ปัจจุบัน มีอาชีพใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็น youtuber นักวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งหากย้อนดูเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ก็คงไม่มีใครคาดคิดว่าจะมีอาชีพให้ๆ เหล่านี้เกิดขึ้น เช่นเดียวกับในอนาคตของเรา บริษัทเดล รายงานว่า 85% ของอาชีพที่มีในปี 2030 จะเป็นอาชีพใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน ยิ่งไปกว่านั้น The Economist ยังได้นำเสนออีกว่าใน 10-20 ปี ข้างหน้านี้ 47% ของงานในอนาคตอาจจะดำเนินการโดยเครื่องจักร ระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์ ดังนั้น การศึกษาตามหลักสูตรมาตรฐานอาจจะไม่สามารถตอบโจทย์ในอนาคตได้แล้ว แล้วเราจะสร้างหลักสูตรให้สามารถสร้างคนที่จะรับมือกับอนาคตที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและไม่แน่นอนได้อย่างไร คงเป็นคำถามที่สำคัญที่เราไม่อาจละเลยไปได้
สถาบันการศึกษาหลายแหล่ง มองเห็นปัญหาดังกล่าว และพยายามปรับตัวโดยการออกแบบหลักสูตรที่จะสร้างคนที่พร้อมรับมือกับอนาคตที่อาจจะไม่สวยงาม และเต็มไปด้วยปัญหาซับซ้อนมากขึ้น และหลักสูตรสำหรับการสร้างนักสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือ changemaker curriculum ก็เป็นหนึ่งในหลักสูตรที่ถูกจับตามองและถูกนำมาปรับใช้กับหลายๆ สถาบันการศึกษา เนื่องจากแนวคิดของหลักสูตรที่ถูกออกแบบมาเพื่อมุ่งเน้นการสร้างนักสร้างการเปลี่ยนแปลงซึ่งก็คือใครก็ได้ที่เมื่อเห็นปัญหาแล้วไม่อยู่นิ่ง แต่มีความตั้งใจ และลุกขึ้นมาทำบางอย่างเพื่อแก้ปัญหานั้นอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งลักษณะเช่นนี้อาจจะเป็นลักษณะของคนในอนาคตที่เราต้องการ
การออกแบบหลักสูตรสำหรับการสร้างนักสร้างการเปลี่ยนแปลงนั้น ก็ไม่ต่างจากการออกแบบหลักสูตรทั่วๆ ไป คือเริ่มจากการกำหนดปรัชญาของหลักสูตร ซึ่งเปรียบเสมือนจุดตั้งต้นทั้งหมด เป็นการสร้างกรอบของกระบวนการการศึกษา และเป็นตัวช่วยกำหนดเป้าหมายของการสอน วิธีการสอน การออกแบบการสอนและกิจกรรม จนไปถึงการประเมิน เพื่อให้ผู้เรียนเกิดผลสัมฤทธิ์ตามปรัชญาที่วางไว้ (ตามแผนภาพ)

ปรัชญาของหลักสูตร มีด้วยกันหลายรูปแบบและหลายนิยาม ซึ่งแต่ละแบบก็มีเป้าหมายต่างกัน รวมถึงสะท้อนถึงความเชื่อ กรอบความคิดที่ต่างกันทั้งในเรื่องการออกแบบและองค์ประกอบการออกแบบ ส่งผลไปถึงแนวปฏิบัติที่ต่างกันด้วย ในบทความนี้จะขอยกตัวอย่างของรูปแบบปรัชญาการศึกษาตามแนวคิดของ Allan C. Ornstein ซึ่งแบ่งปรัชญาทางการศึกษาไว้ 4 ปรัชญาหลักๆ ได้แก่ Perennialism, Essentialism, Progressivism และ Recontructionism โดยแต่ละปรัชญามีแนวคิด วัตถุประสงค์ เป้าหมายและบทบาทผู้สอนแตกต่างกัน ดังนี้
ปรัชญา | Perennialism | Essentialism | Progressivism | Recontructionism |
วัตถุประสงค์การสอน | มุ่งให้เกิดความฉลาดทางปัญญา ความมีเหตุมีผล | มุ่งให้เกิดการพัฒนาความฉลาดทางปัญญา และการสร้างสมรรถนะที่เฉพาะของแต่ละบุคคล | มุ่งสนับสนุนให้เกิดประชาธิปไตย ในการอยู่ร่วมกันในสังคม | มุ่งให้เกิดการพัฒนาหรือปรับเปลี่ยนสังคม เป็นการศึกษาเพื่อกากรเปลี่ยนแปลง |
เป้าหมายด้านความรู้ | เน้นศึกษาหลักการ ทฤษฎี ข้อเท็จจริงทั้งทางประวัติศาสตร์และวิทยาศาสตร์ | เน้นทักษะสำคัญและหัวข้อที่สำคัญ | เน้นการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ | เน้นสร้างทักษะและความรู้ที่จะช่วยแก้ปัญหาชุมชนได้ |
บทบาทของผู้สอน | สอนให้คิดอย่างมีเหตุมีผล อาจใช้วิธีโสเครติส หรือการสอนแบบบรรยาย | ผู้สอนมีความเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่อง แต่ยังเน้นการสอนแบบเดิม | เป็นผู้แนะนำการแก้ปัญหาและการสืบเสาะทางวิทยาศาสตร์ | เป็นคนช่วยเหลือผู้เรียนให้สามารถทำโครงการได้ |
โฟกัสของหลักสูตร | วิชาพื้นฐาน การวิเคราะห์ทางภาษา | ทักษะสำคัญและวิชาพื้นฐาน เช่น อังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ | ขึ้นกับความสนใจของผู้เรียน กิจกรรมบูรณาการศาสตร์ | เน้นวิทยาศาสตร์สังคม ระเบียนวิธีการวิจัย การวิเคราะห์ปัญหา และทิศทางด้านต่างๆ ในโลกอนาคต |
เมื่อ ปรัชญาของหลักสูตรถูกกำหนดแล้ว ก็จะมาวางกรอบแนวคิดที่สอดคล้องกับปรัชญาที่ตั้งไว้ ตามแนวคิดของ Elliot Eisner และ Elizabeth Vallance อาจารย์และนักการศึกษาด้านทฤษฎีหลักสูตร ได้แบ่งกรอบความคิดของหลักสูตรออกเป็น 5 แนวคิด ดังนี้
- Academic Rationalism: เป็นกรอบแนวคิดที่เก่าแก่ที่สุดในการออกแบบหลักสูตร เน้นเนื้อหา ทฤษฎี และความฉลาดทางปัญญา ต้องการให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในหลักการและทฤษฎีต่างๆ ดังนั้น รูปแบบหรือกิจกรรมการสอนส่วนใหญ่ก็คือการสอนผู้เรียนทุกคนแบบเดียวกัน คล้ายกับการออกแบบสูตรสำเร็จให้กับทุกคน ผู้เรียนต้องเดินตามเส้นทางนี้และออกมาสำเร็จในแบบเดียวกัน หรือที่เรียกว่า “One size fits all” คือการสอนเพื่อให้ทุกคนกลายเป็นผู้รู้ในเรื่องเดียวกัน เน้นการสอนด้วยวิธีการบรรยายหรือการอ่าน รวมถึงมีความเชื่อด้วยว่าการสอนด้วยการปฏิบัติหรือการทำกิจกรรมอาจทำให้ผู้เรียนได้รับความรู้ในเรื่องนั้นๆ น้อยลง และเป็นการเสียเวลาการทำให้ผู้เรียนเกิดความชำนาญหรือเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ส่งผลให้บทบาทของผู้สอน คือ คนที่คอยช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจเนื้อหาอย่างลึกซึ้งด้วยการสอนแบบบรรยาย
- Cognitive Process: เป็นกรอบแนวคิดที่เน้นเรื่องกระบวนการเรียนรู้ ผู้สอนจะมีบทบาทในการสร้างกระบวนการเรียนรู้หรือสร้างสภาวะแวดล้อมที่ช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้หรือแก้ปัญหาเองได้ รวมถึงสามารถตั้งคำถามและคิดวิเคราะห์เองได้
- Social Reconstruction: เป็นกรอบแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับปัญหาชุมชน โดยมีเป้าหมายคือการทำให้ผู้เรียนได้นึกถึงส่วนรวมมากกว่าแค่ตัวเอง เช่น การมองเห็นปัญหาในชุมชนของตนเอง และพยายามช่วยแก้ไขปัญหาที่มีในชุมชน บทบาทของผู้สอนคือการสร้างสภาวะที่เปิดและปลอดภัยที่จะกระตุ้นให้ผู้เรียนตั้งคำถาม คิดวิเคราะห์และสะท้อนการเรียนรู้ ซึ่งกรอบแนวคิดนี้จะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจชุมชนได้ดีขึ้น และเกิดความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชนหรือสังคม
- Self-actualization หรือ Humanistic : เป็นกรอบแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับความต้องการของผู้เรียน เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง กระบวนการเรียนรู้ควรถูกออกแบบมาเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้เรียนแต่ละคน การออกแบบหลักสูตรจึงมักมีทางเลือกให้ผู้เรียนเลือกได้ และบทบาทของผู้สอนคือการสร้างประสบการณ์และโอกาสให้นักเรียนได้พัฒนาตนเองในแบบที่ต้องการ
- Technology : เป็นกรอบแนวคิดที่เน้นกระบวนการการวางแผนหลักสูตรอย่างเป็นระบบ เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีการสอน ดังนั้น บทบาทของผู้สอนคือผู้ตั้งเป้าหมายหรือจุดประสงค์การเรียนรู้ และพัฒนาระบบหรือเทคโนโลยีมาใช้เพื่อทำให้สำเร็จ

จากปรัชญาและกรอบแนวคิดที่กล่าวมาข้างต้น หากจะนำมาออกแบบหลักสูตรพัฒนานักสร้างการเปลี่ยนแปลง ก็จะต้องเลือกปรัชญาและกรอบแนวคิดที่สอดคล้องกับเป้าหมายนั้น ซึ่งก็คือ ปรัชญาแบบ recontructionism และกรอบแนวคิดแบบ social reconstruction โดยเน้นแนวคิดที่ต้องการสร้างให้ผู้เรียนเรียนรู้ร่วมกับชุมชนเพื่อให้สามารถมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาชุมชน สร้างการเปลี่ยนแปลงบางอย่างให้กับสังคม และรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งในชุมชนด้วย
มาถึงขั้นตอนการออกแบบวิธีการสร้างการเรียนรู้ ผู้ออกแบบหลักสูตรควรเริ่มจากการถามตนเองก่อนว่า ลักษณะที่ต้องการสร้างให้เกิดกับผู้เรียนคืออะไรบ้าง การถามคำถามนี้จะช่วยให้ผู้ออกแบบเห็นภาพเป้าหมายของลักษณะที่อย่างพัฒนาในตัวผู้เรียน ซึ่งในปัจจุบัน อาจารย์ นักวิชาการ อาจจะได้ยินแนวทางการจัดการศึกษาในลักษณะเน้นผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ หรือ Outcome-based education กันบ่อยครั้ง สำหรับหลักสูตรการพัฒนานักสร้างการเปลี่ยนแปลง มุ่งเน้นให้เกิดคุณลักษณะที่สำคัญในผู้เรียน คือ
- การเข้าใจ ความสามารถในการเข้าใจ สามารถรับรู้และตอบสนองต่ออารมณ์ของผู้อื่น
- การทำงานเป็นทีม ความสามารถในการทำงานเป็นกลุ่ม โดยสามารถนำไอเดียของทุกคนมารวมอยู่ในงานได้
- ความเป็นผู้นำ ความสามารถในการรับผิดชอบและกระตุ้นให้ผู้อื่นร่วมทำด้วยได้
- การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ความสามารถในการเอาชนะปัญหาโดยการวางแผนที่ชัดเจนและมีผลลัพธ์ที่วัดผลได้

ที่มา: Menon, S., Das, M., Menon, M., Ravindran, N. (n.d.) Assessing Changemaker Skills in Students: A Road Map for Schools. Retrieved from https://www.ashoka.org/en-CA/file/toolkit-assessing-changemaker-skills
ลักษณะเหล่านี้เป็นลักษณะสำคัญที่หลายหลักสูตรและสถาบันการศึกษามองว่าจะทำให้ผู้เรียนสามารถทำงานร่วมกับทีมเพื่อช่วยแก้ปัญหาสังคมที่มีความซับซ้อนได้ และสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในโลกอนาคตที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้
นอกจากคุณลักษณะต้องต้องการอยากให้เกิดในผู้เรียนแล้ว ผู้ออกแบบหลักสูตรยังต้องตัดสินใจเลือกว่าการออกแบบนั้นจะเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง โดยผู้เรียนสามารถเลือกหัวข้อการเรียนรู้และจัดการเป้าหมายของเรียนรู้เองเพื่อให้ตอบโจทย์ของผู้เรียนมากที่สุด หรือจะออกแบบโดยเน้นปัญหาเป็นศูนย์กลาง ซึ่งปัญหาหรือหัวเรื่องจะถูกกำหนดมาก่อนหน้าแล้วจากผู้ออกแบบหลักสูตรหรือจากชุมชน การออกแบบที่เน้นปัญหาเป็นศูนย์กลางนี้ถูกเลือกมาใช้เยอะสำหรับหลักสูตรเพื่อการพัฒนานักสร้างการเปลี่ยนแปลง
ในขั้นตอนการออกแบบวิธีการนี้ ผู้ออกแบบจะต้องคำนึงถึงการใส่องค์ประกอบที่จะช่วยสร้างความเป็นนักสร้างการเปลี่ยนแปลงในแต่ละขั้นตอนของการออกแบบ นับตั้งแต่การวางแผน การสอน และการประเมิน
การวางแผน
ควรวางแผนให้การเรียนรู้ในชั้นเรียนควรมีการยกตัวอย่างการใช้งานจริง เน้นไปที่การพัฒนาคุณลักษณะและความคิดที่จะกระตุ้นให้เกิดความคิดลำดับที่สูงขึ้น ได้แก่ การคิดวิเคราะห์ และการแก้ปัญหา มากไปกว่าเพียงแค่การส่งผ่านข้อมูลหรือความรู้ เช่น การจำ เป็นต้น
การสอน
การเรียนรู้เป็นกระบวนการทางสังคม ต้องสร้างให้เกิดโอกาสในการเข้าถึงชุมชนเพื่อทำให้เกิดแรงจูงใจส่วนบุคคลในการช่วยแก้ปัญหา ผู้เรียนจะต้องได้ฝึกการคิดเชิงวิพากษ์ การแก้ปัญหาและการเชื่อมโยงสิ่งที่ได้เรียนรู้กับสถานการณ์จริง
การประเมิน
เน้นการประเมินระหว่างทาง เพื่อให้เห็นความก้าวหน้าในการพัฒนาของผู้เรียน การประเมินควรออกแบบประเมินที่มีความหมายต่อผู้เรียน กล่าวคือ เป็นการประเมินที่ผู้ถูกประเมินเองก็เห็นความสำคัญ และเป็นการประเมินที่ช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนพัฒนาความคิดลำดับที่สูงขึ้นได้ด้วย ดังนั้นการสื่อสารให้ผู้เรียนเข้าใจวิธีการการประเมิน เกณฑ์การประเมินจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ
การพัฒนานักสร้างการเปลี่ยนแปลง อาจจะทำได้โดยการออกแบบหลักสูตรใหม่ หรืออาจจะปรับหลักสูตรเดิมให้มีความเป็น changemaking มากขึ้นก็ได้ โดยจะขอยกตัวอย่างแนวทางการในการออกแบบหรือปรับหลักสูตรใดๆ ให้มีความเป็นนักสร้างการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น ดังนี้
ขั้นตอนการวางแผน
- การวางแผนควรจะนำผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเฉพาะชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อให้ได้มุมมองที่หลากหลาย
- ความหลากหลายของความเห็นจะช่วยนำไปสู่กรอบของผลสัมฤทธิ์หรือภาพของเป้าหมายของผู้เรียนที่อยากพัฒนาได้ชัดเจนขึ้น
- การออกแบบผลสัมฤทธิ์หรือเป้าหมายในการเรียนรู้จะทำให้การออกแบบการเรียนรู้ของผู้เรียนชัดเจนขึ้น และทำให้เห็นว่าการเรียนรู้อะไรที่จำเป็นสำหรับผู้เรียนบ้าง
- การรับฟังเสียงของผู้เรียนก็เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อนำมาปรับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ซึ่งการนำผู้เรียนเข้ามามีส่วนร่วมด้วยจะช่วยเพื่อความเข้าใจในเส้นทางการเรียนให้กับผู้เรียนและสามารถสะท้อนการเติบโตได้ง่ายขึ้นด้วย
การสอนและการจัดกิจกรรม
- ผู้เรียนควรจะได้เรียนรู้ร่วมกันผ่านการทำงานเป็นทีม เพื่อสร้างความสัมพันธ์ ความเป็นผู้นำ และทักษะ soft skill ที่สำคัญอื่นๆ
- เปลี่ยนการป้อนเนื้อหาวิชาการให้เป็นรูปแบบของคำถามสำหรับการสืบเสาะหรือการสืบค้นข้อมูล เพื่อให้ผู้เรียนได้ลองศึกษาด้วยตนเอง คิดวิเคราะห์และนำเสนอวิธีการแก้ปัญหา
- เพิ่มโอกาสให้ผู้เรียนได้ทำงานบริการสังคม โดยอาจออกแบบให้ผนวกในการเรียนการสอนเลยเพื่อช่วยทำให้ผู้เรียนเข้าใจสังคมมากขึ้น สอนความรับผิดชอบต่อสังคม และทำให้ชุมชนเข้มแข็งขึ้นด้วย นอกจากกิจกรรมการเรียนรู้แล้ว ยังเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นมากที่ทุการเรียนรู้จะต้องมีการสะท้อนคิด (Reflection) เพื่อช่วยให้ผู้เรียนสะท้อนการเรียนรู้ของตนเอง ซึ่งจะช่วยสร้างให้ประสบการณ์การเรียนรู้เข้มข้นขึ้น
การวัดผลและประเมินผล
การวัดผลและการประเมินประกอบด้วย 6 ขั้นตอน
ขั้นที่ 1 : พัฒนาเครื่องมือ นำเครื่องมือประเมินอันไหนมาปรับใช้หรือปรับจากอันเดิม ขึ้นกับความต้องการของนักเรียน
ขั้นที่ 2 : ทำความเข้าใจกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งผู้สอน ผู้เรียน ผู้ปกครองและภาคส่วนอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ถึงเครื่องมือที่ถูกนำมาประเมิน พูดคุย เพื่อขอความเห็นและนำมาปรับ
ขั้นที่ 3 : ตั้งเป้าหมาย กำหนดเป้าหมายที่สอดคล้องกับทักษะของนักสร้างการเปลี่ยนแปลง
ขั้นที่ 4 : ออกแบบกิจกรรม กำหนดหัวข้อการทำงานร่วมกับคนอื่น อาจจะเป็นโปรเจคในห้องหรือนอกห้องเรียนก็ได้ เพื่อช่วยให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะเหล่านี้ มอบหมายงาน
ขั้นที่ 5 : ประเมินพัฒนาการ ประเมินการพัฒนาความเป็นนักสร้างการเปลี่ยนแปลงของผู้เรียน
ขั้นที่ 6 : ให้คะแนน หารือคะแนนที่จะให้ผู้เรียน ซึ่งคะแนนในครั้งนี้จะเป็นพื้นฐานของการประเมินในครั้งหน้าเพื่อแสดงถึงพัฒนาการ
การดำเนินการวัดผลและประเมินจะช่วยให้ผู้เรียนสามารถเห็นจุดที่ผู้เรียนยังมีข้อบกพร่อง และสามารถพัฒนาได้ตรงจุด รวมถึงช่วยสร้างความเชื่อมั่นและมั่นใจในจุแข็งที่ตนเองมี นอกจากนี้ ยังช่วยทำให้ผู้เรียนเห็นพัฒนาการของตนเอง
จากแนวคิดและหลักการในการออกแบบที่นำเสนอมาแล้วนั้น อยากจะยกตัวอย่างโรงเรียนหรือหลักสูตรที่มุ่งเน้นการพัฒนานักสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เห็นว่าเค้ามีการจัดการเรียนการสอนอย่างไร
ตัวอย่างของหลักสูตร การเรียนการสอนหรือกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาการเป็นนักสร้างการเปลี่ยนแปลง
หลายๆ โรงเรียนและสถาบันการศึกษาได้มีการปรับหลักสูตรตนเองให้สามารถพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณลักษณะความเป็นนักสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ โดยอาจจะเริ่มจากการให้ผู้เรียนทำโครงงานเล็กๆ ในชั้นเรียนที่มุ่งเน้นแก้ไขปัญหาหรือสร้างประโยชน์ให้กับชุมชน ตัวอย่างเช่น
TVS Academy เมืองโฮซุร์ (Hosur) ประเทศอินเดีย (เวปไซต์ http://tvsacademyhosur.com/)

เป็นโรงเรียนเอกชน สำหรับเด็กจากครอบครัวรายได้ปานกลาง โรงเรียนมุ่งเน้นการเรียนรู้ร่วมกันของนักเรียน จึงมักมีกิจกรรมกลุ่มให้นักเรียนได้ทำโครงงานเพื่อช่วยเหลือสังคม ตัวอย่างนึงคือนักเรียนจากโรงเรียนสามารถสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะด้วยโครงการรีไซเคิลขยะในชุมชน โดยการเริ่มเก็บขวดจำนวนหลายพันขวดแล้วนำมาทำเป็นเก้าอี้นั่งสำหรับใช้ในห้องโถงซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ของโรงเรียน ซึ่งการทำกิจกรรมนี้ทำให้นักเรียนรู้สึกภูมิใจและรู้สึกถึงความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการทำเพื่อผู้อื่น
โรงเรียน Avasara Academy เมืองปูเน่ (Pune) ประเทศอินเดีย (เวปไซต์ http://www.avasara.in/home)
เป็นโรงเรียนเอกชน สำหรับเด็กหญิงที่มีศักยภาพสูงแต่มาจากครอบครัวรายได้ต่ำ อยู่ชานเมืองของเมืองปูเน่ซึ่งเป็นบริเวณที่ถูกพัฒนาให้เป็น Knowledge City สถาบัน Avasara Academy พยายามพัฒนาตนเองให้เป็นผู้นำทางการศึกษาและการพัฒนาโดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงวัยรุ่นในอินเดีย นอกจากนี้สถาบันยังกำหนดพันธกิจหลักคือ การส่งเสริมและพัฒนาเด็กผู้หญิงให้สามารถใช้ชีวิตที่แตกต่างและสร้าง impact ได้
Anuradha นักเรียนคนหนึ่งของโรงเรียน จากเริ่มทำงานประดิษฐ์ เช่น ดอกไม้กระดาษ เป็นต้น และนำไปขายเพื่อช่วยหารายได้ให้กับครอบครัวของเธอ หลังจากนั้น เธอก็เริ่มสอนเพื่อนเธอทำงานประดิษฐ์เพื่อนำไปขายเช่นเดียวกัน เธอและเพื่อนๆ ช่วยกันงานงานประดิษฐ์ ทั้ง ตุ้มหู การ์ดวันเกิด พวงกุญแจและอีกมากมายและนำไปออกงานต่างๆ และทำให้พวกเธอสามารถช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในครอบครัวของเธอเอง Anuradha เป็นตัวอย่างที่ดีที่สะท้อนให้เห็นว่าการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ช่วยส่งเสริมการสร้างการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งสำคัญซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้ผู้เรียนขยายผลการสร้างประโยชน์ไปสู่ชุมชนที่กว้างขึ้นได้

ตัวอย่างงานฝีมือที่กลุ่มนักเรียนที่ทำออกจำหน่ายตามงานต่างๆ
ที่มา https://www.ashoka.org/en-CA/file/toolkit-assessing-changemaker-skills
วิทยาลัย Georgian ประเทศแคนาดา (เวปไซต์ https://www.georgiancollege.ca/)
วิทยาลัย Georgian เป็นวิทยาลัยที่นำหลักสูตรการพัฒนานักสร้างการเปลี่ยนแปลงของ Ashoka มาใช้ โดยเน้นการสอนแบบการทำโครงงาน (Project-based learning) โดยผู้เรียนจะได้เดินทางไปประเทศต่างๆ เพื่อทำ community service หรืองานบริการสังคม เพื่อได้สังเกตและเข้าใจปัญหาจริงๆ ในประเทศที่ไปทำงานบริการสังคม นอกจากนี้กิจกรรมบริการสังคมนี้ยังช่วยสร้างทักษะสำหรับนักสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับผู้เรียน คือการคิดถึงส่วนรวม หรือบริบทที่มากกว่าตนเอง โดยกิจกรรมจะถูกออกแบบให้ไม่เพียงแต่มีการทำกิจกรรมเพียงอย่างเดียว แต่จะมีการกำหนดข้อปฏิบัติและออกแบบการสะท้อนคิดการเรียนรู้ด้วยเพื่อทำให้ผู้เรียนเกิดประสบการณ์การเรียนรู้ระหว่างทำกิจกรรม รวมถึงสอนความรับผิดชอบต่อการเป็นพลเมืองที่ดี และสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคม ซึ่งเมื่อผู้เรียนเข้าใจปัญหาจากการไปสัมผัสในบริบทและพื้นที่จริงแล้ว ผู้เรียนจะต้องช่วยกันสร้างนวัตกรรมสังคม (social innovation) เพื่อช่วยแก้ปัญหาในประเทศต่างๆ


นอกจากการเรียนผ่านงานบริการสังคมแล้ว วิทยาลัย Georgian ยังเปิดรายวิชาศึกษาทั่วไปต่างๆ ที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนเข้าใจปัญหาสังคมมากถึง รวมถึงมีทักษะของการเป็นผู้ประกอบการทางสังคม (Social Entrepreneurship skills) ด้วย ตัวอย่างของรายวิชาศึกษาทั่วไปที่เปิดสอนในหลักสูตร
- GNED1000 – Environmental Concerns
- GNED1002 – The Social Impact of Technology
- GNED1010 – Ojibway Language and Culture 1
- GNED1011 – Developing Leadership
- GNED1030 – Same-Sex Issues
- GNED1041 – Ethics and Issues
- GNED1043 – Exploring Culture
- GNED1056 – Entrepreneurial Explorations
- GNED1071 – Indigenous Peoples of Canada
- GNED1073 – Inventions That Changed/World
- GNED1074 – Social Change/Entrepreneurship
- GNED2032 – Human Rights
- GNED2057 – Contemporary Social Issues
- GNED2070 – Globalization
- GNED2071 – Nonprofits in Action
- GNED2072 – Ecological Citizenship
จากการรีวิวหลายๆ หลักสูตรพบว่า สิ่งนึงที่สำคัญที่ทำให้หลักสูตรสามารถไปถึงเป้าหมายคือการพัฒนานักสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ แต่หลักสูตรเองมักไม่ได้กล่าวถึงก็คือ mindset ของบุคลากร กล่าวคือ อาจารย์หรือผู้สอนก็ควรมีคุณลักษณะของความเป็นนักสร้างการเปลี่ยนแปลงในตัวเองด้วยเช่นกัน เช่น การมีจิตเปิดกว้าง เข้าใจนักเรียน และอยากจะสร้างประสบการณ์ที่มีความหมายให้กับนักเรียน เพื่อที่นักเรียนจะเปลี่ยนแปลงตนเองไปทำประโยชน์เพื่อสังคมได้ เป็นต้น
“ฉันไม่ได้คิดแต่เพียงว่าฉันจะสอนนักเรียนในภาคการศึกษานี้ยังไง แต่ฉันพยายามจะเปลี่ยนให้มันเป็นช่วงเวลาที่มีความหมายในการก้าวเดินในชีวิตของนักเรียนที่จะนำไปสู่การใช้ชีวิตที่มีเป้าหมายและมีส่วนร่วมในการสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อสังคมได้”
– จากบทสัมภาษณ์ของ Rebecca Ricco, อาจารย์จาก Northeastern University
เอกสารอ้างอิง
- Georgian College (2019) Community Service Learning. Center for Teaching and Learning. Retrieved from https://www.georgiancollege.ca/ctlae/teaching-and-learning/teaching-methods/community-service-learning/
- Menon, S., Das, M., Menon, M., Ravindran, N. (n.d.) Assessing Changemaker Skills in Students: A Road Map for Schools. Retrieved from https://www.ashoka.org/en-CA/file/toolkit-assessing-changemaker-skills
- Ornstein, A. C. (1990/1991). Philosophy as a basis for curriculum decision. The High School Journal, 74, 102-109.
- Eisner, E. W., & Vance, E. (1974). Five conceptions of curriculum: Their roots and implications for curriculum planning. In E. W. Eisner & E. Vance (Eds.) Conflicting conceptions of curriculum (pp. 1-14). Berkeley, CA: McCutchan Publishing Company.
