
ในการทำโปรเจกต์เพื่อสังคม และกิจการเพื่อสังคมนั้น เชื่อว่าสิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาหนักใจที่สุดในช่วงแรกเริ่มก่อตั้ง คงหนีไม่พ้น “ชื่อแบรนด์” ซึ่งถ้ายังเป็นโปรเจกต์ระยะสั้นเราก็แค่คิดชื่อที่ทุกคนในทีมโอเค เพื่อไปใส่ใน proposal ขอทุน แต่ถ้าเราจะตั้งเป็นธุรกิจ หรือกิจการเพื่อสังคมแล้วละก็ ชื่อแบรนด์นี้ต้องออกสู่สายตาประชาชน ต้องเป็นที่จดจำ และดึงดูดลูกค้าได้ด้วย….งานนี้เราจะเอาแต่ใจ เลือกชื่อที่เราชอบคนเดียวคงไม่ได้แล้ว…แต่ชื่อแบรนด์ดีๆ โดนๆ จะลอยมาจากไหนกันล่ะ?
บังเอิญวันนั้นเราไปเจอกับหนังสือชื่อ The only book you will ever need on BRANDING เขียนโดย Michel Maandag และ Lisa Puolakka ซึ่งเป็นหนังสือ Non-fiction book of the month December 2015 ของประเทศอังกฤษ และยังเป็น Bestseller หนังสือขายดีของประเทศเนเธอร์แลนด์อีกด้วย
ต้องบอกเลยว่าหนังสือเล่มนี้ให้ประโยชน์ได้ตรงกับชื่อหนังสือเป๊ะๆ เลย เพราะตั้งใจนั่งอ่านแค่ 2 ชั่วโมงกว่าๆ ก็จบแล้ว เนื้อหากระชับ ตรงจุด อ่านง่าย รูปประกอบน่ารัก ตัวอย่างเคสเพียบ เหมือนเป็นคอร์สสั้นๆ ของการสร้างแบรนด์ สำหรับมือใหม่เลยก็ว่าได้…เราเลยนำเคล็ดลับการตั้งชื่อแบรนด์ ซึ่งเป็นเทคนิค 6C สำหรับการตั้งชื่อแบรนด์ที่ดี ที่หนังสือแนะนำไว้มาฝากกัน 🙂
จริงๆ แล้วมันไม่มีกฎตายตัวในการที่จะคิดชื่อแบรนด์ดีๆ หรือชื่อที่สร้างการจดจำได้ดี และชื่อแบรนด์ของเราก็ไม่จำเป็นต้องตอบโจทย์เทคนิคทั้ง 6C ที่เรากำลังจะแนะนำต่อไปนี้ก็ได้ แต่ถ้ายังไม่รู้จะเริ่มคิดชื่อแบรนด์จากอะไร ก็อย่าลืมนึกถึงเทคนิค 6C นี้กันด้วยล่ะ :
- Crisp : ตั้งชื่อให้สั้น และมีความสดใหม่ โดยทั่วไปแล้วชื่อสั้นๆ จะง่ายต่อการจดจำ การสะกด และการพูดชื่อออกมามากกว่า ลองเปรียบเทียบจากตัวอย่างแบรนด์พวกนี้ว่าชื่อไหนจะติดหู และเรียกง่ายกว่ากัน
FedEx กับ Federal Express
Mac กับ Macintosh
Amex กับ American Express
เราคุ้นเคยกับชื่อสั้นของแบรนด์พวกนี้มากกว่าจริงมั้ย?
- Clear : เมื่อลูกค้าเห็นตัวย่อของแบรนด์เราเป็นครั้งแรก พวกเขาจะพยายามคิดว่าตัวย่อพวกนั้น ย่อมาจากอะไร ดังนั้นแทนที่จะให้ลูกค้าเสียพลังงานไปกับการหาคำตอบว่าตัวอักษรพวกนั้นย่อจากอะไร จะดีกว่ามั้ยถ้าลูกค้าจะเอาเวลานั้นมาเรียนรู้ว่าแบรนด์ของเรานั้นขายอะไร และเป็นสินค้าประเภทไหน
ยกตัวอย่างเช่น ทุกวันนี้ยังคงมีลูกค้าจำนวนมากที่ไม่รู้ว่าตัวอักษรเหล่านี้คืออะไร และขายอะไร : AKG, AMD, ARM ,B&H, CBS, DKNY, FTD เป็นต้น
- Clever : สร้างความเกี่ยวข้องระหว่างชื่อแบรนด์ของเรากับประเภทของสินค้านั้นๆ หรือกับคุณค่าของสินค้าที่เรามอบให้กับลูกค้า ตัวอย่างที่ดีเช่น
twitter – ก็มาจาก bird tweeting ซึ่งก็คือการส่งข้อความสั้นๆ ถึงกัน
wordpress – มาจาก pressing words หรือการทำแพลตฟอร์มให้คนมาสร้างบล็อกออนไลน์
Amazon – เป็นชื่อแม่น้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก – และทุกวันนี้ Amazon ก็เป็นร้านค้าออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้วย
- Connected : ชื่อแบรนด์ของคุณจะดูเก๋ขึ้น และเป็นที่จดจำได้ง่ายขึ้น ถ้ามีการสัมผัสอักษร หรือมีความคล้องจอง เช่น Best Buy, PayPal, Dunkin’ Donuts, FireFox เป็นต้น
- Conversational : ชื่อแบรนด์ที่ง่ายต่อการสะกด ออกเสียง และพูดถึงโดยที่ลูกค้าไม่ต้องอายว่าจะพูดผิดหรือเปล่า จะทำให้ชื่อแบรนด์มีความเป็นมิตรกับลูกค้ามากขึ้น เพราะชื่อบางชื่อโดยเฉพาะชื่อที่เป็นภาษาต่างประเทศ แม้จะฟังดูเท่ ดูน่าสนใจ แต่กลับยากที่จะออกเสียง ยกตัวอย่างเช่น Fage yoghurt, kinerase skin care company, peugeot car company, Givenchy Fasion หรืออย่างบางชื่อที่เท่มาก ดูมีเอกลักษณ์มากตอนยู่บนกระดาษ แต่ตอนออกเสียงแล้วกลับไม่คูล ไม่มีเอกลักษณ์เหมือนตอนมองเห็น เช่น ‘Gruupz’ mobile app ที่ออกเสียงพ้องกับคำว่า groups เลย
- Crazy : อย่าเพิ่งด่วนตัดชื่อที่ฟังดูแล้วแสนจะธรรมดาหรือน่าเบื่อทิ้งไป เพราะชื่อหลายๆ ชื่อก็สร้างปรากฎการณ์ให้กับวงการมาแล้วนักต่อนัก เช่น BlackBerry แบรนด์ที่ขายโทรศัพท์มือถือ Penguin ก็เป็นชื่อสำนักพิมพ์ที่โด่งดังได้ เป็นต้น
ถ้าอยากเรียนรู้เรื่อง Branding ฉบับเร่งรัด เล่มนี้ถือว่าเป็น A must เลยค่ะ ไปหาอ่านกันได้เพราะยังมีอีกหลายเทคนิค และความรู้อีกมากมายในหนังสือ
ทำความรู้จักกับหนังสือเล่มนี้ให้มากขึ้นได้ที่ www.theonlybrandbook.com