knowledge

Cowspiracy : กินแฮมเบอเกอร์ 1 ชิ้น สะเทือนถึงดวงดาว

22 เมษายน 2016


ช่วงนี้ มีประเด็นร้อนแรง เรื่องป่าน่านที่หลายคนออกมาพูดถึง ทั้งดารา นักการเมือง คนดังต่างๆ (แต่เราพูดมาสักพักแล้วนะ .. รวมถึง รายการสารคดี สามัญชนคนไทย ที่ผลิตตอน ชื่อว่า คนไทยกินป่าเป็นอาหาร เมื่อปีที่แล้ว)

เราเลยอยากนำเสนอ Documentary ของฝรั่งเรื่องนึง ชื่อว่า Cowspiracy สารคดีที่เริ่มต้นจากแรงบันดาลใจของผู้ชายที่ชื่อว่า Kip Anderson หลังจากได้ฟังข้อมูลจาก Al Gore อดีต US. Vice President ที่ผันตัวมาเป็น Climate Change Activist นำเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาวะปัจจุบันของโลก ที่น้ำแข็งขั้วโลกละลาย เกิดวิกฤตอากาศแปรปรวน ภัยพิบัติทางธรรมชาติมากมาย เหตุมาจากการกระทำของมนุษย์  เราจะใช้ชีวิตอยู่บนโลกด้วยอัตราการบริโภคเท่านี้ได้อีกแค่ประมาณ 50 ปี

รู้แบบนี้แล้ว Kip ตั้งหน้าตั้งตา เปลี่ยนวิถีชีวิตตัวเอง ทำทุกอย่างที่ทำได้ เพื่อให้เราสามารถอยู่กับโลกใบนี้ได้อย่างยั่งยืน สิ่งที่ Kip ทำ เช่น แยกขยะ เปลี่ยนไฟในบ้านเป็นหลอดประหยัดไฟ อาบน้ำแบบเร็วๆ เพื่อประหยัดน้ำ ปิดไฟเมื่อไม่ใช้งาน ปิดน้ำตอนแปรงฟัน ปั่นจักรยานไปไหนมาไหน แทนที่จะขับรถยนต์ แต่เมื่อเวลาผ่านไป… Kip ตระหนักได้ว่า สภาวะของโลกมีแต่จะแย่ลง เค้าจึงเกิดคำถามที่ว่า การที่เราประหยัดด้วยวิธีต่างๆ เหล่านี้ มันเพียงพอที่จะช่วยโลกแล้วหรือ??

ยิ่งหาข้อมูลไปลึกๆ Kip ก็ได้พบ Report ที่จัดทำโดย UN ที่แสดงให้เห็นว่าต้นตอสาเหตุที่ทำให้โลกร้อนมากที่สุด กลับไม่ใช่ภาคอุตสาหกรรม…ไม่ใช่ยานพาหนะที่เราใช้ทุกวันปล่อย CO2 /CO ออกมา….แต่มันคือ… วัว ภาพรวมๆ ก็คือ Animal Agriculture หรือการทำปศุสัตว์ นั่นเอง

เจ้าวัวทั้งหลายในการทำปศุสัตว์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 18% มากกว่ายานพาหนะทั้งหมดรวมกัน ทั้งรถยนต์ รถบรรทุก เครื่องบิน เรือ รวมกัน ได้ 13% เพราะเจ้าวัวนี้ปล่อยมีเทนออกมาในระหว่างกระบวนการย่อยนั่นเอง (มากอะไรปานนั้น)

มีเทนที่วัวผลิตออกมา ทำลายสิ่งแวดล้อมยิ่งกว่าคาร์บอนไดออกไซด์จากยานพาหนะทั้งหลาย 25-100 เท่า

ไอ่ที่อุตส่าห์รักโลก ปั่นจักรยานแทนการขับรถยนต์นั้น ไม่ได้มีผลอะไรเลย เทียบกับการกินเนื้อสัตว์

และเจ้าวัวนี้ ยังผลาญทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นพื้นดิน น้ำ และยังสร้างปัญหาการปนเปื้อนต่างๆ อีกด้วย

Kip ค้นพบว่า แฮมเบอเกอร์ 0.25 lb ต้องใช้น้ำในการผลิตเนื้อถึง 660 แกลลอน…

ไหนจะน้ำที่สัตว์กิน น้ำที่ใช้ในการเพาะปลูกพืช ที่ใช้เป็นอาหารสัตว์ ล้วนแต่เป็นขั้นตอนที่ใช้น้ำทั้งสิ้น

ที่อุตส่าห์ประหยัดน้ำตอนแปรงฟัน อาบน้ำเร็วๆ เพื่อ?????? แค่ผลิตแฮมเบอเกอร์อันเดียว ก็ใช้น้ำเท่ากับที่เราใช้อาบ 2 เดือนแล้ว
จากสถิติใน US บอกว่าปริมาณน้ำที่ใช้ตามบ้านเรือน คือ 5% ส่วนการทำปศุสัตว์ คือ 55% นั่นก็เพราะว่า เนื้อวัว 1 ปอนด์ ใช้น้ำมากถึง 2,500 แกลลอน ในการผลิต

108 วิธีประหยัดน้ำที่เราใช้ๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นใช้หัวก็อกแบบประหยัดน้ำเอย ซักผ้า ล้างจานครั้งละมากๆ ใส่ขวดน้ำไว้ในถังชักโครก ทำทุกวิธีที่ว่ามา จะประหยัดน้ำได้ราวๆ 47 แกลลอน แต่ก็เทียบไม่ได้เลยกับ แฮมเบอเกอร์ 1 ชิ้น ฮ่วย…

ทั้งหมดทั้งมวลเหล่านี้ ทำให้สรุปได้ว่าการทำปศุสัตว์แบบอุตสาหกรรมเป็นสาเหตุอันดับ 1 ที่ทำให้โลกร้อน

เราใช้น้ำไปถึง 1/3 ของน้ำบนโลกนี้ ในการเลี้ยงสัตว์เพื่อนำมาเป็นอาหาร

ใช้ผืนดิน 45% บนโลก เป็นต้นเหตุของการทำลายป่าอเมซอนถึง 91% (ยิ่งกว่าป่าน่านอีกนะนี่) ทำให้สัตว์หลายชนิดสูญพันธุ์และไม่มีที่อยู่อาศัย

นอกจากนี้ ในหนัง ยังพูดถึงการทำประมงที่ส่งผลกระทบกับสภาพแวดล้อมทางทะเลอย่างมาก ที่พูดๆ มานี่ เค้าไม่ได้ยกเมฆมานะ ในสารคดียังได้ไปตามสัมภาษณ์ นักวิชาการ NGO ที่ขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ แต่กลับไม่มีคนพูดถึงประเด็นนี้ขึ้นมา เพราะอะไร?????????????

พูดไปก็จะยาว…..แค่อยากจะบอกว่าสถานการณ์แบบป่าน่านนี้ ไม่ได้มีแต่ในประเทศไทย

ลองไปดูกันเองดีกว่าจ้า…(สนับสนุนให้โหลดมาดูจากเว็บไซต์ http://www.cowspiracy.com/ ได้ในราคา 4.95$ สำหรับเรา ตอนที่ดู ใช้วิธีดาวน์โหลด app netflix ซึ่งมีโปรโมชั่นดูฟรี 1 เดือนแรก แล้วก็นั่งดู documentary จนตาแฉะไปเลยค่ะ ฮ่า..)

ทางออกคืออะไร?

ทางออกคืออะไร?

เล่าๆ มาทั้งหมดนี้….หลายคนก็อาจจะสงสัย แล้วทางออกคืออะไรล่ะ…จะไม่ให้กินเนื้อสัตว์เลยหรือไงเป็นไปไม่ได้หรอก เราไม่กิน คนอื่นก็กินอยู่ดี!!

เชื่อว่า ไม่มีทางออกที่เรียกว่า absolute solution สำหรับทุกคน แต่ที่แน่ๆ เราสามารถเริ่มต้นที่ตัวเราเอง ตระหนักรู้ถึงคุณค่าและทรัพยากรที่เราใช้ ทรัพยากรที่มีจำกัด(มากๆ) ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง และไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่งอีกเช่นกัน

ในอเมริกา มีองค์กรชื่อว่า World Resources Institute (WRI) and MorningStar Farms ที่ผลิตอาหารอย่างเบอเกอร์ผัก ไส้กรอก เค้านำเสนอรีพอร์ท เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา(เดือนเมษายน 2016) เกี่ยวกับทางออกของความท้าทายในการผลิตอาหารเพื่อป้อนให้กับประชากร โดยลดปริมาณการบริโภคโปรตีนจากเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะเนื้อวัว และยังสามารถช่วยเหลือให้คนอีกพันล้านคนมีความมั่นคงทางอาหารอีกด้วย…

ความท้าทายในอีก 30 กว่าปีข้างหน้า (ปี 2050) นั่นคือ ทำยังไงเราถึงจะมีอาหารพอเพียงให้กับประชากรในโลก ตอนนี้เรามีสิ่งที่เรียกว่า food gap อยู่ 70% นั่นก็คือ ในอนาคต กำลังการผลิตอาหาร และปริมาณการบริโภคจะไม่สมดุลกัน เนื่องจากไม่สามารถผลิตได้ทันกับอัตราการเติบโตของประชากรได้ นั่นแปลว่า จะมีคนหลายพันล้านคนบนโลกนี้ เผชิญความอดอยาก หิวโหย

WRI นำเสนอทางออกด้วยการเปลี่ยนจากการบริโภคเนื้อสัตว์มาเป็นโปรตีนจากพืช จึงจะสามารถลดช่องว่างนี้ลงไปได้ถึง 30% ถ้าหากใครสนใจข้อมูลในเชิงลึก สามารถไปดาวน์โหลด Report มาอ่านได้จากที่นี่ค่ะ WRI’s Reports

Shifting Diets for a Sustainable Food Future

วิธีง่ายๆ ที่นำเสนอ ในรายงานคือ

  1. ลดปริมาณแคลอรี่ที่กินเกินพอดี
  2. ลดปริมาณโปรตีนที่กินมากเกินไป โดยเฉพาะโปรตีนจากสัตว์
  3. ลดปริมาณการบริโภคเนื้อวัว

โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้ว มีฐานะดี สำรวจพบว่า คนส่วนมากกินโปรตีนมากเกินความต้องการของร่างกาย เช่นคนอเมริกัน กินโปรตีนเฉลี่ย 100 กรัมต่อคน ต่อวัน ทั้งที่จริงๆ แล้ว ต้องการแค่ 56 กรัมต่อวันเท่านั้น

นอกจากแคมเปญที่รณรงค์ให้คนหันมาบริโภคตามความจำเป็นของร่างกายแล้ว WRI ยังแนะนำว่า สิ่งสำคัญคือ ความร่วมมือภาคอุตสาหกรรม รัฐบาล NGO influencer ต่างๆ ต้องหันมาช่วยกันเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคไปพร้อมกัน

ตัวอย่างแคมเปญของ MorningStar Farms

บางที ทางออกสำหรับประเทศหรือโลกของเรา อาจจะไม่ใช่แค่การรณรงค์ให้คนประหยัดน้ำ ประหยัดไฟ บริจาคเงิน ปลูกป่า อย่างเดียวก็ได้นะ….ทุกๆ การเปลี่ยนแปลง เริ่มต้นจากคำถามที่ถูกต้อง และ Everyone A Changemaker .

id old content:
413

ใส่ความเห็น

เข้าสู่ระบบด้วย

หรือ