knowledge

[Tools] Problem Research Planning

23 มิถุนายน 2019


, , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , ,
หลังจากผ่านการทำเครื่องมือ Problem Situation มาแล้ว เราจะเห็นว่ามีข้อมูลที่เราไม่รู้หรือตอบไม่ได้ ไม่แน่ใจและต้องการการยืนยันอยู่จำนวนหนึ่งที่เราต้องหาข้อมูลศึกษาเพิ่ม ทั้งนี้ขั้นตอนซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการเก็บข้อมูลเพิ่มเติม คือการวางแผน ว่าเราอยากรู้เรื่องอะไร เราจะหาข้อมูลได้จากใครหรือองค์กรใด จะออกแบบขั้นตอนและวิธีการเก็บอย่างไร รวมทั้งการตั้งประเด็นและตั้งคำถาม เป็นต้น เครื่องมือ Problem Research Planning เป็นตารางตัวอย่างการวางแผนเพื่อเก็บข้อมูล ผู้ที่ใช้งานสามารถนำไปดัดแปลงช่องตารางให้เหมาะสมกับการใช้งาน ข้อมูลที่อยากรู้เพิ่มเติม โดยการใช้งานจะแบ่งตาม ‘สิ่งที่เราอยากรู้’ หรือข้อเท็จจริงของปัญหา เพื่อเป็นการยืนยันความถูกต้องและตอบคำถามที่เรายังตอบไม่ได้จากการทำ Problem Situation เช่น ตัวอย่างจากรูปด้านล่างนี้
ตัวอย่าง Problem Situation
ในเครื่องมือนี้เราแบ่งวิธีการหาคำตอบเป็น 2 แบบ ได้แก่ 1. แหล่งข้อมูลทุติยภูมิ (Secondary Source) ข้อมูลที่ถูกรวบรวมไว้แล้วจากสำนักงานหรือหน่วยงานที่ทำหน้าที่เก็บและเผยแพร่ข้อมูล ค้นหาผ่านทางอินเตอร์เน็ตหรืออื่นๆ เช่น รายงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง งานวิจัย หนังสือพิมพ์ วารสาร เป็นต้น 2. แหล่งข้อมูลปฐมภูมิ (Primary Source) ข้อมูลที่เราต้องเป็นผู้เก็บรวบรวมด้วยตนเอง ผ่านการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่าง แบบสอบถาม ทำการทดลอง หรือการสังเกตการณ์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับปัญหา จากนั้นนำไปวิเคราะห์ สังเคราะห์ ทำให้ได้มาซึ่งข้อมูลเชิงลึกที่ไม่มีรวบรวมไว้บนอินเตอร์เน็ตหรืออื่นๆ การเตรียมตัว
  • ดาวน์โหลดฟอร์ม Problem Reseach Planning จาก Problem Reseach Planning Worksheet หรือใช้กระดาษ A4, A3 วาดแบ่งช่องสี่เหลี่ยมออกเป็น 6 ช่อง ตามตัวอย่างจากรูปภาพ Problem Reseach Planning Worksheet
  • อุปกรณ์เครื่องเขียน ปากกา ดินสอ สีไม้หรือปากกาเมจิกสี
Problem Reseach Planning Worksheet​
Let’s do it (10-15 นาที) Step 1 วางแผนค้นหาข้อมูลที่รวบรวมไว้แล้ว สำหรับช่องนี้เป็นการวางแผนค้นหาข้อมูลทั่วไป ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีผู้อื่นหรือหน่วยงานอื่นๆ ทำการเก็บรวบรวมไว้แล้ว โดยสามารถหาได้จากแหล่งอ้างอิงทางอินเตอร์เน็ตหรืออื่นๆ เช่น รายงานสถานการณ์ของหน่วยงานของรัฐบาล สมาคม บริษัท สำนักงานวิจัย นักวิจัย วารสาร หนังสือพิมพ์ เป็นต้น  1. สิ่งที่เราอยากรู้ 
ระบุสิ่งที่เราต้องการทราบ เราอยากได้ข้อมูลใดบ้างที่สามารถหาจากแหล่งอ้างอิงทั่วไป และควรเจาะลึกประเด็นใดเป็นพิเศษเพื่อให้เรามีข้อมูลสถานการณ์ปัญหาที่ถูกต้อง
2. ผู้รับผิดชอบ 
ระบุชื่อผู้รับผิดชอบในการค้นหาข้อมูลจากในทีม
3. ข้อมูลสำคัญที่พบ 
ระบุข้อมูลที่พบหลังจากการค้นหา ทั้งข้อมูลที่เราต้องการทราบหรือข้อมูลใหม่ที่พบ ซึ่งเป็นข้อมูลที่น่าสนใจ ให้ข้อสังเกตหรือแง่มุมใหม่ของปัญหา เพื่อรวบรวมเป็นสถานการณ์ปัญหาให้เราเข้าใจมากขึ้น
4. แหล่งข้อมูล/วันที่ 
ระบุแหล่งที่มาของข้อมูลพร้อมวันที่ที่ข้อมูลปรากฏ เพื่อตรวจสอบความน่าเชื่อถือและความทันสถานการณ์ของข้อมูล โดยแหล่งที่มาควรมาจากหน่วยงานที่ทำหน้าที่เก็บข้อมูลเหล่านั้นโดยตรง หรือหากจากหน่วยงานอื่น เช่น สำนักข่าว หรือหนังสือพิมพ์ ควรตรวจสอบความน่าเชื่อถือของการได้มาซึ่งข้อมูลเหล่านั้น นอกจากนี้ไม่ควรใช้ข้อมูลที่ปรากฏเมื่อนานมาแล้ว เพราะข้อมูลดังกล่าวจะไม่ได้ผ่านการปรับให้ทันกับสถานการณ์ปัจจุบัน
ตัวอย่าง วางแผนเก็บข้อมูลปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นอายุระหว่าง 15 – 19 ปี 

Step 2 วางแผนเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์ สำหรับช่องนี้เป็นการวางแผนค้นหาข้อมูลเชิงลึก ซึ่งการจะได้ข้อมูลเหล่านี้จำเป็นต้องเก็บรวบรวมมาจากการสัมภาษณ์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับปัญหานี้ เป็นข้อมูลที่อยู่นอกเหนือจากข้อมูลที่ถูกรวบรวมไว้แล้วทางอินเตอร์เน็ตหรืออื่นๆ 1. ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
ระบุผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหานี้ ลองประเมินจากข้อมูลที่เราต้องการทราบว่ามีใคร หน่วยงาน หรือองค์กรใดที่น่าจะเป็นคนให้คำตอบและให้ข้อมูลเชิงลึกของปัญหาที่เราไม่เคยรู้มาก่อนได้บ้าง ข้อมูลดังกล่าวน่าจะพบจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มไหนใน 4 กลุ่มจาก ‘ใครเกี่ยวข้องกับปัญหานี้บ้าง (Who)’ ในเครื่องมือ Problem Situation ซึ่งได้แก่
ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ผู้ได้รับผลกระทบโดยอ้อม ผู้ที่กำลังพยายามแก้ปัญหานี้อยู่ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ
คำแนะนำ  1. บางกรณี เช่น การสอบถามทัศนคติ หรือความคิดเห็นในบางเรื่อง เราอาจจะต้องเลือกกลุ่มคนที่จะไปสัมภาษณ์ที่หลากหลาย (เพศ วัย อาชีพ ฝ่ายที่สังกัด) และมีจำนวนหลายคนเพื่อสร้างสมดุลให้กับข้อมูล 2. ทำการบ้าน หาข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับผู้ที่จะไปสัมภาษณ์ ตั้งแต่เรื่องทั่วไปจนถึงประเด็นอ่อนไหว (Sensitive Issues) และเงื่อนไขที่เราควรรู้
2. จำนวน
ระบุจำนวนของ คน หรือองค์กร ของแต่ละกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เราจะไปสัมภาษณ์
3. ผู้รับผิดชอบ
ระบุชื่อผู้รับผิดชอบในการสัมภาษณ์ ในที่นี้จะใส่เฉพาะชื่อของผู้ที่ทำหน้าที่สัมภาษณ์เท่านั้น ซึ่งนอกจากนี้เราควรตกลงแบ่งหน้าที่ของแต่ละในทีมคนไปตามงานที่ต้องทำทั้งหมดให้ชัดเจน เช่น สัมภาษณ์หลัก จดบันทึก ติดต่อประสานงาน ถ่ายรูปและบันทึกเสียง เป็นต้น
4. สิ่งที่เราอยากรู้/ สิ่งที่เราอยากทำความเข้าใจ
ระบุสิ่งที่เราต้องการทราบ เราอยากได้ข้อมูลอะไรจากกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เราจะพูดคุยบ้าง และควรเจาะลึกประเด็นใดเป็นพิเศษ เพื่อให้เราเข้าใจสถานการณ์ปัญหาและเข้าอกเข้าใจ (Empathize) ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อเป็นการยืนยันความถูกต้องและตอบคำถามที่เรายังตอบไม่ได้
5. นัดหมาย
ระบุวัน เวลา และสถานที่ ที่ได้ติดต่อประสานงานนัดหมายไว้กับแต่ละกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เราจะไปสัมภาษณ์ นอกจากข้อมูลวัน เวลา และสถานที่แล้ว เราควรแจ้งถึงขั้นตอนคร่าวๆ ของการสัมภาษณ์ว่าจะใช้เวลาประมาณเท่าไหร่ ทำไปเพื่ออะไรและข้อมูลพวกนี้จะถูกไปใช้ทำอะไร และหากต้องการถ่ายภาพ บันทึกเสียง หรือใช้ชื่อนามสกุลจริงในการอ้างอิงควรขออนุญาตผู้ถูกสัมภาษณ์ก่อนทุกครั้ง และเตรียมอุปกรณ์ที่ต้องใช้ไปให้พร้อม เช่น สมุดโน๊ต กล้องถ่ายรูป หรือเครื่องอัดเสียง เป็นต้น
คำแนะนำ เมื่อลงสถานที่สัมภาษณ์จริง
  • ก่อนเริ่มสัมภาษณ์ เราควรแนะนำตัวกับผู้ถูกสัมภาษณ์และมีช่วงเวลาละลายพฤติกรรมของกันและกัน เริ่มพูดคุยเพื่อทำความรู้จัก สร้างความคุ้นเคย ความรู้สึกไว้วางใจและพร้อมเปิดใจ
  • วางตัวเป็นกลางเปิดใจฟัง ไม่ตัดสิน ไม่กดดัน หรือเร่งเร้าให้ตอบ มีท่าทีเป็นมิตรให้ผู้ถูกสัมภาษณ์สบายใจและกล้าที่จะเล่าให้เราฟัง โดยลองสังเกตอวัจนภาษาที่เขาสื่อสารกลับมา ทั้งสายตา สีหน้า ท่าทางและน้ำเสียง เพื่อรับรู้และเข้าใจความรู้สึกของเขาให้มากขึ้น และถ้าเป็นประเด็นอ่อนไหวหรือเขามีท่าทีไม่อยากพูดถึงเราก็ไม่ควรซักไซ้ต่อ
  • มีความยืดหยุ่นในการพูดคุย ไม่จำเป็นต้องถามตรงกับที่เตรียมมาทั้งหมด อาจถามอ้อมๆ หรือขอเจาะลึกเฉพาะประเด็นที่สนใจ
  • ใช้คำถามปลายเปิด ‘ทำไม’ ‘อย่างไร’ เช่น พี่คิดอย่างไรกับ … พี่ช่วยเล่าว่า … โดยไม่ใช้คำถาม ‘ใช่หรือไม่’ และไม่ถามคำถามชี้นำ
  • เลือกใช้คำพูดที่ดีต่อผู้ถูกสัมภาษณ์ ระมัดระวังคำถามที่เป็นคำกล่าวหาหรือพุ่งตรงไปที่ประเด็นอ่อนไหวของเขา และหลีกเลี่ยงการใช้คำทับศัพท์หรือศัพท์เฉพาะทางที่เราอาจจะคิดเอาเองว่าเขาจะเข้าใจเรา
  • เมื่อได้ข้อมูลจากผู้ถูกสัมภาษณ์ เราอาจทวนความเข้าใจของเราก่อนถามต่อกับเขา เพื่อให้มั่นใจว่าเราตามทัน และเข้าใจถูกต้อง

ตัวอย่าง วางแผนเก็บข้อมูลปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นอายุระหว่าง 15 – 19 ปี 1. ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 
ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง: แม่วัยใส ผู้ได้รับผลกระทบโดยอ้อม: ผู้ปกครองของแม่วัยใส เด็กผู้ชายวัยรุ่นที่เป็นพ่อวัยใส ผู้ที่กำลังพยายามแก้ปัญหานี้อยู่: รายการ sexpert family ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ: คุณครูผู้สอนวิชาสุขศึกษาหรือเพศศึกษาชั้นมัธยมศึกษา เด็กวัยรุ่นรุ่นหญิงและชายทั่วไปอายุ 15-19 ปี
2. จำนวน
ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง: แม่วัยใสขณะกำลังตั้งครรภ์ 1 คน ผู้ได้รับผลกระทบโดยอ้อม: ผู้ปกครองของแม่วัยใส 2 คน, เด็กผู้ชายวัยรุ่นที่เป็นพ่อวัยใส 1 คน ผู้ที่กำลังพยายามแก้ปัญหานี้อยู่: ผู้ผลิตรายการ sexpert family 1 คน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ: คุณครูผู้สอนวิชาสุขศึกษาหรือเพศศึกษาชั้นมัธยมศึกษา 2 คน เด็กวัยรุ่นหญิงและชายทั่วไปอายุ 15-19 ปี 2 คน
3. สิ่งที่เราอยากรู้/สิ่งที่เราอยากทำความเข้าใจ
ถามเพื่อเข้าอกเข้าใจ(Empathize) ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 
วัตถุประสงค์ : เพื่อให้เข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดของวัยรุ่นเกี่ยวกับการคุมกำเนิดหรือ ช่องทางการเรียนรู้เรื่องเพศศึกษาเกี่ยวกับเรื่องเด็กวัยรุ่นที่ไม่ได้ป้องกันเมื่อมีเพศสัมพันธ์ หรือเไม่มีช่องทางที่สอนเรื่องเพศสัมพันธ์ให้แก่วัยรุ่น (จาก Problem Situation ที่เราอาจจะยังไม่มั่นใจ)
1. แม่วัยใสขณะกำลังตั้งครรภ์ :
  • อยากเข้าใจพฤติกรรมในการหาความรู้เรื่องเพศศึกษาของกลุ่มเด็กวัยรุ่นที่เป็นคุณแม่วัยใส
    • หาความรู้ และข้อมูลเรื่องเพศศึกษาจากช่องทางใด
    • เชื่อ รับฟังข้อมูลจากช่องทางไหนมากที่สุด และเพราะอะไร (ครู พ่อแม่ ผู้ปกครอง อินเตอร์เน็ท กลุ่มเพื่อน เฟสบุ๊ก ยูทูบ ดารา เพื่อนชาย ฯลฯ)
    • มีใครเป็นบุคคลใกล้ชิดที่ได้รับความไว้วางใจ เชื่อถือในการปรึกษา หรือรับฟังเรื่องเหล่านี้
    • มีความรู้ ความเชื่อเกี่ยวกับข้อมูล ข่าวสารที่ได้มาว่าอย่างไร
  • อยากเข้าใจความเชื่อ หรือทัศนคติ ของเด็กวัยรุ่นที่เป็นคุณแม่วัยใสเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์ การพูดคุยเรื่องนี้กับผู้ใหญ่หรือผู้ปกครอง คุณครู
    • มีความคิดเห็นอย่างไรกับการพูดคุยเรื่องนี้กับผู้ใหญ่หรือผู้ปกครอง คุณครู
  • อยากทำความเข้าใจวิถีชีวิตของเด็กวัยรุ่นที่ท้องไม่พร้อม หรือตั้งครรภ์ในขณะเรียน ทั้งก่อน และหลังคลอดบุตร
    • ความรู้สึกตอนที่รู้ว่าตั้งครรภ์ ความคิด วิธีการแก้ปัญหา
    • การใช้ชีวิต กิจวัตรประจำวัน
    • ค่าใช้จ่าย / รายได้
2. ผู้ปกครองของแม่วัยใส:
  • อยากเข้าใจเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัวและรูปแบบแนวทางการสื่อสารในครอบครัว
    • ผู้ปกครองและบุตรมีความสัมพันธ์ที่ดีและใกล้ชิดต่อกันมากน้อยเพียงใด
    • ผู้ปกครองมีวิธีการสื่อสารกับบุตรอย่างไรบ้าง
  • อยากทำความเข้าใจทัศนคติของผู้ปกครองที่เกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่นโดยทั่วๆ ไป และมุมมองที่มีต่อบุตรหลานของตนเองในเรื่องนี้ รวมไปถึงบทบาทหน้าที่ของตนเองในการสอนเรื่องเพศศึกษาให้กับลูก
    • ผู้ปกครองมีความคิดเห็นเกี่ยวกับการพูดคุยเรื่องเพศกับลูกตนเอง และเด็กวัยรุ่นทั่วไปอย่างไรบ้าง
    • เห็นถึงความจำในการสอนเพศศึกษาที่โรงเรียนหรือไม่
    • ผู้ปกครองมีความเข้าใจถึงสาเหตุของการตั้งครรภ์ในวัยเรียนของวัยรุ่นอย่างไรบ้าง
3. เด็กผู้ชายวัยรุ่นที่เป็นพ่อวัยใส: คล้ายกับแม่วัยใส
  • อยากเข้าใจพฤติกรรมในการหาความรู้เรื่องเพศศึกษาของกลุ่มเด็กวัยรุ่นที่เป็นพ่อวัยใส
  • อยากเข้าใจความเชื่อ หรือทัศนคติ ของเด็กวัยรุ่นที่เป็นคุณพ่อวัยใสเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์ การพูดคุยเรื่องนี้กับผู้ใหญ่หรือผู้ปกครอง คุณครู
  • อยากทำความเข้าใจวิถีชีวิตของเด็กวัยรุ่นที่เป็นคุณพ่อวัยใสหลังจากมีคู่รักวัยรุ่นที่ท้องไม่พร้อม หรือตั้งครรภ์ในขณะเรียน ทั้งก่อน และหลังคลอดบุตร

ถามเพื่อให้ได้ข้อมูลแวดล้อมอื่นๆ  วัตถุประสงค์ : เพื่อมองหาข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ข้อมูลเชิงลึกของปัญหาอีกแง่มุมหนึ่ง หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางตรง โอกาสที่มองจากคนภายนอก โดยเฉพาะใน Problem Situation ที่เกี่ยวกับว่า โรงเรียนส่วนมากไม่ได้สอนเกี่ยวกับเรื่องเพศสัมพันธ์อย่างจริงจัง และการคุยเรื่องเพศกับผู้ใหญ่เป็นเรื่องยาก 1. ผู้ผลิตรายการ sexpert family:
  • อยากทำความเข้าใจความสำคัญหรือข้อมูลเชิงลึกที่ได้จากกาผลิตรายการนี้
    • รายการมีที่มาอย่างไร
    • มีข้อมูลหรือข้อสังเกตใดบ้างที่น่าสนใจจากการได้พบปะพูดคุยกับแขกรับเชิญที่หลากหลายโดยเฉพาะวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม
  • อยากเข้าใจความเชื่อ หรือทัศนคติ ที่เลือกทำรายการเป็นรูปแบบเกมส์โชว์และเน้นประเด็นการพูดคุยเรื่องเพศในครอบครัว
    • มีความคิดเห็นอย่างไรกับการพูดคุยเรื่องเพศในครอบครัว
    • ผลตอบรับจากผู้ชมรายการเป็นอย่างไรบ้าง มี feedback ที่ดี หรือไม่ดีอย่างไร มีเหตุการณ์ไหนทำให้ประหลาดใจบ้าง
2. คุณครูผู้สอนวิชาสุขศึกษาหรือเพศศึกษาชั้นมัธยมศึกษา:
  • อยากเข้าใจหลักการ และแนวทางของโรงเรียนเกี่ยวกับการให้ความรู้เรื่องเพศศึกษากับเด็กนักเรียนวัยรุ่น
    • โรงเรียนมีนโยบายการเรื่องการให้ความรู้เรื่องเพศศึกษาอย่างไรบ้าง
    • วิธีการให้ความรู้เรื่องเพศศึกษาของโรงเรียนเป็นอย่างไรบ้าง
    • เนื้อหาหลักสูตรเรื่องเพศศึกษา มีประสิทธิภาพ สามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงมากน้อยแค่ไหน
  • อยากเข้าใจความเชื่อ หรือทัศนคติของคุณครูผู้สอนเรื่องการสอนเพศศึกษากับเด็กนักเรียนวัยรุ่น และมุมมองที่มีต่อเด็กวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ในขณะเรียน
    • เห็นถึงความจำในการสอนเพศศึกษาที่เนื้อหาเน้นให้นำไปใช้ในชีวิตจริงได้ที่โรงเรียนหรือไม่
    • มีความเข้าใจถึงสาเหตุของการตั้งครรภ์ในวัยเรียนของวัยรุ่นอย่างไรบ้าง
    • มีความคิดเห็นอย่างไรบ้างกับเนื้อหาเรื่องเพศศึกษาที่กำลังสอนอยู่ในปัจจุบัน
3. กลุ่มวัยรุ่นหญิงและชาย ทั่วไปที่อายุใกล้เคียงกับกลุ่มเป้าหมาย แต่ไม่ได้ตั้งครรภ์
  • อยากเข้าใจพฤติกรรมในการหาความรู้เรื่องเพศศึกษาของกลุ่มเด็กวัยรุ่น หาความรู้ และข้อมูลจากช่องทางใด
    • เชื่อ รับฟังข้อมูลจากช่องทางไหนมากที่สุด และเพราะอะไร (ครู พ่อแม่ ผู้ปกครอง อินเตอร์เน็ท กลุ่มเพื่อน เฟสบุ๊ก ยูทูบ ดารา เพื่อนชาย ฯลฯ)
    • มีใครเป็นบุคคลใกล้ชิดที่ได้รับความไว้วางใจ เชื่อถือในการปรึกษา หรือรับฟังเรื่องเหล่านี้
    • มีความรู้ ความเชื่อเกี่ยวกับข้อมูล ข่าวสารที่ได้มาว่าอย่างไร
  • อยากเข้าใจความเชื่อ หรือทัศนคติ ของเด็กวัยรุ่นเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์ การพูดคุยเรื่องนี้กับผู้ใหญ่หรือผู้ปกครอง คุณครู
    • มีความคิดเห็นอย่างไรกับการพูดคุยเรื่องนี้กับผู้ใหญ่หรือผู้ปกครอง คุณครู

หลังจากนี้อย่าลืมนำข้อมูลที่ได้ไปใส่เพิ่มหรือ Re-check กับ Problem Situation ที่ได้เขียนเอาไว้ก่อนหาข้อมูล เมื่อกลับไปทำแล้วเราอาจจะพบว่าบางข้อมูลตรงข้ามกับความเชื่อหรือความคิดเดิมของเรา หรือผิดจากสมมติฐานที่เราคาดเดาไว้ ดังนั้นเราเองพร้อมจะเปิดใจทำความเข้าใจสถานการณ์ปัญหาอย่างที่ความจริงเป็นหรือไม่ หวังว่าเราจะไม่ทำให้ช่วงเวลาของการออกไปค้นคว้าหรือสัมภาษณ์นั้นศูนย์เปล่า โดยการยึดติดกับความเข้าใจเดิมและดำเนินโครงการต่อไปด้วย ‘โจทย์ปัญหา’ ที่ผิด หากต้องการคำแนะนำหรือมีคำถามสงสัยเกี่ยวกับเครื่องมือนี้ ติดต่อทีมงานได้ที่ [email protected]

เริ่มต้นพัฒนาไอเดียในการแก้ไขปัญหาสังคมต่อด้วย Changemakers Toolkit Module 1 ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่นี่ค่ะ


เข้าสู่ระบบด้วย

หรือ