนสมาชิกที่เหมาะสมสำหรับกิจกรรมนี้ คือ 2-3 คนต่อหนึ่งกลุ่มย่อย ดังนั้นหากสมาชิกในกลุ่มมีมากกว่า 3 คน แนะนำให้ภายในกลุ่มแบ่งสมาชิกออกเป็นกลุ่มเล็กๆ โดยให้แต่ละกลุ่มย่อยมีสมาชิก 2 คน (แต่ถ้าจำนวนสมาชิกทั้งหมดในกลุ่มเป็นจำนวนคี่ จะมี 1 กลุ่มย่อยที่มีสมาชิก 3 คน) ขั้นตอนในการทำกิจกรรมย่อยเรื่องเรื่องราวของฉัน เป็นดังนี้

  1. แจก Story Graph worksheet ให้สมาชิกทุกคนในกลุ่ม
  2. สมาชิกแต่ละคนเลือกเรื่องราวที่สำคัญในชีวิตของตนเองมา 4-6 เหตุการณ์นับตั้งแต่วันแรกเกิดจนถึงปัจจุบัน (วันที่ทำกิจกรรมนี้)
  3. หลังจากนั้นให้เลือกใช้ความรู้สึกของตัวเอง หรือวิเคราะห์ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวที่เลือกมาทั้งหมดมีผลกระทบต่อตนเองในเชิงบวก (positive) หรือลบ (negative) รวมไปถึงระดับความรู้สึกของเหตุการณ์นั้นว่ามีผลกระทบต่อตัวเรามากหรือน้อยขนาดไหน
  4. นำเหตุการณ์ทั้งหมดไปวางแสดงบน Story Graph worksheet โดยวางตำแหน่งตามความรู้สึกต่อเหตุการณ์นั้นๆ และระดับของความรู้สึก
  5. ให้สมาชิกแต่ละคนในกลุ่มได้เล่าถึงเรื่องราวของตนเองให้สมาชิกภายในกลุ่มย่อย ในกรณีที่มีหลายกลุ่มย่อย หลังจากที่สมาชิกภายในกลุ่มย่อยทุกคนได้เล่าเรื่องของตัวเองแล้ว ในตอนท้ายให้ทุกคนกลับมารวมตัวกันอีกครั้งและให้แต่ละกลุ่มย่อยเล่าเรื่องราวชีวิตของสมาชิกของแต่ละคนในกลุ่มย่อยให้ทุกคนได้ฟัง โดยที่ให้สมาชิกในกลุ่มย่อยแต่ละคนเลือกเล่าเรื่องของสมาชิกคนอื่นๆ ภายในกลุ่มย่อยเดียวกัน
  6. หลังจากที่ทุกคนได้ฟังเรื่องราวชีวิตของสมาชิกทุกคนในกลุ่มแล้ว ให้ทุกคนช่วยกันคิดว่ามีใครที่เคยผ่านเหตุการณ์ที่คล้ายๆ กับตนเองบ้าง? เมื่อเราต้องการที่จะริเริ่มโครงการเพื่อสังคมหรือธุรกิจเพื่อสังคม เราสามารถนำข้อคิดที่ได้จากเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับสมาชิกในกลุ่ม มาช่วยเตรียมหรือพัฒนากลุ่มของเราได้อย่างไร?

เมื่อมาถึงตอนนี้ เชื่อว่าทุกคนคงจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับตัวเองและสมาชิกในกลุ่มมากยิ่งขึ้น และเมื่อตัวเราและสมาชิกทุกคนในกลุ่มมีความพร้อมที่จะลุยเข้าไปแก้ปัญหาสังคมแล้ว ก็ถึงเวลาที่เราควรจะมานั่งคิดวิเคราะห์ว่า สาเหตุที่แท้จริงของปัญหาที่เราสนใจนั้น คืออะไร อะไรคือสิ่งที่เราหรือคนส่วนใหญ่ยังมองไม่เห็น ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว สิ่งเหล่านั้นมักจะเป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดปัญหาสังคมที่เราพบเจออยู่ในปัจจุบัน

ถ้าทุกคนพร้อมที่จะตะลุยให้ถึงรากของปัญหาแล้ว บทเรียนที่ 3 จะนำเสนอวิธีการที่จะทำให้เราสามารถค้นพบสาเหตุของปัญหาที่แท้จริงได้ … Let’s define your problem…now

Knowledge Document:
id old content:
51

ใส่ความเห็น

เข้าสู่ระบบด้วย

หรือ