
สถานการณ์ของปัญหา
กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เปิดเผยว่ามีคนพิการกว่า 1,700,000 คนในประเทศไทย ซึ่งคิดเป็น 2.62% ของประชากรทั้งประเทศ และจากรายงานตามสถิติของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่ผ่านมา ก็พบว่าคนพิการที่มีความรู้ในระดับ ปวส. จนถึงปริญญาเอก มีจำนวนเพียง 38,000 คนเท่านั้น ส่งผลให้มีคนพิการจำนวนน้อยมากที่ได้ทำงานในภาควิชาชีพ ส่วนคนพิการส่วนใหญ่ยังคงทำงานอยู่ในภาคการเกษตรและการประมง
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 เป็นต้นมา รัฐบาลได้พยายามปรับปรุงแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการปี พ.ศ. 2550 เพื่อแก้ไขปัญหาการว่างงานตามมาตรา 33 34 และ 35 โดยระบุให้องค์กรภาครัฐและเอกชนทุกแห่ง ต้องจ้างงานคนพิการในตำแหน่งต่างๆ ตามกฎหมาย ในอัตราคนพิการ 1 คนต่อลูกจ้างทั่วไป 100 คน โดยยังเพิ่มแรงจูงใจด้วยการยกเว้นภาษี 100% ของรายจ่ายในการจ้างและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการ รวมทั้งการหักลดหย่อนภาษี 3 เท่า แก่บริษัทเอกชนที่จ้างคนพิการในบริษัทมากกว่า 60% ซึ่งในกรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติได้ นายจ้างจะต้องจ่ายเงินสบทบรายปีเข้ากองทุนของสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาชีวิตคนพิการแห่งชาติ (พก.) ในจำนวนเทียบเท่ากับค่าจ้างขั้นต่ำของจำนวนคนพิการตามอัตราที่ต้องจ้าง ซึ่งกองทุนนี้จะจัดสรรเป็นเงินทุนแก่โครงการอบรมพัฒนาทักษะคนพิการและเงินกู้ปลอดดอกเบี้ย เพื่อช่วยเหลือคนพิการรวมตัวกันจัดตั้งกิจการในชุมชน ตามมาตรา 33 34 และ 35
ประเด็นที่น่าสนใจ (insights)
- การทำให้คนพิการมีอาชีพ มีรายได้พอเลี้ยงดูตนเอง และได้ทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม จะทำให้ผู้พิการลบล้างทัศนคติแย่ๆ เกี่ยวกับตัวเอง ที่คิดว่าตนเองเป็นภาระของครอบครัวและสังคม พึ่งพาตัวเองไม่ได้ และน่าอับอาย
- ทัศนคติของสังคมและคนทั่วไปที่มีต่อผู้พิการ ยังคงเป็นรูปแบบ ‘สังคมสงเคราะห์’ ที่คนพิการต้องได้รับการช่วยเหลือดูแลจากสังคม ไม่ใช่ ‘สังคมที่อยู่ร่วมกัน’ (Inclusive Society) ทั้งๆ ที่คนพิการจำนวนมากสามารถดูแลตัวเองได้ ช่วยเหลือสังคมได้ และเป็นผู้ให้ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้รับเสมอไป แต่เมื่อคนทั่วไปมีทัศนคติแบบนี้บังตาอยู่ บอกว่าผู้พิการช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ทั้งที่เราแทบไม่ได้สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อผู้พิการเลย จึงทำให้ผู้พิการไม่สามารถเข้าสู่ระบบได้ เช่น การไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการในพื้นที่สาธารณะ ทำให้ผู้พิการไม่กล้าออกจากบ้าน หรือการตั้งคุณสมบัติของตำแหน่งงานที่รับสมัครคนพิการที่เกินความเป็นจริง และไม่เหมาะสมกับคนพิการ ทำให้ผู้พิการถูกกันออกไปจากตลาดแรงงานทั้งที่สามารถทำงานอย่างอื่นได้
- สถิติจำนวนคนพิการในประเทศไทยเป็นตัวเลขที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงมาโดยตลอด เพราะมีคนพิการที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนอยู่อีกจำนวนมาก ซึ่งปัจจัยนี้ส่งผลต่อการวางแผนงบประมาณ และทิศทางการพัฒนาของภาครัฐ ในขณะเดียวกันผู้พิการจำนวนมากก็ไม่รับรู้ถึงสิทธิของตน จึงไม่สามารถรับประโยชน์จากกฎหมายได้อย่างเต็มที่ และยังเป็นช่องว่างให้ผู้อื่นเอาเปรียบและใช้สิทธิ์ผู้พิการเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง
- แม้มาตรา 33 34 และ 35 จะเอื้อให้คนพิการได้ทำงานในสถานประกอบการมากขึ้น แต่องค์กรต่างๆ กลับเลือกที่จะจ่ายเงินเข้ากองทุนฯ มากกว่าการรับคนพิการเข้าทำงาน เพราะรู้สึกว่าเป็นทางที่ง่ายกว่า เนื่องจากสถานประกอบการไม่มีข้อมูลความรู้เกี่ยวกับคนพิการ และการสร้างตำแหน่งงานที่เหมาะสมสำหรับความพิการในรูปแบบต่างๆ ทำให้กองทุนฯ ใหญ่ขึ้นทุกวัน แต่กลับไม่สร้างประโยชน์ต่อผู้พิการได้อย่างแท้จริง
Case ที่น่าสนใจ

ผู้พิการส่วนใหญ่มักเลือกที่จะไม่ศึกษาต่อในระดับสูง หรือแม้จะศึกษาต่อก็มักจะรู้สึกท้อแท้และถอดใจกับการเรียน เพราะไม่มีต้นแบบที่ทำให้เห็นว่าเรียนจบแล้วจะประกอบอาชีพได้จริง The Guidelight จึงตั้งขึ้นเพื่อเป็นตัวช่วยให้นักศึกษาตาบอดเรียนจบระดับมหาวิทยาลัย ด้วยการสร้างระบบสนับสนุนนักศึกษาตาบอด โดยจัดทำคู่มือที่จะช่วยให้อาจารย์รู้ว่ามีนักศึกษาตาบอดอยู่ในชั้นเรียน พร้อมบอกวิธีที่จะช่วยให้นักศึกษาเรียนในห้องเรียนได้ดีขึ้น และยังจัดทำเว็บไซต์รวบรวมสื่อการเรียนทุกชนิดที่จัดทำได้อย่างรวดเร็วโดยอาสาสมัครคนตาดี จึงทำให้นักศึกษาตาบอดมีเอกสารประกอบการเรียนเตรียมสอบได้อย่างทันเวลา นอกจากนี้ยังจัด Workshop สร้างแรงบันดาลใจให้นักศึกษาตาบอดได้มองเห็นอนาคตทางวิชาชีพ และมีกำลังใจในการเรียนให้จบ ด้วยการพารุ่นพี่ตาบอดที่เรียนจบและทำงานในวิชาชีพต่างๆ มาแบ่งปันประสบการณ์ให้กับน้องๆ

อาการออทิสติก เป็นภาวะผิดปกติทางสมองที่ผู้ป่วยจะมีปัญหาทางการสื่อสารและการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ทำให้ใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างยากลำบาก แต่ Thorkil Sonne ชาวเดนมาร์ก กลับมองคนที่มีความบกพร่อง (disability) นี้เป็นบุคคลที่มีความสามารถพิเศษ (specialist people) และใช้สิ่งนี้เป็นโอกาสในการสร้างเป็นธุรกิจ และสร้างอาชีพให้กับผู้ป่วยออทิสติก ด้วยการก่อตั้ง Specialisterne ที่นำลักษณะเฉพาะของอาการออทิสติก คือ ความสามารถในการจดจ่อทำอะไรซ้ำๆ ได้อย่างมีสมาธิเป็นเวลานานๆ และทำได้อย่างแม่นยำ ซึ่งคนทั่วไปไม่สามารถทำได้ สร้างเป็นโปรแกรมพัฒนาพวกเขาให้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจโค้ดคอมพิวเตอร์ และให้พวกเขาได้เข้าไปทำงานในองค์กรยักษ์ใหญ่ต่างๆ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญ คนออทิสติกในตำแหน่งนี้จึงกลายเป็นอาชีพที่มีรายได้สูง และเป็นที่ยอมรับ โดยในขณะเดียวกันก็จะมีการจัดอบรมให้บริษัทและเพื่อนร่วมงานมีความรู้ความเข้าใจ และสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อเตรียมพร้อมที่จะทำงานร่วมกับ Specialist เหล่านี้ด้วย
ปัจจุบัน Specialisterne ขยายงานออกไปในหลายประเทศ และได้ทำงานร่วมกับองค์กรใหญ่ๆ หลายองค์กร เช่น Microsoft และ SAP
- Status Map For All พลังตาพลเมือง
จากความเข้าใจผิดของผู้พิการและครอบครัวจำนวนมาก ที่เข้าใจว่าการขึ้นทะเบียนคนพิการมีไว้สำหรับผู้พิการที่ต้องการรับเงินช่วยเหลือเท่านั้น ทำให้ผู้พิการที่ดูแลตัวเองได้หรือมีคนดูแลอยู่แล้วมักไม่มาขึ้นทะเบียน ตัวเลขสถิติผู้พิการในประเทศไทยจึงคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงไปมาก โครงการพลังตาพลเมืองจึงเกิดขึ้น เพื่อออกแบบซอฟแวร์เก็บข้อมูลผู้พิการที่แท้จริงในพื้นที่ต่างๆ ทำเป็นแผนที่บอกพื้นที่ที่มีคนพิการอยู่หนาแน่น เพื่อผลักดันให้รัฐบาล จัดสรรทรัพยากรที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของคนพิการ ทั้งในรูปแบบความช่วยเหลือหรือกิจกรรม CSR โดยเครื่องมือนี้จะถูกนำไปใช้กำหนดพื้นที่เร่งด่วนในการจัดสรรทรัพยากร เช่น เส้นทางเดินรถประจำทางที่อำนวยความสะดวกแก่คนพิการ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีบริการในประเทศไทย

บริษัทจัดหางานสำหรับคนพิการแห่งแรกในประเทศไทยที่ประสบความสำเร็จในการใช้ยุทธศาสตร์ที่ทุกฝ่ายได้รับผลประโยชน์ (win-win strategy) โดยมุ่งพัฒนาศักยภาพแรงงานคนพิการให้สามารถแข่งขันในตลาดแรงงานได้อย่างทัดเทียมกับคนทั่วไปด้วยซอฟท์แวร์ที่ออกแบบสำหรับคนพิการโดยเฉพาะ ให้ผู้พิการที่ผ่านการอบรมเป็นกำลังสำคัญของบริษัท ในขณะเดียวกันก็ฝึกอบรมสถานประกอบการ โดยมุ่งสร้างความเข้าใจ สร้างทัศนคติดีๆ และกระตุ้นให้ภาคธุรกิจรับคนพิการเข้าทำงานแบบทั้งวงจร ตั้งแต่การออกแบบสภาพแวดล้อมการทำงาน การออกแบบตำแหน่งงานและคุณสมบัติที่คนพิการสามารถเข้าทำงานได้ ช่วยให้ธุรกิจสามารถจ้างงานคนพิการได้ตามกฎหมาย
ปัจจุบัน PWD สามารถทำให้ผู้พิการมีรายได้รวมกันกว่า 1.2 ล้านบาท และบริษัทสร้างการขายสินค้าทางโทรศัพท์ได้สูงขึ้นถึง 6 เท่าของอัตราทั่วไป
Link ที่มาและข้อมูลอื่นๆ ที่น่าสนใจ
- สังคมอยู่ดี กับพลังตาพลเมือง
- “ตัวแบบความพิการทางสังคม” กับการมองภาพ “คนพิการ” ใน “สังคมไทย”
- วันสตรีสากล (2) นักข่าววีลแชร์ และการออกแบบพื้นที่สาธารณะ
- รายงานการติดตามและประเมินผลแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ฉบับที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๕๐-๒๕๕๔(ระยะสิ้นสุดแผนฯ) /๖-๑
- แอพพลิเคชั่นที่ช่วยให้คนตาบอดมองเห็นโลกรอบตัว….
- คนพิการต้องการ ‘โอกาสที่เท่าเทียม