เว็บไซต์ที่ดีคือเว็บไซต์ที่ออกแบบให้ทุกคนไม่ว่าใครก็ใช้งานได้ หรือที่เรียกกันว่า web accessibility ซึ่งสำหรับคนทั่วไปอย่างเรานั้น เรื่องนี้อาจไกลตัวเพราะเราเข้าได้ทุกเว็บ กวาดสายตาอ่านแปบเดียวก็รู้แล้วว่าเราต้องคลิ๊กเข้าไปหาข้อมูลส่วนไหน แต่สำหรับกลุ่มคนตาบอดที่ใช้การฟังแทนการกวาดสายตาอ่าน ใช้คีย์บอร์ดแทนการลากเมาท์ การท่องเว็บไซต์ของพวกเขาแต่ละครั้งนั้นวุ่นวายไม่ใช่น้อย ยิ่งถ้าเว็บไซต์ไหนไม่ได้ออกแบบมาโดยคำนึงถึงพวกเขา เว็บเหล่านั้นจะใช้งานยากที่สุด วันนี้ลองมาดูวิธีการท่องเว็บในความมืดของคนตาบอดกัน
1. โปรแกรมอ่านหน้าจอไม่มีไม่ได้ ปกติคนตาบอดจะใช้โปรแกรมอ่านหน้าจอที่ชื่อว่า ‘ตาทิพย์’ และ ‘NVDA’ โปรแกรม 2 ตัวนี้จะอ่านทุกบรรทัดที่ปรากฎอยู่บนหน้าจอตั้งแต่บนลงล่าง และไล่อ่านจากซ้ายไปขวา แต่โปรแกรมอ่านหน้าจอไม่ได้อ่านได้ทุกอย่าง ข้อมูลจำพวกกราฟฟิกหรือรูปภาพ โปรแกรมเหล่านี้จะอ่านไม่ออก และด้วยระบบการทำงานของโปรแกรมที่อ่านทุกอย่าง กว่าจะอ่านเว็บไซต์จบแต่ละหน้า คนตาบอดฟังกันจนเมื่อยหู
2. Keyลัด ประหยัดเวลา ปุ่มคีย์ลัดช่วยให้การอ่านหน้าจอรวดเร็วขึ้นเพราะเลือกอ่านเฉพาะสิ่งที่คนตาบอดอยากจะฟัง ปุ่มคีย์ลัดหลักที่คนตาบอดใช้ประจำจะเป็นตัว H เมื่อกดปุ่มนี้ โปรแกรมอ่านหน้าจอจะอ่านเฉพาะหัวข้อที่เป็น Heading หลักๆอยู่ด้านบนสุดของเว็บ อีกตัวหนึ่งจะเป็นปุ่ม L เมื่อกดตัวนี้โปรแกรมจะอ่านเฉพาะ Link ที่เชื่อมไปยังข้อมูลต่างๆ หรือกดปุ่มตัว T โปรแกรมจะอ่านเฉพาะตาราง
3. ใช้ลูกศรนำทาง ปกติเราจะเลื่อนเมาท์และกดคลิ๊กหรือดับเบิ้ลคลิ๊กเวลาท่องเว็บไซต์ แต่คนตาบอดใช้เมาท์ไม่ได้ ลูกศรซ้าย ขวา บน และล่าง บนคีย์บอร์ดจึงทำหน้าที่แทนเมาท์ คนตาบอดจะกดขึ้นลงซ้ายขวาเลื่อนฟังข้อความต่างๆที่โปรแกรมอ่านหน้าจออ่าน และกดEnterแทนการคลิ๊กเวลาจะเข้าไปอ่านหัวข้อที่สนใจ
4. Script to main content อ่านง่ายขึ้นเยอะ กว่าจะได้อ่านเนื้อหาที่เราอยากอ่านได้ ต้องผ่านชื่อเว็บไซต์ เมนูต่างๆ แบนเนอร์โฆษณา และข้อความอีกมากมาย คนทั่วไปอย่างเราก็แค่เลื่อนเมาท์รัวๆข้ามข้อความด้านบนลงมาอ่านเนื้อหาหลัก คนตาบอดใช้เมาท์ไม่ได้ก็ต้องทนฟังโปรแกรมอ่านหน้าจออ่านชื่อเว็บ อ่านเมนู และอื่นๆอีกยืดยาว แต่ถ้าเว็บไซต์ไหนมีปุ่ม Script to main content ปุ่มนี้จะพาคนตาบอดข้ามข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้องไปยังเนื้อหาหลักแบบรวดเร็วทันใจเลย
5. คำบรรยายเพิ่มความเข้าใจ อย่างที่บอกไปแล้วว่าโปรแกรมอ่านหน้าจออ่านข้อมูลรูปภาพหรือกราฟฟิกไม่ได้ แต่บางรูปนั้นก็เชื่อมโยงกับเนื้อหาช่วยให้เข้าใจเนื้อหาชัดเจนขึ้น เพื่อให้คนตาบอดเข้าใจรูปเหล่านี้ได้ต้องเพิ่มคำอธิบายรูปภาพไว้ โดยวิธีเพิ่มคำอธิบายนั้นเริ่มจาก บอกฟังชั่นของรูปภาพนั้นก่อน เลือกใช้คำที่สำคัญขึ้นต้นและใช้คำสั้นกระชับ
ในเบื้องต้นโปรแกรมอ่านหน้าจอถูกออกแบบมาให้ทำงานสอดคล้องกับเว็บไซต์ทั่วไปทำให้คนตาบอดเข้าใช้งานเว็บไซต์ได้อยู่แล้ว แต่คนตาบอดจะใช้งานเว็บไซต์ได้ง่ายขึ้น เซฟเวลา และเข้าถึงข้อมูลได้ทุกประเภทถ้าเว็บไซต์ออกแบบโดยนึกถึงคนตาบอดเพิ่มอีกนิด