หลายคนคงได้ยินคำว่า “New Normal” บ่อยมากในช่วงนี้ แต่มันแปลว่าอะไรกันนะ? ราชบัณฑิตยสภาบัญญัติว่า New normal หรือ ความปกติใหม่ หมายถึง “รูปแบบการดำเนินชีวิตอย่างใหม่ที่แตกต่างจากอดีต ประกอบด้วยวิธีคิด วิธีเรียนรู้ วิธีสื่อสาร วิธีปฏิบัติและการจัดการ” แล้วรูปแบบชีวิตใหม่ที่แตกต่างจากอดีตหน้าตาจะเป็นอย่างไร ถ้าใครยังนึกไม่ออก เราไปดูกันว่าเพื่อนร่วมโลกของเราสร้าง New normal รูปแบบไหนบ้างในช่วงโควิดแบบนี้ ไปดูกันเลย!
1. ‘Farm to Table’ จากฟาร์มถึงจาน นโยบายใหม่ของกระทรวงเกษตร สหรัฐอเมริกา
ตามสถิติในเดือนกันยายน ปี 2019 ชาวอเมริกันกว่า 37 ล้านคนประสบกับปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหาร หมายถึง ไม่มีอาหารเพียงพอทั้งปริมาณและคุณค่าทางโภชนาการ และคาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอีก 17.1 ล้านคนในยุคโควิดเพราะอัตราการว่างงานที่เพิ่มมากขึ้น แต่ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ที่ฟาร์มของเกษตรกรชาวอเมริกันเกิดปัญหาผลผลิตทางการเกษตรล้นเกิน เพราะการหยุดพักกิจการของโรงเชือด ร้านอาหารและโรงเรียน เมื่อตัวกลางการส่งอาหารจากฟาร์มไปสู่ผู้คนหายไปส่งผลให้ผลผลิตที่พวกเขามีต้องเหลือทิ้งรอวันกลบลงพื้นดิน
กระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกาจึงออกนโยบายทำหน้าที่เป็นคนรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรกระจายสู่ธนาคารอาหาร (Food Bank) กว่า 200 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งทำหน้าที่เสมือนตู้ปันสุขขนาดใหญ่ โดยเป็นการทำงานเชื่อมกันระหว่าง NGO ในพื้นที่ หน่วยงานภาครัฐและบริษัทขนส่ง เพื่อให้ผู้คนที่ขาดแคลนเข้าถึงอาหารได้มากขึ้นและส่งอาหารให้นักเรียนในชนบทที่โรงเรียนต้องปิดชั่วคราวกว่า 1,000,000 มื้อต่อสัปดาห์
นอกจากนี้ยังมีเงื่อนไขอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การขนส่งที่สะอาดปลอดภัย ค่าใช้จ่ายที่สมเหตุสมผลในการดำเนินการ หีบห่อที่กะทัดรัดเหมาะกับครอบครัวมากกว่าร้านอาหารเหมือนที่เกษตรกรเคยส่ง และเรื่องจำนวนคนทำงานที่น้อยเพราะต้องเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ที่ให้ต้องคิดและหาไอเดียพัฒนาระบบการส่งต่ออาหารนี้ต่อไป
2. Remoteiftar.com เติมเต็มความเป็นชุมชนชาวมุสลิมผ่านช่องทางออนไลน์
ในศาสนาอิสลาม พิธีรอมฎอน หรือ การถือศีลอด ถือเป็นพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ที่มีมาอย่างยาวนาน ผู้นับถือจะต้องอดอาหารและน้ำตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นจนถึงตกดินและจะกินอาหารได้อีกครั้งในเวลากลางคืน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ชาวมุสลิมจะอยู่กับครอบครัวหรือชุมชนเพื่อพูดคุย สวมกอด กล่าวคำอวยพรซึ่งกันและกัน โดยเรียกช่วงเวลานี้ว่า Iftar หรือ การละศีลอด แต่เมื่อมัสยิดต้องปิดชั่วคราวและมีการห้ามพบปะชุมนุมเพื่อป้องกันการระบาด ทำให้เวลาของครอบครัวและชุมชนซึ่งเป็นเหมือนหัวใจของเดือนรอมฎอนขาดหายไป
หลังจากที่ Fadumo Osman โปรแกรมเมอร์สาวชาวอเมริกันวัย 24 ปี ผู้นับถือศาสนาอิสลามได้ฟังเพื่อนเล่าถึงการฉลองเทศกาลอีสเทอร์ (Easter) ทางวิดีโอคอลและเห็นเพื่อนชาวยิวทำพิธีเซเดอร์ (Seder) ผ่านแอพลิเคชัน Zoom ก็เกิดไอเดีย เธอสร้างเว็บไซต์ที่ชื่อว่า ‘RemoteIftar.com’ เป็นชุมชนออนไลน์ของชาวมุสลิมทั่วโลกให้เข้ามาพบปะพูดคุย ร่วมใช้เวลาละศีลอดด้วยกันผ่านวิดีโอคอล เพื่อคงเสน่ห์ของความเป็นครอบครัวและชุมชนในช่วงรอมฎอน พร้อมรักษาระยะห่างทางสังคมไปด้วยเช่นกัน
ปัจจุบันมีผู้เข้าใช้งานเว็บไซต์นี้กว่า 40 ประเทศทั่วโลก หลายคนบอกว่าการได้ใช้เวลาร่วมกับพี่น้องชาวมุสลิมในช่วงละศีลอดผ่านทางวิดีโอคอลแบบนี้ ทำให้พวกเขามีความสุขเหมือนได้อยู่กับครอบครัว ได้รู้จักเพื่อนใหม่ เกิดมิตรภาพอันอบอุ่นสำหรับพวกเขา ในอนาคตแม้หมดช่วงโควิดไปแล้ว Fadumo Osman ตั้งใจจะคงความเป็นชุมชนและความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างชาวมุสลิมด้วยกันนี้ไว้เหมือนเดิม
3. The Yard Grocery รถพุ่มพวงพ่วงสินค้าจากเกษตรกรถึงมือชาวอารีย์

ใครรู้จักรถพุ่มพวงบ้าง ยกมือขึ้น!
รถขายของชำเคลื่อนที่ที่เรารู้จักกันว่า ‘รถพุ่มพวง’ คือนวัตกรรมที่ ส้มเล็ก–อติพร สังข์เจริญ และส้มใหญ่–อมรรัตน์ อมรศิริชัยรัตน์ เจ้าของ The Yard Hostel ในย่านอารีย์ นำมาปรับแต่งเพื่อรับมือกับผลกระทบในยุคโควิดนี้ เพราะนอกจากโฮสเทลตัวเองที่ประสบปัญหาแล้ว ยังมีเพื่อนเกษตรกรและเจ้าของกิจการรายย่อยที่มีปัญหาขาดแหล่งส่งผลผลิตเนื่องจากร้านอาหารต้องหยุดพัก ส่วนผู้บริโภคที่อยู่ในย่านอารีย์เองต้องเก็บตัวอยู่บ้านและการออกไปจับจ่ายใช้สอยสินค้าอาหารไม่สะดวกปลอดภัยเหมือนเมื่อก่อน ไอเดียเรื่อง The Yard Grocery จึงผุดขึ้น
ทุกวันจันทร์ – เสาร์ เวลา 16:00 – 18:00 น. รถกระบะสีแดงคันกะทัดรัดจะบรรทุกสินค้าส่งตรงถึงหน้าบ้านชาวอารีย์ เช่น ปลา กิมจิ กัมมี่มะม่วง น้ำสลัดและผักต่างๆ จากไร่ สวน จากเกาะ และจากชุมชนชนเผ่า อย่างกะเหรี่ยงและปะกาเกอะญอ รวมไปถึงเครื่องดื่มและจานโปรดจากร้านอาหารและคาเฟ่ในพื้นที่
ด้วยไอเดียนี้ทำให้เกษตรกรและเจ้าของกิจการรายย่อยยังคงมีรายได้และมีช่องทางจำหน่ายสินค้า เพื่อนบ้านชาวอารีย์มีอาหารคุณภาพดีส่งตรงถึงหน้าบ้าน ส่วนใครที่มีของในบ้านอยากฝากขายก็สามารถทำได้เช่นกัน เรียกว่าการมีอยู่ของเจ้ารถแดงคันนี้มาช่วยเติมเต็มช่องว่างระหว่างผู้ขายรายย่อยและผู้บริโภคโดยไม่มีการแย่งลูกค้าของรถพุ่มพวงที่ขายสินค้าสดทั่วไปที่เรารู้จัก งานนี้ต้องลองออกไปมองหานวัตกรรมใกล้ตัวเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกันบ้างแล้ว!
หากคุณเป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะกังวลกับสถานการณ์ หรืออยากหาอะไรทําสนุกๆ School of Changemakers และ สสส. อยากชวนคุณกับเพื่อนๆ ตั้งคําถามและลงมือทําเพื่อหาคําตอบ เพื่อการปรับตัวในยุคโควิด สนใจติดตามรายละเอียดได้ที่ StartYoung.club
อ้างอิง
https://www.washingtonpost.com/business/2020/04/23/fixing-food-dumping-food-banks/ (23 เมษายน 2563) Washington Post
https://www.usda.gov/media/press-releases/2020/04/17/usda-announces-coronavirus-food-assistance-program (17 เมษายน 2563) USDA
https://religionnews.com/2020/04/23/during-ramadan-in-quarantine-muslims-get-creative-to-preserve-community/ (23 เมษายน 2563) Religion News Service
https://www.goodmorningamerica.com/living/story/hardship-ease-muslims-digital-celebrate-ramadan-quarantine-70494181 (5 พฤษภาคม 2563) Good Morning America
https://www.remoteiftar.com
https://news.thaipbs.or.th/content/292126 (6 พฤษภาคม 2563) Thai PBS
https://www.facebook.com/adaymagazine/posts/10158285008965406 (17 เมษายน 2563) A Day
https://www.facebook.com/theyardgrocery/