
คุณพร้อมจะเลี้ยงลูกแล้วหรือยัง? เราว่าคำถามนี้เป็น 1 ใน Top10 Question ที่ควรตอบให้ได้ก่อนก้าวเท้าเข้าสู่แวดวงเพื่อสังคมแบบเต็มตัว
เพราะการปั้นโปรเจกต์เพื่อสังคมก็เหมือนเลี้ยงลูกดีๆ นี่เอง เริ่มตั้งแต่ตอนก่อร่างสร้างตัว อารมณ์ก็คล้ายๆ เวลาแม่คลอดเราออกมา ก่อนจะประคับประคองให้คลาน ตั้งไข่ เริ่มยืนได้ ช่วงนี้เรียกว่าช่วงฟูมฟัก เมื่อเดินแข็งแล้วก็ถึงเวลาออกเดินด้วยตัวเองและเรียนรู้โลกกว้าง เป็นช่วงที่กำลังเติบโต
ถ้าแบ่งช่วงเวลาการเติบโตของกิจการเพื่อสังคมเทียบเคียงกับวงจรของสตาร์ทอัพ เราจะแบ่งกิจการเพื่อสังคมได้เป็น 3 ช่วงอายุ ดังนี้คือ
Formation (ตั้งต้น) >> Validation (ค้นหา) >> Growth (เติบโต)
- Formation (ตั้งต้น)
ช่วงเริ่มต้นต้องคุยกับตัวเองเยอะหน่อย ค้นหาให้เจอว่าเราสนใจประเด็นสังคมอะไร? เห็นปัญหาไหนที่ขัดหูขัดตาอยากลงมือแก้ไข และตัวเองมีทักษะ มีความชอบอะไรเป็นพิเศษ พอคุยกับตัวเองจบ ค่อยขยับขยายไปคุยกับคนอื่นต่อ ลงพื้นที่เก็บข้อมูล ทำ Root Cause Analysis หารากของปัญหาที่จะแก้ และขบคิดหาวิธีแก้ปัญหา (Solution Fit ) แล้วก็ทดสอบวิธีการที่เราคิดว่ามันแก้ปัญหาคนกลุ่มเป้าหมายได้จริงหรือเปล่า? ส่วนใครที่เริ่มต้นคนเดียว ก็อาจเริ่มขายไอเดียหากำลังเสริมมาร่วมทีมเพิ่ม
ใครกำลังอยู่ในขั้นนี้ ทาง School of Changemakers มีห้องเรียนชื่อ Classroom ที่เปิดพื้นที่สำหรับคนอยากเริ่มต้นทำโปรเจกต์เพื่อสังคม เริ่มต้นตั้งแต่การค้นหาไอเดีย วิเคราะห์รากปัญหา ไปจนถึงการพัฒนาไอเดียค่ะ
- Validation (ค้นหา)
ขั้นนี้เราจะขยับจาก Solution Fit หรือการแก้ปัญหาที่ได้ผลจริง มาเป็น Market Fit คือมีตลาดและขายได้จริง ความยากคือจะทำยังไงให้กิจการเพื่อสังคมของเราขายได้และมีรายได้ยั่งยืน เมื่อกิจการเพื่อสังคมเติบโตมาถึงขั้นนี้ เราจะเริ่มสร้างสินค้าหรือบริการต้นแบบ หรือ Minimal Viable Product (MVP) ที่มีฟังก์ชั่นพื้นฐานที่สำคัญๆ โดยเราควรรีบสร้างให้เสร็จและเอาไป Test กับตลาดให้เร็วที่สุด อย่าคิดเองเออเองว่าลูกค้าจะชอบอะไร ต้องออกไปหากลุ่มเป้าหมาย สอบถามความต้องการของพวกเขา และเก็บข้อมูลมาพัฒนาสินค้าต่อไป
- Growth (เติบโต)
กว่าจะถึงขั้นนี้ผ่านร้อนผ่านหนาวมาไม่ใช่น้อย กิจการเพื่อสังคมยิ่งโต ยิ่งสร้าง Social Impact ได้เยอะ เมื่อทดสอบจนแน่ใจชัดว่า สินค้าหรือบริการที่คิด ตอบโจทย์ทั้ง Solution Fit และ Market Fit ก็ถึงเวลาขยับมาดูว่า Model Fit มั้ย คือ โมเดลที่ใช้อยู่สร้าง Impact ได้เยอะมั้ย และสร้างรายได้เพียงพอให้เติบโตอย่างยั่งยืนหรือไม่ การวัดการเติบโตของฝั่งธุรกิจ จะวัดกันจากผลกำไร แต่สำหรับกิจการเพื่อสังคม เราวัดจาก Social Impact ที่กิจการเพื่อสังคมสร้าง ส่วนวิธีที่จะรู้ได้ว่าเราสร้าง Social Impact อะไรบ้างใช้การวัดจาก SIA (Social Impact Assesement)
เริ่มเห็นภาพรวมของการตั้งต้นทำกิจการเพื่อสังคมแล้วใช่มั้ยคะ? ขั้นที่สำคัญที่สุดเลยคือขั้นตั้งต้น เพราะถ้าไม่มีก้าวแรกย่อมไม่มีก้าวถัดไป ก้าวแรกเป็นก้าวที่ท้าทาย เรากำลังก้าวออกจาก Comfort Zone กันแล้ว
ในหนังสือ Zero to One ของ Peter Thiel บอกไว้ว่า การสร้างกิจการต่างๆ ก้าวที่ยากที่สุดคือการนับจาก 0 ถึง 1 เพราะถ้านับ 0 ถึง 1 ได้สำเร็จ การนับ 2 – 3 – 4 และก้าวต่อๆ ไปก็ไม่ใช่เรื่องยากแล้ว ดังนั้นเพื่อให้ก้าวแรกของเราเห็นภาพชัดขึ้น วันนี้เรามีเครื่องมือ Mission Model Canvas มาฝากกันค่ะ
Mission Model Canvas หน้าตาละม้ายคล้ายฝาแฝดของ Business Model Canvas เลย มี 9 ช่องเหมือนกันเป๊ะ ต่างกันตรงรายละเอียดปลีกย่อยด้านในบางตัว เพราะเป้าหมายของ Mission Model Canvas นี้ถูกออกแบบมาเพื่อกิจการเพื่อสังคมในขั้นแรกที่ยังไม่รู้วิธีหารายได้ จะเป็น NGOs หรือองค์กรภาคสังคมอื่นๆ ก็ควรทำ เพราะนี่เป็นเสมือนแผนงานแผ่นเดียวที่จะทำให้เห็นภาพ ภารกิจทั้งหมดที่ต้องทำเพื่อบรรลุเป้าหมาย ถ้าพร้อมแล้ว ก็มาดูกันต่อเลยว่า 9 ช่องมีอะไรบ้าง
หัวกระดาษ เขียนเป้าหมายขององค์กรที่ต้องการทำให้สำเร็จลุล่วง
- Value Propositions : ช่องนี้สำคัญมาก เป็นช่องที่เราต้องตอบให้ได้ว่าเราทำอะไร และสิ่งที่เราทำมีส่วนช่วยแก้ปัญหาหรือช่วยสร้างคุณค่าอะไรเพิ่มให้กับพวกเขา ใครคิด Value Proposition ไม่ออก ลองใช้ Value Proposition Canvas ช่วยคิดดู
- Beneficiaries : ผู้ได้รับประโยชน์ทั้งหมด ลองนึกว่าสิ่งที่เราทำจะมีผลกระทบกับใครบ้าง อาจมีหลายกลุ่มก็ได้ เช่น นักศึกษาตาบอด นักศึกษาอาสา ศูนย์นักศึกษาพิการ
- Deployment : วิธีการเอาสิ่งทีคิดไปใช้งานจริงกับกลุ่มผู้ได้รับประโยชน์ โดยวัดว่าคนใช้กี่คน เวลาที่ใช้ในการลงพื้นที่ หรือเคสที่ทำแล้วประสบความสำเร็จ และจะขยายผลเอาไปให้พื้นที่อื่นหรือคนกลุ่มอื่นใช้ได้ยังไง ต้องมีการปรับเปลี่ยนอะไรเพิ่มเติมหรือไม่
- Buy-in & Support : สิ่งที่ต้องการเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย และจะทำยังไงให้ได้รับการสนับสนุนตามที่เราต้องการ
- Key Activity : กิจกรรมที่ทีมเราต้องลงมือทำมีอะไรบ้าง
- Key Partner : ลองคิดดูว่ามีใครเป็นพันธมิตร คอยสนับสนุนให้ความร่วมมือกับพวกเราได้บ้าง
- Key Resource : ทรัพยากรที่เรามีอยู่ อาจเป็นคน เงิน สถานที่ หรือสิ่งอื่นๆ ที่เรามีตอนนี้
- Mission Budget : ค่าใช้จ่ายต่างๆ โดยคำนวณงบประมาณทั้งหมดที่ต้องใช้ในการทำโครงการ
- Mission Achievement : ออกแบบวิธีวัดผลสำเร็จของงาน ที่เราต้องคิดล่วงหน้าไว้เลย ก็เพื่อจะได้เก็บข้อมูลระหว่างการทำงานได้ตรงกับเกณฑ์ที่เราจะใช้วัดผลนั่่นเอง ซึ่งวิธีวัดผลก็มีหลายวิธี อาจวัดเป็นเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพควบคู่กันไปก็ได้
ทุกการเดินทางมีความตื่นเต้น และท้าทาย การเดินทางในสายงานเพื่อสังคมก็เหมือนกันค่ะ เส้นทางอาจขรุขระ เผชิญปัญหาอุปสรรคในแต่ละระยะทาง ตั้งแต่ขั้นตอนเริ่มต้น ขั้นค้นหา หรือขั้นเติบโต แต่นั่นก็เป็นความท้าทายที่มีรสชาติแตกต่างกันออกไป ซึ่งถ้าเรามีตัวช่วยก็จะทำให้การเดินทางอุ่นใจขึ้น อย่างการมี Mission Model Canvas ก็เหมือนเป็นเข็มทิศให้เราเดินไปถูกทางนั่นเอง
ขอให้สนุกกับการเดินทางในสายกิจการเพื่อสังคมกันนะคะทุกคน :))
ที่มา :
- www.startupcommons.org
- Strategyzer.com – The Mission Model Canvas: An Adapted Business Model Canvas For Mission-Driven Organizations