ปัญหาเรื่องการศึกษาของไทยมีอยู่หลายมิติ ไม่ว่าจะในเชิงโครงสร้าง หลักสูตร ผู้สอนหรือผู้เรียน ซึ่งในส่วนของปัญหาที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับผู้เรียน ที่น่าเป็นห่วงและควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ก็คือ ปัญหาเด็กไม่ได้เข้าเรียนตามเกณฑ์ การออกกลางคัน และการที่เด็กไม่ได้เรียนต่อ โดยส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากปัญหาความไม่พร้อมของครอบครัวและความยากจน ทำให้เด็กขาดโอกาสที่จะได้รับการศึกษาอย่างเต็มที่
เมื่อมองผ่าน ๆ ปัญหาเด็กไม่เรียนต่อ ดูจะส่งผลกระทบต่อเด็กน้อยกว่าการไม่ได้เขียนเรียน หรือเด็กออกกลางคัน เพราะได้รับการศึกษาภาคบังคับตามที่รัฐบาลกำหนด แต่ในยุคสมัยที่โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและต้องอาศัยความรู้และการปรับตัวเพื่อให้เท่าทันสถานการณ์ ทำให้เด็กกลุ่มนี้ขาดความรู้และทักษะจำเป็นสำหรับพลเมืองในศตวรรษที่ 21 ไป และอาจกลายเป็นแรงงานด้อยฝีมือ ขาดโอกาสในการพัฒนาและถูกเอาเปรียบในการทำงานได้ง่าย
นิยามและสาเหตุของปัญหา
ปัญหาของกลุ่มเด็กที่ไม่เรียนต่อนั้น มักจะมีแนวโน้มที่เสี่ยงออกจากโรงเรียนกลางคันมาโดยตลอด แต่ยังสามารถประคับประคองสถานการณ์ปัญหาไว้ได้ หรือได้รับความช่วยเหลือ การสนับสนุนจนจบการศึกษาภาคบังคับ (ม.3) แต่เมื่อครบตามเกณฑ์ ซึ่งสามารถหยุดเรียนได้โดยไม่มีความผิดทางกฎหมายแล้ว เด็กเหล่านี้มักจะไม่เรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น ทั้งระดับมัธยมปลาย และ อุดมศึกษา
สถานการณ์ที่เป็นปัญหาและมีส่วนสำคัญที่ทำให้เด็กไม่ได้เรียนต่อ ได้แก่
- ระดับการเรียนสูงขึ้น ค่าใช้จ่ายก็สูงขึ้น
ถึงปัจจุบันจะมีการสนับสนุนการเรียนฟรีจนจบชั้นมัธยมต้น แต่ในความเป็นจริง เมื่อเด็กต้องเข้าเรียนชั้นมัธยมปลายที่การเรียนการสอนมีความท้าทายมากขึ้น เด็กอาจต้องมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากค่าเทอม เช่น ค่าอุปกรณ์ทำกิจกรรม ค่าหนังสือ ค่าอุปกรณ์อิเล็กโทรนิกและค่าอินเตอร์เน็ต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการศึกษาปรับเปลี่ยนไปอยู่ในระบบออนไลน์มากขึ้น
อีกทั้ง เมื่อมองไปในอนาคต เพียงขั้นตอนการเตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัยนั้นก็มีค่าใช้จ่ายหลายอย่าง เช่น ค่าติวสอบเข้ามหาวิทยาลัย (เฉลี่ย 19,748 บาท ต่อคนต่อเทอม[1]) ค่าพิมพ์เอกสาร รวมไปถึงค่าธรรมเนียมการสมัครสอบ TCAS (ประมาณ 250-1,500 บาทต่อรอบ ขึ้นอยู่กับคณะ)[2] และค่าสมัครสอบวัดความถนัดเพิ่มเติม เช่น ภาษาต่างประเทศ และความถนัดเฉพาะทาง (ตั้งแต่ 200-7,000 บาท)
ทั้งนี้ เมื่อผ่านเข้าไปเรียนในระดับมหาวิทยาลัยได้ ก็ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ นอกเหนือจากค่าเล่าเรียน อาทิ ค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าอาหารที่ต้องจ่ายเมื่อต้องเรียนไกลบ้านออกไป เป็นค่าใช้จ่ายที่เด็กยากจนหรือที่มีปัญหาด้านการเงินนั้นไม่สามารถจ่ายไหว และครอบครัวที่มีหนี้สินก็ไม่ต้องการให้ลูกมีหนี้จากการกู้ยืมเพื่อเรียนต่อ - การศึกษาระดับสูงยังไม่ตอบโจทย์เด็กที่มีความหลากหลาย
การเรียนการสอนส่วนใหญ่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรับรองเด็ก “ทั่วไป” ไม่ครอบคลุมและตอบโจทย์ความเฉพาะตัวของเด็กที่มีความหลากหลาย เช่น เด็กยากจน เด็กพิการหรือมีความต้องการพิเศษ แม่วัยรุ่น เด็กเกเร มีประวัติต้องคดี เด็กชาติพันธุ์ เด็กข้ามชาติ รวมไปถึง เด็กที่ได้รับผลกระทบจากการเรียนการสอนที่ไม่เป็นมาตรฐาน เด็กที่รู้สึกเบื่อครู เบื่อเรียน เด็กที่กดดันจากการเรียนการแข่งขันที่โรงเรียน ถูกบูลลี่
เด็กกลุ่มนี้เป็นเด็กกลุ่มเสี่ยงที่จะออกกลางคันตั้งแต่ก่อนจบการศึกษาภาคบังคับ เนื่องจากพวกเขามักจะได้รับความเจ็บปวดหรือมีอุปสรรคจากการเรียนมาโดยตลอด มีความรู้สึกว่าการเรียนไม่สอดคล้องกับชีวิต รู้สึกว่าตนเองไม่เป็นส่วนหนึ่งกับสังคม จึงออกจากระบบไป แม้จะไม่มีเป้าหมายหรือแผนเลยก็ตาม - เด็กไม่มีต้นแบบ (Role Model) ที่ประสบความสำเร็จจากการเรียน และเป้าหมายในการเรียนต่อ
เด็กกลุ่มเสี่ยงที่จะไม่เรียนต่อมีแนวโน้มที่จะเติบโตมาในสังคมที่ทุกคนมีภาระเยอะ มีข้อจำกัดหลายอย่างต้องดิ้นรนแก้ไขปัญหาทุกวัน ไม่มีเวลาคิดถึงอนาคต ส่งผลให้คนรอบตัวและตัวเด็กเองนั้นสะสมทัศนคติที่มีต่อตัวเองและอนาคตในทางลบ ไม่มีเป้าหมาย ไม่เชื่อมั่นในตัวเอง และไม่รู้จะเรียนไปทำไม เพราะเรียนไปก็คงทำงานที่ได้รายได้ไม่มากอยู่ดี ไม่เห็นทางที่จะทำได้ดีหรือพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นกว่าเดิม เด็กจึงไม่ได้คิดไปไกลกว่าที่เห็นและเป็นอยู่ ทำให้ไม่มีเหตุผลหรือแรงจูงใจอะไรที่จะเรียนต่อ และบวกกับการเห็นตัวอย่างการเอาตัวรอดรายวันได้ทำให้อาจเข้าใจไปว่าไม่ต้องเรียนสูงก็เอาตัวรอดได้ จึงเลือกไปเป็นแรงงานรายวัน ไม่เรียนต่อ

(ภาพจาก UNICEF Thailand/2016/Thuentap )
สถานการณ์: ปัญหาเด็กไม่เรียนต่อและออกกลางคันรุนแรงแค่ไหน
จำนวนนักเรียนลดหายไปจากระบบในทุกระดับชั้นที่สูงขึ้น เช่นในปี 2556 มีเด็ก 88.6% ของเด็กทั้งหมดที่เข้าเรียนระดับชั้นมัธยมต้น และเมื่อถึงเวลาที่เด็กกลุ่มนี้เรียนมัธยมปลาย จำนวนได้ลดเหลือเพียง 70.9%[3]
แม้จะมีวุฒิการศึกษาขั้นต่ำ แต่เด็กกลุ่มนี้จะต้องเผชิญข้อจำกัดทางการงานอาชีพ ต้องทำงานมากกว่าและนานกว่าเพื่อนร่วมรุ่นที่เรียนสูงกว่าจึงจะมีรายได้เท่ากัน เพราะไม่มีทักษะเฉพาะ ไม่มีความรู้เชิงลึก ถูกแทนที่ได้ง่าย หรือถูกเอาเปรียบได้ง่ายในที่ทำงาน แถมยังเติบโตในเส้นทางการทำงาน (Career Path) ได้ยาก เรียกได้ว่าไม่มั่นคง หรือแย่กว่านั้น อาจจะไม่ได้ทำงาน และเป็นการเพิ่มภาระให้กับครอบครัวมากขึ้นอีก ในภาพรวมทำให้ประเทศไทยแข่งขันในเวทีนานาชาติได้ยาก
- ผลคะแนน PISA
ด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ปีล่าสุดมีคะแนนเทียบเท่ากับผลของ 17 ปีที่แล้ว
- คะแนนการสอนคิดวิเคราะห์ในสถานศึกษา ได้คะแนน 3.2 จากคะแนนเต็ม 7
- ประเทศไทยมีลำดับความสามารถในการแข่งขันอยู่อันดับที่ 40 จาก 140
ประเทศทั่วโลก[4] และมีอันดับคุณภาพแรงงานที่
68
โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อทักษะของแรงงานในอนาคตนั้นมีคะแนนและลำดับค่อนข้างน่าเป็นห่วง
เช่น
- จำนวนปีที่ตลาดต้องการให้แรงงานได้รับการศึกษาอยู่ที่ 15.4 ปี ในขณะที่ปีการศึกษาเฉลี่ยของประชากรไทยในปัจจุบันอยู่ที่ 7.6 ปี
การเข้าถึงการศึกษายังคงเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำและความยากจน เด็กที่ไม่ได้เรียนต่อ ส่วนใหญ่ครอบครัวมีภาระทางการเงินมาก มีหนี้สิน[5] แม้จะมีหลายครอบครัวที่ไม่อยากให้เด็กหยุดเรียน แต่ก็ไม่มีเงินที่จะส่งเรียนจนจบสูงได้ เพราะต้องการคนช่วยแบ่งเบาภาระการเงิน ถึงแม้จะไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรบ้างให้ปลดหนี้ได้ เด็กเหล่านี้จึงออกมาจากโรงเรียน เป็นภาพสะท้อนของวงจรโง่-จน-เจ็บ หรือการผลิตซ้ำความยากจนแบบรุ่นสู่รุ่น
- เด็กกลุ่มยากจน 20% ล่างสุดของประชากร ได้มีโอกาสเรียนต่อในระดับมัธยมปลาย ไม่ถึง 40% และจะลดลงเหลือเพียง 5% ต่อรุ่นในระดับอุดมศึกษา[6] ในขณะที่เด็กกลุ่มฐานะดี 10% บนสุด มีโอกาสเรียนต่อ ม.ปลายและปวช. 7 ใน 10 คน[7]
- กลุ่มประชากรรายได้ต่ำ 40% ล่างสุดไม่มีการขยับขึ้นทางสังคมมานานกว่า 4 รุ่นแล้ว
ผลกระทบ: ปัญหาเด็กไม่เรียนต่อส่งผลกระทบอะไรบ้าง
ในขณะที่แรงงานส่วนใหญ่ไม่ได้รับการศึกษา เป็นแรงงานที่ไม่มีความรู้เชิงลึก ไม่มีทักษะเฉพาะ แต่เรากำลังเผชิญภัยคุกคามอย่างหนักจาก สภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงฉับพลัน (Climate Crisis) คาดเดาไม่ได้ ส่งผลต่อเนื่องให้ทรัพยากรธรรมชาติขาดแคลน ไม่ออกผลตามฤดูเหมือนเคย เช่นเดียวกับด้านสังคมและเศรษฐกิจ เรากำลังอยู่ในยุคที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจซึ่งขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ [8] รวมถึง ความไม่แน่นอนทางการเมือง
ในด้านประชากร เรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัว ด้วยการแพทย์ที่ดีขึ้นและมีราคาถูกลง และความนิยมใหม่ในการไม่มีลูก ทำให้ในอนาคต คนวัยทำงาน 1 คนจะต้องดูแลผู้สูงวัยถึง 6 คน ทั้งยังมีความเสี่ยงที่จะถูกเครื่องจักรและสมองกล (AI) แทนที่ในงาน จากการพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่ถูกลงและฉลาดขึ้น ความไม่แน่นอนและปัญหาที่พ่วงตามมาทั้งหมดนี้มีแนวโน้มจะเพิ่มความซับซ้อนและทวีความรุนแรงขึ้นทุกวัน สังคมที่มีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาก็ต้องการแรงงานที่มีคุณภาพมาช่วยสร้างสิ่งใหม่ หรือแก้ไขปัญหาสังคม เพิ่มฐานภาษีให้มีงบประมาณมากพอที่จะใช้พัฒนาประเทศให้ทัดเทียมและเท่าทันการแข่งขันและการเปลี่ยนแปลง
ตอนนี้มีใครแก้ไขปัญหานี้อยู่บ้าง
เด็กยากจน มีปัญหาด้านการเงิน | เด็กที่มีความหลากหลาย | เด็กไม่มีแรงใจและเป้าหมาย | |
ระบบส่งต่อดูแลนักเรียนนักศึกษาข้ามชั้น | a-chieve (เครือข่ายครูแนะแนว) | a-chieve (เครือข่ายครูแนะแนว) | a-chieve (เครือข่ายครูแนะแนว) |
ทำงานกับครอบครัวให้เด็กได้เรียนต่อ | Unicef (ลงพื้นที่พูดคุยกับครอบครัว) Plan International สสส. | P2H (โครงการพ่อแม่คุยกับลูกเรื่องเพศ) Heartist (ทำงานกับพ่อแม่เด็กค.ต้องการพิเศษ) LovecareStation | Heartist (ทำงานกับพ่อแม่เด็กค.ต้องการพิเศษ) Flock Learning |
สร้างเครือข่ายสังคมดูแลและช่วยเหลือเด็กกลุ่มเสี่ยง | คลองเตยดีจัง (สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กได้ทำกิจกรรมสร้างสรรค์ ชุมชนไว้ใจกัน) ก่อการครู (พื้นที่เรียนรู้ครูรุ่นใหม่) | สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (เด็กเกเร ใช้สื่อเป็นเครื่องมือทำงานชุมชน และเปลี่ยนมุมมองที่ชุมชนมีต่อเด็ก) a-chieve (เครือข่ายพี่ต้นแบบที่ช่วยให้แนวทางด้านอาชีพ และการศึกษาในระดับชั้นที่สูงขึ้น) | กองทุน 10 บาท จ.เชียงใหม่ ก่อการครู (ขบวนการของครูที่สร้างการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา) CMIN (เครือข่ายผู้ที่ทำงานบ่มเพาะงานเพื่อสังคมในมหาวิทยาลัย) |
สนับสนุนและให้กำลังใจ เด็กกลุ่มเสี่ยงให้มองอนาคตในแง่ดี | คลองเตยดีจัง (เข้าใจและให้โอกาสเด็กได้เรียนรู้ตามโจทย์ของตัวเอง) Saturday School (พื้นที่เรียนรู้) | บ้านกาญจนาภิเษก (เด็กต้องคดี) มูลนิธิสติ สร้างพื้นที่สร้างสรรค์ เรียนรู้ (เด็กนอกระบบ เด็กเร่ร่อน ค้าบริการ) | The Guidelight (เด็กตาบอด เครื่องมือช่วยเรียน-ฝึกทักษะอาชีพ-กลุ่มอาสา) ก่อการครู Summer School (โครงการ 1 โรงเรียน 1 บริษัทจำลอง) |
ให้เด็กเข้าใจความเสี่ยง (ด้านการเงิน) และวางแผน | Base Playhouse – สร้างเด็กรุ่นใหม่ให้มีความรู้ทางการเงิน | บ้านกาญจนาภิเษก (เด็กต้องคดี ติดยา) a-chieve | U READY (กระบวนการเสริมความพร้อมให้เด็กมีเป้าหมายในการเรียนมหาวิทยาลัย) |
สร้างทางเลือกทางการศึกษาที่ตอบโจทย์ความหลากหลายและความไม่แน่นอนในอนาคต | สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย (จัดการเรียนตามความชอบ ความถนัดและวิถีชีวิต) คลองเตยดีจัง (เข้าใจและให้โอกาสเด็กได้เรียนรู้ตามโจทย์ของตัวเอง) | สมาคมส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิตและส่งเสริมอาชีพ (เทียบโอน เรียนออนไลน์) โรงเรียนขลุงรัชดาภิเษก จ.จันทบุรี และโรงเรียนวัดสังเวช กทม. (ระบบสนับสนุนเด็กตั้งครรภ์ให้เรียนจนจบ) Pimali Foundation (ห้องเรียนการโรงแรมและงานบริการสำหรับเด็กไม่มีโอกาสทางการศึกษา) | สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย (จัดการเรียนตามความชอบ ความถนัดและวิถีชีวิต) คลองเตยดีจัง (เข้าใจและให้โอกาสเด็กได้เรียนรู้ตามโจทย์ของตัวเอง) |

(ภาพจาก Flock Learning FB)
มีโอกาสและช่องว่างอะไรบ้างในการแก้ไขปัญหา
- ระบบส่งต่อนักเรียนนักศึกษาข้ามชั้นไม่ให้หลุด
ไม่ใช่เด็กทุกคนที่จะมีทุนทรัพย์มากในการเตรียมตัวขึ้นชั้นเรียนใหม่ บางคนต้องย้ายไปเรียนไกลขึ้นเพราะโรงเรียนขนาดเล็กถูกปิดไปหรือมหาวิทยาลัยอยู่ห่างไกลออกไป ช่วงปิดเทอมก่อนขึ้นชั้นเรียนใหม่จึงเป็นช่องว่างและเป็นเวลาสำคัญที่เด็กจะตัดสินใจว่าจะเรียนต่อหรือไม่ ระบบส่งต่อนักเรียนที่ออกแบบมาเพื่อให้คำแนะนำ ช่วยระบุความเสี่ยงและช่วยวางแผนการเรียนต่ออย่างลื่นไหล ตอบโจทย์และง่ายจะทำให้เด็กไทยเรียนต่อมากขึ้น - ทำงานกับครอบครัวให้เด็กได้เรียนต่อ เน้นการสร้างคุณค่าให้กับการศึกษา
ความยากจนทำให้เด็กออกกลางคัน แต่ทุนการศึกษาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาทั้งหมด เพราะหลายครอบครัวที่ยากจนนั้นไม่ได้ให้คุณค่ากับการศึกษา มองว่าการเรียนเสียโอกาส เสียเวลาในการหาเงิน ส่วนหนึ่งเนื่องจากไม่มีใครในครอบครัวได้เรียนหนังสือ
ความเข้าใจในประโยชน์ที่จะได้รับจากการศึกษาจึงเป็นตัวแปรสำคัญที่เด็กจะได้รับการลงทุนและการใส่ใจในด้านการศึกษา เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ พัฒนาตัวเอง และไม่ตัดโอกาสตัวเองเสียก่อน - สร้างเครือข่ายสังคมดูแลและช่วยเหลือเด็กกลุ่มเสี่ยง
เด็กหลายคนไม่มีโอกาสทางการศึกษาเพราะไม่มีคนดูแล ไม่มีใครดูคอยกระตุ้น ชี้แนะ ให้กำลังใจให้เรียนดีขึ้น
อีกทั้งยังขาดบุคคลที่เป็นตัวอย่างที่ดี ในชุมชนที่ประสบความสำเร็จจากการเรียน ผู้จ้างและครูสามารถเป็นและเล่าเรื่องราวของคนต้นแบบให้นักเรียนเห็นทางว่าตัวเองจะสามารถเติบโตจากการเรียนและประสบความสำเร็จจากการทำงานได้เช่นกัน - สนับสนุนและให้กำลังใจ เด็กกลุ่มเสี่ยงและนอกระบบให้มีมุมมองบวกต่อตัวเองและอนาคตให้กลับไปเรียน
เมื่อการเรียนขาดตอน จะกลับมาเรียนก็ยากขึ้น ทั้งความรู้สึกและความสามรถในการเรียนรู้ของสมองก็ต่ำลงตามระยะเวลา แต่หากเด็กกลุ่มนี้ได้ฟื้นฟูความเชื่อมั่นในตัวเอง มีคนสู้ไปพร้อมกัน เข้าใจและให้การสนับสนุนโดยเฉพาะด้านกำลังใจอย่างตรงจุด พวกเขาจะทลายเพียงข้อจำกัดของตัวเอง และกลับไปเรียนต่อ - ให้เด็กยากจนออกแบบแผนการเงินและตั้งเป้าหมาย
ครอบครัวมีหนี้สินเป็นอีกสาเหตุสำคัญที่ลูกหลานต้องออกจากระบบมาช่วยหาเงิน โดยที่ไม่รู้เลยว่าแท้จริงแล้วเป็นหนี้อยู่เท่าไหร่ ต้องหาเงินใช้หนี้อย่างไร สุดท้ายเด็กก็ออกจากระบบโดยไม่สามารถปลดหนี้ได้เลย หากเด็กได้เห็นปัญหาและเห็นว่าการเรียนสามารถแก้ไขปัญหาให้เขาได้อย่างไรในระยะยาว เช่น เรียนจนจบและเรียนต่อสาขาวิชาอาชีพที่ให้รายได้ดี แล้วสามารถจะปลดหนี้ได้ภายใน 5-10 ปี เป็นต้น - สร้างทางเลือกทางการศึกษาที่ตอบเงื่อนไขของเด็ก และความไม่แน่นอนในอนาคต (เช่น covid 19)
มีหลายหน่วยงานกำลังพยายามออกแบบทางเลือกด้านการศึกษาใหม่ ๆ ให้ตอบเงื่อนไขของเด็กมากขึ้น แต่ความหลากหลายของเด็กมีรายละเอียดเฉพาะตัวอยู่มาก และมีปัจจัยภายนอกที่ซับซ้อน ทำให้ทางเลือกใหม่ ๆ ยังมีความต้องการอยู่มากนอกจากนี้ ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัส COVID-19 ระบบการศึกษาจึงต้องปรับตัวด้วยการเปลี่ยนสู่ระบบการเรียนออนไลน์มากขึ้น ทำให้ คอมพิวเตอร์ แท็ปแลต สมาร์ทโฟน และอินเตอร์เน็ต กลายเป็นอีกสิ่งจำเป็นต่อการเรียนหนังสือ ซึ่งเด็กยากจน เด็กอพยพ และพิการยังไม่สามารถเข้าถึงได้ สุดท้าย ไม่สามารถเข้าเรียนและออกจากระบบไปในที่สุด
อีกทั้งยังมีผลกระทบอื่น[9] ๆ เช่น ไม่มีอาหารรับประทาน (ไม่สามารถไปทานที่โรงเรียน เพิ่มรายจ่ายด้านอาหารที่บ้าน) รายได้ (เนื่องจากผู้ปกครองถูกพักงานหรือถูกเลิกจ้าง) ไม่มีของใช้จำเป็นในครอบครัว (ไม่มีเงินซื้อและไม่สามารถออกไปซื้ออย่างปลอดภัยได้) และปัญหาสุขภาพ
ข้อมูลเพิ่มเติมที่น่าสนใจ
- School of Changemakers – สถานการณ์ปัญหาเด็กออกกลางคัน
- ตัวอย่างการสร้างการเปลี่ยนแปลงของต่างประเทศ โมเดลอาสาสมัครดูแลเด็กนอกระบบ TREAD
- บทสรุปสำหรับผู้บริหารภาวะการทำงานของประชากร เดือนมีนาคม พ.ศ. 2563
- สำรวจ “ความเหลื่อมล้ำ” ในระบบการศึกษาไทย, Workpoint News (วันที่ 3 กันยายน 2562)
- รายงาน 2017/2018 Global Education Monitoring Report: Thailand highlights UNESCO (วันที่ 24 ตุลาคม 2561)
- Bangkok Post Thai universities struggle to keep up (วันที่ 4 มกราคม 2562)
อ้างอิง
[1] ผลสำรวจชี้ พ่อแม่หลังแอ่นกู้เงิน ส่งลูกเข้ามหา’ลัย
[2] สรุปค่าใช้จ่าย TCAS 62 ทั้ง 5 รอบ – ต้องจ่ายเท่าไร แต่ละคณะสอบอะไรบ้าง เช็คที่นี่?
[3] รายงานการศึกษาไทย พ.ศ. 2561 (Education in Thailand 2018)
[4] The Global Competitiveness Report 2019 จัดทำโดย World Economic Forum, 6th Pillar: Skills ด้านทักษะและการศึกษา
[5] การสำรวจโดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
[6] Isra News – กสศ. พบเด็กยากจนมีโอกาสเรียนต่อน้อย เพียง 5% ต่อรุ่น – ช่องว่างห่างถึง 7 เท่า
[7] สำรวจ “ความเหลื่อมล้ำ” ในระบบการศึกษาไทย
[8] ผลการวิเคราะห์ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์, 2560. (สืบค้นวันที่ 8 พฤษภาคม 2562)
[9] Bangkok Biz – ‘กสศ.’ ชี้ ‘โควิด-19’ กระทบครอบครัวยากจน หนักสุดไม่มีข้าวกิน (15 เมษายน 2563)