
ระหว่างที่มีการถกเถียงถึงประเด็นการฟื้นฟูป่าจากปัญหาไร่ข้าวโพดที่จังหวัดน่านกันอย่างกว้างขวาง คนจำนวนมากเริ่มตื่นตัว ตระหนักถึงความสำคัญและความเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาเหมือนกันหมด แต่ผมเชื่อว่ายังมีอีกหลายคนที่เกิดคำถามขึ้น เช่นเดียวกับหัวข้อบทความนี้ว่า “ปลูกป่ายังไงไม่ให้สูญเปล่า” การระดมคนลงไปปลูกต้นกล้านั้นเพียงพอไหม ต้องมีกระบวนการอะไรเกิดขึ้นก่อนและหลัง เพื่อให้ป่าที่เราช่วยกันปลูกด้วยความหวังว่ามันจะเติบโตกลับมาเป็นพื้นที่สีเขียวไม่สูญเปล่าไป
เพื่อให้ทุกคนมีความเข้าใจถึงทางออกที่เหมาะสมกับสภาพปัญหา ผมจึงได้มีโอกาสขอความรู้จาก คุณ สำรวย ผัดผล ซึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์ทำงานแก้ไขปัญหาอยู่ในพื้นที่ด้วย โครงการนาแลกป่า ซึ่งเป็นโครงการที่ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความสำเร็จในการ ‘แก้ปัญหาร่วมกับชุมชน’ อย่างยั่งยืน
- ในปี 2558 ที่ผ่านมาเกษตรกรคืนพื้นที่ป่ามาแล้ว 579 ไร่
- ในปี 2559 นี้เกษตรกรต้องการคืนผืนป่าอีก 1,500 ไร่
- และภายในปี 2560 ตั้งเป้าไว้ว่าจะได้พื้นที่ป่าคืนมาพร้อมมีกระบวนการจัดการป่าร่วมกับชุมชนทั้งหมด 4,000 ไร่
คำถาม: ปลูกป่าอย่างไรไม่ให้สูญเปล่า?
คุณสำรวย: การปลูกป่าจะต้องทำร่วมกับชุมชนท้องถิ่นเพื่อให้เกิดความเป็นเจ้าของขึ้น เพราะการปลูกนั้นไม่ยาก ใครปลูกก็ได้ แต่สภาพปัญหา ณ ปัจจุบันคือพื้นที่ที่จะปลูกป่ายังถูกครอบครองโดยชาวบ้านด้วยวิถีการเกษตรเชิงเดี่ยวที่สามารถสร้างผลผลิตและรายได้ให้กับผู้ครอบครองไม่น้อย และในขณะเดียวกันรัฐก็ใช้มาตรฐานว่าพื้นที่นั้นเป็นป่าสงวน เป็นป่านิเวศ ซึ่งทางวิชาการหรือฝ่ายอนุรักษ์ทั้งหลายก็มองว่า จำเป็นต้องคืนให้กับสาธารณะ แต่ในความเป็นจริงเป็นพื้นที่ที่เกษตรกรทำกินอยู่ด้วย
ประเด็นแรก เราต้องหาพื้นที่สำหรับใช้ในการปลูกป่า โดยการขอคืนพื้นที่ป่านั้นต้องเกิดขึ้นด้วยความสมัครใจ ด้วยวิธีการ รูปแบบและกระบวนการที่เหมาะสม ต้องเข้าไปปรึกษาหารือร่วมกับชุมชนให้เห็นด้วยกับแนวทางของการปลูกป่า
ประเด็นที่สอง ต้องเข้าใจก่อนว่าชาวบ้านเข้าไปอยู่ในพื้นที่ป่าเพื่อการผลิตหรือปลูกอะไรก็ตาม ทั้งที่เป็นพืชเชิงเดี่ยว ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด ณ เวลานี้คือข้าวโพด แต่ในความจริงไม่ได้มีเพียงข้าวโพดอย่างเดียว ยังมีพืชอื่นอยู่ด้วย อาทิ ขิง ข่า ตระไตร้ ฯลฯ แต่แนวทางในการจัดการปัญหาหรือทางออกปัญหาที่สำคัญ คือ ต้องตกลงในกลไกรัฐ (รัฐบาล กรม กอง หรือข้าราชการต่างๆ) ให้ชัดด้วยว่าสามารถให้พืชชนิดใดเข้าไปทดแทนได้บ้าง
ดังนั้น ถ้าชาวบ้านคืนพื้นที่ป่า ผืนป่านั้นจะสามารถปลูกไม้ป่าตามองค์ประกอบใหม่หรือไม้ป่าเชิงนิเวศได้ เช่น นิเวศประจำถิ่นของน่าน ไม้เบญจพรรณ ไม้สัก ไม้ประดู่ ไม้มะค่า ไม้ไผ่ และไม้เต็งรังอื่นๆ ซึ่งพืชกลุ่มนี้เป็นไม้หลักอยู่แล้ว และยังมีไม้ร่วมระบบอีกไม่ต่ำกว่า 30 ชนิด ซึ่งเราสามารถเก็บรวบรวมไม้ท้องถิ่น เพาะเป็น Nursery ขึ้นมาได้ และสามารถยกระดับชุมชนให้เจ้าของและเป็นผู้ดูแลป่าได้ด้วย ชุมชนเองก็สามารถสร้างกลไกการมีส่วนร่วมในการดูแล พร้อมทั้งชาวบ้านเองก็มีรายได้เพิ่ม อาทิ การเก็บรวบรวมเมล็ดพันธ์ุ การเพาะต้นไม้ใน Nursery เป็นต้น
คำถาม: ยังมีความเข้าใจผิดๆเกี่ยวกับการปลูกป่าอย่างไรบ้าง?
คุณสำรวย: การปลูกป่าบางครั้งถูกจัดเป็น Event จัดการประชุมคุยกันสร้างความตระหนักกันในเรื่องป่า แนวทางปลูกป่า แต่คุยเสร็จก็จบไปไม่ได้ปลูกป่าอย่างที่ควรจะเป็น และที่สำคัญกระบวนการปลูกป่าทดแทนหรือปลูกป่าเพิ่มเติมไม่ได้เลือกจุดปลูกที่มันมีเจ้าของหรือมีผู้ร่วมดูแลรับผิดชอบต้นไม้ที่ปลูกไปแล้ว สุดท้ายมันก็แห้งเหี่ยวเฉา คนในชุมชนท้องถิ่นก็ไม่ได้มีส่วนร่วมและแน่นอนมันก็ตาย สุดท้ายก็จัดแล้วจัดอีก ปลูกแล้วปลูกอีกมันก็เกิดปัญหาได้
ในความหมายของเราก็คือ “เราต้องให้ชุมชนท้องถิ่นเป็นเจ้าของตั้งแต่ต้น” และจัดกิจกรรมร่วมเพื่อสร้างให้เกิดองค์ความรู้ ความเข้าใจ และตระหนักถึงความสำคัญของการมีพื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้น เช่น การจัดขอบเขตให้ชัดเจนว่าตรงไหนให้ชุมชนทำกินได้ ตรงไหนที่ยังจะต้องกลายเป็นป่า มีสัญญาประชาคมร่วมกันให้ชัดเจน รัฐเองก็ต้องมอบหมายความไว้วางใจนั้นให้กับชุมชนท้องถิ่นเป็นผู้ดูแลต่อ ถ้าใช้มาตรการรัฐเหมือนเดิมมันไปไม่รอด ใช้มาตรการที่ไปขึ้นกับกรมป่าไม้ก็ไปไม่รอด เพราะเดี๋ยวก็จะเจอไฟ เดี๋ยวก็จะเจอปัญหาอื่น ศัตรูธรรมชาติของป่ามันก็มีอยู่ ทีนี้ชุมชนท้องถิ่นเขาไม่ได้รู้สึกเป็นเจ้าของ ก็ต้องรอรัฐให้เข้าไปจัดการ คนของรัฐก็มีน้อย มันก็ไปไม่รอด
คำถาม: คุณสำรวยและโครงการนาแลกป่ามีแนวทางอย่างไรและอนาคตมีทิศทางการจัดการเรื่องป่ากับจังหวัดน่านอย่างไร
คุณสำรวย: โครงการนาแลกป่าเป็นเพียงการประคับประคอง ลดพื้นที่เกษตรเชิงเดี่ยวที่ต้องใช้แปลงใหญ่ให้เหลือการเกษตรแบบประณีตในพื้นที่ที่สมควร ในขนาดที่พอเหมาะต่อแปลงครัวเรือน
หลักการนาแลกป่า สามารถแลกกับอาชีพที่มั่นคงอะไรก็ได้ แต่เนื่องจากพี่น้องสนใจเรื่องการผลิตพืชอาหารและนาดูเป็นรูปธรรม และการทำนาจะทำให้มีผลผลิตมากขึ้นและยอมลดพื้นที่การปลูกข้าวโพด เพื่อหันกลับมาทำนาในพื้นที่ที่เข้มข้น
แต่ในความเป็นจริง ‘นา’ ก็ทำได้เพียงในพื้นที่ที่เหมาะสมจำนวนหนึ่งเท่านั้น เป็นพื้นที่ที่สามารถปรับนาได้ ปรับร่องน้ำได้ แต่ในอนาคตต้องพูดถึงการแลกในลักษณะอื่นด้วย เช่น การขุดสระ การสร้างอาชีพทางเลือก ย้อนกลับมาในพื้นที่ที่สามารถทำระบบชลประทานท่อได้ และชาวบ้านสามารถปลูกพืชผสมหรือพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่แทนหรือมีรายได้เท่ากับหรือมากกว่าข้าวโพด
หลักการที่สำคัญคือ “การแลกกัน สร้างความมั่นใจระหว่างชุมชน” คือมิติใหม่ของการแก้ปัญหา ถามว่าใครคือผู้แลก ก็คือผู้บริจาคโดยทั่วไป ที่แม้ไม่ได้เป็นผู้ปลูกป่าโดยตรง แต่ก็นับว่าเป็นผู้มีส่วนร่วมสำคัญในการดึงผืนป่ากลับคืนหรือการถอยคืนของพื้นที่ที่เคยรุกเข้าไปของชาวบ้านที่เคยเป็นพื้นที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว พร้อมทั้งมีรูปแบบกลไกการประคับประคองโดยภาคีสนับสนุนใหม่ ซึ่งอันนี้ถือเป็นมิติใหม่ เป็นความต่างของ “นาแลกป่า”
สรุปแล้วผู้ให้ก็มีส่วนได้ ผู้ถอยมาก็มีส่วนได้ ไม่มีใครเป็น Zero Sum Game คือไม่มีใครสูญเสีย ทั้งหมดชนะด้วยกันทั้งหมด รัฐเป็นผู้แลกโดยเอื้ออำนวยให้เกิดกติกาใหม่นี้ รัฐเองก็ได้ป่าคืน ผู้ให้การสนับสนุนก็เป็นภาคเอกชนที่มีผลประโยชน์จากทั้งที่อยู่ต้นน้ำและได้รับประโยชน์จากปลายน้ำ ภาคอุตสาหกรรมก็สามารถมั่นใจได้ว่าประคับประคองระบบน้ำของแม่น้ำได้ มีป่าและแหล่งนำ้ที่สมบูรณ์ ตัวของเกษตรกรเองก็ยังทำการผลิตและยังมีรายได้ส่วนที่เหลือมากกว่าระบบผลิตที่เป็นเพียงข้าวโพดได้
ถ้าคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์ หรืออยากให้ใครลุกขึ้นมาร่วมหาทางออก โปรดแชร์หรือส่งต่อไป ให้ปัญหาแก้ที่ยากและซับซ้อนนี้ถูกแก้ไขด้วยความร่วมมือจากเราทุกคนจริงๆ