knowledge

บทเรียนนักศึกษา…จากการทำโปรเจกต์เพื่อสังคม (ตอนที่ 2)

31 มกราคม 2016


เมื่อต้นปี พ.ศ. 2558 มูลนิธิอโชก้า ผู้ริเริ่มสร้างสรรค์เพื่อสังคม (ประเทศไทย) ร่วมกับวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดโครงการ Active Citizen Plus in KKU ขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาชั้นปีที่ 1-2 ได้ทดลองทำโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมเป็นระยะเวลา 6-12 เดือน เพื่อฝึกทักษะและเก็บเกี่ยวประสบการณ์ก่อนจะเรียนจบออกไปเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในชุมชนให้ดีขึ้นต่อไป

โดยกระบวนการได้เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ค้นหาประเด็นปัญหาสังคมและนำความสนใจหรือทักษะที่มี ปั้นเป็นไอเดียแรกเริ่มออกมา พร้อมเวิร์คช็อปให้เครื่องมือการศึกษาปัญหาและหาสาเหตุเพื่อแก้ไขได้ถูกจุด ตั้งเป้าหมายและวางแผนงาน เรียนรู้วิธีการบริหารจัดการ และ รับเงินทุนไม่เกิน 50,000 บาท ไปทำจริง พร้อมโค้ชคอยให้คำปรึกษาตลอดโครงการ จากทั้งหมด 13 ทีม เหลือรอดเพียง 3 ทีมที่ได้ลงมือทำ ซึ่งสาเหตุมาจากกระบวนการที่ให้ความสำคัญและระยะเวลาในการสำรวจปัญหาที่นานเกินไป ประกอบกับนักศึกษามีเวลาน้อยเนื่องจากเรียนและกิจกรรมต่างๆ ของมหาวิทยาลัย

ซึ่งทั้ง 3 ทีมที่กล่าวมานี้ ได้แก่ ทีม The Bottle Save Life, ทีม รัก มข. ต้องต่อคิว และทีมเตาเผายุคใหม่เพื่อสังคมไทยปัจจุบัน ซึ่งบทความนี้จะกล่าวถึงโครงการรัก มข.ต้องต่อคิว โดยมีแนวคิดโครงการและบทเรียนที่ได้รับดังต่อไปนี้

โครงการ รัก มข. ต้องต่อคิว

เท่ห์ หมู และอีฟ นักศึกษาวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น สนใจเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชั่น พวกเขาเชื่อว่าการรณรงค์เรื่องยุติการคดโกงตั้งแต่ยังเด็กจะช่วยสร้างจิตสำนึกดีมีคุณธรรมให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีของสังคมต่อไปในอนาคต อีกทั้งมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยเองได้มีภาพลักษณ์ที่ดี เป็นต้นแบบที่จะสามารถขยายผลได้ต่อไป โดยเริ่มจากโรงอาหารของคณะพวกเขาที่พบปัญหานักศึกษาแซงและถูกแซงคิวโดยตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจขณะซื้ออาหารอยู่บ่อยครั้ง

ส่วนไอเดียของ รัก มข. ต้องต่อคิว คือการจัดแคมเปญรณรงค์ง่ายๆ โดยจัดทำโปสเตอร์สื่อสารเรื่องการต่อคิว ออกแบบและเพ้นท์ลายทางเดินเข้าคิวลงพื้นบริเวณหน้าร้านค้าอาหารต่างๆ เพื่อให้นักศึกษาตระหนักและปรับพฤติกรรมการเข้าคิวให้ถูกต้องตามเส้นทางที่กำหนดไว้โดยที่ไม่ต้องมีป้ายอธิบายก็สามารถสื่อสารและเข้าร่วมได้ง่าย คนทั่วไปหรือคนพิการก็ใช้ได้ นอกจากนี้ยังออกแบบลายสำหรับเป็นพื้นที่เลือกอาหารไว้ด้วย ซึ่งจะช่วยให้คนที่กำลังเลือกอาหารไม่ขวางทางคนที่ตัดสินใจได้แล้วว่าจะทานอะไร

ถึงแม้ว่าแคมเปญนี้ยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง แต่ก็ได้รับการตอบรับที่ดีในช่วงแรก ทั้งยังพบความท้าทายที่จะทำอย่างไรให้คนเข้าร่วมได้มากขึ้นและเกิดความต่อเนื่องจนเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้อย่างแท้จริง

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ รัก มข. ต้องต่อคิว ได้ ที่นี่

บทเรียนจากโครงการ รัก มข. ต้องต่อคิว

ถึงแม้จะเป็นการรณรงค์ง่ายๆ ภายในคณะ แต่ยังคงต้องสร้างความร่วมมือจำนวนมาก ตั้งแต่การทำแบบสำรวจสอบถามกลุ่มเป้าหมาย การเข้าไปติดต่อพูดคุยกับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้แก่ ร้านค้าต่างๆ และ หน่วยงานของวิทยาลัย การขอความช่วยเหลือจากคณะที่สามารถออกแบบลายเข้าคิวได้ มุ่งมั่นพยายามขออนุมัติแบบจากวิทยาลัย ซึ่งพบว่าจะต้องปรับแก้และพัฒนาแบบอยู่หลายครั้งกว่าจะผ่านการอนุมัติ

สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำโครงการ

  • ได้เรียนรู้เรื่องความสามัคคีและยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น
  • การได้ลองผิดลองถูก ได้รู้จักแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า โดยใช้หลักความร่วมมือ
  • มีความยืดหยุ่นมากขึ้นในการทำงาน
  • ได้เรียนรู้การมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี
  • พยายามคิดและลงมือทำให้รอบคอบมากขึ้น
  • เรียนรู้เรื่องการใช้หลักการและเหตุผล

ทั้งนี้สามารถติดตามบทเรียนสุดท้ายของโครงการเตาเผายุคใหม่เพื่อสังคมไทยปัจจุบันได้เร็วๆ นี้

id old content:
277

ใส่ความเห็น

เข้าสู่ระบบด้วย

หรือ