
Scott Sherman เป็นคนนึงที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับการสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อสังคมเช่นกัน เขาพบว่า บนโลกใบนี้มีคนจำนวนมากที่กำลังทำอะไรซักอย่างเพื่อหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นของสังคมโลก และมีจำนวนไม่น้อยที่ประสบความสำเร็จ บนข้อมูลพื้นฐานนี้เองจึงทำให้เขาตั้งคำถามว่า “คนเหล่านั้นทำอย่างไรจึงสำเร็จ? และมีปัจจัยใดบ้างที่สำคัญ?” เขาคิดว่ามันคงจะมีคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถอธิบายได้และทำให้เขาศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง
จากประวัติศาสตร์ เราพบว่าคนส่วนใหญ่ที่ออกมาต่อสู้มักคนเป็นคนอยากจน ผู้หญิง คนผิวสี หรือเรียกว่าเป็นกลุ่มคนที่ไม่มีอำนาจทางรัฐ และบ่อยครั้งที่ต้องต่อสู่กับอำนาจมากที่สุด เช่น ประธานาธิบดี สภา และบ่อยครั้งที่พวกเขาชนะ มีอีกจำนวนนับไม่ถ้วนที่พ่ายแพ้ ต่อสงครามครั้งนี้ หรือต่อสู้เป็นระยะเวลาและจบด้วยความพ่ายแพ้ ถอดใจ มันทำให้เป็นเรื่องปกติที่คนเราจะคิดว่าคนธรรมดาไม่มีอำนาจที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ แม้กระทั่งนักศึกษาอเมริกายังค่อนข้างเห็นด้วยกับคำกล่าวที่ว่า “Realistically, an individual can do little to bring about major changes in our society.”
Scott เริ่มต้นการศึกษาด้วยการพูดคุยกับนักสร้างการเปลี่ยนแปลงหลายร้อยคน รวมถึงรีวิวกรณีศึกษาจำนวนมาก เขาศึกษาปัจจัยต่างๆ ร่วมกว่าร้อยปัจจัย และค้นพบข้อมูลที่น่าสนใจบางอย่าง ซึ่งนำไปสู่การล้มล้างความเชื่อเดิมๆ ของเขาทั้งหมดเกี่ยวกับปัจจัยที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการสร้างการเปลี่ยนแปลง เช่น เขาถูกสอนว่าการบังคับใช้กฎหมายเป็นสิ่งที่ทำแล้วได้ผล แต่ผลการศึกษาเปิดเผยว่าไม่จริง แต่ในความเป็นจริงกลับพบว่ากลยุทธที่เป็นไปตามกฎหมายหรือการดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายนั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวเนื่องกับความล้มเหลว คนกลุ่มนั้นเกือบจะแพ้ทั้งหมดในศาล สิ่งนี้อาจจะไม่ได้น่าประหลาดใจเสียทีเดียว และอาจจะคาดเดาไว้ด้วยซ้ำ หากพิจารณาถึงค่าใช้จ่ายในการจ้างทนายหรือดำเนินการตามกฎหมาย คนยากจนก็อาจจะสู้ไม่ไหว และหลายๆ ครั้ง การว่าจ้างทนายก็ทำให้รู้สึกว่าอำนาจต่างๆ ไม่ได้อยู่ในมือของคนที่ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงเอง และสิ่งที่แย่ไปกว่านั้น คือ กฎหมายกลับเป็นตัวทำให้เกิดการแบ่งแยกมากขึ้น
Transformative action คืออะไร
Transformative action เป็นทฤษฎีที่ Scott สร้างขึ้นจากการตั้งคำถามว่า ถ้าคนเราในฐานะประชากรคนหนึ่งจะลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลง จะสามารถทำได้อย่างไร โดยเขาได้ศึกษากรณีตัวอย่างจากคนหลายๆ คน ที่ลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลงได้สำเร็จ และสกัดออกมาเป็นโมเดลการแก้ปัญหาแบบใหม่ว่าด้วยแนวทาง 3 ข้อที่ทำให้พวกเขาเหล่านั้นสำเร็จ นั่นก็คือ
1. Shine a light
แนวทางแรกของ transformative action คือ การทำให้ความไม่ชอบธรรมถูกมองเห็นจากสังคม
ตัวอย่างเช่น ถ้ามีการทิ้งขยะบนถนนอยู่เป็นประจำจนถนนสกปรกมาก ก็ต้องทำให้คนอื่นๆ รู้ว่ามีการกระทำผิดเช่นนี้เกิดขึ้น เหมือนกับฉายสปอตไลท์ไปที่การกระทำนั้น เพราะหลังจากที่การกระทำที่ไม่ถูกต้องได้รับการมองเห็นจากคนอื่นๆ แล้ว จะมีคนจำนวนมากขึ้นที่อยากจะยื่นมือมาช่วยแก้ไขปัญหาหรือจัดการกับปัญหานั้น
หลายๆครั้ง ที่การทำไม่ดี หรือไม่ถูกต้อง มักถูกทำแบบลับๆ หรือถูกปกปิด ดังนั้นเราจึงควรพยายามสอดส่องและสะท้อนให้คนในสังคมมองเห็นปัญหานั้นมากขึ้น เช่น ถ้าหากมีโรงงานแอบปล่อยสารพิษหรือสารเคมีลงสู่แหล่งน้ำหรือในอากาศ เพราะไม่ต้องการลงทุนกับเทคโนโลยีการจัดการของเสียเหล่านั้น และรู้ว่ารัฐบาลปล่อยปละละเลย ไม่จัดการอย่างเข้มงวด และอาจจะนำไปสู่การไม่ได้รับบทลงโทษจากการกระทำนี้ แต่ถ้าวันนึงเรื่องนี้แดงขึ้นมาและมีคนเห็นปัญหานี้มากขึ้น โรงงานจะกลายเป็นเป้าสังคม และถูกกดดันให้รับผิดชอบต่อการกระทำนี้ ดังนั้นปัญหานี้ก็จะถูกแก้ไขไปในที่สุด
2. Social aikido
แนวทางที่สองคือ Social aikido หรือวิทยาศาสตร์ของการเปลี่ยนสิ่งแง่ลบให้เป็นสิ่งแง่บวก เช่นเดียวกับศิลปะการต่อสู้แบบไอคิโด (aikido) ที่มีหลักการ คือ การเปลี่ยนจุดแข็งของคู่ต่อสู้ให้กลายเป็นข้อได้เปรียบของคุณ แนวทางข้อนี้อยู่บนพื้นฐานของจิตวิทยาเชิงบวก ที่เชื่อว่า โดยพื้นฐานแล้ว มนุษย์ทุกคนเป็นคนดีและต้องการได้รับสิ่งดีๆ ซึ่งนำไปสู่ ลักษณะเฉพาะของความเป็นมนุษย์ต่างๆ เช่น ความกล้าหาญ ความรัก ความเมตตา เป็นต้น ดังนั้นกฎข้อนี้จึงหมายถึงการเปลี่ยนศัตรูให้มาเป็นฝ่ายเดียวกับเราและเปลี่ยนความเกลียดชังมาสู่ความปรารถนาดี แทนที่จะต่อสู้กับอำนาจ หรือพยายามห้ำหั่นฝ่ายตรงข้ามให้พ่ายแพ้ ก็ปรับเป็นการยกระดับอำนาจเพื่อทำให้เกิดความร่วมมือกันแก้ปัญหา ตามที่ประธานธิบดีลินคอล์นเคยกล่าวว่า “ให้เปลี่ยนศัตรูมาเป็นมิตร” นั่นเอง
การต่อสู้ด้วยความเกลียดชัง และความโกรธมักจะนำไปสู่การเพิ่มทวีความรุนแรงของปัญหา เรามักจะพยายามทุกวิธีทางเพื่อเอาชนะอีกฝ่ายนึง และสิ่งนี้ต้องใช้ พลังงาน เวลาและทรัพยากรไปกับฝ่ายตรงข้ามเยอะกว่าที่ใช้กับการแก้ปัญหาเสียอีก และผลที่ได้ก็คือ ฝ่ายที่แพ้ก็จะรู้สึกแย่และรอคอยเวลาล้างแค้นเอาคืน แต่ถ้าหากเปลี่ยนจาก “คุณ vs ฉัน” มาเป็น “คุณและฉันพวกเรามาทำงานร่วมกัน” เพื่อต่อสู้กับปัญหาที่เรามีร่วมกัน ก็จะเป็นการใช้พลังงานของทั้งสองฝ่ายไปกับการช่วยกันแก้ปัญหา
3. Constructive program
แนวทางที่ 3 คือ constructive program หรือหาทางเลือกสร้างสรรค์เพื่อมุ่งไปสู่ภาพของอนาคตที่ดีขึ้น Constructive program เป็นวิธีการที่ต้องคิดในเชิงบวก เพื่อสร้างเป้าหมายที่สร้างสรรค์ที่จะนำไปสู่การสร้างอนาคตที่ดีขึ้น โดยอาจจะจินตนาการถึงสังคมอุดมคติเลยก็เป็นได้
วิธีการแบบเดิมๆ มักจะใช้ไม่ได้ผลหรือขาดประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง เช่น การประท้วง แม้จะเป็นวิธีการที่ไม่ใช้ความรุนแรง แต่ไม่ใช่วิธีการที่มีประสิทธิภาพ เพราะไม่ได้นำไปสู่การแก้ปัญหา แต่แค่ชี้ไปที่ปัญหาเท่านั้น Sharif Abdullah นักเคลื่อนไหวทางสังคมท่านนึงเคยกล่าวไว้ว่า ถ้าเกิดเขาต้องการคุกกี้ที่ดี เขาคงไม่ออกไปประท้วงโรงงานที่ผลิตคุกกี้ที่ไม่อร่อย แต่เขาคงจะค้นหาสูตรและก็ทดลองทำคุกกี้ที่คิดว่าจะดีนั้นเอง เช่นเดียวกัน คนเราถ้าอยากเห็นสังคมที่ดีขึ้น การออกไปประท้วงเป็นวิธีการที่นำไปสู่สิ่งที่ต้องการได้น้อยมาก แต่มันอาจจะดีกว่า เร็วกว่า และเป็นจริงได้มากกว่าที่จะสร้างสังคมใหม่ที่ต้องการจะเห็นขึ้นมาเอง ซึ่งสอดคล้องกับที่ Buckminster Fuller เคยกล่าวไว้ว่า เราไม่สามารถเปลี่ยนสิ่งต่างๆ ได้ด้วยการต่อสู้กับสิ่งเดิมๆ แต่ถ้าจะเปลี่ยนได้ ต้องสร้างโมเดลใหม่ที่จะทำให้ระบบเดิมหรือสิ่งเดิมๆ ล้าหลังไปในที่สุด ดังนั้นในปัจจุบัน จึงสามารถเห็นกลุ่มคนที่รวมตัวกันเพื่อสร้างทางเลือกของการแก้ปัญหาแบบใหม่ และ Social entrepreneur หรือผู้ประกอบการสังคมก็ถือว่าเป็นหนึ่งในแนวทางนี้ แทนที่จะทำธุรกิจเพียงเพื่อกำไรเพียงอย่างไรเดียว แต่ผู้ประกอบการสังคมรวมตัวกันและใช้ความเชี่ยวชาญที่มีเพื่อมุ่งแก้ปัญหาสังคม จึงเปรียบเสมือนว่าพวกเขาสร้างองค์กรเพื่อให้เกิดอำนาจในมือเขาเองที่จะสามารถสร้างอนาคตที่ดีได้
โดยสรุป วิธีการแบบเดิม และวิธีการตามหลัก Transformative Action มีลักษณะสำคัญที่แตกต่างกันดังนี้
วิธีการแบบเดิม | วิธีการแบบ transformative action |
กลยุทธแบบ แพ้/ชนะ | กลยุทธแบบ ชนะ/ชนะ |
แข่งขันกัน (You vs Me) | ร่วมมือกัน (You and Me, together) |
ถูกกระตุ้นด้วยความโกรธและความเกลียด | ถูกกระตุ้นด้วยความปรารถนาดีและความเคารพกันและกัน |
โฟกัสที่อดีต : ประท้วงกับสิ่งที่ไม่ถูกต้อง | โฟกัสที่อนาคต: เสนอทางเลือกที่ดีกว่า |
จากแนวทาง 3 ทั้งข้อของการสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อสังคม Scott ยังนำ transformative action มาปรับเป็นแนวทางในการสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อตนเองโดยอาศัยหลักจิตวิทยาเชิงบวกและมีแนวทาง 3 ขั้นเช่นเดียวกัน ได้แก่
1. สังเกตและหาสาเหตุของความทุกข์ของตนเองให้เจอ เช่นเดียวกันปัญหาสังคมที่พวกเราต้องพยายามสะท้อนให้คนส่วนใหญ่เห็น ปัญหา ความทุกข์และความต้องการลึกๆ ในใจเราก็เช่นเดียวกัน
2. เปลี่ยนความขัดแย้งในใจ และยอมรับมัน เช่นเดียวกับ social aikido ที่เปลี่ยนศัตรูให้กลายเป็นมิตร เราก็สามารถเปลี่ยนความทุกข์ ความขัดแย้งในตัวเอง ด้วยการยอมรับมัน และสร้างความเข้าใจในตัวเองเพื่อให้เติบโตต่อไปได้
3. ออกแบบแผนชีวิต ลองใช้ชีวิตในแบบที่มีความหมายต่อตัวคุณ ตั้งเป้าหมายสำหรับการเปลี่ยนแปลงความท้าทายในชีวิตของตนเอง
โมเดล Transformative Action ของ Scott นี้นอกจากจะเป็นศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงสังคมและตนเองโดยอาศัยวิธีการสันติ เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายที่ดีขึ้นแล้ว ยังทำให้เห็นว่าการสร้างการเปลี่ยนแปลงแม้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็สามารถทำได้และเริ่มต้นได้ที่ตัวคุณเอง
Ref:
http://transformativeaction.org/
Scott Sherman: How We Win: The Science of Solving Society’s Problems
เขียนและเรียบเรียงโดย