ในช่วงเวลาที่สถานศึกษาต้องถูกปิดแบบนี้การพัฒนาความรู้และศักยภาพของเยาวชนเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก หลายประเทศมีความพยายามปรับเปลี่ยนการเรียนให้อยู่ในรูปแบบออนไลน์ ซึ่งทำให้ผู้เรียนต้องเตรียมความพร้อมทั้งด้านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และสัญญาณอินเทอร์เน็ต นอกจากนี้ยังมีทักษะที่อาจขาดหายไปหากต้องเรียนอยู่ที่บ้าน เช่น การพัฒนาทางด้านร่างกาย ทักษะการเข้าสังคม เป็นต้น
เราจะทำอย่างไรเพื่อช่วยให้ช่องว่างนี้ได้ถูกเติมเต็มโดยที่ยังคงรักษาความปลอดภัยอยู่เช่นเดิม บทความนี้จึงจะชวนทุกคนมาสำรวจไอเดียการออกแบบและปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนในยุคโควิดให้เด็กและเยาวชนยังสามารถพัฒนาศักยภาพกันได้อยู่ ไปดูกันเลย!
1. ‘Turn on the Subtitles’ พัฒนาทักษะด้วยการ์ตูนพร้อมคำบรรยาย
ในช่วงเวลาการกักตัวอยู่ที่บ้านแบบนี้ เมื่อไม่สามารถออกไปหาความสนุกจากการเล่นกับเพื่อนหรือทำกิจกรรมนอกบ้านได้ เด็กส่วนมากใช้เวลาไปกับการดูการ์ตูนมากขึ้น สองผู้ประกอบการเพื่อนซี้ เฮนรี่ วอเรน และ โอลี่ แบเรท ซึ่งทำงานเกี่ยวกับเทคโนโลยีการศึกษาและกิจการสังคมเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนมาหลายปี เห็นโอกาสนี้จึงจัดทำแคมเปญ “TOTS” (Turn on the Subtitles หรือ เปิดคำบรรยาย) ขึ้น
ทั้งสองส่งจดหมายชวนเหล่าผู้ผลิตรายการเด็กในช่องทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรายการโทรทัศน์หรือสื่อออนไลน์ ทั้ง Sky, Netflix, Amazon Prime, YouTube Kids, ITV และ BBC ให้เปิดคำบรรยาย (Subtitles) ในรายการเด็กเป็นอัตโนมัติ เพื่อสอดแทรกการพัฒนาศักยภาพทางการอ่านและเขียนไปในขณะรับชม ทำให้เด็กไม่รู้สึกตัวว่ากำลังเรียนหนังสืออยู่
ประสิทธิภาพของแคมเปญนี้ได้รับการยืนยันจากหลากหลายงานวิจัย เพราะเมื่อนักวิจัยติดเครื่องตรวจจับการเคลื่อนไหวสายตาเพื่อแสดงผลว่าเด็กมองตามคำบรรยายที่ปรากฏบนหน้าจอ พบว่าเด็กที่ได้รับการทดสอบกว่า 94% อ่านคำบรรยายตาม โดยเฉพาะเมื่อมีคำขึ้นมาประมาณ 81 คำต่อนาที ซึ่งนั่นอาจเพิ่มศักยภาพในการอ่านและเขียนของเด็กทั่วโลกได้มากทีเดียว
2. ‘Arist’ การเรียนรู้ผ่านข้อความโทรศัพท์มือถือ
หลังจากที่ไมเคิลและไรลี่ย์ วัย 21 ปี ได้มีโอกาสรู้จักกับเพื่อนต่างชาติชาวเยเมน ‘มูฮัมเหม็ด อัลอัดลานี’ ซึ่งเกิดและเติบโตในพื้นที่ที่มีสงครามทำให้ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมได้ พวกเขามีไอเดียอยากส่งต่อความรู้เรื่องการเป็นผู้ประกอบการให้กับเพื่อนๆ ชาวเยเมน แต่กลับพบว่าการส่งหนังสือเรียนไปที่เยเมนเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้และมีเยาวชนเพียง 30% เท่านั้นที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้
‘Arist’ โปรแกรมการเรียนการสอนผ่านข้อความโทรศัพท์มือถือ (SMS) จึงถือกำเนิดขึ้น เพื่อช่วยสนับสนุนให้เด็กที่ไม่มีความพร้อมด้านเทคโนโลยีและอุปกรณ์ยังสามารถเข้าถึงการศึกษาตามปกติ โดยผู้สอนสามารถพิมพ์เนื้อหาได้มากถึง 1,200 ตัวอักษรต่อข้อความ และยังสามารถส่งคู่กับภาพนิ่งหรือภาพเคลื่อนไหว (.gif) ได้อีกด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ผู้เรียนจะใช้อุปกรณ์เพียงโทรศัพท์มือถือเท่านั้น
หลังจากมีการทดสอบกับนักเรียน 100 คนในบอสตันและนักเรียนอีกจำนวนหนึ่งทั่วโลก ผลออกมาว่ามีอัตราการเรียนจนจบคอร์สถึง 92% และนักเรียนกว่า 90% ชอบที่จะเรียนกับข้อความแบบนี้ เพราะเมื่อต้องบรรจุเนื้อหาจำนวนมากลงในข้อความที่จำกัดจำนวนตัวอักษร ผู้สอนจึงเลือกเฉพาะประเด็นที่สำคัญ นอกจากนี้ข้อความส่วนใหญ่จะถูกส่งให้ผู้เรียนในตอนเช้า เพื่อให้พวกเขายังคงใช้ชีวิตประจำวันตามปกติเหมือนกับไปโรงเรียน ไมเคิลและทีมเห็นว่าทรัพยากรที่พวกเขามีเหมาะกับการนำมาใช้ในช่วงเวลาวิกฤตแบบนี้อย่างยิ่ง ซึ่งปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศและอีกกว่า 500 บริษัทที่นำโปรแกรมนี้ไปใช้แล้ว
3. Local PBS ห้องเรียนโทรทัศน์ท้องถิ่นแนวใหม่ ในรัฐอาร์คันซอ
ครอบครัวกว่า 23% ในรัฐอาร์คันซอ สหรัฐอเมริกา ไม่สามารถเข้าถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ต และเมื่อโรงเรียนถูกสั่งปิดตลอดทั้งปีการศึกษา ช่องโทรทัศน์ท้องถิ่น (Local PBS) เห็นตัวอย่างห้องเรียนผ่านช่องโทรทัศน์ท้องถิ่นของโรงเรียนในรัฐแคลิฟอเนีย จึงหันมาจับมือกับโรงเรียนในพื้นที่เพื่อออกแบบการเรียนผ่านช่องโทรทัศน์ให้กับเด็กเตรียมอนุบาลจนถึงมัธยมต้น พร้อมเพิ่มความมีส่วนร่วมและสร้างความน่าสนใจด้วยการชวนคุณครูแต่ละโรงเรียนมาพูดคุยกับนักเรียนสลับกับนักการศึกษาประจำรัฐ
ในเริ่มต้นของห้องเรียนช่องโทรทัศน์ท้องถิ่นจะมีคุณครูเข้ามาแนะนำรายการว่าแต่ละตอนจะได้เรียนรู้เรื่องอะไรบ้าง พร้อมพูดคุยเพื่อชวนเข้าห้องเรียน ให้คล้ายกับบรรยากาศหน้าชั้นเรียนจริง และในตอนจบของแต่ละบทคุณครูจะกลับมาพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องที่เพิ่งเรียนจบไปและชวนคุยถึงการค้นคว้าเกี่ยวกับบทเรียนหรือหัวข้อนั้นๆ นอกจากนี้เพื่อให้เด็กได้มีส่วนร่วมแม้จะเรียนอยู่ไกลกัน ทีมผลิตรายการเพิ่มกิจกรรมให้ผู้เรียนได้มาเล่นเกมร่วมกันสัปดาห์ละครั้ง เช่น เกมบิงโกคำศัพท์ หากใครที่ชนะก็จะได้รับการประกาศชื่อหรือรางวัลจากโรงเรียนของตัวเอง
ผลตอบรับที่ได้จากการจัดการเรียนการสอนผ่านช่องโทรทัศน์ท้องถิ่นคือคุณพ่อคุณแม่หลายคนส่งจดหมายมาถึงคุณครูว่า “เราได้ดูรายการพร้อมกับลูก และรู้สึกขอบคุณมากที่จัดทำสิ่งนี้เพื่อลูกของเรา” เพราะสิ่งที่เด็กขาดหายไปไม่ใช่เพียงความรู้หรือทักษะที่ต้องได้รับการพัฒนาเมื่ออยู่ในโรงเรียนเท่านั้น แต่การมีส่วนร่วมกันในสังคมก็เป็นอีกสิ่งสำคัญสำหรับเด็กและเยาวชนด้วย หากใครมีวิธีชวนเรียน ชวนเล่น ที่น่าสนุกและน่าสนใจ ก็อย่าลืมแบ่งปันและชวนทุกคนมาสนุกด้วยกันนะ
หากคุณเป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะกังวลกับสถานการณ์ หรืออยากหาอะไรทําสนุกๆ School of Changemakers และ สสส. อยากชวนคุณกับเพื่อนๆ ตั้งคําถามและลงมือทําเพื่อหาคําตอบ เพื่อการปรับตัวในยุคโควิด สนใจติดตามรายละเอียดได้ที่ StartYoung.club
อ้างอิง
https://www.theguardian.com/tv-and-radio/2020/apr/12/read-my-lips-how-lockdown-tv-could-boost-childrens-literacy?utm_source=Solutions+Story+Tracker (12 เมษายน 2563) The Guardian
https://turnonthesubtitles.org TOTS
https://www.npr.org/2020/04/22/840337498/how-cell-phones-can-keep-people-learning-around-the-world (22 เมษายน 2563) NPR
https://learningsolutionsmag.com/articles/arist-sees-the-future-of-global-elearning-in-text-messages (18 กันยายน 2562) Learning Solutionshttps://hechingerreport.org/how-to-reach-students-without-internet-access-at-home-schools-get-creative/?utm_source=Solutions+Story+Tracker(19 เมษายน 2563) The Heching Report