knowledge

3 ไอเดียสุดเจ๋ง ช่วยดูแลจิตใจวัยรุ่นในยุคโควิด-19

12 พฤษภาคม 2020


, ,
,

ในสถานการณ์บังคับให้ต้องเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านแบบนี้ ทำให้ชาวโลกอย่างเราต้องมีการปรับตัวในหลายด้านและเปลี่ยนแบบไม่ทันตั้งตัว แม้แต่กลุ่มวัยรุ่นที่มีความสามารถในการรับมือได้ดี อาจมีความกดดันและเกิดภาวะเครียดเพิ่มขึ้นไม่น้อยไปกว่าวัยผู้ใหญ่เลย แต่ในทุกวิกฤตมีโอกาสเสมอ ในบทความนี้เราอยากเล่าให้ฟังถึง 3 ไอเดียเพื่อช่วยดูแลจิตใจวัยรุ่นและผู้คนในชุมชนที่เรียบง่ายแต่เจ๋ง ว่าแล้วไปที่ไอเดียแรกกันเลย!

1. Not OK App แอพพลิเคชันสำหรับคนไม่โอเค

(ภาพจาก NotOK App)

“มันจะเป็นอย่างไรนะ ถ้ามีปุ่มที่กดแล้วคนอื่นจะรู้ได้ทันทีว่าตอนนี้ฉันไม่โอเค?” คำถามนี้ผุดขึ้นมาขณะที่ ‘ฮันน่าห์’ อยู่ในห้องนอนเพียงลำพังและกำลังมีความคิดทำร้ายตัวเอง ฮันน่าห์เป็นโรคซึมเศร้าและมีภาวะวิตกกังวล สั่งสมจากการที่เธอกลัวการอยู่คนเดียว เนื่องจากเธอมักจะมีอาการหมดสติฉับพลัน ซึ่งเกิดจากภาวะหัวใจเต้นเร็วระหว่างเปลี่ยนท่า (Postural Orthostatic Tachycardia Syndrome :POTS

คำถามในวันนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของ “Not OK” App ฮันน่าห์หันไปสนใจศึกษาเกี่ยวกับการเขียนโค้ดและการเป็นผู้ประกอบการ และเล่าไอเดียเรื่องปุ่มฉุกเฉินให้กับน้องชาย ‘ชาร์ลี’ ฟัง เมื่อโอกาสช่วยเหลือพี่สาวและไอเดียสุดเจ๋งมาอยู่ตรงหน้าแล้ว ชาร์ลีสมัครเข้าร่วมมือด้วยการเป็นฝ่ายดูแลด้านเทคโนโลยีให้กับบริษัทที่มีสมาชิกเป็นพี่สาว ตัวเขา และเจ้า ‘Trooper’ สุนัขอีก 1 ตัว

แอปพลิเคชันชื่อ “Not OK” เกิดขึ้นเพื่อช่วยคนวัยหนุ่มสาวเหมือนกับพวกเขา หากผู้ใช้บริการกำลังรู้สึกกังวลหรือเครียดมากๆ จนอาจคิดทำร้ายตัวเอง ให้กดปุ่ม “Not OK Alert” ระบบจะส่งข้อความไปให้กับคนสำคัญที่ผู้ใช้บริการวางใจให้รับรู้ว่าตนเองไม่โอเค เช่น เพื่อน พี่น้อง หรือคนสนิท ปัจจุบันแอพลิเคชันนี้มีผู้ใช้บริการกว่า 80,000 คน และมีคนกดปุ่ม Not OK Alert เพื่อขอความช่วยเหลือไปกว่า 52,000 ครั้งเลยทีเดียว!

2. Text4Hope ข้อความบรรเทาทุกข์ให้ทุกชีวิตมีความหวัง

(ภาพจาก APRIL HUDSON/St. Albert Gazette)

ศูนย์บริการสุขภาพแอลเบอร์ตา (Alberta Health Services) ประเทศแคนาดา เล็งเห็นว่าแม้ในสถานการณ์ปกติเอง ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตในรัฐแอลเบอร์ตากว่าครึ่งหนึ่งไม่ได้รับการรักษาอย่างที่พวกเขาควรจะได้รับและฝั่งบริการการรักษาของศูนย์เองไม่มีทรัพยากรมากพอที่จะส่งมอบการรักษาให้กับผู้ป่วยเหล่านั้นอีกด้วย โควิด-19 จึงเป็นการซ้ำเติมปัญหาที่มีอยู่ก่อนแล้วให้หนักข้อขึ้นไปอีก พวกเขาจึงต้องใช้ทรัพยากรเท่าที่มีอยู่เพื่อบรรเทาปัญหาให้เบาลง หนึ่งในนั้นคือเทคโนโลยีที่ทุกคนมีอยู่กับตัวแต่มักถูกหลงลืมและใช้งานไม่เต็มที่ (Unutilized resource) นั่นคือข้อความโทรศัพท์มือถือหรือ SMS นั่นเอง 

การส่งข้อความให้กำลังใจสั้นๆ โดยใช้แนวทางวิธีการบำบัดแบบ Cognitive behavioral therapy หรือ CBT จากนักจิตวิทยา ตัวอย่างข้อความ เช่น “มันแย่ก็จริง แต่เราจะผ่านมันไปด้วยกันนะ” ถูกส่งไปยังโทรศัพท์มือถือของคนที่ลงทะเบียนโครงการ “Text4Hope” โดยการลงทะเบียนมีขั้นตอนง่ายๆ แค่ส่งข้อความ “COVID19Hope” ไปยังหมายเลขที่กำหนด เพื่อรับแบบทดสอบวัดระดับความรุนแรงของปัญหาสุขภาพจิต จากนั้นจะได้รับข้อความให้กำลังใจหรือลิ้งค์ข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาทุกวัน เป็นเวลา 3 เดือนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

การส่งข้อความแบบนี้เคยถูกใช้มาแล้วในเหตุการณ์ไฟป่าในฟอร์ตมักเมอรร์รีย์ พ.ศ. 2559 โดยชื่อโครงการว่า “Text4Mood” จากผลสำรวจผู้ใช้บริการบอกว่าข้อความเหล่านี้ช่วยส่งเสริมให้พวกเขามีสุขภาพจิตที่ดี สามารถกลับสู่สภาวะจิตใจที่ปกติ และรับรู้ได้ถึงกำลังใจจากข้อความเหล่านั้น หลังจากเปิดตัว Text4Hope มีผู้คนกว่า 30,000 คนที่เข้าใช้บริการ หนึ่งในนั้นบอกว่าข้อความช่วยให้เขากลับมาคิดถึงเรื่องดีๆ ได้อีกครั้ง 

3. Callversation เพิ่มอรรถรสในบทสนทนา ให้ทุกคนคุยสนุกทุกเวลาคอล

(ภาพจาก Callversation)

ในโลกที่เป็นปกติทุกคนสามารถทำกิจกรรมได้อย่างไม่จำกัดกับแก็งค์เพื่อนๆ ของเรา แต่จะทำอย่างไรในเมื่อสถานการณ์ปัจจุบันบังคับให้ต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน ต่อให้ออกไปข้างนอกได้เราก็ต้องรักษาระยะห่าง 2 เมตร (Social Distancing) กับคนอื่นอีกด้วย ทำให้พื้นที่ที่พอจะเป็นการทำกิจกรรมร่วมกันในตอนนี้ถูกปรับเป็นรูปแบบของการพูดคุยผ่านโปรแกรมสนทนาแบบวิดีโอเพียงเท่านั้น เราจะทำอย่างไรได้บ้างกับข้อจำกัดเหล่านี้

บริษัทผลิตคอนเท้นต์ Glow Story ที่เชื่อว่าการเล่าเรื่องสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ สร้างเว็บไซต์ Callversation (Call + Conversation) ขึ้นมาเพื่อใช้ร่วมกับโปรแกรมสนทนาแบบวิดีโอ เช่น zoom, line video หรือ google hangout ซึ่งจะช่วยให้บทสนทนาของทุกคนสนุกขึ้นในช่วงเวลาเช่นนี้

Callversation นำเสนอหัวข้อเริ่มต้นการสนทนาให้ผู้ใช้งานจำนวน 6 หัวข้อ ได้แก่ เรื่องชีวิตและความรัก เรื่องสังคมและการเมือง เรื่องวงการบันเทิงและสื่อ เรื่องการศึกษา ปัญหาอะไรก็ไม่รู้ (random) และทางเลือกวัดใจ ในแต่ละหัวข้อจะมีคำถามให้เพื่อนๆ ในห้องสนทนานั้นได้พูดคุยหรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน พร้อมทั้งเพิ่มกติกาที่สร้างการมีส่วนร่วมมากกว่าแค่พูดคุย เช่น การให้ชูนิ้วเพื่อบอกระดับการเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในแต่ละคำถาม ความสนุกสนานจะเริ่มต้นจาก Conversation starter นี่เอง


หากคุณเป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะกังวลกับสถานการณ์ หรืออยากหาอะไรทําสนุกๆ School of Changemakers และ สสส. อยากชวนคุณกับเพื่อนๆ ตั้งคําถามและลงมือทําเพื่อหาคําตอบ เพื่อการปรับตัวในยุคโควิด สนใจติดตามรายละเอียดได้ที่ StartYoung.club


อ้างอิง
How an Alberta text messaging program is helping people cope with COVID-19 (27 เมษายน 2563) St.Albert Today
Meet the young people leading us forward – Supporting mental health (21 เมษายน 2563) Medium
Callversation (2563) Glow Story
notOK App® (26 กันยายน 2562) Ashoka


ใส่ความเห็น

เข้าสู่ระบบด้วย

หรือ