knowledge

บทเรียนสู่การเติบโตของ ‘a-chieve’ จากโปรเจกต์สู่กิจการเพื่อสังคม

17 พฤศจิกายน 2015


276fa45af829c079c715377830817763

หากจะพูดถึงฮีโร่ของเด็กๆ มัธยมทุกวันนี้ นอกจากครูที่โรงเรียน (และโรงเรียนกวดวิชา) แล้ว ก็ยังมี ‘a-chieve’ กิจการเพื่อสังคมด้านการศึกษาที่ช่วยแนะแนวให้น้องมัธยมที่ยังไม่รู้ว่าจะเลือกเรียนต่อด้านไหน ได้ทำความรู้จักตัวเองและเลือกคณะเรียนได้ตรงตามความถนัดและความสนใจผ่านกิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่ค่าย ‘a-chieve shadow : โตแล้วไปไหน?’ ที่มีพี่ต้นแบบให้เด็กๆ ได้เลือกฝึกงานด้วยในเกือบทุกสาขาอาชีพ หรือกิจกรรม ‘Open world’ งานแฟร์แนะแนวแบบเจาะลึกแต่ละสายอาชีพ เพื่อให้นักเรียนและผู้ปกครองได้รู้จักอาชีพนั้นๆ มากขึ้นและได้พูดคุยกับผู้มีประสบการณ์ในสายอาชีพนั้นโดยตรง และล่าสุดกับเทศกาลแนะแนวอาชีพครั้งยิ่งใหญ่ ‘ฟักฝันเฟส’ ที่แค่จัดครั้งแรกก็มีน้องๆ นักเรียนมัธยมมาเข้าร่วมงานกว่า 2,500 คน ซึ่งกว่าจะมาถึงวันนี้ a-chieve ได้พิสูจน์ตัวเองผ่านการลองผิดลองถูกครั้งแล้วครั้งเล่า

   

วิน -นรินทร์ จิตต์ปราณีชัย และ เอิร์ธ-ภูมิสิทธิ์ ศิระศุภฤกษ์ชัย คือผู้ก่อตั้งและผู้อยู่เบื้องหลังโครงการทั้งหมดของ a-chieve จากนักศึกษามหาวิทยาลัยคนหนึ่ง สู่การเป็น Changemaker ที่เริ่มต้นทำโครงการเพื่อสังคมเมื่อ 5 ปีก่อน วันนี้พวกเขาจึงมาแบ่งปันประสบการณ์และสิ่งที่ได้เรียนรู้ให้กับน้องๆ รุ่นใหม่ที่กำลังเริ่มโปรเจกต์เพื่อสังคมของตัวเอง…

1. ทุกคนในทีมต้องมี passion ในสิ่งที่ทำ : เช่นเดียวกับโปรเจกต์เพื่อสังคมอื่นๆ เมื่อเราทำงานเพื่อช่วยคนอื่น และรู้ดีว่าต้องเจออุปสรรคมากมาย คำถามที่ต้องตอบตัวเองให้ชัดก่อนคือ สิ่งนี้มีคุณค่าสำหรับเรามั้ย? มันเป็นปัญหาที่เราอยากจะแก้จริงๆ ใช่มั้ย? ถ้าคำตอบของคนในทีมคือ ‘ใช่’ เราก็ลุยไปด้วยกันได้เลย!

ในช่วงแรก a-chieve หาแรงบันดาลใจจากการค้นหาความสนใจของแต่ละคนในทีมว่า อยากแก้ไขปัญหาในประเด็นไหน? มีทักษะความถนัดตรงกับสิ่งที่อยากแก้มั้ย? โดยพวกเขาใช้วิธีค้นคว้าหาข้อมูล แล้วมานั่งคุยกันเพื่อหาคำตอบ แต่สุดท้ายแล้ว a-chieve ก็พบว่าการหา passion ที่แท้จริงให้เจอต้องเกิดจากการลงมือทำ ลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ ซึ่งพวกเขาใช้เวลา 1 ปีเต็มกว่าจะเจอ โดยโปรเจกต์แรกที่ทำคือ โปรเจกต์แก้ปัญหาเกี่ยวกับรถเมล์ ต่อมาจึงสนใจปัญหาคนไร้บ้านก็เข้าไปสัมภาษณ์ไปเก็บข้อมูลที่ศูนย์คนไร้บ้าน พอรู้ว่าไม่ใช่สิ่งที่อยากทำก็หาปัญหาใหม่ จนเจอปัญหาว่าเด็กไทยไม่รู้ว่าจะเรียนอะไร ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศ แต่กลับไม่มีใครทำอะไร ก็เลยกลายเป็นจุดตั้งต้นของ a-chieve ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา

2. จัดระเบียบไอเดีย เวลาคิดโครงการ เรามีไอเดียเต็มไปหมด มีหลายอย่างที่น่าทำ ความคิดก็ฟุ้งกระจาย เราจึงต้องจัดลำดับความสำคัญก่อนหลังให้ดี อย่าลืมว่าในช่วงเริ่มต้นเรามีคนจำนวนจำกัด มีเงินจำกัด ก็ต้องหา trigger point คือ จุดที่ลงมือทำแล้วมันจะเกิดผลกระทบมากที่สุด เมื่อหาเจอแล้วก็เริ่มทำจากจุดนั้นก่อน การที่เรามีแรงน้อยแล้วเลือกโฟกัสแค่จุดเดียวไปเลยจะได้ผลมากกว่า เมื่อโปรเจกต์โตขึ้นและมีทรัพยากรมากขึ้นแล้ว ค่อยขยายงานออกมาทำหลายๆ อย่างก็ยังไม่สาย

3. ลงมือทำ บางคนเป็นสายคิด นั่งอยู่กับกระดาษ วางแผนไว้เยอะมากแต่งานไม่เดินหน้าเพราะไม่ลงมือทำ การวางแผนงานนั้นเป็นเรื่องดี แต่ต้องลงมือทำด้วย เพราะเวลาที่ได้ทำจริงๆ จะพบอุปสรรคที่ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนแผนตลอดเวลา การเรียนรู้ที่แท้จริงอยู่ตรงนั้น และเราจะได้เติบโตจากการลงมือทำที่ช่วยให้เราเห็นโลกความจริงที่มันบิดเบี้ยว และบางมุมที่เรามองไม่เห็น ถือว่าเป็นความท้าทายที่เราต้องปรับตัวให้ได้

4. สรุปงาน การสรุปงานเป็นสิ่งที่ละเลยไม่ได้ เพราะถ้าไม่สรุป สิ่งที่เราเรียนรู้ระหว่างทางจะกระเด็นหายไป การสรุปงานจะช่วยให้เห็นจุดที่ต้องแก้ไขเพื่อพัฒนาโครงการให้ดีขึ้น เป็นการรวบรวมความรู้เพื่อพัฒนาทีม การสรุปงานส่งให้ coach และ mentor อยู่เสมอก็จะทำให้ได้คำแนะนำใหม่ๆ ที่เราอาจมองข้ามไป

5. สื่อสารกับทีม การมี ‘ทีมที่ดี’ ไม่ได้แปลว่า ‘ทีมที่เก่ง’ แต่คือทีมที่เข้ากันได้ ดูแลให้กำลังใจ พร้อมลุยไปด้วยกันและมีเป้าหมายเดียวกัน งานเพื่อสังคมต่างจากธุรกิจอื่นๆ ที่เราไม่ได้มีจำนวนเงิน กำไรหรือโบนัสเป็นแรงจูงใจหลัก เพราะฉะนั้นเป้าหมายและแรงขับเคลื่อนของสมาชิกในทีมจึงเป็นเรื่องสำคัญ

การทำงานกับ ‘คน’ ย่อมมีปัญหาเกิดขึ้นเป็นเรื่องธรรมดา โดยเฉพาะถ้าคนในทีมเป็นเพื่อนกันมาก่อนการจัดการจะยากกว่าปกติ แต่เกิดผลกระทบกับงาน ก็ควรเปิดอกพูดคุยกันตรงๆ ไม่ควรคิดเองเออเอง อาจลองถามไถ่ถึงสาเหตุเหตุว่าทำไมไม่มาทำงาน ทำไมงานล่าช้า หรือมีปัญหาติดขัดที่ส่วนไหน โดยการพูดคุยควรโฟกัสไปที่ตัวงาน ไม่เอาเรื่องส่วนตัวมาเกี่ยวข้อง

6. ออกแบบวิธีการวัดผล ตั้งแต่เริ่มทำโครงการควรออกแบบการวัดผลไว้ก่อนเลย ถ้ามาทำทีหลังจะยุ่งยากมากอย่าง a-chieve เองก็เคยต้องมาเก็บ feedback เด็กที่เข้าร่วมโครงการย้อนหลัง 200 คน ซึ่งเป็นเรื่องที่เหนื่อย ถ้ามีการวางแผนตั้งแต่ต้นจะสบายกว่านี้ แต่บางครั้งต้องยอมรับว่าถ้าไม่ลงมือทำก็หาวิธีวัดผลที่เหมาะสมไม่ได้ โดยเฉพาะการวัดผลที่เกี่ยวกับด้านจิตใจจะวัดยากกว่าปกติ เราก็ต้องคิดมากขึ้น

“การบริหารโครงการเป็นทักษะที่เรียนรู้ได้ บางสิ่งเราอาจไม่ถนัด ก็พยายามลองทำ ลองเปิดใจเรียนรู้ ยิ่งเราทำอะไรเป็นเยอะขึ้นก็ยิ่งดีต่อตัวเราเอง และดีต่องานเราเอง เพราะงานจะเคลื่อนเร็วขึ้น แต่ที่สำคัญที่สุดคือต้องลงมือทำเยอะๆ แล้วเราจะเก่งเอง”

ใครๆ ก็ทำได้ ขอแค่ลงมือทำ…Everyone A Changemaker!


เนื้อหาจากงาน วันปฐมนิเทศโครงการ Making More Health Thailand 2015


เข้าสู่ระบบด้วย

หรือ