knowledge

Pechakucha : เคล็ดลับเล่าเรื่องแบบ 20 สไลด์ x 20 วินาที ทำน้อยแต่ได้มาก!

10 มีนาคม 2016


เมื่อเดือนก่อน เราได้ไปลงเรียนคอร์ส Public Speaking ที่สถาบันโพชฌงค์ ที่สอนโดยเหล่าโค้ชศิษย์ของ อ.วรภัทร ภู่เจริญ มาค่ะ ต้องบอกว่า เป็นคลาสสั้นๆ เน้น Soft Skills ที่ต้องบอกว่า ถึงจะเป็นคอร์สสั้นๆ ราคาไม่ได้แพงหลักหมื่น แบบที่สารพัดนักพูด หรือโค้ชต่างๆ จัดกันทั่วไปในท้องตลาด แต่ก็นับว่าเป็นคลาสที่เปลี่ยนแปลง ‘วิธีคิด’ ของเราในการพูดและนำเสนอเรื่องราวในที่ชุมชนเป็นอย่างมาก

ถ้าหากใครมีโอกาสลองศึกษา และฝึกฝนวิธีการนำเสนอแบบ Pechakucha นี้ดูนะคะ มันช่วยให้เราเรียบเรียงกระบวนการคิด และนำเสนอ ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นอย่างมาก เชื่อว่าทุกคนที่ลงมือสร้างการเปลี่ยนแปลง ล้วนต้องใช้ทักษะการเล่าเรื่อง โน้มน้าว และสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่นอยู่บ่อยๆ ถ้าใครสนใจลองไปเรียนและฝึกฝนดูค่ะ เพราะเป็นโอกาสที่ดี ที่จะมีโค้ชและเพื่อนๆ ช่วยคอมเม้นท์ และ ได้เห็นรูปแบบการนำเสนอจากเพื่อนๆ คนอื่น เหมือนว่าเราได้ทำความรู้จักคนตรงหน้า ในอีกรูปแบบหนึ่ง ผ่านเรื่องราว วิธีการนำเสนอ ภาษา ท่าทางที่เค้าเล่าให้เราฟัง รึ เราลองมาจัด Pechakucha Night ที่ School of Changemakers แล้วฝึกทักษะ Public Speaking กันก็ได้นะ สนุกมาก ^__^

ว่ากันว่าความสนใจของคนเราในการฟังอย่างมีประสิทธิภาพ จำกัดอยู่แค่ประมาณ 5-7 นาทีเท่านั้น

ในโลกนี้ มีวิธีการนำเสนอไว้หลายรูปแบบด้วยกัน เช่น

Ignite ใช้สไลด์ไม่เกิน 20 สไลด์ ใช้เวลา 15 วินาที/สไลด์ รวมทั้งสิ้นใช้เวลาในการนำเสนอ 5 นาที

Kamishibai ซึ่งเป็นรูปแบบการนำเสนอ (ที่ฟังชื่อก็น่าจะพอเดาได้ว่า) มาจากญี่ปุ่น Kami แปลว่ากระดาษ Shibai แปลว่า เล่น/แสดง เป็นการนำเสนอที่ใช้ภาพเป็นตัวเล่าเรื่อง มีตัวหนังสือน้อยมากหรือแทบไม่มีเลย คนพูดต้องใช้ทักษะในการเล่า ผสมกับท่าทาง น้ำเสียง เพื่อสื่อสารกับผู้ฟังให้ตั้งอกตั้งใจฟัง ในระยะเวลา 10 นาที

Pechakucha (ออกเสียงว่า เพทัชก้า แต่เราก็เรียกว่า เพชาคุทช่ะ ล่ะ เป็นคำญี่ปุ่นอีกเช่นกัน แปลว่า การพูดคุยสนทนา ชิทแชท เม้าท์มอย) ครั้งแรกที่โค้ชแนะนำว่า เป็นการนำเสนอเล่าเรื่องแบบ 20/20 นั่นคือ 20 สไลด์ 20 วินาที ซึ่งตลอดชีวิตที่ผ่านมา เราไม่เคยนำเสนอแบบถูกจำกัดจำนวนสไลด์ รึจำนวนรูปภาพ รึเวลาในการพูดมาก่อน หรือถึงแม้จะจำกัดเวลาพูด แต่ก็ไม่เคยมีครั้งไหนถูกจำกัดเวลาต่อสไลด์ 1 แผ่น อยากเปลี่ยนสไลด์ อยากพูดจบตอนไหนอยากออกนอกเรื่องไปอ้อมดาวอังคารก่อนแล้วค่อยกลับมาก็ไม่มีใครว่า

ทีแรกก็ไม่ค่อยเก็ท(ถึงความยาก) ตอนดูน่ะมันง่ายไง ก็ไหลลื่นดี จนลองทำเองเท่านั้นแหละ ซึ้งเลย!!!! จากประสบการณ์ทดลองสนามมา 2 ครั้งถ้วน จึงอยากจะเรียบเรียงขั้นตอนที่เราใช้ มาแบ่งปันกัน ลองเอาไปปรับใช้ดูค่า

ด้วยขั้นตอนเหล่านี้ เราสามารถเข้าถึงวิธีการลำดับความคิด ให้ตัวเองเข้าใจ มากกว่าท่องจำตัวหนังสือบนสไสลด์ มันทำให้เราเปลี่ยนวิธีคิดก่อนพูด และวางแผนในการพูดมากขึ้น พูดเป็นประสาคนมากขึ้น โดยเฉพาะสำหรับคนที่มักจะพูดๆ ไปแล้ว อยู่ดีๆ สมองว่างเปล่าไปต่อไม่ได้ (เหมือนไม่ได้ซ้อมมา) หรือ แลนดิ้งจบเอาดื้อๆ เพราะลืมว่าจะพูดอะไร

เรามีโอกาสได้หัดทำสไลด์ แบบทำน้อยให้ได้มาก (แต่ไม่ได้แปลว่าคิดน้อยนะ ตรงกันข้ามเรากลับต้องใช้ความคิดมากกว่าเดิม ว่าทำยังไง เราถึงจะได้สไลด์ที่เรียบง่าย สวยงาม มีความเป็นตัวเรา (เข้ากับเรื่องที่เราจะพูด จังหวะการพูด และเทคนิคส่วนตัวในการเล่า) ได้มากที่สุด เพื่อให้การนำเสนอ ลื่นไหลไปได้

หวังว่านี่จะเป็นก้าวแรกๆ ที่จะนำไปสู่ การพัฒนาตัวเองต่อๆ ไปด้วยจ้า

10 steps transforming my public speaking experience

1. เริ่มต้นด้วยการ เข้าเว็บ pechakucha.org/watch แล้วนั่งดู presentation ที่คนดูเยอะๆ หรืออันที่เค้า pick up ขึ้นมาแนะนำ เลือกหัวข้อที่หลากหลาย แปลกๆ เพื่อจะได้ไอเดีย เพราะเรื่องบางเรื่อง ฟังแล้วแบบ เอ๊ะ…เรื่องยากขนาดนี้ พูดยังไงใน 5 นาทีนะ ข้อดีในการดูบนเว็บนี้คือ จะมี bar ขึ้นให้เห็นเลยว่า อยู่ที่สไลด์แผ่นที่เท่าไหร่ และใช้เวลาไปเท่าไหร่ เมื่อดูไปสักพัก เราจะเหมือนจับทางได้ว่า 20 วินาทีนี่มันนานแค่ไหนกัน ถ้าเรียบเรียงคำพูดมาเป็นประโยค มันจะใส่เนื้อหาไปได้สักกี่ประโยค

ยกตัวอย่างอันนี้ เรื่องก็อาจจะเหมือนว่าธรรมดา คนเล่าก็เหมือนว่า ไม่ได้พูดเก่ง แต่พอฟังๆ ไปแล้วเพลิน ด้วยภาพประกอบ ด้วยอะไรหลายๆ อย่าง เรื่องมันง่ายๆ เราเลยได้ไอเดีย ว่า pechakucha มันไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องอลังการงานสร้าง มันเป็นเรื่องง่ายๆ ใกล้ตัว

Pechakucha.org – I became an artist and so can you

Pechakucha.org – Transformer apartment

Pechakucha.org – Just don’t do it

(ถ้าอยากพัฒนาทักษะการพูด อีกวิธีนึงที่หลายๆ คนแนะนำมา คือ นั่งดู TED Talk แล้วหา role model ของตัวเองในการพูด ก็เป็นวิธีการที่ดีค่ะ)

ด้วยความที่เราเป็นคนถนัดคิดในหัว แล้วเขียนลงกระดาษ (หรือคอมพิวเตอร์) มากกว่าพูด ให้พูดทีไรก็นึกไม่ออก สมองกลวงได้ใน 3 วิ ลืมเรื่องที่จะพูดซะงั้น เทคนิคส่วนตัว(ที่ใครจะเอาไปใช้ก็ได้ค่ะ) เราเลือกหัวข้อและเขียนลงกระดาษ ด้วยความที่เรามีหลายหัวข้อที่ตัดสินใจไม่ได้ กลัวว่าเรื่องที่อยากพูดเอาเข้าจริงๆ จะไม่มีอะไรใส่ลงไปในสไลด์ตั้ง 20 แผ่นแน่ะ รูปภาพก็ขี้เกียจหา หรือเรื่องเราจะไม่น่าสนใจมากพอสำหรับผู้ฟัง เราจึงใช้วิธีการเขียนแบบลื่นไหล โดยเขียนหัวเรื่องลงบน A4 เรื่องละแผ่นแล้วปล่อยให้เรื่อง flow ออกมาก่อน ได้แค่ไหนแค่นั้น

>> จากนั้นค่อยเลือกเรื่องที่เราอิน ลื่นไหลสุด และคิดว่ามีพลังในการเขียนหรือพูด หรือจะลองวางสไลด์ตามในข้อ 2 ก่อน แล้วค่อยตัดสินใจก็ได้

2. วางโครงเรื่อง ตามเครื่องมือที่โค้ชแนะนำ มีทั้ง analog ที่เขียนลงบนโพสอิทเป็นแผ่นๆ แทนสไลด์ 1 แผ่น แล้วใช้ย้ายโพสอิทไปมา เพื่อลำดับเรื่องใหม่ และแบบ digital คือ ทำในตาราง Excel

ด้วยความที่ Pechakucha ประกอบไปด้วยสไลด์ 20 แผ่น เราจึงแบ่งโครงสร้างเรื่องเป็น เกริ่นนำ – ตัวเรื่อง – ตอนจบ ด้วยสัดส่วน 6 – 6 – 6

เหลือสไลด์ 2 แผ่น คือ แรกสุด และท้ายสุด เอาไว้เป็นชื่อเรื่อง และตอนจบ โดยรวมจึงเป็น 1 (ชื่อเรื่อง) – 6 (เกริ่นนำ) – 6 (ตัวเรื่อง) – 6 (ตอนจบ) – 1 (สรุป)

3. เริ่มต้นทำ presentation โดยการใส่หัวข้อของสไลด์แต่ละแผ่นตามตาราง Excel ที่เราทำไว้ลงไปก่อน เพื่อเป็นตัวคุมเนื้อหา ไม่ให้ตัวเองออกนอกลู่นอกทาง

4. หาภาพประกอบและจัดวาง (คนส่วนมากจะเสียเวลากับส่วนนี้มากๆ แต่การที่เราทำโครงร่างไว้ในข้อ 2 แล้ว จะช่วยให้ประหยัดเวลาไปเยอะมากเลยค่ะ เป็นที่รู้กันว่า การนำเสนอในระยะเวลาสั้นๆ นั้น ภาพประกอบเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะมันจะช่วยสื่อสารเรื่องที่เราจะพูดในระยะเวลาสั้นๆ ได้ดี แต่การหาภาพประกอบมาใช้ได้อย่างถูกต้องนั้น ก็ไม่ใช่ว่าเสิร์ชกูเกิ้ลเจอรูปไหนก็หยิบมาใช้แบบส่งๆ ห้ามเด็ดขาด

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่เราไปพูดต่อหน้าชุมชน ในที่ประชุม หรือธุรกิจต่างๆ ที่ต้องการความน่าเชื่อถือ การใช้รูปภาพผิดลิขสิทธิ์ จะเป็นการ discredit ตัวเองมากๆ เช่น รูปที่มีลายน้ำอย่าง shutterstock แปะหราอยู่กลางรูป

ซึ่งการหาภาพประกอบนั้น ถ้าเป็นไปได้ให้ใช้รูปที่เราถ่ายเองจะปลอดภัยที่สุด แต่ถ้าไม่สามารถหาได้แล้วล่ะก็ มีเว็บที่แจกรูปฟรีอยู่หลายเว็บมากมาย และอีกทางเลือกหนึ่งคือ การใช้ Google Image Search แล้วเลือก Search Tools > Usage rights > Labeled for

แต่ด้วยวิธีนี้ ก็ไม่ได้แปลว่าภาพที่เราได้มาจะสามารถนำไปใช้ยังไงก็ได้ 100% นะคะ ให้อ่านเงื่อนไขการนำไปใช้ให้ดีๆ บางอันไม่สามารถนำไปใช้เชิงการค้าได้ เราจึงควรให้เวลากับการตามหาที่มาของรูปเจ้าของที่ Original จริงๆ เพราะบางอันเป็นรูปที่เจ้าของจริงๆ ไม่ได้อนุญาต แต่เป็นคนมือที่ 2-3 มาปล่อยให้ใช้ต่อฟรีๆ ซะงั้น เป็นไปได้ก็ควรหลีกเลี่ยง เพราะถ้าโดนฟ้อง ก็คงจบไม่สวยแน่ๆ

ถ้าเป็นการนำเสนอแบบมืออาชีพที่เราใช้ทำมาหากิน เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง หรือพูดต่อหน้าสาธารณะแบบจริงจัง แนะนำให้ซื้อลิขสิทธิ์ภาพถ่ายมาใช้อย่างถูกต้องจะดีที่สุดค่ะ

ข้อมูลที่น่าสนใจเพิ่มเติม : https://support.google.com/websearch/answer/29508?…

How not to use Google’s news ‘Usage rights’ image filter

5 dangers of using Google Images without permission

5. ทดลองพูดรอบแรก ตามธรรมชาติ พร้อมกับจับเวลาแบบไม่ต้องจริงจัง ดูว่า สิ่งที่เราพูด ขาดหรือเกิน กับเวลาที่มี (6 นาที 40 วินาที)

6. จากการลองพูดครั้งแรก จะเริ่มรู้ว่าการวางสไลด์ของเรา มันโอเคไหม

ทางที่ดีปรับสไลด์ ให้เข้าปากเรา ดีกว่าปรับคำพูดเราให้เข้ากับสไลด์ ต้องอย่าลืมว่า เวลาตื่นเต้น สิ่งที่พูดออกมา มักจะมาจากความเข้าใจของเราเองจริงๆ มากกว่าบทที่ท่องมา ถ้าเราปรับสไลด์ให้เข้ากับคำพูดแบบเป็นธรรมชาติของเรา ทำให้เราไม่ต้องใช้สมองในการท่องจำและลำดับเรื่องมากนัก ลดโอกาสที่จะลืม และแป่กได้เยอะมาก

7. ปรับแก้สไลด์ครั้งที่ 1 และลองพูดซ้ำอีกที พร้อมกับจับเวลา ดูว่าโอเคหรือยัง ถ้ายังติดขัด ให้ปรับ ย้ายตำแหน่งสไลด์ จัดโครงเรื่องใหม่ให้เหมาะกับความเข้าใจของเราเอง (อย่าให้ตัวเองติดกับดักตายตัวอยู่ที่ตำแหน่งสไลด์แล้วท่องจำ!!)

8. Fine Tune ลองพูดใหม่ พร้อมกับจับเวลาจริงจัง เริ่มตัดแต่งคำ ประโยคที่ฟุ่มเฟือย หรือใส่ keyword ที่เราต้องการ คำพูดสวยๆ กินใจ พร้อมกับทำนอง จังหวะ การหยุด การเน้น สร้าง harmony ลงไปทั้งในสไลด์ และในสมองของเรา

9. พอทุกอย่างลงตัวแล้ว ก็ฝึกพูดแบบเหมือนจริงค่ะ รอบแรกๆ เราอาจจะมองสไลด์ไปพลางก่อน แต่พอฝึกไปสักพัก แนะนำว่า อย่ามองสไลด์ และ พยายามให้เกิดความเคยชินกับระยะเวลา 20 วินาที เหมือนตั้งเวลาให้ตัวเอง (มันจะเริ่มรู้โดยอัตโนมัติว่า 20 วิเราจะพูดได้ประมาณนี้นะ)

10. ก้าวข้ามความผิดพลาดแล้วไปต่อ ไม่ว่าจะตอนซ้อมหรือตอนพูดจริง ก็ไม่มีทางได้ดั่งใจ 100% แน่นอน หากมีความผิดพลาด ให้ตั้งสติแล้วไปต่อ พยายามกลับเข้ามาในสไลด์ของตัวเองให้ได้ เพราะคนฟังจะได้ relate กับสิ่งที่เราพูดมากที่สุด

สิ่งสำคัญคือ ไม่ต้องแบไต๋ความผิดพลาดขอโทษขอโพย หรือพูดว่า “รอสไลด์ถัดไป” “อุ้ย สไลด์ไม่ตรง” เพราะบางที คนฟังเค้ามีสมาธิจดจ่อกับเรื่องที่คุณพูดอยู่ มันลื่นไหลจนเค้าอาจจะลืมสังเกตความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ ก็เป็นได้ เนียนๆ ต่อไปให้เรื่องราวนำพาคนฟังไปดีกว่าค่ะ

สุดท้าย ทักษะการพูด เป็นเรื่องที่ต้องฝึก ทำซ้ำบ่อยๆ เหมือนทักษะอื่น

เท่าที่เห็นและถามมา หลังจากลงเวทีแล้ว ต่อให้คนที่พูดดีที่สุด ดูมั่นใจสุด ทุกคน ไม่มีใครไม่ตื่นเต้นก่อนไปยืนอยู่หน้าฝูงชน!!

เพราะฉะนั้น ความกลัว ความกังวลทั้งหลายของเรา จึงเป็นเรื่องปรกติ แค่ก้าวข้ามมันไปเรื่อยๆ ด้วยการเผชิญหน้ากับมัน และ ฝึก ฝึก ฝึก ^_^

 

Extra Tip :: มี Application จาก App Store ไว้สำหรับฝึกพูด pechakucha/ignite ราคา 0.99$ ซึ่งเราใช้แล้วสะดวกดี (อาจจะไม่จำเป็นเท่าไหร่ สามารถ ใช้นาฬิกาจับเวลา และตั้งเวลาสไลด์ 20 วิเองก็ได้) แต่เราเป็นประเภทขี้ลืม ถ้ามัวเพ่งอยู่กับเวลาที่เดินไป จะสติแตกมาก เวลาสไลด์มันไปแล้วแต่ยังพูดไม่จบ อยากหยุด ปรับ แก้ พูดซ้ำ จดโน๊ต เลยใช้ที่จับเวลาแยกต่างหากดีกว่า

เราสามารถตั้งให้มันร้องเตือน หรือ สั่น เมื่อสไลด์หมดแผ่นได้ ตอนซ้อม ตาเราดูจอ และจับมือถือเอาไว้ถ้ามันสั่นก็แสดงว่าหมดเวลาให้หาทางไปแผ่นถัดไปค่ะ สำหรับเราถือว่าใช้งานได้ดีเลย

เทคนิคการนำเสนอ จาก Public Speaking Class (เพิ่มเติม)

เราขอเอาเทคนิคต่างๆ ที่เก็บมาได้จากห้องเรียน มาเสริมไว้ในนี้ด้วยแล้วกันนะคะ ช่วยให้การนำเสนอประทับใจมากขึ้น

1. การวางโครงสร้างเรื่อง มีสูตรลับ ส่วนผสมที่เราควรคลุกเคล้าให้ลงตัว คือ ตตต กกก จจจ

“ต้นตื่นเต้น กลางกลมกลืน จบจับใจ”

2. Moment of Truth จุดหักมุม หรือ จุดพีคของเรื่อง จุดที่ความจริงปรากฏ

นิยามของ MOT ก็คือ “A time when a person or thing is tested, a decision has to be made, or a crisis has to be faced.”

การวางโครงเรื่องสำหรับ Pechakucha ซึ่งมีทั้งหมด 20 สไลด์ MOT ที่เราควรวางไว้ จะอยู่ประมาณ สไลด์แผ่นที่ 6-7/18-19 ซึ่งเป็นรอยต่อของ Intro – Body – End นั่นเอง

3. ฝึกตัดใจ อย่าโลภ อันนี้เป็นสิ่งที่เชื่อว่าหลายๆ คนจะได้เรียนรู้เยอะแยะมากมายค่ะ มีหลายเรื่องที่เราอาจจะอยากเล่าในระยะเวลาจำกัด แต่ขอให้ระลึกเสมอว่า สิ่งนั้นมัน “จำเป็น” มากน้อยแค่ไหน มีวิธีไหนทำให้มันสั้น กระชับ แต่ทรงประสิทธิภาพในการสื่อสารได้อีกหรือเปล่า

4. โทนเสียงและ body language มีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะว่ากันว่าหัวใจของการสื่อสารที่ทรงพลังสำหรับผู้ฟังนั้น

55% มาจาก ภาษากาย

38% มาจากโทนเสียง

7% มาจากเนื้อหาเรื่องที่เราเล่า (ที่เตรียมเนื้อหามาแทบตาย มีผลแค่ 7% เองนะ)

ดังนั้น ภาษากายสำคัญมากค่ะ

  • น้ำเสียงที่เราใช้ ควรฝึกให้เสียงเรามี Dynamic สูง ต่ำ กลาง สอดคล้องกับเรื่องที่เราเล่า อันนี้ ต้องฝึก
  • ท่าทางการยืน(ไม่ควรยืนโยกตัว ทำไหล่สบายๆ ไมควรเกร็งเกินไป)
  • การจับไมค์ ให้ห่างจากปากในระยะพอสมควร ระวังเสียงลมหายใจ และมีสติ ใช้หูคอยฟังเสียงตัวเอง ว่าดังเกินไป หรือเบาเกินไปหรือไม่
  • การใช้มือ ประกอบการเล่าเรื่อง ก็ช่วยให้เรื่องเราของเรามีสีสัน และช่วยส่งพลังให้คนดูได้

5. จังหวะหยุด สำคัญพอๆ กับจังหวะพูด บางครั้งผู้พูดที่ดีควรจะทิ้งช่วง ให้คนฟังได้รู้สึกคล้อยตาม คิดตามเรื่องราว ให้คนฟังได้มีโอกาส “ย่อย” เรื่องที่เราเล่าบ้าง

6. เลือกเอาจุดเด่นในการนำเสนอ ว่าจะให้อะไรเด่น จะให้เรื่องเด่น ตัวเราเด่น หรือสไลด์เด่น ทางที่ดีก็ควรให้เรื่องเด่น ให้คนจดจำเรื่องที่เราเล่าได้ และการแต่งตัวของผู้เล่า การทำสไลด์ และเนื้อหาที่เราเล่า ก็ควรไปในทิศทางเดียวกัน

7. ควรทำการบ้าน คนฟัง เป็นใคร แบบไหน ยังไง เพื่อที่เราจะได้เตรียมตัวเตรียมใจถูก

8. หัดอ่านข่าวสาร ติดตามสถานการณ์บ้านเมืองบ้าง เอาไว้ยิงมุข ไม่ให้คนหลับ

9. สไลด์สุดท้าย อย่าใส่สาระสำคัญลงไป (เผื่อเวลาหมด และเผื่อ space ให้คนฟังได้ดื่มด่ำไปกับเรื่องที่เราพูดมาจนถึงตอนสุดท้าย)

10. ไม่ควรมองสไลด์ตัวเอง ตามองคนฟัง

11. หากมีข้อผิดพลาด ให้ไปต่อ แล้วสร้างใหม่ เช่น จังหวะพูดที่ไม่เข้ากับสไลด์ ไม่จำเป็นต้องประกาศให้โลกรู้ว่าเราพลาด เนียนๆ ต่อไป เพราะบางทีคนฟังอาจจะยังไม่ทันรู้ด้วยซ้ำว่าเราพูดผิด

12. เลือกหัวข้อจาก Passion ที่มีอิทธิพลกับเรา เป็นเรื่องที่เราอดใจไม่ไหว เราอยากเล่าต่อ หรือทำมันจนมีความชำนาญ ความสุข ความสำเร็จ และประสบการณ์ตื่นรู้ทางจิตวิญญาณ

13. สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการพูดเล่าเรื่อง คือ เราไม่อาจสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่น ถ้าหากเราไม่รู้สึกว่าตัวเราเองมีแรงบันดาลใจ

ต้องขอบคุณ โค้ชที่อุตส่าสละเวลามาสอน และเพื่อนๆ ร่วมคลาสทุกคนที่แลกเปลี่ยนประสบการณ์การเรียนรู้ร่วมกันมากๆ นะคะ สนุกสนาน ประทับใจมากกกก


บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

10 เทคนิคที่จะช่วยให้คุณเล่าเรื่องได้ดีขึ้น

id old content:
347

ใส่ความเห็น

เข้าสู่ระบบด้วย

หรือ