knowledge

3S to be Attractive Social Enterprises

30 มิถุนายน 2016


การลุกขึ้นมาทำสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยการทำโครงการ/กิจการเพื่อสังคมนั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่วันนี้

หากคุณคือคนรุ่นใหม่ที่อยากแก้ไขปัญหาสังคม แล้วลุกขึ้นมาริเริ่มโครงการหรือกิจการเพื่อสังคมของตนเอง ก่อนลงมือทำนั้นเราควรตั้งคำถามก่อนว่าเราควรจะให้ความสำคัญกับเรื่องใดบ้าง เนื่องจากเรามีทรัพยากรจำกัด ทั้งเรื่องแรงงาน เวลา ต้นทุน หากบริหารจัดการไม่ดี อาจทำให้ความตั้งใจดีๆ ประสบความสำเร็จได้ช้า ไม่เห็นผลกระทบทางสังคม หมดกำลังใจ ทรัพยากรไม่เพียงพอที่จะไปต่อได้ ดังนั้นหากคุณอยากทำให้โครงการหรือกิจการเพื่อสังคมประสบความสำเร็จ ได้รับการสนับสนุน สร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างต่อเนื่อง คุณและสมาชิกในทีมอาจจะลองพิจารณา 3 หัวข้อด้านล่างนี้ ที่เหล่าผู้ใหญ่ใจดีหรือแหล่งทุนให้ความสนใจ

S1 – Social Impact : ผลกระทบทางสังคม

  • มีวิธีแก้ไขปัญหาที่ตอบโจทย์ปัญหาสังคมจริง
  • มีความเข้าใจถึงสถานการณ์ปัญหาและสาเหตุที่เกิดขึ้น
  • อธิบายถึงวิธีการแก้ไขปัญหาสังคมได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล
  • มีเครื่องมือวัดและประเมินผล หรือตัวชี้วัดความสำเร็จ คือสามารถอธิบายได้ว่า 3 หรือ 5 ปีข้างหน้าเราจะไปในทิศทางใด เป้าหมายอยู่ตรงไหน

S2 – Sustainability : ความยั่งยืน

  • มีแผนและโมเดลความยั่งยืน หาวิธีสร้างรายได้ได้
  • มีแผนธุรกิจที่เป็นไปได้ และทำได้จริง
  • มีผู้ก่อตั้งและทีมงานที่แข็งแกร่ง มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะแก้ปัญหาสังคมจริงๆ
  • มีพันธมิตร โค้ช พี่เลี้ยง ผู้ให้การสนับสนุน ช่วยส่งเสริมให้ไอเดียที่คิดไว้ประสบความสำเร็จ
  • ระบุปัจจัยที่บอกถึงความยั่งยืนของโครงการ นอกจากผลกระทบทางสังคมแล้ว SE ควรประเมินจุดคุ้มทุน และมีผลตอบแทนเป็นรายได้กลับมา (Financial Return)
  • หากลูกค้าของ SE คือ CSR จากภาคธุรกิจ ควรศึกษาและทำความเข้าใจปัญหาสังคมที่ CSR ให้ความสนใจ เพื่อปรับใช้ในการทำงานร่วมกัน

S3 – Scalability : การขยายผล

  • ควรมีโมเดลการขยายผล ที่เหมาะสมกับประเภทงานของเรา เช่น แบบ Organic Growth เติบโตตามธรรมชาติตามกำลังของเราเอง, แบบ Franchise ที่ขยายออกไปเป็นสาขาต่างๆ หรือแบบ Leaning Model คือการขยายผลด้านแนวคิดและความรู้ เป็นต้น 
  • ควรศึกษาโครงสร้าง และปัจจัยต่างๆ ต่อการขยายผล
  • ควรประเมินปัจจัยและกำลังในการผลิตเพื่อวางแผนการขยายผล
  • ควรมีทักษะเเละความเชี่ยวชาญต่อการขยายผล เช่น ด้านบัญชีและการเงิน, ด้านกฎหมาย, ด้านการตลาด และด้านการพัฒนาสินค้า/บริการ
  • จะสามารถค้นหาและพัฒนาทักษะและความเชี่ยวชาญที่จำเป็นได้อย่างไร ด้วยวิธีจ้างงาน ค้นหาอาสาสมัคร อยู่ในเครือข่ายที่พร้อมให้การสนับสนุน

Q&A 

 

ปกติเเล้วนักลงทุนมักให้ความสำคัญกับส่วนไหนของ SE มากที่สุด?

ผู้ให้เงินทุน หรือนักลงทุนมักให้ความสำคัญด้าน social impact หรือผลกระทบทางสังคมเป็นหลัก และส่วนอื่นๆ ก็จะขึ้นอยู่กับนักลงทุนแต่ละคน หรือแต่ละองค์กรว่าจะให้ความสำคัญกับเรื่องใดลดหลั่นลงไป ซึ่ง SE สามารถศึกษาและหาข้อมูลว่าองค์กรต่างๆ ให้ความสำคัญกับประเด็นใดเป็นพิเศษได้จาก Annual Report หรือ Sustainability Report ของแต่ละองค์กร 

วิธีการวัด และประเมินผลของกิจการเพื่อสังคมที่ดีและได้ผล?

จริงๆ แล้วการวัดผลทางสังคมที่แท้จริงนั้นทำได้ยาก และต้องใช้เวลานานกว่าจะเห็นผล เช่นว่า ต้องใช้เวลา 4 ปี กว่าจะวัดผลได้ว่าเด็กจะเรียนจบจริงๆ เป็นต้น ซึ่งตัวอย่างองค์กรที่มีตัวชี้วัดที่ชัดเจน ก็เช่น LearnEducation ทำโปรเเกรมเรียนรู้คณิตศาสตร์สำหรับเด็ก ม.ต้น ก็สามารถวัดผลได้จากคะแนนสอบคณิตของเด็กๆ ที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด หรือ a-chieve ที่เก็บข้อมูลและประเมินผลนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการหลังจากเรียนจบมหาวิทยาลัย เป็นต้น

นิยามความหมายของ SE และ บริษัทหรือแหล่งทุนให้ความสำคัญกับ SE ในเรื่องใด

  • ศึกษานิยามความหมายของ SE ได้ ที่นี่
  • ให้ความสำคัญด้านนวัตกรรมและผลกระทบทางสังคม

อุปสรรคที่ส่งผลกระทบต่อ SE 

  • ทีมงาน เช่น ความคิดเห็นไม่ตรงกัน หมดกำลังใจในการทำงาน ขาดกลไกในการขับเคลื่อนทีม หรือขาดทักษะการบริหารจัดการ
  • เลือกแก้ไขปัญหาไม่ถูกจุดตั้งเเต่เเรก เพราะไม่ได้เข้าใจปัญหานั้นจริง
  • วิเคราะห์และเลือกตลาดผิด

เครือข่ายที่สนับสนุน SE ให้ทำงานร่วมกันมีมากน้อยเพียงใด

  • มีหลากหลายที่ อาจเริ่มด้วยการเข้าร่วมในระบบบ่มเพาะ (Incubator) หรือ Community ที่สนับสนุนการสร้างการเปลี่ยนแปลง ยกตัวอย่างเช่น School of ChangemakersBanpu Champions for ChangeMa.D Club for better societySocial enterprise Network ThailandG LabGeek So Good  ซึ่งมีทั้งที่สนับสนุนด้านเครือข่าย สนับสนุนองค์ความรู้เครืองมือในการทำงาน ไปจนถึงการสนับสนุนด้านเงินทุนด้วย

ดังนั้นก่อนที่คุณจะให้นักลงทุน ผู้ใหญ่ใจดี หรือแหล่งทุนให้การสนับสนุนนั้น คุณจะต้องลงมือทำโครงการหรือกิจการเพื่อสังคมของคุณให้มีศักยภาพก่อน โดยไม่จำเป็นจะต้องคำนึงถึงเรื่องเงินทุนเป็นอันดับแรก แต่เริ่มต้นคิดและลงมือทำจากปัญหาสังคมที่สนใจและอยากจะแก้ไข ค้นคว้าและพัฒนาวิธีการแก้ไขปัญหาได้อย่างสร้างสรรค์ วางแผนความยั่งยืนและการขยายผลต่อในอนาคต สนุกไปกับสิ่งที่ทำ แล้วโอกาสและการสนับสนุนดีๆ จะเข้ามาหาคุณเอง


*เนื้อหานี้ทีมงาน School of Changemakers ได้สรุปข้อมูลและความรู้จากคุณ Ada Chirapaisarnkul, Founder and Managing Director ของ Thai Young Philanthropist Network (TYPN) ซึ่งได้ให้เกียรติมาบรรยายให้แก่คนรุ่นใหม่ที่กำลังริเริ่มและลงมือทำโครงการหรือกิจการเพื่อสังคมในงาน The Lab Bootcamp เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2559 ที่ผ่านมา

id old content:
469

ใส่ความเห็น

เข้าสู่ระบบด้วย

หรือ