
เคยมั้ยคะ ที่ไปเจอเรื่องดีๆ มาแล้วอยากเล่า แต่ไม่รู้จะเล่ายังไงไม่ให้เพื่อนหลับ หรือทำไงให้มันสนุกดีนะ เราเป็นคนนึงที่มีปัญหานี้ เลยพาตัวเองไปร่วมเวิร์คช็อปของ minimore ในหัวข้อ content maker มาค่ะ ครั้งนี้มีพี่ลูกแก้ว โชติรส นาคสุทธิ์ content writer แห่งเว็บminimore และพี่แชมป์ ทีปกร วุฒิพิทยามงคล คอลัมนิสต์ด้านเทคโนโลยีจากนิตยสาร GM, a day และ Giraffe มาให้ความรู้และแชร์ประสบการณ์ในการเขียนคอนเทนต์ออนไลน์ให้ฟัง งานนี้ได้ความรู้กลับมาเต็มสมุดและสมอง
นักอยากเขียนอย่างเราเลยอยากเอามาเล่าให้ฟังกันค่ะ
คนอ่านหนังสือน้อยลงจริงหรือ ?
เป็นคำถามที่หลายคนสงสัย เรื่องนี้พี่ทั้งสองคนให้ความเห็นตรงกันว่า ถ้านับเป็นหนังสือก็คงจริง แต่ถ้านับว่าเป็นตัวหนังสือเชื่อได้ว่าไม่ลดลง หรืออาจจะเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ เพราะทุกวันนี้เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตของเรามากขึ้น เราเข้าถึงตัวหนังสือง่ายขึ้น ตื่นเช้ามาก็เช็คสเตตัสของเพื่อนละ กดอ่านบทความที่แชร์กันในโลกออนไลน์ หรือแวะเม้าท์มอยกับอีเจี๊ยบ ใครบอกคนไทยอ่านหนังสือไม่เกิน 7 บรรทัด.. มันจะไปจริงได้ยังไง กระทู้เดียวก็เกิน 7 บรรทัดแล่ว
เมื่อนิสัยการอ่านของคนเราเปลี่ยนไป วิธีและช่องทางในการเขียนจึงต้องเปลี่ยนตาม จะเห็นได้ว่าแมกกาซีนหรือสำนักพิมพ์หลายสำนักพิมพ์หันมาเล่นกับตลาดออนไลน์มากขึ้น เมื่อการแข่งขันเปลี่ยนจากยอดพิมพ์มาเป็นยอดวิว แล้วการเขียนแบบไหนล่ะ ที่จะได้ยอดวิวมากที่สุดในสมรภูมิออนไลน์นี้?
ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่าธรรมชาติของคอนเทนต์ออนไลน์นั้นมีความกว้างของยอดวิวที่ต่างกันมาก ตั้งแต่ระดับร้อยวิวไปจนถึงหลายแสนวิวในเว็บเดียวกัน ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดความแตกต่างนั้นก็มีหลายอย่าง เช่น ช่องทางการอ่าน ความสนใจของคนอ่าน เป็นต้น สิ่งที่น่าสนใจคือ นิสัยของคนอ่านที่มักจะอ่านจากการแชร์มากกว่าเข้าไปหน้าหลักของเว็บ ตื่นเช้ามาไล่ดูจากหน้า feed facebook ว่าวันนี้เรื่องไหนน่าสนใจ เห็นเพื่อนแชร์มาขออ่านหน่อยซิ น้อยมากที่เราจะกดเข้าไปหน้าหลักของเว็บไซต์ต้นเรื่อง (ทำเหมือนกันล่ะสิ)
ยาวไป ไม่อ่าน จริงหรือ?
คนมักคิดว่าถ้าบทความยาวไปไม่อ่าน ลองถามตัวเองดูค่ะว่าทำไม่ถึงไม่อ่าน? เพราะยาวหรอ? กระทู้เผือกดาราในพันทิปยาวตั้งหลายหน้าก็ตามอ่านกันได้นี่นา หรือแม้กระทั่งรุ่นคุณแม่ ก็ยังสามารถอ่านนวนิยายจบเป็นเล่มๆ ได้สบาย ตราบใดที่เป็นเรื่องที่ตัวเองสนใจ ยาวยังไงก็อ่าน สิ่งที่คนไม่อ่านมักจะเป็นบทความขนาดกลางค่ะ เพราะไม่กระชับตรงประเด็นเท่าบทความขนาดสั้น แต่ก็ไม่มีเรื่องลงลึกแบบบทความขนาดยาว ทำให้คนอ่านหลุดความสนใจได้ง่าย เขาว่ากันว่าคนอ่านรุ่นใหม่จะอ่านแบบลึกขึ้น คือ อ่านแล้วคิดวิเคราะห์ตามมากขึ้น บทความจึงควรชวนคิดหรือเสนอขัอมูลให้ผู้อ่านได้วิเคราะห์ตาม
5 เคล็ดลับ จับกระแสมาสร้างคอนเทนต์ออนไลน์
พาดหัวโดน / อย่าเวิ่น / กันเอง / น่าอ่าน / น่าแชร์
เทคนิค พาดหัวโดนใจ ยอดไลค์พุ่ง
- เล่นกับความอยากรู้ ตั้งคำถาม ทำให้คนอ่านเกิดความสงสัย (เห้ย! จริงอ่ะ! ขอกดเข้าไปอ่านหน่อย หรือ ไม่เชื่อหร๊อก แล้วก็กดเข้าไปอ่านเพราะอยากยืนยันความไม่เชื่อของตัวเอง)
- เอาเนื้อหาที่น่าสนใจในบทความมาสปอยล์เรียกแขก
- ตัวเลขมหัศจรรย์ เช่น 7 วิธี เปลี่ยนแปลงตัวเอง, 5 ที่ท่องเที่ยวแบบงบน้อยก็ไปได้, 5 เคล็ดลับ.. (คุ้นๆ มั้ยคะ)
- กระชับ อ่านแล้วรู้เลยว่าเกี่ยวกับเรื่องอะไร
อย่าเวิ่น อย่าเว่อร์
- เขียนเล่าเรื่องไปข้างหน้าเหมือนเล่าให้เพื่อนฟัง ไม่วนวนมา
กันเองแค่ไหน แค่ไหนเรียกกันเอง..
- สร้างคาแรคเตอร์ของเรา “เราจะเล่าเรื่องแบบไหน” ให้นึกว่าเราอยากได้คนแบบไหนมาอ่าน เราจะเป็นคนแบบไหน เล่าด้วยน้ำเสียงแบบไหน
- ทำให้มันสนุก มีความเชื่อมโยงกับตัวคนอ่าน ทำให้คนอ่านเห็นภาพในเรื่องนั้นใกล้ตัวเขามากขึ้น
เขียนอย่างไรให้น่าอ่าน?
- ต้องเป็นคนในและคนนอกไปพร้อมๆ กัน คนใน หมายถึง ปล่อยพลังความอินของเราออกมาค่ะ คนมักจะอ่านสิ่งที่ตัวเองสนใจ เมื่อเราเป็นคนที่สนใจเรื่องนี้แล้ว เราอยากรู้อะไรอีก อยากเล่าอะไร แต่ข้อนี้ก็ต้องระวังว่า คนเรามีความสนใจต่างกัน บางทีเราอินจัดจนลืมไปว่าคนอื่นอาจจะไม่ได้อินเท่าเรานะจ๊ะ จุดนี้จึงต้องถอยออกมาเป็น คนนอก สมมติว่าเราไม่เคยรู้เรื่องนี้มาก่อนเลย คนเขียนควรเล่าเกริ่นนำในเรื่องนั้นกับคนอ่าน เขาจะได้ตามทัน
- ทำให้สุด ทำให้รู้สึกมากกก อย่าครึ่งๆ กลางๆ อย่างเช่น ถ้าจะแดกดันก็เอาให้สุดทาง ถ้าจะตลก จะไร้สาระก็ไปให้สุดค่ะ คนอ่านจะรู้สึกว่า ทำทำไมวะ กล้าเนอะ แบบนี้ก็มีด้วย..
- ถ้าไม่สามารถเล่นกับความเร็วได้เหมือนหนังสือพิมพ์ ให้เล่นกับความต่าง
- นำเสนอมุมมองใหม่ๆ เป็นทางเลือกให้ผู้อ่าน ในเรื่องเดียวกันลองมองหาประเด็นรอบๆ เลือกมุมที่ยังไม่มีคนเล่า หรือใส่มุมมองของเราลงไป สร้างทางเลือกชวนคนอ่านคิดตาม
- ในเว็บ/เพจ ควรมีสไตล์การเล่าเรื่องที่หลากหลาย ตั้งคำถามบ้าง ให้ความรู้บ้าง ชวนคิดบ้าง หรือบันเทิงบ้าง
- หนึ่งย่อหน้า หนึ่งไอเดีย พูดทีละเรื่องคนอ่านจะได้ไม่สับสน
- ทุกย่อหน้าให้อะไรกับคนอ่าน เช่น ความรู้ใหม่ มุมมองใหม่ ความบันเทิง มุกตลก เป็นต้น
ทำอย่างไรให้น่าแชร์?
- ธรรมชาติของการแชร์มี 2 แบบ
1. อ่านแล้วอยากแชร์ เพราะจะได้มีเรื่องให้คุยต่อกับเพื่อน ตั้งวงเม้าท์มอยหรืออยากเล่าเรื่องนี้ให้เพื่อนฟัง
2. แชร์เพื่อสร้างภาพลักษณ์หรือแสดงความเห็นด้วย เช่น แชร์บทความ “ผลวิจัยชี้ โสด มีความสุขกว่ามีคู่” เพื่อประกาศให้รู้ว่า ชั้นโสดนะจ๊ะ หรือจะบอกว่า โสดใครว่าเศร้า ไม่จริ๊ง (เสียงสูง) นี้ไงแกร ชั้นโสดแบบสวยๆ และสุขสุดๆ นะจ๊ะ เปรียบเหมือนการตั้งสเตตัสรูปแบบหนึ่ง ซึ่งการแชร์แบบนี้มีจำนวนมาก ขึ้นอยู่กับการพาดหัว แต่คนมักจะแชร์โดยที่ไม่ได้กดเข้าไปอ่านเนื้อความด้านใน (วัดจากการที่บทความแบบพาดหัวเรียกแชร์บางอันคนคอมเมนท์ดราม่าถล่มทลาย ทั้งที่ไม่ได้เกี่ยวกับเนื้อหาบทความข้างในแต่อย่างใด )
- ใช้สารเดียวกันสร้างสื่อหลายรูปแบบในหลายช่องทาง เช่น twitter, instagram, facebook ในแต่ละช่องทางมีคาแรคเตอร์ของตัวเอง และของคนเล่นที่ต่างกัน เราควรศึกษาและทำสารของเราให้สอดคล้องกับรูปแบบของช่องทางเหล่านั้น นอกจากจะทำให้คนแชร์ได้มากขึ้นแล้ว ยังเหมือนเป็นการสะกดจิตคนอ่านอีกด้วย พอคนอ่านเห็นบ่อย เห็นจากหลายๆ สื่อ พูดเรื่องเดียวกันซ้ำๆ จะทำให้เริ่มรู้สึกว่าเรื่องนี้มีความสำคัญมากขึ้น
จบไปสำหรับภาคทฤษฎีในช่วงเช้า ขอเล่ากิจกรรมช่วงบ่าย เผื่อใครยังเห็นภาพไม่ชัด จะได้ลองฝึกคิดและได้ไอเดียเพิ่มละกันนะ
ตอนบ่ายเขาให้แบ่งกลุ่มแล้วลองคิดพาดหัวและเนื้อหาที่อยากเล่าจากหัวข้อโจทย์ที่เป็นกระแสตอนนี้ โดยพี่ลูกแก้วและพี่แชมป์จะมาช่วยคอมเมนท์และให้รางวัลหัวข้อที่โดนใจคนในงานมากที่สุดค่ะ หัวข้อมี 1.แกรมมี่อวอร์ด 2.นักบิน/พระ/การประท้วง 3.ปาเกียวกับความคิดเห็นเรื่องเพศที่สาม คนอื่นเขียนอะไรบ้าง มาลองดูตัวอย่างกันค่ะ
แกรมมี่ อวอร์ด
- “รู้ยัง แกรมมี่อวอร์ด อากู๋ไม่ได้แจกนะ” ว่าด้วยเรื่องคำคล้ายที่ไม่ได้เกี่ยวกัน เช่น แกรมมี่อวอร์ดไม่เกี่ยวอะไรกะค่ายเพลงย่านอโศกนะ หรือทาทา ยัง ไม่ได้เป็นญาติกับเจสัน ยัง นะจ๊ะ .. นี่เป็นตัวอย่างที่ดีของคอนเทนต์สายสุดทางค่ะ อ่านพาดหัวแล้วเงิบแต่ยอมใจในความกล้าเขียน
- “นักวิจารณ์ชุด คุณเป็นใครกัน” จากกระแสวิจารณ์ชุดเทเลอร์ ใครกันเป็นคนเริ่ม? นักวิจารณ์สายแฟชั่นคือใคร? วงการนี้ทำงานยังไง? ใช้เกณฑ์อะไร ตัวอย่างคอนเทนต์สายนักสืบ ตั้งคำถามว่าใคร? นำเสนออีกมุมมองที่ไม่เคยรู้
พระ/นักบิน/การประท้วง
- “การล็อคคอที่ถูกวิธีทำอย่างไร” รวมท่าล็อคคออย่างถูกวิธีตั้งแต่สาหัสไปจนถึงตาย จากทั่วโลก ใครยังนึกภาพคอนเทนต์สายสุดทางไม่ออก นี่เลยจ้า…
- “นักบิน ไม่บินแล้วไง? ใครๆ ก็บินได้” รวมรายชื่อผู้จะมาบินแทน ไล่ไปตั้งแต่ ซุนโงกุนกับเมฆสีทอง ตระกูลสกายวอล์คเกอร์ พี่ตูนบอดี้แสลมก็มานะ และพระนักบิณ(ฑบาตร) บิณทุกเช้าเลอ เอาสิ๊.. คอนเทนต์สายครีเอทีฟ ฮา หาสาระ(ไม่เจอ)กันไป 55555
- รวมสายการบินและวิธีการแก้ปัญหาแบบจบลงด้วยดี อันนี้เป็นคอนเทนท์สาย positive นำเสนออีกด้านไปเลยว่าทำดีก็มีนะจ้ะ (ของดีมีทำไมไม่ทำตาม.. อุ๊บส์…)
ปาเกียวกับความคิดเห็นเรื่องเพศที่สาม
- “ทำไมวะ! สัตว์!! อะไรๆ ก็สัตว์!” เล่าที่มาว่าทำไมชอบด่าคนกับสัตว์ แล้วประเทศอื่นๆ เขามีคำด่าอะไรเกี่ยวกับสัตว์บ้าง เช่น เกาหลีด่าไอ่คางคกเงี่ยน สเปนไอ่ไก่ไม่มีหัว ตอนยืนพรีเซนท์เหมือนหาเรื่องพิธีกร คอนเทนต์สายเรียกเสียงฮา และยอดวิวจากคนที่มองหาคำด่าใหม่ๆ ไปด่าเพื่อน แถมได้สาระไปด้วย(นิดนึง)
- “พี่ปาเกียว ดูหนังมั้ยพี่” แนะนำหนังเกี่ยวกับเพศทางเลือกที่ประสบความสำเร็จ ตัวแทนคอนเทนต์สายของดีอยากบอกต่อ
จะเห็นได้ว่าในประเด็นเดียวกัน ถึงจะเป็นกระแสที่มีคนเล่าเยอะแล้ว เรายังสามารถเล่าเรื่องในมุมมองอื่นๆ ต่อยอดได้อีกเยอะมากๆๆๆ ลองดูนะคะ (ของเราอันไหน ลองทายดูนะ แอบอวดว่าชนะด้วยล่ะ อิอิ)
ปล. คำอาจจะไม่ตรงตามเป๊ะๆ นะ เป็นคอนเซปท์คร่าวๆ ละกัน/ ขอบคุณแฟกส์ที่ช่วยกันคิดคอนเทนต์ป่วงๆออกมา และขอบคุณมินิมอร์สำหรับเวิร์ตช็อปดีๆ ณ ที่นี้ค่ะ
ยุคตัวหนังสือบนระบบไร้สายนี้ ทำให้มีนักเขียน นักอยากเขียน หรือแม้กระทั่งนักบ่นออนไลน์มากขึ้น มีช่องทางให้เราได้เล่าเรื่องง่ายและเร็วมากขึ้น คนอ่านเข้าถึงง่ายขึ้น และก็อาจจะลืมง่ายขึ้นด้วย คอนเทนต์ที่เล่นกับกระแสไม่จำเป็นว่าจะหายไปตามกระแสด้วยเสมอไป คอนเทนต์ของเราจะอยู่ได้นานแค่ไหนขึ้นอยู่กับเนื้อหาที่เราเล่าต่างหาก อยากให้คอนเทนต์ที่เราเขียนได้ยอดวิวหรือคนอ่านได้ประโยชน์ อยากได้แบบไหน เลือกเอาละกัน 🙂