knowledge

[Problem Insight] ความเป็นพลเมืองของเด็ก เยาวชนและคนรุ่นใหม่

16 สิงหาคม 2019


,
, , , , , , , ,

ความเป็นพลเมืองคืออะไร
ความเป็นพลเมือง (Citizenship) (อ้างอิงที่ 1) คือ สถานภาพของบุคคลที่มีจารีตประเพณีหรือกฎหมายของรัฐรับรองแก่สิทธิและหน้าที่แห่งความเป็นพลเมืองแก่บุคคลซึ่งอาจรวมสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง การทำงานและอาศัยอยู่ในประเทศ สิทธิกลับประเทศ สิทธิครอบครองอสังหาริมทรัพย์ การคุ้มครองทางกฎหมายของประเทศ และการคุ้มครองผ่านกองทัพหรือการทูต พลเมืองยังมีหน้าที่บางอย่าง เช่น หน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมายของรัฐ จ่ายภาษี หรือรับราชการทหาร ส่วนบุคคลที่ไม่มีความเป็นพลเมือง จะเรียกว่า ผู้ไร้สัญชาติ (Stateless)

คำจำกัดความความเป็นพลเมือง มีขอบเขตความหมายที่กว้าง ในมุมของภาคประชาสังคมมองว่าความเป็นพลเมือง หมายถึง บุคคลในสังคมนั้น ๆ ที่มีความเข้าใจในปัญหาสังคม มีส่วนร่วมป้องกันหรือแก้ไขปัญหาตามศักยภาพที่ตนเองมี หากคนในสังคมมีความเป็นพลเมืองก็จะช่วยให้สังคมที่อยู่มีคุณภาพ หากเกิดปัญหาไม่เพียงรอรัฐบาล แต่หากเป็นทุกภาคส่วนช่วยแก้ปัญหาร่วมกัน (Active Citizen)

ความเป็นพลเมืองกับงานจิตอาสา
หนึ่งในคุณลักษณะที่ดีของการเป็นพลเมือง ก็คือ การเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันหรือแก้ไขปัญหาตามศักยภาพของตน โดยไม่ต้องรอรัฐบาล หรือในยุคนี้ เราเรียกกันว่า การมีจิตอาสา ซึ่งปัจจุบันงานจิตอาสากำลังเป็นที่ได้รับความสนใจของคนทั่วโลก (อ้างอิงที่ 2) ในปี 2560 องค์กร Charities Aid Foundation ได้จัดอันดับประเทศที่มีการให้สูงสุดในโลก โดยจากการจัดดัชนีการให้ (CAF World Giving Index)  ที่มาจากการช่วยเหลือผู้อื่น การบริจาคเงิน และการทำงานอาสา พบว่า อันดับ 1 ของโลกคือ ประเทศเมียนมา รองลงมาอันดับ 2 อินโดนีเซีย ซึ่งประเทศไทยอยู่ใน อันดับ 4 ของเอเชียและอันดับ 16 ของโลก โดยเลื่อนขึ้นมาจากอันดับ 37 ในปี 2559  

(ขอบคุณภาพจาก www.bltbangkok.com)

 สำหรับในประเทศไทย จากข้อมูลกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ คนไทยจำนวนมากมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมช่วยเหลือสังคม มากถึง 10.41 ล้านคน อาสาสมัครส่วนใหญ่มาจากภาคเอกชน 7.39 ล้านคน และอาสาสมัครจากภาครัฐ 3.01 ล้านคน จากข้อมูลของธนาคารจิตอาสาพบว่ากลุ่มเยาวชนและคนรุ่นใหม่ในช่วงอายุ 17-25 ปี ให้ความสนใจงานอาสามากที่สุด ถึง 63.5% และยังมีองค์กรที่ร่วมงานผ่านระบบธนาคารจิตอาสาจำนวน 229 องค์กร ซึ่งงานจิตอาสาที่ได้รับยอดนิยม ได้แก่
1. ด้านเด็ก เยาวชน และสตรี
2. ด้านผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส
3. ด้านธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
4. ด้านการศึกษา เรียนรู้ และฝึกอบรม
5. ด้านศิลปะ และวัฒนธรรม

(ขอบคุณภาพจาก www.bltbangkok.com)

ปัญหาและความท้าทายของงานจิตอาสา
เด็ก เยาวชน และคนรุ่นใหม่เริ่มสนใจในการทำงานจิตอาสาที่อยากช่วยเหลือสังคม เริ่มนำการทำงานจิตอาสาเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิต และยังมีหน่วยงาน องค์กรอิสระเข้ามามีส่วนร่วมในการทำจิตอาสา แต่ก่อนมีเพียงมูลนิธิสาธารณกุศลต่างๆ แต่ในปัจจุบันเริ่มมีการรวมกลุ่มเล็กๆ ขึ้นมาของคนที่มีจิตอาสาที่อยากสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อสังคม อีกทั้งรูปแบบในการทำงานมีหลากหลายมากขึ้น เดิมการทำจิตอาสามีเพียงการปลูกต้นไม้ เก็บขยะ มอบสิ่งของให้ผู้ยากไร้ แต่ในปัจจุบันได้มีการนำความรู้ ทักษะ ความถนัดเฉพาะบุคคลมาปรับใช้ในการช่วยสาธารณะประโยชน์ เช่น การอาสาสมัครเป็นครูอาสาเข้าร่วมกับโครงการต่างๆ นอกจากนำสิ่งของไปร่วมบริจาคแล้ว ยังนำความรู้ ทักษะ ไปสอนเด็กที่ด้อยโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา หรือ ผู้มีความรู้ในด้านภาษา โดยนำความรู้มาช่วยเหลือเด็กที่ด้อยโอกาสในการเรียน เป็นต้น
        ไม่เพียงแต่กลุ่มอาสาสมัครที่เพิ่มขึ้น แต่ยังมีหน่วยงานทั้งภาคการศึกษา ภาครัฐ ภาคสังคม และภาคธุรกิจที่เริ่มให้ความสำคัญ อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงของสังคม ได้เข้ามาสนับสนุนและสร้างเสริมกิจกรรม แต่การทำงานจิตอาสานั้นยังมีความท้าทายในการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานกับอาสาสมัคร ซึ่งผลการสำรวจจิตอาสาของคนไทย พบว่าสิ่งที่เป็นอุปสรรคมากที่สุดในการเข้าร่วมงานจิตอาสาคือ คนไม่ค่อยมีเวลา ถึง 43% ตามมาด้วย การเดินทางไม่สะดวก 22.7% และอุปสรรคในเรื่องการสื่อสารงานจิตอาสา คนไทยไม่รู้ว่างานจิตอาสามีที่ไหน 16.7 % หากจะจัดงานจิตอาสาควรเลือกช่วงเวลาจัดงานให้เหมาะสม ซึ่งช่วงเวลาที่สะดวกที่สุดในการทำงานจิตอาสาของคนไทย คือ วันเสาร์-อาทิตย์  และ วันหยุดนักขัตฤกษ์/วันหยุดพิเศษ (อ้างอิงที่ 3)

ขอบคุณภาพจาก http://ifd.or.th/
ในมุมมองของหน่วยงานผู้จัดงานยังมีความท้าทายในการบริหารจัดการอาสาสมัครผู้เข้าร่วม ในเรื่องทัศนคติของการทำงานของอาสา ส่วนใหญ่ที่เข้ามาทำงานอาสาจะคิดว่า งานอาสาคืองานที่ไม่ต้องมีความรับผิดชอบมาก สามารถเลือกทำตอนไหนก็ได้ ทำให้อาสาสมัครบางคน สมัครเข้าร่วมงานแล้ว ยกเลิกระหว่างทาง ส่งกระทบผลต่อการทำงานของผู้จัดงาน จึงเป็นประเด็นความท้าทายสำหรับผู้จัดงาน แล้วจะทำอย่างไรให้อาสาสมัคร มีความเข้าใจบทบาทการเข้ามาเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือสังคมให้มากขึ้น


มีประเด็นอะไรที่น่าสนใจในเรื่องความเป็นพลเมืองและจิตอาสา (อ้างอิงที่ 4)

  • ทัศนคติของคนทั่วไปที่มีต่อการเป็นพลเมืองจิตอาสาในประเทศไทยคือคนส่วนใหญ่จะคิดว่าการทำกิจกรรมจิตอาสา จะทำเมื่อไหร่ก็ได้ จะเลิกทำเมื่อไหร่ก็ได้ ทำให้ผู้ที่มาเข้าร่วมต่อเนื่องในกิจกรรมจิตอาสายังคงมีจำนวนน้อย กลุ่มบุคคลที่มีความสนใจในการทำกิจกรรมจิตอาสาจะเป็นกลุ่มของคนที่เคยผ่านการทำกิจกรรมมาก่อน คนที่อยู่ในวัยทำงานแล้ว คนที่รู้สึกอยากทำอะไรที่มีคุณค่าต่อชีวิตตัวเอง คนที่เข้ามามีส่วนร่วมช่วยเหลือเมื่อมีภัยพิบัติเกิดขึ้น
  • การประสานความร่วมมือระหว่างองค์กรอาสาสมัคร ให้พร้อมตอบสนองต่อประเด็นปัญหาใหม่ๆ หรือการเปลี่ยนแปลงในสังคม เช่น ภาคธุรกิจ น่าจะมีอาสาสมัครวิชาชีพอยู่จำนวนมาก แต่ที่ผ่านมายังไม่สามารถเข้าถึงคนกลุ่มนี้เพื่อนำทักษะความสามารถมาช่วยเหลือสังคมได้อย่างเต็มศักยภาพ แล้วเราจะทำอย่างไรให้หน่วยงานหรือองคร์ที่ทำงานสามารถเข้าถึงกลุ่มอาสาสมัครที่มีทักษะความสามารถในการช่วยเหลือสังคมให้ได้อย่างเต็มศักยภาพและสามารถสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการสนับสนุนการจัดการอาสาสมัคร 
  • จากการสัมภาษณ์ยังพบว่า องค์กรต่างๆเริ่มให้ความสนใจในการสร้างกิจกรรมและส่งเสริมการทำประโยชน์เพื่อสังคม แต่ส่วนใหญ่ยังมีปัญหาในช่วงเริ่มต้นของการออกแบบรูปแบบกิจกรรม ยังไม่คำนึงถึงการสร้างความเข้าใจ แรงบันดาลใจในการเข้าร่วม ตลอดจนทักษะต่างๆของอาสาสมัคร ทำให้อาสาสมัครบางกลุ่มไม่ได้ให้ความสำคัญของการเข้าร่วมกิจกรรมอย่างเต็มที่

เคสตัวอย่างการแก้ปัญหา
    การขับเคลื่อนงานจิตอาสาในไทยมีหลายภาคองค์กรได้จัดกิจกรรมกันอย่างต่อเนื่อง อย่างเช่น 

ก่อนจะเป็นพลเมือง(สื่อ)น้ำดี ของมูลนิธิสยามกัมมาจล (อ้างอิงที่ 5)
    ​ความเป็นพลเมืองในยุคดิจิตอลไม่ใช่เพียงแค่การเข้าถึงเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทหลากหลายในชีวิตประจำวัน แต่ยังหมายรวมไปถึงการที่เยาวชนมี “ทักษะ องค์ความรู้ และช่องทาง”ในการใช้เทคโนโลยีอย่างชาญฉลาดด้วย” Thai PBS ร่วมกับ มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพานิชย์ จำกัด (มหาชน) จึงได้เปิดพื้นที่การสื่อสารของเยาวชนใน 4 โครงการ ประกอบด้วย โครงการเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายเยาวชน จ.น่าน โครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ โครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก และโครงพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา โดยเริ่มต้นจากโจทย์ชุมชนแล้วนำมาสู่โครงการที่เด็กและเยาวชนออกแบบขึ้นเพื่อตอบโจทย์ชุมชน ภายใต้“ทุกข์และทุน”ที่เขามองเห็น ซึ่งกิจกรรม workshop “เยาวชนนักสื่อสารสาธารณะ” ในครั้งนี้จะเป็นการเสริมทักษะการทำงานในรูปแบบการสื่อสารสาธารณะของเยาวชนให้เป็นรูปธรรมและสามารถเข้าถึงแก่คนทั่วไปมากขึ้น

โครงการออมเวลาฯ โดย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อ้างอิงที่ 6)
  เป็นการดำเนินงานส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพการจัดสวัสดิการ และการคุ้มครองพิทักษ์สิทธิผู้สูงอายุ ซึ่งธนาคารเวลาสำหรับการดูแลผู้สูงอายุ เป็น 1 ในมาตรการขับเคลื่อนระเบียบวาระแห่งชาติ เรื่อง สังคมผู้สูงอายุ โดยศึกษารูปแบบการดำเนินงานธนาคารเวลาในต่างประเทศและนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย เพื่อส่งเสริมให้คนในสังคมดูแลซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะการดูแลผู้สูงอายุกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือ โดยจิตอาสาจะได้รับการดูแลหรือการตอบแทนอื่นๆ ตามจำนวนเวลาที่สะสมไว้
          การดำเนินการที่ชุมชน อาคารแปลงจี ดินแดง ประกอบด้วยกิจกรรมสร้างสุขฝึกอาชีพ การตรวจสุขภาพ การจัดบริการรับ – ส่ง ไปโรงพยาบาล การให้คำปรึกษา ดูแลความสะอาดภายในห้องผู้สูงอายุ สำหรับผู้อยู่อาศัย จำนวนทั้งสิ้น 956 คน เป็นผู้สูงอายุจำนวน 252 คน และมีจิตอาสาธนาคารเวลา จำนวน 21 คน

วิชาพลเมืองกับการแก้ไขปัญหาสังคม โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อ้างอิงที่ 7)
          มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  มองเห็นความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศไทย และเล็งเห็นถึงความสำคัญของการเป็นพลเมือง จึงได้เปิดสอนรายวิชา “พลเมืองกับการแก้ไขปัญหาสังคม” โดยออกแบบกระบวนการเรียนการสอนร่วมกับ เครือข่ายจิตอาสา (Volunteer Spirit) เน้นให้นักศึกษาได้เรียนรู้เนื้อหา กระบวนความเป็นพลเมือง เข้าใจบทบาททางสังคม กติกาของสังคม เคารพความแตกต่างและ รู้บทบาทหน้าที่ของความเป็นพลเมือง ผ่านการทำโครงการเพื่อสังคมร่วมกับชุมชน แสดงให้เห็นว่า  ในประเทศไทยยังมีหน่วยงานด้านศึกษาที่ให้ความสำคัญและขับเคลื่อนงานด้านความเป็นพลเมืองผ่านระบบการเรียนรู้เพื่อสร้างความเป็นพลเมืองให้กับนักศึกษาในสังคมไทย

Coach for Changemakers และ TechxSocial โดย School of Changemakers
Coach for Changemakers เป็นโครงการที่เปิดรับอาสาสมัครที่สนใจอยากเป็นโค้ชให้กับโครงการหรือกิจการเพื่อสังคม โดย School จะจัดอบรมทักษะการโค้ชเบื้องต้น ความเข้าใจในธรรมชาติของนักสร้างการเปลี่ยนแปลง พร้อมทั้งเครื่องมือต่างๆ ที่นักสร้างการเปลี่ยนแปลงต้องใช้ในการริเริ่มโครงการหรือกิจการเพื่อสังคม จากนั้นจับคู่กับโครงการหรือกิจการเพื่อสังคม ตามความสนใจและความเหมาะสม ให้ช่วยโค้ชเป็นระยะเวลา 6-8 เดือน โดยมีการเก็นองค์ความรู้ต่างๆ และระบบสนับสนุนโค้ช เพื่อให้เกิด Learning Community ของโค้ชด้วยกันเองด้วย 

Tech x Social  เป็น Community ที่เริ่มต้นขึ้้นด้วยความตั้งใจอยากให้เกิดการพูดคุยและเปลี่ยนเพื่อทำความเข้าใจการทำงานของฝั่ง Tech และ Social ในแง่มุมต่างๆ ที่น่าจะมีประโยชน์ซึ่งกันและกันได้ เริ่มต้นจากการ Matching และคัดเลือกโครงการหรือกิจการเพื่อสังคม ที่มีความพร้อมและคุณสมบัติเหมาะสม มาทำงานร่วมกันกับ Midnight Academy ภายใต้การดูแลของ ODD-e  ที่ใช้เป็นสนามพัฒนาฝีมือให้กับน้องๆ Developer รุ่นใหม่ที่สนใจพัฒนาตัวเอง หรือน้องๆนักศึกษาที่กำลังอยู่ในช่วงฝึกงานสหกิจ แต่อาจจะขาดโอกาสหรือทรัพยากร หาโจทย์สนุกๆและท้าทายมาฝึกพัฒนาฝีมือ และมีที่ปรึกษาที่เป็นทีมงานจาก ThoughtWorks  มาร่วมด้วยช่วยกัน โดยเปิดโอกาสให้คนที่ทำงานฝั่ง Tech และ Social ที่สนใจเข้ามามีส่วนร่วมเรียนรู้การทำงานไปพร้อมๆ กัน 

Link ข้อมูลที่น่าสนใจ

อ้างอิง


ใส่ความเห็น

เข้าสู่ระบบด้วย

หรือ