
ผ่านมาจนกำลังหมดปี 2016 กันแล้ว ปีนี้เราได้เจอ Changemaker หลายทีมที่ได้เริ่มลงมือทำโปรเจกต์และเข้าใกล้ความสำเร็จไปทีละนิดๆ และก็ได้เจออีกหลายคนที่มี ‘ไอเดียดีๆ’ แต่ยังไม่เริ่มทำสักที….ซึ่งหนึ่งในเหตุผลที่เราได้ยินมาคือ “ไม่มีเงิน!”
แต่การมีเงินเป็นคำตอบของทุกโปรเจกต์เพื่อสังคมหรือเปล่า? มีเงินแล้วจะแก้ปัญหาสังคมได้จริงมั้ย?

วันนี้ทีมงานเลยขอมาพูดคุยกับพี่บี๋- ปรารถนา จริยวิลาศกุล ผู้อยู่เบื้องหลังโปรเจกต์ที่ไม่ได้มีเงินเป็นตัวตั้ง (ซึ่งขอเรียกสั้นๆ ว่า “โปรเจกต์ 0 บาท”) ที่เชื่อว่าหลายๆ คนต้องรู้จัก เริ่มตั้งแต่ Love is Hear คอนเสิร์ตพิเศษสำหรับเด็กหูหนวก โครงการวิ่งการกุศล Run Hero Run เพื่อซื้อเสื้อเกราะให้ทหาร 3 จังหวัดชายแดนใต้ โครงการเสื้อยืดส่งน้องเรียน ToMorroW Charity เพื่อให้น้องๆ ด้อยโอกาสได้มีอนาคตที่ดีกว่า และโครงการผูกปิ่นโตข้าว ที่เป็นแม่สื่อพาเจ้าบ่าวชาวนาอินทรีย์มาผูกปิ่นโตกับเจ้าสาวชาวกรุง (แถมยังเป็นเบื้องหลังโครงการเพื่อสังคมอีกหลายโครงการที่เล่าไม่หมดในย่อหน้านี้)

เราไม่รอช้า ตั้งอกตั้งใจฟังพี่บี๋เล่า เพื่อถอดเคล็ดลับ (ที่กำลังจะไม่ลับ) ของการทำโปรเจกต์แบบไม่ต้องจับเงิน มาให้ทุกคนได้รู้พร้อมๆกันเลย
ย้อนกลับไปพูดถึงจุดเริ่มต้นของการทำโปรเจกต์ 0 บาทครั้งแรก (คอนเสิร์ต Love is hear) คืออะไร?
ไอเดียมันเริ่มมาจากคำถามที่ว่า คนหูหนวกฟังดนตรีอย่างไร เพราะไหม สนุกไหม เพราะเราไม่เคยเห็นคนหูหนวกดูคอนเสิร์ตในประเทศไทย ทั้งๆที่คนหูหนวกฟังดนตรีได้ผ่านอีก 4 ประสาทสัมผัสที่เหลือ เราเลยคิดว่าอยากให้คนหูหนวกกับคนหูดีสัมผัสกัน เป็นคอนเสิร์ตที่มีทั้ง 5 senses ที่ไม่เคยมีมาก่อน เราอยากให้คนทั่วไปเห็นว่าคนพิการก็คือคนปกติคนหนึ่ง ที่เต้นเพลงเดียวกับเรา จังหวะเดียวกับเราได้
ตอนนั้นยังทำงานประจำอยู่ ก็เอาเวลาหลังเลิกงานมาทำ เราตั้งใจจะทำคอนเสิร์ต วันเดียวรอบเดียว แต่ทำให้เกิดการรับรู้เรื่องนี้ และสร้าง Impact ให้ได้มากๆ พอคิดไอเดียเสร็จเราก็ชวนเพื่อนก่อน คือ คุณวิภว์ บูรพาเดชะ เราสองคนคุยกันว่าเราไม่มีตังค์ เราทำกันเองเลยเหอะ เราอยากรู้ว่าคอนเสิร์ตที่ไม่มีค่าใช้จ่าย แแล้วมอบเงินทั้งหมดโดยไม่ต้องหักค่าใช้จ่ายให้กับการกุศล จะเกิดขึ้นได้มั้ย
ถ้าทำงานโดยไม่ใช้เงิน แล้วจะใช้อะไร?
อันดับแรกคือใจ เราต้องอยากอยู่กับสิ่งนี้จริงๆ ตอนนั้นใช้เวลาเตรียม 8 เดือน มันนานมาก เราจะต้องอยู่กับมันแบบไม่ทรมาน ซึ่งมันก็คือต้องอยู่ด้วยพลังใจ ซึ่งเงินซื้อไม่ได้นะ
สิ่งต่อมาคือ ไอเดียของเราจะต้องดี ขนาดที่ว่าเราอยากชวนเพื่อนคนไหนมาทำด้วยกัน พอเล่าปุ๊บ เพื่อนก็ตาเป็นประกาย แล้วก็ไม่ถามอะไรอีกเลย มาลุยด้วยกันทันที ซึ่งไอเดียที่ดีก็เกิดจากข้อมูลที่แน่น เราจะต้องมีประเด็นที่ใช่ ไอเดียที่ใช่ ตอบโจทย์แบบง่าย ไม่เข้าใจยาก และเซ็กซี่ แล้วคนจะมาร่วมกับเราเอง
คนที่จะมาทำงานกับเราก็สำคัญ เราพิสูจน์ให้เห็นว่า “We don’t need sponsorship, all we need is friendship” เริ่มจากเราลิสต์ก่อนว่าเราต้องมีอะไรบ้างในการจัดคอนเสิร์ตครั้งหนึ่ง หลังจากนั้นก็ดึงเพื่อนมา ใครมีอะไร ใครเก่งอะไร ใครเหลืออะไรก็เอามา โปรดักชั่นได้ Happening ดูแลด้วยการชวนมืออาชีพฝีมือเทพๆ มาช่วยกัน ศิลปินที่ขึ้นเวทีก็ชวนๆ กันมา ได้ผู้กำกับแฟนฉันทั้ง 6 คนกับทีมจอกว้างฟิล์มตระเวนไปถ่ายดาราและคนดังทั่วฟ้าเมืองไทยให้ทำภาษามือและตัดต่อเป็น MV สำหรับเพลงที่พี่จิก ประภาส ชลศรานนท์แต่งให้ และอีกหลายฝ่ายมากๆ ถามสิว่าทั้งหมดนี้ต้องใช้เงินเท่าไหร่ ถ้าเริ่มคิดจากเงิน ทั้งหมดนี้จะเกิดมั้ย? แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะทุกคนก็คิวทองกันทั้งนั้น แต่พอทุกคนมาด้วยใจ แบบไม่มีเงินเป็นตัวตั้ง เราเลยไม่ต้องจำว่าใครให้ตังค์ใครเท่าไหร่ แต่เราจำได้หมดว่าใครให้อะไร ใครทำอะไรให้

แล้วค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต้องจ่ายเป็นเงินล่ะ ?
ก็มีบางส่วนที่เราต้องใช้เงิน แต่เราก็มีผู้ใหญ่ใจดีหลายคนเข้ามา อยากให้ของ-ให้เงิน เราก็จะใช้วิธีจับคู่ผู้ใหญ่ที่อยากช่วยออกเงินกับซัพพลายเออร์ หรืออะไรก็ตามที่ต้องมีค่าใช้จ่าย ให้เค้าจัดการกันเอง โดยเงินไม่ต้องผ่านมือเราเลยสักบาท เจ้านึงก็จับคู่กับค่าใช้จ่ายแสงสีเสียง ร้านอาหารก็นำอาหารมาเลี้ยงสต๊าฟ โรงพิมพ์วชิรินทร์สาส์นก็มาช่วยพิมพ์สูจิบัตร สถานที่ก็ขอโรงหนังสกาล่า ร้านลูกโป่ง Mr.Balloon ก็สนับสนุนลูกโป่ง เพราะเราบอกเค้าว่าจะเอาไปติดกับที่นั่งให้เด็กหูหนวกจับ และสัมผัสจังหวะดนตรีผ่านแรงสะเทือนของลูกโป่ง เค้าก็ขนมาให้ถึงที่ฟรีๆเลย

ถ้าเราเป็นแค่เด็กตัวเล็กๆ คนหนึ่งที่ไม่ได้รวย connection แบบพี่บี๋ จะทำไงดี?
ถ้าเริ่มด้วยความคิดว่าฉันขาดอะไรบ้างก็จะไม่มีทางมี ส่วนใหญ่พอทุกคนเห็นความสำเร็จของคนอื่นก็ชอบคิดว่า แหงล่ะ ก็เป็นเธอ เธอเลยทำได้หนิ แต่นี่เราเริ่มจากศูนย์เหมือนกัน เริ่มจากขับรถกลับบ้านแล้วคิดว่าทำไมคนหูหนวกไม่เคยดูคอนเสิร์ตนะ เริ่มจากแค่นี้ แต่คิดแล้วไม่ได้นั่งเฉยๆ ทุกอย่างเกิดจากการลงมือทำทั้งนั้นแหละ
พี่บอกเสมอว่า connection เป็นสิ่งสำคัญมาก ซึ่งมันก็ไม่ได้ยากที่จะพาตัวเองเข้าไปทำความรู้จักใครสักคน ถามว่าคุณรู้ใช่มั้ยว่าคุณต้องการอะไร แล้วคุณก็รู้ว่าสิ่งที่คุณต้องการอยู่ที่ไหน อยู่กับใคร ถ้าไอเดียดีจริง คุณต้องกล้าเข้าไปบอกเขาสิ เชื้อเชิญให้เขามาช่วยคุณทำสิ connection มันมีอยู่ทุกที่ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเอาตัวเองเข้าไปหาหรือเปล่า ทุกวันนี้พี่ก็ยังต้องเดินเข้าไปขอความช่วยเหลือจากคนใหม่ๆ อยู่เลย
ข้อควรระวังสำหรับการทำโปรเจกต์แบบไม่แตะเงิน
integrity คือคุณธรรม ความซื่อสัตย์ ถ้าคุณไม่มีเงินก็ต้องไม่มีเงินจริงๆ คุณสัญญาอะไรกับใครต้องทำอย่างนั้น จากที่ทำมาหลายโปรเจกต์ พอเรามีจุดยืนตรงนี้ คนรอบตัวเราก็รู้ว่าเราทำสิ่งเหล่านี้เพราะอะไร และเราไม่เคยแตะเงิน เพื่อนๆก็สบายใจที่จะเสนอความช่วยเหลือให้เราเสมอ ซึ่งหากวันหนึ่งเราเสียจุดยืนตรงนี้ไป นั่นคือเสียเลย
อีกอย่างคือเราต้องแม่น มีความชัดเจนว่าจะทำอะไร ไม่ทำอะไร แถลงแจกแจงได้เลยว่าเงินทุกบาททุกสตางค์ที่เข้ามาเอาไปทำอะไร เหลือเท่าไหร่ คือเราจะต้องโปร่งใสมากๆ อย่างคอนเสิร์ตนี่จากเงิน 0 บาทก็ได้มา 800,000 เข้ามูลนิธิ เราก็เอาเงินค่าตั๋วทั้งหมดที่นับจากห้องตั๋วสกาลา ใส่ซองแล้วมอบเงินบนเวทีต่อหน้าผู้ชมทุกคนได้เลยเดี๋ยวนั้น เพราะเราไม่ต้องหักค่าใช้จ่ายอะไรเลย
ฝากถึงน้องๆ Changemaker ที่กำลังกังวลเรื่องเงินมาทำโปรเจกต์เพื่อสังคม
มันอยู่ที่วิธีคิดคือ อย่ามองเรื่องเงินเป็นเรื่องใหญ่ หรือเป็นจุดเริ่มต้นของทุกสิ่ง พี่เชื่อเสมอว่าถ้าคุณมีเงิน คุณจะอยู่อีกโลกหนึ่ง คุณจะไม่รู้เลยว่าโลกที่ไม่มีเงินมันมีอะไร โลกที่ไม่มีเงินมันมีมิตรภาพ มีหัวใจ มีความเชื่อ และมีพลังที่มีเงินมากแค่ไหนก็ซื้อไม่ได้ ซึ่งถ้าเราบอกตัวเองว่ายังไม่มีเงิน เดี๋ยวก่อน รอมีเงินก่อน ทุกอย่างมันก็จะไม่เกิด
สำหรับพี่แล้ว การทำงานเพื่อสังคม เพื่อผู้อื่น การไม่มีเงินคือพรอันวิเศษ มันทำให้เรามองเห็นความเป็นไปได้ที่ไร้ขอบเขต มันทำให้เรากล้าที่จะเดินไปชวนผู้คนให้มาร่วมทำสิ่งดีๆ ด้วยกัน ทำให้เราได้ซึ้งถึงคำว่ามิตรภาพและน้ำใจได้อย่างมากที่สุด และมันทำให้เรารู้ว่า ปาฏิหาริย์มีจริง…