ไม่ว่าจะประกอบการธุรกิจ หรือกิจการเพื่อสังคม ผู้ประกอบการควรมีทักษะที่ขาดไม่ได้คือการนำเสนอ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วม การสนับสนุนหรือการร่วมลงทุน เพื่อระดมทรัพยากรต่างๆ ในการขับเคลื่อนการประกอบการให้เจริญเติบโตและขยายผลกระทบทางสังคมต่อไปได้ในวงกว้าง
School of Changemakers ได้จัดกิจกรรมให้บุคคลทั่วไปที่สนใจและนักสร้างการเปลี่ยนแปลงที่กำลังดำเนินโครงการและกิจการเพื่อสังคม ได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับวิธีการและเทคนิคการนำเสนอในรูปแบบของการ Pitching ซึ่งกิจกรรมในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากคุณอานนท์ บุณยประเวศ (นนท์) CEO & Co-Founder Techfarm เป็นผู้ตั้งต้นในการพูดคุยและแบ่งปันเนื้อหา รวมถึงประสบการณ์การนำเสนอโครงการในงาน After School #30 เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีเนื้อหาจากการสรุปแล้วดังนี้
วิธี Pitching มี 3 ขั้นตอนหลัก
ทุกเวทีมีวัตถุประสงค์ แต่ละโครงการหรือการประกวดต่างๆ มีบอกอยู่แล้วว่าจัดขึ้นเพื่ออะไร ให้การสนับสนุนอะไรบ้าง คุณสมบัติและหลักการพิจารณาเป็นอย่างไร ขอบข่ายเวลาและเงื่อนไขการเข้าร่วมคืออะไร เราสามารถศึกษาและเลือกเวทีให้เหมาะสมได้ หากเวทีนั้นให้เงินลงทุน เราก็ควรนำเสนอแผนธุรกิจและผลตอบแทน ถ้าเวทีไหนต้องการบ่มเพาะ เราก็ควรเน้นนำเสนอให้เห็นความมุ่งมั่นและไอเดียที่จะทำ ทั้งนี้ทั้งนั้นควรเลือกเวทีให้เหมาะกับขั้นของโครงการหรือกิจการเพื่อสังคมที่เรากำลังพัฒนาอยู่ด้วย
ปรับมุมมองก่อนการนำเสนอ แล้วลองตั้งโจทย์กับตนเองดูว่าจะทำอย่างไรให้ผู้ฟังสนใจ พอนำเสนอเสร็จมีคนมายื่นนามบัตรให้ มีคนเดินมาพูดคุยอยากให้การสนับสนุน ไม่ต้องกลัวว่าคณะกรรมการ นักลงทุนหรือผู้ฟังจะตัดสิน ชี้เป็นชี้ตายว่าโครงการของคุณดีหรือไม่ดี พวกเขาเพียงอยากจะฟังเพื่อให้เข้าใจโครงการของคุณมากที่สุดเท่านั้นเอง
ทั้งหมดทั้งมวลขึ้นอยู่กับการเตรียมตัวนำเสนอของผู้ประกอบการ ซึ่งควรมีเวลาเตรียม Pitch อย่างน้อยหนึ่งเดือน เพื่อเตรียมเนื้อหาให้ครบถ้วนตอบวัตถุประสงค์ของเวทีที่เข้าร่วม เตรียมสไลด์และฝึกซ้อมนำเสนอให้แม่นยำ สามารถถ่ายทอดเนื้อหาในแต่ละขั้นให้ตอบโจทย์ที่ต้องการสื่อสารได้
เวทีส่วนมากล้วนให้ผู้ประกอบการเตรียมสไลด์นำเสนอโครงการ หรือ Pitch desk มา พร้อมระบุระยะเวลาในการนำเสนอ เช่น 3/ 5/ 7 หรือ 10 นาที ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของแต่ละเวที ซึ่ง Pitch desk ตามหลักสากลแล้วจะมีองค์ประกอบของเนื้อหา ได้แก่ Problem, Solution, Product/Service, Business model, Traction, Market size, Competitor และ Team โดยผู้ประกอบการควรลำดับเนื้อหาด้วย บทนำ เนื้อเรื่อง และสรุป ให้เข้าใจได้ง่ายและมีเนื้อหาครบถ้วนตามองค์ประกอบด้านบน
Subject: เริ่มต้นสไลด์ด้วยการแนะนำว่าโครงการหรือกิจการเพื่อสังคมของเราชื่อว่าอะไร และทำอะไรสั้นๆ ให้เข้าใจได้ง่าย หรือ ดึง High Level Concept จาก Social Lean Canvas มาช่วยอธิบายตรงส่วนนี้ได้ ยกตัวอย่างเช่น Youtube = Fickr for videos
Problem: ต่อด้วยการเล่าถึงปัญหาที่ต้องการแก้ไขให้กระชับและเข้าใจได้ง่าย หากปัญหาสังคมมีความสลับซับซ้อนเข้าใจได้ยาก ควรให้เวลาในส่วนนี้เพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจก่อนเข้าสู่เนื้อหาต่อไป ควรเล่าปัญหาให้ผู้ฟังเชื่อมโยงได้ง่าย โดยมองหาจุดร่วมหรือประสบการณ์ที่ผู้ฟังส่วนมากอาจจะเจอ ยกตัวอย่างเช่น หากเราทำโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาสัตว์เลี้ยงสูญหาย ซึ่งผู้ฟังบางท่านอาจจะไม่ได้เลี้ยงสัตว์ ก็อาจจะยกตัวอย่างเปรียบเทียบถึงคนใกล้ตัวที่เรารักพลัดหลงหรือสาบสูญ ผู้ฟังก็จะเข้าใจและเห็นว่าปัญหานี้มีความสำคัญมากขึ้น โดยบนสไดล์สามารถให้ข้อมูลและรูปประกอบเพิ่มเติม เพื่อบ่งชี้ถึงสถานการณ์และความรุนแรงของปัญหา พร้อมระบุที่มาของข้อมูลที่สามารถอ้างอิงได้
ข้อควรระวัง: ไม่ควรเล่าถึงปัญหาที่โครงการหรือกิจการเพื่อสังคมของคุณไม่ได้แก้ เพราะจะทำให้ผู้ฟังไม่เข้าใจและไม่เห็นความเกี่ยวข้องเมื่อคุณเล่าถึงวิธีการแก้ไขปัญหา
Solution & Unique Value: เล่าถึงวิธีการแก้ไขปัญหาให้เข้าใจได้ง่าย ตัดทุกอย่างที่ไม่เกี่ยวข้องออก บอกวิธีการทำงานให้เห็นเป็นภาพ 3-5 ขั้นตอน พร้อมทั้งอธิบายถึงคุณค่าที่เกิดขึ้นจากการแก้ไขปัญหาหลักๆ ไม่เกิน 3 ข้อ
Sustainable Model/ Business Model: อธิบายโมเดลการสร้างความยั่งยืนให้กับโครงการหรือกิจการเพื่อสังคม ว่ามีวิธีการสร้างรายได้อย่างไร อธิบายให้เข้าใจได้ง่ายและเป็นไปได้จริง
Traction: เพื่อให้โครงการของคุณไม่ได้เป็นเพียงแค่แนวคิด แต่มันมีน้ำหนักเพราะมีข้อมูลตัวเลขมาสนับสนุน นำผลลัพธ์ที่ทดลองทำโครงการจริงมานำเสนอ โดยนำหลัก AARRR มาจับดังนี้
Market Size: ควรอธิบายถึงขนาดของตลาดที่โครงการหรือกิจการเพื่อสังคมของเราเข้าไปทำงานด้วย ว่ามีจำนวนและมูลค่าทั้งหมดเท่าไหร่ เรากินส่วนแบ่งได้แค่ไหนและเอื้อมถึงในช่วงแรกเป็นกลุ่มใดและมูลค่าเท่าไหร่ ซึ่งข้อมูลฐานลูกค้าส่วนนี้ควรมีความเชื่อมโยงกับ Business model ของโครงการที่พัฒนาขึ้น มีความเป็นไปได้ในการเข้าสู่ตลาด ซึ่งขนาดตลาดที่เลือกไม่ควรแคบหรือเล็กจนเกินไปซึ่งจะส่งผลต่อการเติบโตและขยายผล
Competitor: ธุรกิจที่ดีควรมีคู่แข่ง หากไม่มีควรตั้งข้อสังเกตว่าทำไมเจ้าอื่นถึงไม่เห็นโอกาสนี้ ความเสี่ยงคืออะไร โครงการหรือกิจการเพื่อสังคมก็เช่นเดียวกัน ควรศึกษาวิธีการเดิมที่กลุ่มเป้าหมายหรือกลุ่มลูกค้าใช้แก้ไขปัญหา มีผลิตภัณฑ์หรือบริการอะไรอยู่ก่อนแล้วบ้าง นำมาวิเคราะห์ข้อดีและข้อเสีย หาจุดยืนและตำแหน่งในการแข่งขันให้ได้ อธิบายได้ว่าวิธีการแก้ไขปัญหาของเราแตกต่างจากเจ้าอื่นอย่างไรบ้าง
Team: หน้าสไลด์ที่อธิบายถึงสมาชิกทีม เป็นทีมที่มีศักยภาพสามารถขับเคลื่อนโครงการหรือกิจการเพื่อสังคมดังกล่าวได้จริง มีความรู้ ความสามารถ ทักษะต่างๆ ที่จำเป็น และ มีความมุ่งมั่นจะทำให้โครงการประสบความสำเร็จ สมาชิกหลักของทีมควรประกอบไปด้วย นักประกอบการ นักพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการ และนักออกแบบ หากพึ่งเริ่มต้นทำโครงการยังไม่มีความรู้หรือประสบการณ์มากนัก ควรทำสไลด์ที่รวบรวมที่ปรึกษาของโครงการ รวมถึงรางวัลต่างๆ เพื่อเสริมความน่าเชื่อถือ
Contact us: สไลด์หน้าสุดท้าย ควรทิ้งท้ายที่ทำให้เห็นความมุ่งมั่นตั้งใจในการทำโครงการหรือกิจการเพื่อสังคม การสนับสนุนที่ต้องการ หรือโอกาสที่คนเข้ามาสร้างการมีส่วนร่วมได้ อย่าลืมใส่ช่องทางติดต่อกลับของเรา เพื่อสร้างเครือข่ายทำงานใหม่ๆ
หลังจบการนำเสนอ คุณจะได้รับคำแนะนำ และ Feedback มากมาย ทั้งที่เป็นประโยชน์และอาจจะไม่เป็นประโยชน์นัก ผู้ประกอบการควรเลือกนำคำแนะนำที่จำเป็นต่อการพัฒนาโครงการ หากคำแนะนำที่ไม่เกี่ยวเมื่อทบทวนดีแล้วก็ปล่อยไปได้ คำแนะนำจากคณะกรรรมการช่วยประเมินโครงการของเราได้ หากได้รับการท้วงติงเรื่องการดำเนินการกิจการถือว่าพอรับได้ หากถามเรื่องการขยายผลกระทบแสดงว่าโมเดลมาถูกทางแล้ว
แต่ละเวทีมีขั้นตอนหลังจบการนำเสนอไม่เหมือนกัน บางโครงการรอฟังประเมินผลและรับรางวัลเลย หรือบางเวทีก็ให้กลับไปพัฒนาโครงการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นแล้วให้กลับมาเสนอใหม่