knowledge

[Tool] ตั้งโจทย์ปัญหาให้ถูกต้องด้วยเครื่องมือ Problem Situation

6 มิถุนายน 2019


, , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , ,
, , ,
หัวใจของการแก้ปัญหาที่แท้จริงคือ “การตั้งโจทย์ที่ถูกต้อง” เราจึงควรทำความเข้าใจปัญหาและกลุ่มเป้าหมายให้มากพอและดีพอ เพราะบางปัญหา (ที่เราคิดว่าเป็นปัญหา) อาจไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้มส่วนได้ส่วนเสีย และบางความต้องการ (ที่เราคิดว่าเขาต้องการ) ก็อาจไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการเช่นกัน และหลายครั้งการแก้ไขแบบไม่ถูกทาง นอกจากจะไม่สร้างผลกระทบในทางบวกแล้ว ก็อาจทำให้ปัญหานั้นหนักขึ้นไปอีก
 
เครื่องมือ Problem Situation นี้ จะช่วยให้เราสำรวจความเข้าใจที่เรามีต่อสถานการณ์ของปัญหาตามความเป็นจริงในปัจจุบัน เป็นการตอบคำถามเพื่อใช้เป็นข้อมูลตั้งต้นว่าเราควรจะรู้ข้อมูลอะไรเพิ่ม หรือต้องตรวจสอบข้อมูลอะไรบ้างที่อาจเกิดจากความเข้าใจของเราเอง และใช้สำหรับการวิเคราะห์หาโอกาสในการแก้ไขปัญหาต่อไป

ข้อดีของการทำ Problem Situation

  • ช่วยให้เราตรวจสอบความเข้าใจที่มีต่อปัญหา จะได้ไม่หลงทาง ไม่เสียเวลา และไม่เสียทรัพยากรไปโดยเปล่าประโยชน์ เมื่อได้ทำความเข้าใจแบบ ‘ไม่คิดไปเอง’
  • ข้อมูลใดที่ไม่รู้ หรือไม่แน่ใจ เปิดโอกาสให้เราเข้าไป empathize (เข้าอกเข้าใจ) ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในปัญหานั้นๆ เพิ่มเติม
  • เห็นความเป็นมาของปัญหา บุคคล หน่วยงาน หรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง ที่อาจจะเป็นแหล่งข้อมูล หรือเป็นพาร์ทเน่อ ที่สามารถทำงานร่วมกันได้ในอนาคต

การเตรียมตัว

  • ดาวน์โหลดฟอร์ม Problem Situation จาก Problem Situation Worksheet หรือใช้กระดาษ A4, A3 วาดแบ่งช่องสี่เหลี่ยมออกเป็น 6 ช่อง ตามตัวอย่างจากรูปภาพ Problem Situation Worksheet
  • อุปกรณ์เครื่องเขียน ปากกา ดินสอ สีไม้หรือปากกาเมจิกสี
Problem Situation Worksheet

 

 

Let’s do it (10 – 15 นาที)
 
Step 1 ปัญหาคืออะไร (What)
ระบุปัญหา หรือ ‘อาการ’ ของปัญหาที่เราสนใจด้วยประโยคเดียว เขียนแล้วเห็นภาพของปัญหาชัดเจน ไม่เขียนกว้างมากจนเกินไป หากเขียนออกมาได้เป็นคำอธิบายและมีหลายประเด็นย่อย อาจจะต้องเลือกประเด็นที่สนใจมากที่สุดมาเป็นตัวตั้งต้น

ตัวอย่าง
  •  ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นอายุระหว่าง 15 – 19 ปี
คำแนะนำ หากไม่สามารถระบุเป็นประโยคที่อธิบายปัญหาแล้วเข้าใจเห็นภาพได้ ลองตั้งคำถามกับตนเองว่าเราสนใจอะไร แง่มุมไหน หรือคนกลุ่มไหนในปัญหานั้นเป็นพิเศษ เช่น เดิมเราสนใจปัญหาการศึกษา และมีกลุ่มคนที่เราสนใจเป็นพิเศษคือกลุ่มเด็กมหาวิทยาลัย ดังนั้นปัญหาที่สนใจอาจเป็นปัญหาการศึกษาที่เกิดขึ้นกับเด็กมหาวิทยาลัย เช่น ปัญหาการปรับตัวเรื่องการเรียนและการใช้ชีวิตในช่วงมหาวิทยาลัยของเด็กปี 1, ปัญหาความเครียดจากการเรียนของนักศึกษาแพทย์, ปัญหานักศึกษาขาดเป้าหมายในการเรียน เป็นต้น

 


Step 2 ผลกระทบที่เกิดจากปัญหานี้ (Effect)  
ระบุผลกระทบที่เกิดจากปัญหาในขั้นตอนที่ 1 เนื่องจากปัญหาสังคมเป็นปัญหาที่คนจำนวนหนึ่งในสังคมได้รับผลกระทบ ดังนั้นผลกระทบที่เกิดขึ้นจึงเป็นวงกว้าง หลายคนหรือทุกคนได้รับผลกระทบร่วมกัน รวมทั้งสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่บนโลกและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้รวมไปถึงผลกระทบในอนาคตที่จะเกิดขึ้นหากปัญหานี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข

ตัวอย่าง
  • ผลกระทบของปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นอายุระหว่าง 15 – 19 ปี
    • แม่วัยใส ส่วนใหญ่ต้องหยุดเรียนและต้องใช้เวลาดูแลลูก ทำให้ลดโอกาสด้านการศึกษาและยังพบปัญหาด้านสุขภาพจิตจากความเครียดทั้งด้านร่างกายและจิตใจ หลายรายที่ตัดสินทำแท้งพบปัญหาสถานที่ให้บริการจำกัด ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงมาก หรือบางแห่งไม่ได้มาตรฐาน ทำให้เกิดปัญหาแทรกซ้อนจนถึงแก่ชีวิต
    • ลูกที่เกิดจากแม่วัยใส มีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพมากมาย ไม่ว่าจะอัตราตายของทารกสูงขึ้น น้ำหนักแรกเกิดต่ำ โลหิตจาง ภาวะทุพโภชนาการในช่วงที่อยู่ในครรภ์และหลังคลอด ได้รับนมแม่น้อยกว่ามาตรฐาน สภาพที่อยู่อาศัยไม่ดี มีแนวโน้มเจ็บป่วยมากกว่า มีพัฒนาการล่าช้า มีปัญหาเชิงพฤติกรรม (ซึ่งมีแนวโน้มจะสร้างปัญหาให้กับสังคม เช่น ความรุนแรง อาชญากรรม) รวมถึงปัญหาอื่นๆ ตามมามากมายเมื่ออายุมากขึ้น
    • สังคม ประสบปัญหาในการช่วยเหลือวัยรุ่นตั้งครรภ์ เช่น บริการฝากครรภ์ที่เพิ่มขึ้น บริการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ค่อยมีหน่วยงานทางสาธารณสุขอยากทำ ต้องรับภาระเป็นครอบครัวบุญธรรม ซึ่งรวมถึงการเสียงบประมาณในการจัดบริการสงเคราะห์แก่ทั้งแม่และทารก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสงเคราะห์ดูแลทารกที่ถูกทอดทิ้ง
    • ประเทศไทยเผชิญภาวะ ‘เกิดน้อยด้อยคุณภาพ’ ปัจจุบันประเทศไทยมีอัตราการแต่งงานและคลอดบุตรของหญิงวัยทำงานลดลง สวนทางกับจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้นปัญหาแม่วัยรุ่นกำลังทำให้ประเทศไทยที่เด็กเกิดน้อยลงอยู่แล้วแย่ลง เพราะเด็กที่เกิดมาเป็นประชากรที่ด้อยคุณภาพ จากความไม่พร้อมในการเลี้ยงดูบุตร ซึ่งหากปัญหาดังกล่าวหากยังไม่ถูกแก้ไขโดยเร็ว จะสร้างผลกระทบรุนแรงต่อสังคมและเศรษฐกิจเป็นลูกโซ่

Step 3 ที่มาของปัญหา (Why) 
วิเคราะห์หาสาเหตุหรือรากของปัญหาว่าจากอาการของปัญหาที่เราเห็นในแต่ละอาการ น่าจะมีสาเหตุมาจากอะไร โดยตั้งคำถามว่า ‘ทำไม’ จึงเกิดเหตุการณ์นี้ แล้วเขียนสาเหตุที่เราคิดว่าทำให้เกิดสถานการณ์นี้ใต้อาการ และเมื่อระบุได้ก็ให้ถามอีกว่าอะไรทำให้เกิดเหตุการณ์นี้ และถามไปเรื่อยๆ จนเราตอบไม่ได้ หรือเมื่อได้ซ้ำกับที่ตอบไปแล้ว  ซึ่งเราอาจได้มากกว่า 1 สาเหตุในแต่ละครั้ง ให้ไล่หาสาเหตุไปทีละรากจนครบ

ตัวอย่าง
  • วิเคราะห์ที่มาของปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นอายุระหว่าง 15 – 19 ปี
รากที่ 1 สาเหตุตั้งต้นคือเพราะไม่มีการป้องกันเมื่อมีเพศสัมพันธ์

1. ‘ทำไม’ เด็กวัยรุ่นอายุ 15-19 ปีถึงตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร?
สาเหตุคือ เพราะไม่มีการป้องกันเมื่อมีเพศสัมพันธ์

2. ‘ทำไม’ เด็กวัยรุ่นอายุ 15-19 ปีถึงไม่มีการป้องกันเมื่อมีเพศสัมพันธ?
สาเหตุคือ มีความคิดและความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์ เนื่องจากข้อมูลที่เด็กได้ความรู้ คำแนะนำ และวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับเพศส่วนมากมาจากเพื่อนและอินเตอร์เน็ต

3. ‘ทำไม’ เด็กเลือกถามจากเพื่อนหรือใช้อินเตอร์เน็ตเป็นแหล่งความรู้ คำแนะนำ และวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับเพศ?
สาเหตุคือ เพราะเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ง่ายต่อการเข้าถึง นอกจากนี้การพูดคุยหรือถามเรื่องเพศกับผู้ใหญ่เป็นเรื่องยาก อาจถูกมองเป็นเด็กไม่ดี และจะถูกเพ่งเล็งหรือลงโทษ

4. ‘ทำไม’ การพูดคุยหรือถามเรื่องเพศกับผู้ใหญ่เป็นเรื่องยาก?
สาเหตุคือ เพราะเด็กกลัวถูกมองเป็นเด็กไม่ดี และจะถูกเพ่งเล็งหรือถูกลงโทษ เนื่องจากสังคมไทยโดยส่วนใหญ่ตัดสินเรื่องเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่นเป็นเรื่องต้องห้าม และพยายามปิดบัง

รากที่ 2 สาเหตุตั้งต้นคือเพราะไม่มีช่องทางสอนวิธีการป้องกันอย่างถูกต้อง

1. ‘ทำไม’ เด็กวัยรุ่นอายุ 15-19 ปีถึงตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร?
สาเหตุคือ ไม่มีช่องทางสอนวิธีการป้องกันอย่างถูกต้อง

 

2. ‘ทำไม’ ถึงไม่มีช่องทางสอนวิธีการป้องกันอย่างถูกต้อง?
สาเหตุคือ เพราะโรงเรียนส่วนมากไม่มีการสอนเรื่องเพศสัมพันธ์อย่างจริงจังให้วัยรุ่นได้เตรียมตัวและนำไปใช้ในชีวิตจริง

3. ‘ทำไม’ โรงเรียนส่วนมากไม่มีการสอนเรื่องเพศสัมพันธ์อย่างจริงจังให้วัยรุ่นได้เตรียมตัวและนำไปใช้ในชีวิตจริง?
สาเหตุคือ เพราะบางโรงเรียนสอนเพียงเพื่อให้นักเรียนได้ท่องไปสอบเท่านั้น

4. ‘ทำไม’ โรงเรียนสอนเพียงเพื่อให้นักเรียนได้ท่องไปสอบเท่านั้น?
สาเหตุคือ เพราะสังคมไทยสังคมไทยโดยส่วนใหญ่ตัดสินเรื่องเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่นเป็นเรื่องต้องห้าม และพยายามปิดบัง การสอนเรื่องเพศแบบตรงไปตรงมาอาจเป็นการชี้โพรงให้กระรอก

คำแนะนำ  การตอบคำถาม ‘ทำไม’ เพื่อหาสาเหตุไปเรื่อยๆ นั้น อาจเกิดความเสี่ยงที่ว่าสาเหตุที่ได้ไม่ใช่สาเหตุจริงๆ ของปัญหา ดังนั้นในขณะที่เขียนควรพิจารณาคำตอบว่ามาจากประสบการณ์และความความเข้าใจของเราที่คิดเอาเอง หรือจากสถานการณ์ปัญหานั้นจริงๆ เราอาจเขียนข้อสังเกตุหรือทำสัญลักษณ์ (?) ไว้กับบางสาเหตุที่เราไม่มั่นใจ หรือไม่รู้คำตอบ เพื่อเก็บไปค้นคว้าหรือสัมภาษณ์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเพิ่มเติม เพื่อเป็นการยืนยันความถูกต้องของสาเหตุและตอบคำถามที่เรายังตอบไม่ได้


Step 4 ใครเกี่ยวข้องกับปัญหานี้บ้าง (Who)
ระบุผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาทั้งหมดโดยเริ่มจากการระบุ ผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาโดยตรงและโดยอ้อม ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของทีมและสถานการณ์ปัญหานั้นๆ จากนั้นระบุผู้ที่กำลังพยายามแก้ไขปัญหานี้อยู่ มีองค์กรหรือใครบ้าง และเขาแก้ไขปัญหาด้วยวิธีใด ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ นอกจากนี้แล้วยังมีใครเกี่ยวข้องกับปัญหานี้อีกบ้าง

ตัวอย่าง
ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นอายุระหว่าง 15 – 19 ปี
  • ใครเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาโดยตรง? เช่น แม่วัยใส
  • ใครเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาโดยอ้อม? เช่น ลูกในท้องแม่วัยใส ผู้ปกครองของแม่วัยใส เด็กผู้ชายวัยรุ่นที่เป็นพ่อ (พ่อวัยใส)
  • มีใครหรือองค์กรใดบ้างที่กำลังพยายามแก้ไขปัญหานี้อยู่? เช่น รายการ sexpert fammily รายการโทรทัศน์ในรูปแบบเกมส์โชว์เพื่อให้ครอบครัวได้คุยเรื่องเพศ, จูดี้ (JUDIES) เกมเพื่อการศึกษาที่ให้ความรู้เรื่องการป้องกันปัญหาต่างๆ จากการมีเซ็กส์ของวัยรุ่น
  • มีใครหรือองค์กรใดที่มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหานี้อีกบ้าง? เช่น คุณหมอคลีนิครับฝากครรภ์ คุณครู ผู้ปกครองของพ่อวัยใส ร้านขายยาหรือโรงพยาบาล

คำแนะนำ การเขียนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาทั้งหมดเป็นโอกาสในการทำความรู้จักการมีอยู่ของบุคคล องค์กรหรือหน่วยงานที่ในอนาคตเราอาจจะต้องทำงานด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขอเก็บข้อมูลเพื่อหาสาเหตุของปัญหาที่เราไม่มั่นใจหรือไม่รู้คำตอบ หรือการขอความร่วมมือเพื่อช่วยแก้ไขปัญหา และอื่นๆ


Step 5 ปัญหานี้เกิดขึ้นที่ใด (Whare)
ระบุพื้นที่ที่ปัญหาเกิดขึ้นให้เฉพาะเจาะจงที่สุด การระบุพื้นที่ชัดเจนจะทำให้เราเก็บมูลได้ลงลึกและตรงกับบริบทของพื้นที่ที่เราสนใจ แต่หากเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทุกที่ ในช่วงเริ่มต้นเราอาจจะตัดสินใจเลือกพื้นที่ได้จาก

1. เป็นพื้นที่ที่เราสนใจอยากลงไปแก้ปัญหา

2. เป็นพื้นที่ที่ใกล้ตัว อาจเพราะเราเองเป็นหนึ่งในผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

3. เป็นพื้นที่ที่ความรุนแรงของปัญหาเข้มข้นต้องการแก้ไขเร่งด่วน

ตัวอย่าง
ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นอายุระหว่าง 15 – 19 ปี เกิดขึ้นที่ อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี (เลือกจากเหตุผลเป็นพื้นที่ที่ความรุนแรงของปัญหาเข้มข้นต้องการแก้ไขเร่งด่วน ข้อมูลจากสถิติการคลอดของวัยรุ่นในประเทศไทยพบว่ามีอัตราการคลอดในวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี จำนวนมากที่สุดอยู่ที่จังหวัดชลบุรี)

 


Step 6 ปัญหานี้เกิดขึ้นมานานเท่าใด (When) 
ระบุระยะเวลาหรือจุดเปลี่ยนที่ปัญหาเกิดขึ้น ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อไหร่ มีจุดเปลี่ยนหรือเหตุการณ์เกิดขึ้นในช่วงใดที่ทำให้เกิดปัญหาหรือเพิ่มความรุนแรงให้กับปัญหา เช่น การออกกฏหมายหรือเปลี่ยนกฏบางอย่างที่ทำให้เป็นจุดเริ่มต้นของปัญหา, ปีพ.ศ. ที่ปัญหานั้นมีขนาดความรุนแรงสูงสุด เป็นต้น

ตัวอย่าง
ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นอายุระหว่าง 15 – 19 ปี มีมาตั้งแต่ช่วงปี 2546 เป็นต้นมา จากข้อมูลของกรมอนามัยแสดงให้เห็นว่ามีการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเมื่อปี 2555  มีจำนวนหญิงวัยรุ่นอายุระหว่าง 10-19 ปี คลอดบุตรสูงถึง 132,203 คน

ตัวอย่าง Problem Situation

หมายเหตุ: ข้อมูลปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นที่นำมาใช้เป็นตัวอย่างของบทความนี้อ้างอิงจาก Problem Insight: การตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น 


Problem Situation เป็นเพียงเครื่องมือที่ช่วยสำรวจความเข้าใจที่เรามีต่อสถานการณ์ของปัญหาในเบื้องต้น อาจจะมีคำถามบางข้อที่เรายังไม่สามารถให้คำตอบได้ แต่เป็นโอกาสให้เราได้ออกไปหาคำตอบหวังว่าเมื่อทำเสร็จแล้วทุกคนจะเกิดข้อสงสัยในความเข้าใจสถานการณ์ปัญหาของตนเองบางอย่าง และอยากออกไปสัมภาษณ์หรือหาข้อมูลเพิ่มซึ่งจะเชื่อมโยงไปถึงเครื่องมือถัดไปคือการวางแผนเก็บข้อมูล Problem Research Planning หากมีคำถามหรือข้อสงสัย หรือกลับไปทำ Problem Situation ตนเองแล้วต้องการให้ทีมงานช่วยดู สามารถติดต่อมาได้ที่ [email protected]

เริ่มต้นพัฒนาไอเดียในการแก้ไขปัญหาสังคมต่อด้วย Changemakers Toolkit Module 1 ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่นี่ค่ะ


เข้าสู่ระบบด้วย

หรือ