
กองทุนรวมคนไทยใจดี (BKIND) จัดตั้งเมื่อปี 2557 โดย บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด (กองทุนบัวหลวง) และพันธมิตร ได้แก่ มูลนิธิเพื่อ “คนไทย” และ สถาบัน ChangeFusion ภายใต้มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระดมเงินจากผู้ลงทุนไปลงทุนในกิจการที่มีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคม 4 ด้าน ได้แก่
- สิ่งแวดล้อม (Environment)
- สังคม (Social)
- ธรรมาภิบาล (Good Governance)
- ต่อต้านคอร์รัปชั่น (Anti-Corruption)
โดยจะมีการเลือกหุ้นที่จะลงทุน ภายใต้แนวคิดที่ว่า ‘กิจการที่มีกำไรและยั่งยืนต้องอยู่บนพื้นฐานของ การประกอบธุรกิจ เพื่อยกระดับสังคมไทยอย่างแท้จริง’ ดังนั้น กองทุนรวมคนไทยใจดี จึงจะใช้แนวคิดนี้ในการแสวงหาผลตอบแทนจากการลงทุนในระยะยาวที่ยั่งยืน โดยจะเน้นการลงทุนหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ตลาดหลักทรัพย์ MRI หรือตลาดรองอื่นๆ ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่นอกจากจะเป็นกิจการที่มีปัจจัยพื้นฐานดีแล้ว ยังจะต้องเป็นกิจการที่ให้ความสำคัญกับการรับผิดชอบต่อสังคมทั้ง 4 ด้านข้างต้นด้วย
กองทุนรวมคนไทยใจดี ยังเป็นกองทุนรวมกองแรกที่มอบรายได้ในการจัดการกองทุน 40% หรือเทียบเท่า 0.8% ของมูลค่าเงินกองทุน เพื่อสนับสนุนหรือลงทุนในโครงการสาธารณประโยชน์ต่างๆ ซึ่งจะทำให้เงินทุกบาทของผู้ลงทุนมีส่วนร่วมในการสร้างสังคมไทยให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ในการพิจารณาคัดเลือกโครงการต่างๆ ที่จะได้รับการสนับสนุนนั้น จะมีคณะกรรมการพิจารณาโครงการที่เหมาะสม จึงนับเป็นนวัตกรรมใหม่ของการลงทุนที่ผู้ลงทุนเป็นทั้งผู้ให้ และผู้รับ
สำหรับโครงการเพื่อสังคมที่มีโอกาสได้รับเงินทุนสนับสนุนจากกองทุนนี้จะเป็นโครงการที่มุ่งเน้นสร้างอนาคตใหม่ให้สังคมไทยในประเด็นที่มีความสำคัญ เช่น การศึกษา การลดความเหลื่อมล้ำโดยเฉพาะภาคการเกษตร โดยคณะทำงานซึ่งประกอบด้วยสถาบัน ChangeFusion และมูลนิธิเพื่อคนไทย เตรียมข้อมูลโครงการเพื่อสังคมที่ผ่านเกณฑ์แล้ว มานำเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณาโครงการ ซึ่งเป็นบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นที่ยอมรับว่ามีความเข้าใจปัญหาสังคม และมีวิสัยทัศน์ในการแก้ไขปัญหา
กระบวนการเริ่มจากคณะกรรมการพิจารณา โครงการจะประชุมคัดเลือกโครงการที่สมควรได้รับการสนับสนุน รวมทั้งจำนวนเงินและเงื่อนไขการสน้บสนุนของแต่ละโครงการ จากนั้นส่งให้คณะกรรมการอนุมัติเงิน โดยจ่ายผ่านบัญชีมูลนิธิยุวพัฒน์เพื่อโครงการกองทุนรวมคนไทยใจดี ซึ่งทุกโครงการที่ได้รับเงินสนับสนุนจะมีการติดตามรายงานความก้าวหน้าให้นักลงทุนรับทราบในทุกไตรมาส
รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับกองทุน : changefusion.org/bkind/
หลักเกณฑ์ในการพิจารณาสนับสนุนโครงการ :
- มีความเข้าใจสถานการณ์ปัญหามีวิธีการ/กลยุทธ์ในการแก้ปัญหาที่ชัดเจน
- สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่สามารถจับต้องได้ สามารถวัดผลกระทบทางสังคม (Social Impact) ได้อย่างชัดเจน
- มีผลกระทบทางสังคมในอดีตที่เป็นรูปธรรม สามารถต่อยอด ขยายผลกระทบได้ในอนาคต
- มีความน่าเชื่อถือ มีการร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาและดำเนินงานร่วมกัน
- สามารถรายงานผลความคืบหน้าของโครงการ และรายงานทางการเงินได้ตามกำหนด
ทั้งนี้สามารถแบ่งกลยุทธ์ในการสนับสนุนโครงการไว้ 3 ประเภท ดังนี้
- โครงการ Quick win : โครงการที่สร้างการเปลี่ยนแปลงได้ทันที และเห็นผลรวดเร็ว เช่น โครงการ Operation Smile (ผ่าตัดน้องๆ ปากแหว่งเพดานโหว่) โครงการกายอุปกรณ์ (สนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทธ์) เป็นต้น
- โครงการ Leverage : โครงการต่อยอดจากงานเดิม เพื่อขยายผลกระทบได้ในอนาคต เช่น โครงการบ้านพักเยาวชนสตรี โครงการขุดนาแลกป่า เป็นต้น
- โครงการ Platform : โครงการที่สร้างกลไกเชื่อมโยงทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลง เช่น โครงการคนกล้าคืนถิ่น สังคมอยู่ดีกับพลังตาพลเมือง โรงเรียนเยาววิทย์ เป็นต้น
ซึ่งในปี 2558 ที่ผ่านมา กองทุนคนไทยใจดี สนับสนุนเงินให้ทั้งหมด 17 โครงการ ในโครงการที่แก้ปัญหาสังคมในประเด็นที่หลากหลาย เช่น การเกษตร สิ่งแวดล้อม การศึกษา เด็กและเยาวชน ผู้พิการ และการต่อต้านคอรัปชั่น เป็นต้น โดยรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 12,080,022 บาท
ตัวอย่างโครงการที่ได้รับการสนับสนุน
โครงการส่งเสริมสุขภาวะและพัฒนาทักษะชีวิตแรงงานเด็กต่างชาติและเด็กกลุ่มเสี่ยง : ดำเนินการโดยมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.)

สถานการณ์ปัญหา :
แรงงานเด็กต่างชาติและเด็กกลุ่มเสี่ยงยังเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อน ทั้งสภาพชุมชนที่เด็กอาศัยอยู่ โภชนาการและสุขลักษณะ มักถูกปิดบังซ่อนเร้น ทั้งจากผู้จ้างงาน ผู้ปกครอง และตัวเด็กเอง ทําให้การช่วยเหลือจากภายนอกและโครงสร้างรัฐยังคงเข้าไม่ถึง เด็กส่วนใหญ่จึงไม่ได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ไม่สามารถแสดงออกถึงสะท้อนสภาพชีวิตและความต้องการของตนเองต่อสังคม
กลยุทธ์ที่ใช้ในการแก้ปัญหา :
กระตุ้นให้เด็กลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยตนเอง โดยพัฒนาแกนนําเด็กให้ใช้ ‘สื่อสร้างสรรค์’ เป็นเครื่องมือให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ ปกป้องคุ้มครองกลุ่มเพื่อนแรงงาน ตลอดจนเป็นการเตรียมความพร้อมให้เด็กเข้าถึงการศึกษาที่เหมาะสม ทั้งในและนอกระบบ และการฝึกอาชีพอีกด้วย
วิธีการดำเนินงาน :
- จัดกิจกรรมเสริมศักยภาพ สร้างแรงบันดาลใจและส่งเสริมการรวมกลุ่ม Migrant Youth Media
- เด็กดําเนินกระบวนการจัดการความรู้ เปิดพื้นที่และผลิตสื่อส่งเสริมสุขภาวะและทักษะชีวิต
- สร้างการมีส่วนร่วมของเด็กครอบครัว ชุมชน และหน่วยงานโดยเผยแพร่ตัวตนและผลงาน รวบรวมความรู้เป็นชุดประสบการณ์และสรุปบทเรียน
ผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้น :
เด็กต่างชาติกลุ่มเสี่ยง แรงงานเด็กและชุมชนจํานวน 200 คน ได้รับการพัฒนาสุขภาวะและทักษะชีวิตให้ดีขึ้น เกิดกลุ่มแกนนําผู้ปกครอง จํานวน 100 คนและแกนนําเด็กต่างชาติ จํานวน 90 คน ที่มีศักยภาพในการเป็นผู้สื่อสารและมีส่วนร่วมในการส่งเสริมสุขภาวะ ป้องกันไม่ให้ถูกใช้เป็นแรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย และเป็นเหยื่อของกระบวนการค้ามนุษย์
การขยายผลและความยั่งยืน :
เชื่อมโยงเครือข่ายแกนนําเด็กและเยาวชนข้ามชาติ เพิ่มช่องทางการสื่อสาร และจัดกระบวนการเรียนรู้ในชุมชนร่วมกับผู้นําชุมชนและเครือข่ายในการส่งเสริมสุขภาวะที่ดีในระดับชุมชนด้วยตนเอง