
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ Session “สหกิจ/ฝึกงานอย่างไรให้ Win-Win แชร์ประสบการณ์โครงการ Open Learning : Multi Disciplinary Internship” โดยคุณณัฐพร ไชยสวัสดิ์ เจ้าหน้าที่อาวุโสเพิ่มผลผลิต Academic Contribution Office บริษัท เบทาโกร จำกัด(มหาชน) ในงาน CMIN Big Share ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2561 ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของเครือข่ายอาจารย์ ครู และผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการสนับสนุนนักสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งในบริบทของมหาวิทยาลัย โรงเรียน ภาครัฐ และภาคเอกชน (Changemaker Incubation Network – CMIN)
เชื่อว่าบริษัทเอกชนหลายๆ แหล่งประสบปัญหาเดียวกัน เช่น รับเด็กจบใหม่มาทำงาน แล้วทำงานไม่ได้ในสถานการณ์จริงๆ ยกตัวอย่างเช่น การใช้เครื่องมือวิศวกรรมทั่วๆ ไปที่ควรจะใช้ได้ แต่ใช้ไม่เป็น รู้แต่ทฤษฎี ภาคปฏิบัติทำไม่เป็นเลย ทำงานไป 1-2 เดือน สุดท้ายยังไม่ทันพ้นโปร น้องๆ ลาออก บอกว่างานที่ทำไม่ใช่แนว ทำให้บริษัทสูญเสียทรัพยากร เป็นจำนวนมาก (อย่างน้อยๆ หัวนึงไม่ต่ำกว่า 60,000 บาท สำหรับเงินเดือนที่เสียไป ยังไม่นับเวลาของสต๊าฟที่มาช่วยสอนงาน) ในขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยเริ่มเล็งเห็นปัญหานี้ พยายามจะสอน “ทักษะ” ที่เด็กสามารถนำไปใช้ในการทำงานได้จริงมากขึ้น แต่เพราะ”ทักษะ”เป็นสิ่งที่ต้องฝึกฝนและใช้เวลา ตัวผู้เรียนเองต้องเห็นความสำคัญและเห็นความเชื่อมโยงของสิ่งที่เรียนกับชีวิตจริงให้ได้ด้วย จึงจะมี “แรง”จูงใจ ในการฝึกฝน
Pain เหล่านี้ จึงเป็นที่มาของโครงการ Open Learning ที่บริษัทเบทาโกรเริ่มต้นทำกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นเมื่อ 4 ปีที่แล้ว จากความตั้งใจ 2 อย่าง คือ
อยากให้เด็กได้ทดลองเอาความรู้มาใช้จริงในการทำงานเพื่อที่ว่าพอกลับไปเรียนจะได้รู้ความรู้ไหนในชีวิตที่สำคัญ
อยากให้เด็กค้นพบตัวเองระหว่างทาง
โครงการนี้เปิดโอกาสให้เด็กนักศึกษา ปี 1-2-3 ทุกคณะ คละชั้นปีมาฝึกงานและทำโปรเจกต์แบบ Multi-disciplinary problem based learning เพื่อแก้ไขปัญหาจริงสถานประกอบการเป็นระยะเวลา 2 เดือน โดยตั้ง Criteria ในการสมัครเข้าอย่างเข้มงวด เพราะอยากได้คนที่ตั้งใจมาเรียนรู้จริงๆ น้องๆ จะได้ทำงานให้เห็นโลกความจริง ฝึกหลายทักษะไปพร้อมกันและค้นหาตัวเองไปด้วย ไม่มีข้อจำกัดว่าเด็กคณะไร จะต้องทำงานอะไร ดังนั้นในที่ทำงานเด็กทุกคนต้องกลับมาเรียนใหม่หมด น้องต้องเผชิญทุกอย่างด้วยตัวเองเหมือนเวลาไปฝึกงานจริงตอนทำงาน โดยทางผู้บริหารได้คัดเลือกพนักงานที่มีจิตอาสา รักเด็ก รักการสอน มาเข้าร่วมเป็นพี่เลี้ยงโครงการ มีการฝึก soft skills เช่น coaching, dialogue และ facilitating skill เพื่อเตรียมความพร้อมในการดูแลน้องๆ ล่วงหน้าก่อนหลายเดือน เพราะพี่เลี้ยงถือเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ของเด็กๆ ช่วยตั้งคำถามให้หาคำตอบไปจนถึง Why ไม่ใช่แค่ What/How ดูแลจิตใจ ความเป็นอยู่ สร้างสภาพแวดล้อมให้น้องๆ มีจิตใจที่พร้อมเรียนรู้อยู่เสมอ โมเดลนี้ ได้ผ่านการลองผิดลองถูก ปรับกระบวนการ ขั้นตอนมาเรื่อยๆในแต่ละรุ่น จน ณ ปัจจุบันมหาวิทยาลัยขอนแก่นสามารถนำต่อยอดสร้างความร่วมมือกับสถานประกอบการอื่นๆ ได้ และบริษัทเบทาโกรเองขยายโครงการไปทำกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ เช่นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในรูปแบบที่แตกต่าง เช่น สร้างการมีส่วนร่วมของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยมากขึ้น จนตอนนี้ ได้รูปแบบที่พร้อมจะ Scale ไปยังมหาวิทยาลัยและองค์กรภาคเอกชนอื่นๆได้อีกด้วย
ความท้าทายที่เกิดขึ้นในระหว่างทำโครงการ
ด้วยความที่เป็น Multi-disciplinary ความท้าทายที่เกิดขึ้นเช่น จะทำอย่างไรให้เด็กนักศึกษาปี 3 ที่เรียนและฝึกงานตรงสายตัวเอง(เช่นคณะเกษตร มาฝึกงานอาหารสัตว์) ฟังน้องปี 1 ที่มาฝึกงานไม่ตรงสาย เช่นเด็กบัญชี หรือเศรษฐศาสตร์ เพราชีวิตการทำงานจริง เราต้องเจอคนที่มาจากต่างคณะ ต่างสาขา แต่ละคนมีวิธีคิดไม่เหมือนกัน เห็นความสำคัญไม่เหมือนกัน แต่จะทำงานอย่างไรให้ได้ผลของงานที่ดี
ความแตกต่างของเด็กที่มาฝึกงาน เช่น มีคนหนึ่งขยัน อีกคนขี้เกียจ จะเกลี่ยงานยังไงให้แฟร์ หรือบางกลุ่มกลุ่มที่รักกันมากไปไหนไปกัน อาจจะชีลส่งงานไม่ทัน เป็นต้น
ผลสำเร็จของโครงการที่เกิดขึ้นกับตัวเด็ก คือ
- นักศึกษากลับไปเรียนโดยมี Focus มากขึ้น
- มีคำถามที่แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจมากขึ้น
- มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างพี่น้องสอนกัน
- อาจารย์ได้เคสใหม่ๆ ไปใช้เป็นตัวอย่างในห้องเรียน
- นักศึกษา 20% กลับมาสมัครซํ้า
- ได้เห็นทางเลือกที่มากขึ้นในสาขาอาชีพของตัวเอง
สิ่งที่บริษัทได้รับ
- ได้พนักงานพี่เลี้ยงที่มีทักษะในการสอนงานพนักงานใหม่
- โจทย์ความต้องการถูกแก้โดยอาจารย์และนักศึกษา
- ได้นวัตกรรมใหม่ๆ
- ได้เล็งนักศึกษาที่มีแววตั้งแต่ยังเด็ก(สามารถต่อไป early recruitment program ได้)
- ได้โอกาสที่จะ align ตัวองค์กร เข้ากับนักศึกษาเป้าหมายที่ไม่เคยมองเบทาโกร เป็น destination แรก
ตัวอย่างผลลัพธ์ที่ได้จากโครงการ
Key Success Factor = เด็ก โจทย์ พี่เลี้ยง
- เด็ก การคัดเลือกที่เข้มงวด ด้วยเงื่อนไขเดียว คือ ความตั้งใจ ทีมงานใส่อุปสรรคในการสมัครเข้าไปเยอะๆ ให้เวลาสั้นมาก ใช้คำถามเช็คความตั้งใจอย่างเดียว ฝึกงานให้เงินน้อยกว่าที่อื่น ด้วยความมั่นใจว่า น้องๆจะได้มาเรียนรู้อย่างเต็มที่ เบทาโกรมีระบบการทำงานและการจัดการที่ดี เป็นประโยชน์ ก่อนที่น้องจะเข้าโครงการ จะมีการเทรน soft skills ให้ด้วยโดยพี่เลี้ยง เน้นเรื่องการทำความเข้าใจเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคล สไตล์ของเด็กต่างจังหวัดและกรุงเทพก็แตกต่างกัน องค์กรเองต้องปรับตัวปรับกระบวนการบางอย่างให้เหมาะกับเด็กด้วย
- พี่เลี้ยงที่ดูแลเด็กจะต้องมีใจจริงๆ รักเด็ก ตั้งคำถามเก่ง มีความพร้อมที่จะสละเวลาทำงานส่วนหนึ่งมาช่วยเป็นโค้ชประกบน้องๆ เจอกันทุกวัน หลังๆ มีอาจารย์อาสาเข้ามาประกบเด็กด้วยทุกสัปดาห์ ช่วยกระตุ้นการเรียนรู้และองค์ความรู้ด้านวิชาการ พบว่างานของเด็กก้าวกระโดดขึ้นไปอีกระดับ สร้างนวัตกรรมให้โรงงานนำไปใช้ได้จริง เพราะพี่เลี้ยงช่วงตั้งคำถามในเชิงธุรกิจ ส่วนอาจารย์ ช่วยตั้งคำถามในเชิงวิชาการ เอาทฤษฎีมาผสมผสานกันทำให้เด็กได้ฝึกทั้งทางธุรกิจและเทคโนโลยีไปพร้อมๆ กัน
- โจทย์การเรียนรู้ของเด็กก็สำคัญ จะมีการทำการบ้านจากฝั่งสถานประกอบการก่อนโดยให้เจ้าของพื้นที่ เลือกโจทย์มา เอาโจทย์จริงหน้างานที่มีความท้าทายแต่ไม่ง่ายหรือยากจนเกินไป เช่น productivity การลดต้นทุน เพิ่มยอดขาย แล้วให้น้องๆ เลือกตามความสนใจ
แนวทางในอนาคต
มองว่าเบทาโกรเป็นแค่ไซต์นึงที่ให้น้องๆ มาฝึกงาน และยินดีที่จะแบ่งปันโมเดลเพื่อให้สามารถขยายผลไปยังสถานประกอบการอื่นๆ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/OpenLearningTH/