
เป็นที่รู้กันดีว่า ในโลกยุคนี้สื่อมวลชนไม่ได้เป็นเพียงผู้เดียวที่ทำหน้าที่นำเสนอข่าวสารสู่สาธารณะอีกต่อไป แต่ประชาชนทุกคนเองก็สามารถเป็น ‘สื่อ’ ได้เช่นกัน ด้วยเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่เข้ามามีบทบาทอย่างมากต่อชีวิตประจำวันของผู้คน ทำให้การใช้ชีวิต และการรับข้อมูลข่าวสารของคนในยุคนี้เปลี่ยนไป มีเรื่องราวมากมายเกิดขึ้น และถูกส่งต่ออยู่ตลอดเวลาอย่างอิสระบนโลกอินเตอร์เน็ต
แต่ ‘อิสระ’ ในที่นี้ หลายครั้งก็กลายเป็นสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้ ไม่มีมาตรฐานในการดูแลการรับส่งข้อมูลข่าวสารที่ชัดเจน ส่งผลให้การนำเสนอข่าวสารในสื่อออนไลน์หลายๆ เรื่องไม่ได้อยู่บนพื้นฐานความจริง หรือขาดการตรวจสอบความถูกต้อง เนื่องจากความรวดเร็ว และความง่ายในการส่งต่อข้อมูล ทำให้คนไม่ได้เช็คข้อมูลให้ครบถ้วนรอบด้านก่อนเชื่อ หรือแชร์ จนหลายคนเกิดความสงสัยว่า มาตรฐานในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารบนโลกออนไลน์อยู่ที่ตรงไหน จะมีสิ่งใดกำกับควบคุมดูแลเพื่อให้การใช้งานไม่สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนา และจะทำอย่างไรให้ผู้ใช้งานรู้จักรับสารอย่างวิเคราะห์ แยกแยะ และรู้เท่าทันข้อมูลข่าวสาร ไม่ไหลไปตามกระแสข้อมูลข่าวสารของโลกเสมือนจริงนี้
จากผลสำรวจของ We Are Social พบว่าประชากรกว่า 68 ล้านคนของประเทศไทยในปี 2559 มีผู้เข้าถึงอินเตอร์เน็ต และใช้งาน Social Media มากถึง 38 ล้านคน คิดเป็น 56% ของประชากร และในจำนวนนี้มีผู้ใช้งานออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือจำนวน 34 ล้านคน

พฤติกรรมเหล่านี้ทำให้รูปแบบการทำการตลาดของสินค้าและบริการ ย้ายช่องทางการขายของมาอยู่บนโลกออนไลน์ที่มีพื้นที่เปิดกว้าง ไม่จำกัดรูปแบบ และไม่ตายตัว นักการตลาดสามารถสร้างสรรค์เนื้อหาได้หลากหลาย ซึ่งถูกวัดค่าความสำเร็จจากสถิติยอดเข้าชม ยอดไลก์ และยอดแชร์ เมื่อเกิดการทำซ้ำมากๆ จากกระแสความนิยมก็กลายเป็นการสร้างวัฒนธรรมความเชื่อในการสร้าง ‘การยอมรับตัวตนผ่านสื่อโซเชียล’ ด้วยการกระทำที่มุ่งเน้นยอดไลก์ และยอดแชร์ โดยขยายจากเพื่อการโฆษณาสินค้ามาเป็นโฆษณาตัวตนของบุคคล จนผู้ใช้งานจำนวนมากเลือกที่จะสร้างตัวตนใหม่ในโลกเสมือน เพียงเพื่อต้องการพื้นที่และการยอมรับจากสังคม หากเกิดปัญหาใดๆ จากตัวตนในโลกเสมือนที่สร้างขึ้นนี้ ก็เพียงละทิ้งตัวตนเดิมแล้วสร้างตัวตนใหม่ได้อย่างง่ายดาย
‘ความเป็นส่วนตัว’ เป็นปัญหาใหญ่อีกประเด็นหนึ่ง จากข้อมูลรายงานการละเมิดความเป็นส่วนตัวออนไลน์ในสังคมไทย พ.ศ. 2556 โดยเครือข่ายพลเมืองเน็ต พบว่าสาเหตุหลักของการรุกล้ำความเป็นส่วนตัวมักมาจากความขัดแย้งทางการเมือง หรือความขัดแย้งระหว่างบุคคล เกิดการโพสต์เพื่อมุ่งโจมตี หรือประจานคู่กรณีให้อับอาย การขาดความระมัดระวังในการจัดเก็บข้อมูลจนทำให้ข้อมูลรั่วไหล หรือแรงจูงใจทางธุรกิจที่มุ่งขายข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่ได้รับอนุญาต เกิด ‘ผู้เสียหาย’ ในกรณีต่างๆ ทั้งโดยตั้งใจ และไม่ตั้งใจ
แนวทางการแก้ปัญหา
สิ่งเหล่านี้สามารถแก้ไขได้ด้วยความร่วมมือในการจัดทำมาตรการรักษาความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ในขณะเดียวกันผู้ใช้อินเตอร์เน็ตควรมีความเข้าใจการทำงานของระบบการจัดเก็บข้อมูลบริการออนไลน์ที่ใช้ รวมถึงตระหนักอยู่เสมอก่อนเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวให้กับสื่อใดๆ เพราะการลบข้อมูลที่อยู่บนอินเตอร์เน็ตอย่างสมบูรณ์นั้นคือสิ่งที่เป็นไปได้ยาก และที่สำคัญ ผู้ใช้งานควรมีสติในการเสพข้อมูล และไม่ร่วมละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้อื่นด้วยการแชร์ข้อมูลส่วนบุคคลใดๆ โดยไม่ได้รับอนุญาต

นอกจากนี้ควรมีการส่งเสริมให้ผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตเป็น ‘พลเมืองดิจิทัล’ (Digital Citizenship) ที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานอินเตอร์เน็ตดังต่อไปนี้
- ความปลอดภัยบนอินเตอร์เน็ต (Internet Safety)
- ความเป็นส่วนตัวและความมั่นคงปลอดภัย (Privacy & Security)
- ความสัมพันธ์และการสื่อสาร (Relationship & Communication)
- การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์และดราม่ายุคดิจิทัล (Cyberbullying & Digital Drama)
- รอยเท้าทางดิจิทัลและชื่อเสียงบนโลกดิจิทัล (Digital Footprint & Reputation)
- อัตลักษณ์และตัวตน (Self-Image & Identity)
- การรู้ทันเรื่องข้อมูลข่าวสาร (Information Literacy)
- การให้เครดิตและลิขสิทธิ์ (Creative Credit & Copyright)
การจัดหลักสูตร Digital Citizenship หรือการเป็นพลเมืองดิจิทัล ให้อยู่ในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับประชาชนทุกคนเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อปลูกฝังให้เยาวชนเป็นพลเมืองดิจิทัลที่สามารถรู้เท่าทัน และใช้งานสื่อออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เนื้อหาจากงาน Scaling Impact 1 : เทรนด์ปัญหาสังคมยุค 4.0 วันที่ 25 มีนาคม 2560
บทความที่เกี่ยวข้อง