
‘คำถามสำคัญกว่าคำตอบ’ เราคงได้ยินและได้เห็นประโยคนี้จนชินหูชินตากันแล้ว แต่เราจะหลีกเลี่ยงไม่พูดถึงไม่ได้
เพราะคำถามนั้นเปรียบเสมือนเข็มทิศชี้ทางขณะที่เรากำลังหลง
คำถามช่วยชี้เป้าให้เราคลำไปเรื่อยๆ จนเจอคำตอบ
คำถามเป็นแว่นขยาย เวลาภาพมัวไม่ชัด
คำถามซูมลึกในรายละเอียดจนเราเข้าใจสิ่งต่างๆ รอบตัวมากขึ้น
คำถามเป็นเครื่องออกกำลังสมอง ยิ่งถามเยอะ ก็ยิ่งฝึกสมองให้คิดแบบเป็นเหตุเป็นผล (Critical Thinking) มากขึ้น
คำถามมีพลังมหาศาล วันนี้เราจะดึงพลังของคำถามมาใช้กัน
ก่อนจะกระโดดไปยัง 6 คำถามที่เปลี่ยนมุมมองชีวิต ขอแนะนำให้รู้จักกับ ‘คำถาม’ 4 ระดับ ซึ่งแบ่งโดยอาศัยประเภทข้อมูลที่ได้จากการตั้งคำถาม และคำถามแต่ละประเภทก็จะนำพาเราไปเจอข้อมูลที่แตกต่างกันไป :
- Robot : คำถามพื้นฐาน โยนคำถามเพื่อให้ได้ข้อมูลทั่วไป อย่างเช่น ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร คำถามประเภทนี้ช่วยให้เข้าใจสถานการณ์ รู้ภาพรวม รู้ข้อเท็จจริง และเป็นพื้นฐานต่อยอดถามคำถามขั้นต่อไป เช่นเวลาลงพื้นที่ตามโรงเรียนห่างไกล เราอยากรู้ข้อมูลพื้นฐานก่อนว่า มีนักเรียนกี่คน ใครเป็นผู้อำนวยการ มีนักเรียนชั้นอะไรบ้าง ครูสอนเด็กยังไง
- Detective : เริ่มเห็นภาพนักสืบกันลางๆ แล้วใช่มั้ยคะ? เราจะสวมบทบาทนักสืบจิ๋วโคนันกัน ใครเคยดูการ์ตูนเรื่องนี้จะเห็นสไตล์การถามของโคนันที่ถามดึงข้อมูลเชิงลึก หาสาเหตุ หาต้นตอ หาโครงสร้าง หาความสัมพันธ์ หรือความเชื่อมโยงกันระหว่างสองสิ่ง เช่น คุณครูหนึ่งคนต้องดูแลนักเรียนกี่คน? อะไรคือสาเหตุที่โรงเรียนนี้มีจำนวนครูน้อยกว่าโรงเรียนอื่น ทั้งที่มีขนาดเท่ากัน?
- Judge : คำถามระดับนี้จะไม่ใช่แค่ระดับข้อมูล แต่เราจะล้วงลึกไปถึงความรู้สึก และความคิดเห็น ซึ่งมักจะเป็นคำถามปลายเปิดเพื่อรับความคิดเห็น จึงไม่มีผิดไม่มีถูก เช่น ทำไมคุณครูถึงเลือกมาสอนที่โรงเรียนแห่งนี้? คุณครูชอบอะไร/ไม่ชอบอะไรบ้าง?
- Inventor : คำถามขั้นนักประดิษฐต้องถามแบบสร้างสรรค์ ถามเพื่อให้เกิดการต่อยอดสิ่งใหม่ได้ หรือเพื้อเปิดประตูจินตนาการให้กว้าง เช่น สมมุติมีงบ 1 ล้านบาทโรงเรียนจะนำไปพัฒนาอะไร?
Andreas von der Heydt, Head of Kindle at Amazon มองว่าระบบการศึกษาตีกรอบความคิดเราด้วยคำถามที่มีแค่คำตอบ ‘ผิด’ หรือ ‘ถูก’ แต่ในโลกการทำงาน คำถามส่วนใหญ่ที่ต้องขบคิดกลับเป็นคำถามปลายเปิดเสียมากกว่า Andreas เลยคิดคำถาม 6 ข้อที่จะช่วยกระตุ้นความคิด และพาเราไปสู่คำตอบทั้งในแง่การงานและการดำเนินชีวิต
1. คำถามขึ้นต้นด้วย WHY?
ทำไม? คำถามนี้ดึงเราให้หยุดนิ่ง ก้าวถอยหลังสักนิด และครุ่นคิดหาเหตุผลเบื้องลึกเบื้องหลังที่เราลงมือทำสิ่งต่างๆ แรงบันดาลใจ แรงผลักดัน จุดมุ่งหมาย อะไรคือแรงขับเคลื่อนให้เรากำลังทำสิ่งที่ทำอยู่ คำถามนี้จะช่วยให้เราเข้าใจที่มาที่ไปของสิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้น
ตัวอย่างคำถาม
- ทำไมเราถึงอยากแก้ปัญหาสังคมนี้
- ทำไมต้องเป็นเราที่แก้ปัญหาสังคมนี้
- ทำไมปัญหาสังคมนี้ถึงสำคัญ
2. คำถามขึ้นต้นด้วย WHY NOT?
ทำไมเราไม่…? คำถามนี้ไม่ใช่แค่ขั้วตรงข้ามกับ ‘ทำไม?’ เพราะคำถามว่า ‘Why?’ เราถามเพื่อทบทวนที่มาที่ไป แต่ ‘Why not?’ เป็นการท้าทายขีดจำกัดความสามารถตัวเอง ค้นหาความเป็นไปได้ กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ และพาตัวเองเดินออกจากกรอบเดิมๆ
ตัวอย่างคำถาม
- ทำไมเราไม่ลองชวนคนมีส่วนได้เสียเข้ามาร่วมทีมกับเรา?
- ทำไมเราไม่ลองไปคุยกับคนที่เผชิญปัญหาแล้วให้เขาช่วยคิดวิธีแก้ไข?
3. คำถามขึ้นต้นด้วย What if ? What if not?
ถ้าเกิดว่า? และ ถ้าไม่? คู่คำถามนี้เป็นตัวช่วยในการตัดสินใจ ช่วยตบไอเดียฟุ้งๆ ให้เข้าใกล้ความเป็นจริงมากขึ้น ช่วยให้เราพิจารณารอบคอบขึ้นว่าไอเดียไหนเวิร์ค ไอเดียไหนควรตัดทิ้ง ทำให้เราได้วิธีแก้ปัญหาที่เหมาะสมกับเวลา ผู้คน และสถานที่มากที่สุด
ตัวอย่างคำถาม
- ถ้ามีกำลังคนไม่พอ เราจะแก้ปัญหานี้ด้วยวิธีอื่นได้อื่นมั้ย?
- ถ้าเราไม่สื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์คนจะรู้จักโครงการเพื่อสังคมของเรามั้ย?
- ถ้าเราแก้ไขปัญหาด้วยวิธีนี้ จะมีใครได้รับผลกระทบบ้าง?
4. คำถามขึ้นต้นด้วย What else?
มีทางเลือกไหนอีก? ยังมีอะไรอีก? น่าน้อยใจที่คำถามนี้มักถูกลืม ทั้งที่คำถามนี้เป็นคำถามที่ช่วยเปลี่ยนแนวคิดเราได้เลย เพราะเป็นการเพิ่มทางเลือกให้เรามากขึ้น คำถามนี้จะทำให้เราไม่ด่วนตัดสินใจ และค่อยๆ หาคำตอบหรือวิธีการที่ดีที่สุด
ตัวอย่างคำถาม
- มีไอเดียอะไรที่ช่วยลดต้นทุนได้อีกมั้ย?
- มีเครื่องมืออะไรที่ช่วยแก้ปัญหาได้ในวงกว้าง?
5. คำถามขึ้นต้นด้วย How?
ทำอย่างไร? คำถามนี้เป็นการจับความคิดสร้างสรรค์กับกลยุทธ์มาชนกันจนเกิดเป็น Action Plan หรือแผนที่ลงมือทำได้จริง คำถามนี้ช่วยเปลี่ยนจากไอเดียเป็นการลงมือปฎิบัติ และทำให้เห็นภาพชัดเจนว่าก่อนจะถึงเป้าหมาย ต้องผ่านอะไรบ้าง?
ตัวอย่างคำถาม
- เราจะโปรโมทโครงการเพื่อสังคมอย่างไรให้คนสนใจ?
- เราจะเก็บข้อมูลอย่างไรให้ได้ข้อมูลเชิงลึกที่สุด?
- เราจะทำอย่างไรให้ผู้มีส่วนได้เสียเชื่อใจเราและร่วมมือกับเรา?
6. คำถามขึ้นต้นด้วย Who? When? By When?
ใคร? เมื่อไหร่? ภายในเมื่อไหร่? คำถามกลุ่มนี้เป็นชุดคำถามที่เก็บไว้คิดตอนท้ายเลย อย่าเพิ่งหยิบขึ้นมาถามจนกว่าจะมีไอเดียชัดเจนแล้ว จุดมุ่งหมายหลักของการทำคำถามกลุ่มนี้คือ เพื่อเช็ครายละเอียดของ Action Plan ให้รัดกุมที่สุดว่ามีใครร่วมด้วยบ้าง? กำหนดระยะเวลายังไง? เพื่อให้ดำเนินงานไปตามแผนได้
ตัวอย่างคำถาม
- ใครจะเป็นคนลงสนามไปสัมภาษณ์กลุ่มเป้าหมาย?
- ทีมเราจะลงพื้นที่กี่ครั้ง? เป็นระยะเวลาเท่าไหร่ดี?
คำถามที่ดีเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างนวัตกรรมและการพัฒนา การฝึกตั้งคำถามจะพาเราออกจากกล่องใบเดิม ไปเจอสิ่งใหม่ๆข้างนอกที่เราไม่เคยสัมผัสมาก่อน คำถามที่ทรงพลังเพียงคำถามเดียวก็สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้
ลองฝึกตั้งคำถามกับเรื่องใกล้ตัวดู แล้วเราจะเห็นโลกใหม่ที่มีอะไรให้เราได้ค้นหาคำตอบอีกเยอะเลย 🙂
ใครอยากรู้เพิ่มเติมโหลดสไลด์ 6 Success Question You Must Ask มาอ่านกันได้นะคะ