knowledge

Digital Content & Media: ออนไลน์อย่างไรให้คนเห็น

7 เมษายน 2018


สรุปเนื้อหาจากเวิร์กช็อปครั้งที่ 5 ‘Digital Content & Media: ออนไลน์อย่างไรให้คนเห็น’ โครงการ The Hero Season 3 โดยคุณวิว ชนัญญา เตชจักรเสนา เจ้าของ Youtube Channel: Point of View และผู้แต่งหนังสือ วรรณคดีไทยไดเจสต์ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2561

บนโลกออนไลน์ แค่เราพิมพ์สเตตัส เราก็เป็นสื่อได้ง่ายๆ แต่ในประเทศที่มีผู้ใช้เฟสบุ๊ก 4.7 ล้านราย (ข้อมูลเดือนมกราคม 2561) เราจะทำยังไงให้มีคนในโลกออนไลน์มาสนใจเรา? เวิร์กช็อปนี้จะชวนคุณมาเรียนรู้หลักการ วิธีการ ตัวอย่างการคิดเนื้อหาและออกแบบ พร้อมทั้งฟังคำแนะนำจากวิทยากร

6 หลักการสร้างพื้นที่ให้กับตัวเองบนโลกออนไลน์ 

1. (ขาย) อะไร

ทุกคนบนโลกออนไลน์กำลังขายอะไรซักอย่างอยู่ แบ่งง่ายๆ ออกเป็น 3 ประเภท

  1. ขายสินค้า เช่น KFC ขายไก่ทอด
  2. ขายพื้นที่สื่อ (สร้างชื่อเสียงให้คนอื่นมาฝากขายของ) เช่น Drama Addict อีเจี๊ยบฯ The Cloud a day
  3. ขายข้อความที่อยากสื่อ ขายข่าวสาร ขายข่าวประชาสัมพันธ์ เช่น DIP WWF ไปรษณีย์ ไทย

ดังนั้น เราจึงต้องรู้ตัวก่อนว่าเราขายอะไร ยกตัวอย่างทีมในโครงการ Hero 3 อย่างโปรเจต์ SMUN Note (สมุดโน๊ตตัวช่วยด้านการจัดการเวลา) ขายสินค้า และ T-Change for Child (ชวนสาธารณะมาร่วมสนับสนุนการศึกษาของน้องๆ บนดอย) เป็นการขายไอเดีย

2. กลุ่มเป้าหมาย

จากนั้นเราจะต้องรู้ว่าใครคือกลุ่มเป้าหมายของเรา โดยไม่ตั้งเป้าหมายให้กว้างเกินไป เช่น หากเราอยากจะหาแฟนซักคนในมหาวิทยาลัย แล้วมีผู้หญิงในโรงอาหารอยู่ 500 คน เราก็น่าจะเลือกจีบแค่บางคนที่เราชอบจริงๆ เพราะถ้าหากเสียเวลาไปทำความรู้จักและจีบทีละคน เราคงเรียนจบก่อนมีแฟน

3. ช่องทาง

หากเราจะขายของให้กับนักศึกษามหาลัย เราก็น่าจะไปฝากข่าวเกี่ยวกับสินค้าของเราตามเพจต่างๆ ของมหาลัยที่มีนักศึกษาติดตามเยอะๆ หรือว่าฝากเพื่อนที่หน้าตาดีซัก 2-3 คนช่วยโพสต์รูปสินค้าเราบนเฟสบุ๊กของพวกเขา

ในโลกออนไลน์มีหลากหลายช่องทางให้เราเลือกสื่อสาร เราควรรู้จักธรรมชาติของช่องทางการสื่อสารของเรา

  • YouTube
    • ข้อเสีย: ใช้เวลามาก หลุดความสนใจได้ง่าย ความดังค่อนข้างจำกัดกลุ่ม
    • ข้อดี: เป็นภาพเคลื่อนไหว มีเสียง มีการแนะนำเนื้อหาอื่น *เนื้อหามันอยู่นานกว่าอันอื่น และคนที่ดู YouTube ตั้งใจเข้ามาเสพสื่อที่ใช้เวลานาน
  • Twitter
    • ข้อดี: ไว การ tag ทำให้คนมีพื้นที่ได้ง่าย
    • ข้อเสีย: มีการจำกัดข้อความที่สั้นมาก ผู้เล่นใหม่ต้องอาศัยเวลาในการทำความเข้าใจแอพนานพอสมควร มีกำแพงในการเข้าสังคม และหากโพสต์ผิดจะกลายเป็นดราม่าได้ไวมาก
  • Instagram
    • ข้อดี: ง่าย ดึงดูดใจคนได้เร็ว เหมาะกับผู้ที่ต้องการขายความสวยความงาม
    • ข้อเสีย: ผู้เล่นดูแค่รูปแต่ไม่สนใจแคปชั่น มีการฝากร้านเยอะ คนที่ติดตามอาจจะไม่ต้องการติดตามจริงๆ
  • Line
    • ข้อดี: ตอบโต้ได้เร็ว เป็น direct message forward ได้ง่าย กระจายได้อย่างกว้างไกล
    • ข้อเสีย: มันไม่ได้ publish ไปสู่สาธารณะ มีคนจำนวนมากที่ไม่อ่านไลน์ ข้อมูลอยู่ได้ไม่นาน รบกวนพื้นที่ส่วนตัว เป็นช่องทางที่วัดผลได้ยาก
  • Website
    • ข้อดี: เปรียบเสมือนบ้านของเรา หากมีแล้วจะทำให้ดูน่าเชื่อถือมากกว่าการใช้ช่องทางอื่น
    • ข้อเสีย: ใช้เวลาหรือทุนในการตั้งและดูแลเยอะ ดึงดูดคนได้ยากต้องอาศัยช่องทางอื่นในการชวนคนเข้ามา
  • Facebook
    • ข้อดี: มีจำนวนผู้ใช้เยอะที่สุด วัดผลง่าย boost โฆษณาได้ เลือกกลุ่มสื่อสารได้ มี insight ให้ทำงานต่อได้ง่ายขึ้น เชิญคนมาเข้ากดไลก์ได้ ครอบคลุมทุกสื่อ (VDO ข้อความ รูปภาพ)
    • ข้อเสีย: แก้ algorithm บ่อย มีข้อมูลไหลเวียนตลอดเวลา ดึงดูดความสนใจยาก

นอกจากข้อดีข้อเสียของแต่ละช่องทางการสื่อสารแล้ว ลองคิดจาก 3 ข้อด้านล่างดูว่าของของเราเหมาะกับช่องทางใดมากที่สุด

  1. กลุ่มเป้าหมายของเราอยู่ที่ไหน ใช้ช่องทางอะไร
  2. รูปแบบของเนื้อหาที่เราอยากประชาสัมพันธ์เป็นแบบไหน เหมาะกับช่องทางอะไร
  3. กำลังคน ยกตัวอย่าง แผนกออนไลน์ของบริษัทโทรคมนาคมแห่งหนึ่งมี 1 ชั้นและมี 1 บริษัทคอยตอบข้อความและดูแลเนื้อหา แล้วเรามีกำลังคนมีมากน้อยแค่ไหน ดูแลอย่างมีคุณภาพได้กี่ช่องทาง

4. กระแส VS Evergreen

ปกติเรามักจะแบ่งเนื้อหาเป็นหมวดหมู่ตามข้อความหรือสารที่ผู้อ่านต้องการ แต่การแบ่งลักษณะของเนื้อหายังมีอีกหนึ่งรูปแบบ นั้นคือการแบ่งว่าคอนเทนต์นั้นๆ เป็นเนื้อหาที่เกาะกระแส หรือ Evergreen

  • กระแส – คอนเทนต์ที่มักจะถูกนำเสนอในรูปแบบของข่าว พูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ ที่เป็นกระแสไวรัล มีความหมายแค่ในช่วงนั้นๆ
    • ข้อดี: ทำได้ง่าย ทำได้เร็ว แชร์ได้เร็ว
    • ข้อเสีย: ต้องไวและเกาะกระแสให้ได้ มาเร็วไปเร็ว มีหลายคนทำแล้วเกิดผลเสียมากกว่าลบ เช่น ประชาสัมพันธ์ รถบัส แต่เกาะกระแสเสือดำ หมดกระแสคนก็ไป ทำแค่กระแสอย่างเดียวไม่ได้ยังไงก็ควรทำ Evergreen ด้วย
  • Evergreen – คอนเทนต์ที่ให้ความรู้ ให้เครื่องมือ เนื้อหาที่ไม่เสื่อมถอยไปตามกาลเวลา มักจะเป็นแนวปรัชญา
    • ข้อดี: เป็นคอนเทนต์ที่น่าสนใจอยู่เสมอไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน ใครจะแชร์อะไรเมื่อไหร่ก็ได้ หากตั้งชื่อได้ดีก็จะมีคนเข้ามาดูเรื่อยๆ ผ่าน search engine ถ้าผลิตออกมาอย่างต่อเนื่องก็จะเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับเรา สามารถเสริม ‘แบรนด์’ ขององค์กร แถมยังทำให้เราดูเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นได้อีกด้วย
    • ข้อเสีย: ใช้เวลาทำนาน อาศัยการค้นคว้า ทำข้อมูลเยอะ และใช้เวลาในการรอดูผลตอบรับ

5. ความต่อเนื่อง

โลกออนไลน์ลืมง่าย ความต่อเนื่องจึงสำคัญมากในการทำให้คนยังเห็นและไม่ลืมเรา เราจะโพสต์อะไรแบบไหนก็ได้แค่ต้องต่อเนื่อง

6. การประเมินผล

โพสต์แล้วดูด้วยว่า reaction คนเป็นยังไง อะไรเวิร์กและไม่เวิร์ก มีคนติดตามมากขึ้นหรือน้อยลง คอยวิเคราะห์ต่อจากข้อมูลที่มี


ข้อเสนอแนะ

  • ดึงความสนใจได้ตั้งแต่วิแรก! ‘The 6 Second Rule’ เป็นกฎการดึงดูความสนใจบน YouTube ที่เริ่มจาก Pre-roll Advertisement ก่อนกด Skip หมายความว่าเรามีเวลา 6 วินาทีเท่านั้นในการดึงความสนใจจากคนดูก่อนที่เขาจะกดข้าม หรือว่าไปดูอย่างอื่น
  • มองอย่างคนทำสื่อ: ฝึกวิเคราะห์เพจอื่นว่าเขาโพสต์ทำไม สิ่งที่เราโพสต์จะเกิดอะไรกับคนอื่น คนจะแชร์คอนเทนต์ของเราเพราะอะไร การแชร์โพสต์ของเราจะทำให้คนอื่นคิดยังไงกับคนนั้น แล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับภาพลักษณ์ของเพจเรา
  • มุมอย่างคนเล่น: อย่าลืมตอนตัวเองเป็นคนเล่น คิดล่วงหน้าเลยว่าคนจะแชร์แล้วจะเขียนแคปชั่นว่าอะไร
  • สุดท้ายแล้วตัวเลขไม่ใช่ทุกอย่าง หากเนื้อหาเรามีคุณค่า มีประโยชน์ โดนใจคนอ่าน ยังไงก็ปัง!

เข้าสู่ระบบด้วย

หรือ