knowledge

[TK DreamMakers] ช่องว่างระหว่างวัย Generation Gap

5 มีนาคม 2021


,

บ้านเดียวกัน โรงเรียนเดียวกัน ที่ทำงานเดียวกัน แต่ทำไมบางครั้งเรารู้สึกห่างเหิน เหมือนไม่ใช่พวกเดียวกัน คุยกันคนละเรื่อง การทานข้าวด้วยกันสักมื้อก็สามารถเป็นเรื่องที่ท้าทายได้  คำบ่นอย่าง “ไม่อยากกลับบ้าน” และ “เด็กสมัยนี้” เป็นประโยคสั้นๆ ที่สะท้อนให้เห็นทิศทางของปัญหาช่องว่างระหว่างวัย 

ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าการอยู่ร่วมกันจะยิ่งเป็นเรื่องท้าทายมากขึ้น เนื่องจากประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว หมายถึง 1 ใน 4 คนของประชากรไทยทั้งหมดจะมีอายุมากกว่า 60 ปี และมีจำนวนมากกว่าเด็ก  เราในฐานะคนรุ่นใหม่มีแนวโน้มจะต้องแบกรับหน้าที่ดูแลผู้ใหญ่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ความเข้าอกเข้าใจคนต่างวัย รวมถึงการจัดการการอยู่ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะเปลี่ยน ‘ช่องว่าง’ ระหว่างวัยให้เป็น ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ของคนแต่ละวัยในสังคมที่มีความหลากหลายได้

ต่างรุ่นผ่านโลก

ในแต่ละยุคนั้น คนเราเติบโตในสภาพแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจและเทคโนโลยีที่แตกต่างกัน ทำให้แต่ละรุ่นมีชุดประสบการณ์ ความคิด ความต้องการ การแสดงออกที่แตกต่างกันไป Thinking Generations ได้อธิบายข้อดีของการแบ่งรุ่น ได้แก่

1) สามารถมีใช้การอธิบายประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะความเป็นเหตุเป็นผลระหว่างประสบการณ์ทางสังคมกับการกระทำของคน และสิ่งที่เป็นผลเชื่อมโยงมาถึงปัจจุบัน
2) ช่วยเก็บ ใช้พูดคุย และทำให้เห็นภาพเหตุการณ์สำคัญในช่วงเวลาหนึ่ง
3) สร้างจุดร่วมให้คนรุ่นราวคราวเดียวกัน สร้างความเข้าอกเข้าใจกันและกัน ความเป็นพวกพ้อง และยังเป็นจุดเชื่อมของคนต่างรุ่น ให้รู้สึกว่าเราเป็นครอบครัวเดียวกับคนแปลกหน้าเพราะเขาเกิดรุ่นเดียวกับสมาชิกครอบครัวต่างรุ่นกับเรา
4) แสดงให้เห็นความแตกต่างของคนแต่รุ่น ฉายภาพการยึดถือคุณค่าที่แตกต่างกันของคนแต่ละวัย 
5) อธิบายและทำนายความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นในสังคม 

เราได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับแต่ละเจนเนอเรชันไว้ในตารางด้านล่าง และได้เสริมข้อมูลจากรายงานเจาะเทรนด์โลก 2021 โดย TCDC ในตารางแถวสุดท้าย เพื่ออัปเดตการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากวิกฤติมากมายที่ทำให้หลายๆ เจนเนอเรชันตั้งคำถามและเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองไป ไม่ว่าจะเป็นโรคระบาดโควิด-19 วิกฤตสิ่งแวดล้อม (Environmental Crisis) และความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล (Technological and Digital Disruption) ที่เราเผชิญอยู่ขณะนี้

TraditionalistsGen B/ Baby BoomersGen XGen Y/ MillennialsGen Z
เกิดปี 1928-1945อายุ 76-93 ปีเกษียณแล้วเกิดปี 1946-1964อายุ 57-75 ปีเริ่มเกษียณเกิดปี 1965-1980อายุ 41-56 ปีทำงาน 10 ปีสุดท้าย เกิดปี 1981-1996อายุ 25-40 ปีเริ่มทำงาน-กำลังทำงานเกิดปี 1997-2012อายุ 24-9 ปีกำลังเรียน-เริ่มทำงาน
สงครามโลกครั้งที่ 2การผลิตวัคซีนการผลิตพลังงานนิวเคลียร์Vietnam WarMoon Landingการฟื้นฟูเศรษฐกิจ วัฒนธรรมฮิปปี้ผู้หญิงเริ่มทำงานนอกบ้านยาเสพติดสงครามเย็น Fall of Berlin WallAIDS การให้ความสำคัญกับสุขอนามัยGlobalization (โลกาภิวัฒน์)การศึกษาขั้นพื้นฐานโทรศัพท์มือถือเหตุการณ์ 9/11อินเตอร์เน็ตความเร็วสูง การให้ความสำคัญกับภาษาที่ 2-3
การใช้โซเชียลมีเดียในชีวิตประจำวัน
สังคมดิจิทัลโดยสมบูรณ์การถอนตัวออกจากอียูของอังกฤษ (Brexit)สังคมดิจิทัลโดยสมบูรณ์Youth-led demonstration
ความหลากหลายทางเพศSocial Games
การอนุรักษ์นวัตกรรม ผลประโยชน์ ความมั่งคั่งส่วนตน เสรีภาพ ความก้าวหน้า มั่งคงภาพลักษณ์ ชื่อเสียง หน้าตาในสังคมความสำเร็จ ความคิดสร้างสรรค์
ค่อนข้างมีภูมิต้านทานกับความผิดหวัง มีวินัย มีความเป็นทางการสูง จงรักภักดีต่อประเทศชาติ เคารพและเคร่งครัดต่อกฎหมายและทำเนียมเป็นอย่างมากทำงานหนัก ขยัน อดออม เริ่มมีความเป็นตัวของตัวเอง ริเริ่มการคิดนอกกรอบมากขึ้น  มีความรับผิดชอบ สู้งาน ให้ความสำคัญและดูแลสุขภาพของตัวเองและครอบครัวมากกว่ารุ่นก่อนหน้า
มีความยืดหยุ่นในการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง
มีความมั่นใจ เป็นตัวของตัวเอง มีตัวเลือก ไม่ชอบถูกบังคับ และพร้อมที่จะปฏิเสธสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบ ค่อนข้างมีอิสระทางความคิดและไม่ค่อยมีความอดทนเท่ากับรุ่นก่อน
ให้ความสำคัญกับความสมดุลในการใช้ชีวิต
เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว กล้าแสดงออกและไม่ชอบถูกบังคับ มีความอดทนต่ำ มองโลกในแง่ดี ไม่ยึดวิธีการหรือกรอบ กังวลกับความไม่แน่นอนของอนาคตและโลก 
กังวลและกลัวไวรัสมากกว่ารุ่นอื่น อาจจะไม่ได้ออกจากบ้านหรือไม่ได้พบผู้อื่นตามปกติมาเป็นเวลานาน ทำให้เกิดความตึงเครียด มีอาการซึม และสภาพจิตใจห่อเหี่ยวไม่อยากเลิกทำงาน หาอะไรทำให้ตัวเอง activeมีเวลาว่างมากขึ้นติดโซเชียลมีเดีย หนังและซีรียส์ออนไลน์หัดเล่น eSportจริงจังกับงานอดิเรกออกกำลังกาย ดูแลตัวเองเบื่อโซเชียลมีเดีย แต่ชอบซื้อของออนไลน์ฟัง Podcastอัตราหย่าร้างสูงขึ้น แต่ครองโสดได้ รู้สึกเหงาจากการเล่นโซเชียลมีเดียแต่เลิกไม่ได้Cafe Hoppingเครียดจากงาน จึงให้ความสำคัญกับสุขภาวะ และลงทุนกับบ้าน (สร้างพื้นที่ปลอดภัย)เลี้ยงสัตว์เป็นลูกหรือจ่ายหนักกับการเลี้ยงลูกยินดีเป็นฟรีแลนซ์เพื่อจะได้เล่นกับลูกผู้ชายยินดีที่จะเลี้ยงลูกอยู่บ้านเครียดกังวลจากโควิด ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรต่อกับชีวิต(ลดการจ้างพนักงาน การแทนที่ด้วย AI)สร้าง community และผูกสัมพันธ์บนแลพตฟอร์มออนไลน์ถลิวหาอดีต สนใจสินค้า analogคิดก่อนโพสต์คาดหวังกับรัฐบาลหรือผู้มีอำนาจมากกว่าทุก Generation

ช่องว่างระหว่างวัย – ที่ไหน อย่างไร?

สถานที่อย่าง บ้าน โรงเรียนและที่ทำงาน ที่เราใช้เวลาประมาณ 1 ใน 3 ของวันอยู่ที่นั้นๆ เมื่อคนหลายคน หลายรุ่น มาอยู่รวมกัน อาจมีบ้างที่เกิดเรื่องกระทบกระทั่งกันเป็นธรรมดา  แต่ละคนมีความสัมพันธ์หลากหลายกับสมาชิกคนอื่นๆ บางครั้งช่องว่างของการสื่อสาร ภาษา ประสบการณ์ ทัศนคติ ความเชื่อค่านิยมต่างๆ ทำให้เราแสดงออกในรูปแบบที่แตกต่างกันไป จนเกิดเป็นความไม่เข้าใจ ยอมเก็บเงียบไว้คนเดียว ปิดตัวตน และออกห่าง เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้น ขาดการสื่อสารอย่างสันติเพื่อผ่อนหนักผ่อนเบา ก่อช่องว่างระหว่างวัยและช่องว่างในใจให้ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตและความสัมพันธ์ หากไม่ได้รับการแก้ไข อาจเป็นปัญหาเรื้อรังจนไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้หรือไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ

บ้าน

หากพูดถึงช่องว่างระหว่างวัยในบ้าน เรามักจะมีภาพการทะเลาะกันระหว่างพ่อแม่-ลูกวัยรุ่น สำหรับครอบครัวขยายยังมีช่องว่างระหว่างวัยอย่างเช่น รุ่นหลานกับคนอื่นๆ ในครอบครัว เช่น ลุงป้าน้าอา ปูย่าตายาย หรือ ระหว่าง ลุงป้าน้าอา-ปูย่าตายายด้วยกันเอง  พี่น้องที่อายุห่างกัน รวมไปถึงระหว่างพ่อกับแม่ที่อายุห่างกันมากด้วย

จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติครัวเรือน พบว่า ครอบครัวคนไทยส่วนใหญ่จะอยู่กันแบบครอบครัวเดี่ยว คือ มีพ่อแม่ลูก แต่จะมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ในขณะที่ครอบครัวขยายที่มีพ่อ/แม่/ลูก/ปู่/ย่า/ตา/ยายอยู่ด้วยกันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้สูงวัยมีอายุยืนมากขึ้นและคนส่วนมากมองว่าการอยู่ร่วมกันแบบขยายทำให้ลดค่าใช้จ่ายและเป็นการดูแลกันอย่างทั่วถึง  นอกจากนี้การอยู่คนเดียวก็เป็นอีกทางเลือกที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ เนื่องจากวัฒนธรรมปัจเจกนิยมและช่องว่างระหว่างวัยที่ถ่างกว้างขึ้นและทำให้คนให้ความสำคัญกับการมีพื้นที่ส่วนตัว
อย่างไรก็ดี งานวิจัยเกี่ยวกับปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับสัมพันธภาพในครอบครัวไทย มหาวิทยาลัยมหิดล แสดงถึงครอบครัวเดี่ยวที่อยู่ตามลำพัง พ่อแม่ลูกนั้นมีคะแนนด้านความสัมพันธ์ดีเกือบเป็น 2 เท่าของครอบครัวขยาย ครอบครัวที่มีพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว และครอบครัวแบบอื่นๆ อีกทั้งรายได้ของครอบครัวและสถานภาพการเป็นเจ้าของบ้านและที่ดินหรือการเช่าที่อยู่อาศัยก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความสัมพันธ์โดยตรง คือ ครอบครัวที่มีฐานะดีและมีบ้านของตัวเองนั้นมักจะมีเวลาว่างให้ครอบครัว รับประทานอาหารร่วมกันและมีการพูดคุยร่วมกันทำให้มีแนวโน้มมีสัมพันธภาพที่ดีกว่า 1.73 เท่า ของครอบครัวที่เสียค่าเช่าบ้าน ไปจนถึงมีฐานะยากจน 

ส่วนประเด็นที่มักเป็นเหตุความขัดแย้งในครอบครัว เช่น การเรียนของลูก พฤติกรรมต่างๆ เช่น ติดเกม เล่นมือถือ (ไม่เฉพาะในเด็ก) ทัศนคติ ความเห็นต่างในเรื่องการเมือง หรือสถาบัน แม้งานวิจัยจะพบว่าทุกกลุ่มอายุให้ความสำคัญกับการอยู่ในประเทศประชาธิปไตย โดยมี 33% ของคน Gen Y, 25% ของคน Gen X, และ 23% สำหรับ Gen B ที่รู้สึกว่าตนไม่สามารถแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้อย่างเสรี ซึ่งผลไม่ต่างกันมาก แต่ก็มักจะเป็นประเด็นดุเดือดในบ้านอยู่บ่อยครั้ง  ผลพวงของช่องว่างระหว่างวัยนี้ อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิต เครียด ซึมเศร้าต่างๆ ตามมา

โรงเรียน

สถานศึกษาเป็นสถาบันที่สังคมส่งต่อความรู้ ทักษะ แนวคิดเรื่องคุณค่าและวัฒนธรรมจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง แต่ในยุคดิจิทัลอย่างในปัจจุบัน ที่เด็กๆ เติบโตมากับมือถือ แท็บเลต เกม และโซเชียลมีเดีย หากสงสัยอะไรสามารถค้นหาได้จากอินเทอร์เน็ต  วิธีการเรียนการสอนแบบทางเดียว กลายเป็นเรื่องท้าทายสำหรับการสอนและหลายๆ ครั้งก็เป็นเรื่องที่ทำให้ไม่เข้าใจกันบ่อยๆ หากมองมุมกลับ สิ่งใหม่ๆ ที่เด็กๆ ใช้มีแนวคิด ความรู้ ทักษะแฝงอยู่ เป็นเครื่องมือที่คนรุ่นก่อนสร้างไว้ให้ชีวิตง่ายขึ้น และไม่ใช่สิ่งไม่ดีเสมอไปหากรู้จักใช้อย่างเหมาะสม  ทำให้ปฎิเสธไม่ได้ว่า สิ่งเหล่านี้ก็คือของดีที่สามารถแลกเปลี่ยนและส่งมอบให้รุ่นก่อนหน้าได้เช่นกัน การแลกเปลี่ยนระหว่างคนรุ่นใหม่และรุ่นเก่าจะทำให้สังคมก้าวหน้าโดยไม่ลืมรุ่นไหนไว้ข้างหลัง 

อีกช่องว่างหนึ่งที่เกิดขึ้นที่โรงเรียนเกิดจากปัญหาด้านความสัมพันธ์​ เมื่อดูผลสำรวจช่องว่างในห้องเรียนไทย ปี 2561 พบว่าเด็กไทยอยากให้ครูใส่ใจเป็นรายบุคคล ไม่ลำเอียง และอยากให้ครูที่สนิทให้คำปรึกษา ส่วนครู อยากพัฒนาตัวเองโดยเฉพาะความรู้ ในการดูแลเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ส่วนพ่อแม่ก็ยอมรับว่าไม่มีเวลาใส่ใจการเรียนลูก ทำให้เด็กคาดหวังและต้องการความรักความเอาใจใส่จากครูมากกว่าความรู้เสียอีก

ที่ทำงาน

Generation Gap สร้างแรงกดดันทำให้ทั้งเพื่อนร่วมงานต่างรุ่นเกิดความเห็นที่แตกต่าง เป็นสาเหตุสำคัญของความตึงเครียดในที่ทำงาน อาจทำให้ไม่สามารถร่วมงานกันได้ และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ที่ทำงานเสียพนักงานรุ่นใหม่อยู่เสมอ  ผลสำรวจออนไลน์เปิดเผยว่า 1 ใน 3 ของคนทำงานเสียเวลากับความขัดแย้งเรื้อรังกับเพื่อนร่วมงานต่างวัยกว่า 5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (คิดเป็น 12% ของเวลาทำงาน)

ช่องว่างระหว่างวัยในที่ทำงานในปัจจุบัน เราจะเห็นภาพความไม่เข้าใจกันระหว่างคน Gen X ซึ่งส่วนมากก้าวขึ้นไปสู่ตำแหน่งระดับสูงขององค์กรกับ Gen Y และ Gen Z กลุ่มที่เพิ่งเริ่มทำงานไม่นาน ทั้งสองกลุ่มมีวิธีการคิด พฤติกรรม ไลฟ์สไตล์ที่ต่างกัน ​ทำให้เกิดข้อกล่าวหาว่าเด็กสมัยใหม่ทำงานไม่เป็น ไม่มีมารยาท รักสบาย ไม่รู้จักอดทน ไม่ทุ่มเท ไม่มีความจงรักภักดีต่อองค์กร ไม่เชื่อฟัง ชอบคิดแปลกๆ ส่วนคนรุ่นใหม่ก็จะมองว่าทำไมต้องทนกับความลำบาก ถ้าหากมีทางเลือก ทำไมต้องทนทำงานกับคนที่กลัวการเปลี่ยนแปลง เคร่งกฎระเบียบ อยากให้ดูที่ผลงานเป็นหลัก

ไม่ว่าข้อกล่าวหานั้นจะเป็นจริงหรือไม่ ในปีนี้ Gen B จะทยอยเกษียณงาน แต่พวกเขาส่วนใหญ่นั้นต่างยังไม่อยากหยุดทำงาน ไม่ว่าจะเพราะแนวโน้มสุขภาพที่ดีขึ้นทำให้ยังมีแรงทำงานอยู่ การกลัวไม่มีอะไรทำ ไม่อยากอยู่เฉยๆ หรือมีภาระที่ต้องหารายได้อยู่ ด้วยเหตุนี้ทำให้ Gen B มักจะขอทำงานต่ออีกสัก 5 ปีในที่ทำงานเดิม หรือมองหางานใหม่ และองค์กรจำนวนหนึ่งเลือกจะเสริมทักษะใหม่ๆ ให้กับชาว Boomer ผู้มีประสบการณ์การทำงานและเข้าใจงานอยู่แล้ว มากกว่ารับเด็ก Gen ใหม่เข้าทำงาน

Interesting Facts

ยกตัวอย่างผลสำรวจในประเทศญี่ปุ่น นักเรียนป.3-6 โหวตให้ “คามาโดะ ทันจิโร่” ตัวเอกจากดาบพิฆาตอสูร (หนังอนิเมะชื่อดังและกำลังเป็นกระแสในประเทศไทยด้วย) เป็นบุคคลในอุดมคติอันดับ 1 ประจำปี 2020 แทนพ่อแม่เป็นครั้งแรก โดยมี “คุณแม่” “คุณครู” และ “คุณพ่อ” ตามมาเป็นอันดับ 2, 4 และ 5 ตามลำดับ
เด็กๆ รุ่นใหม่มองหาคนที่ยอมรับข้อเสียของตัวเอง มีการเรียนรู้และมีการก้าวข้ามขีดจำกัดเดิมๆ เหตุนี้ทำให้บุคคลที่เป็นสื่อด้านไลฟ์สไตล์ หรือ “influencer” ในสื่อสังคมมีอิทธิพลอย่างมาก 

  • การใช้เวลาร่วมกันระหว่างเด็กและผู้สูงวัยส่งผลดี
    เด็กที่ใช้เวลาอยู่กับปู่ย่าตายายมีแนวโน้มที่จะมีจิตใจอ่อนโยน จัดการอารมณ์ได้ดี มีทัศนคติที่ดีต่อผู้สูงอายุ ไม่เลือกปฏิบัติกับผู้สูงอายุ คอยดูแลผู้สูงวัยตลอดจนคนทุกวัยอย่างเท่าเทียม ในทำนองเดียวกัน ผู้สูงวัยที่ได้เลี้ยงหลานนั้นก็มีทัศนคติที่เปิดกว้าง ทันสมัย และเป็นการฝึกสมองให้เฉียบไวมากขึ้น การทดลองหนึ่งพบว่าผู้สูงอายุที่ได้ใช้เวลาอยู่กับหลานตอบปัญหาเชาว์ได้มากกว่า  สุดท้าย ความสัมพันธ์ระหว่างเด็กและปู่ย่าตายายยังช่วยลดภาวะซึมเศร้าในทั้งสองฝ่าย 
  • การมีครูหลายรุ่นในสถาบันเดียวกันนั้นมีข้อดีและเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อคุณภาพของการสอนและสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้ (learning environment)
    เนื่องจากผู้เรียนจะมีโอกาสได้อยู่ร่วมกับคนหลายช่วงวัย โดยที่ครูแต่ละรุ่นก็ได้เพิ่มมุมมองและลักษณะเฉพาะรุ่นให้กับการเรียนรู้ เช่น ครูที่อายุมากกว่าก็มีประสบการณ์ทางการสอนและทางชีวิต ส่วนครูที่อายุน้อยก็ได้รับชุดความรู้และฝึกทักษะที่ทันสมัย รู้จักนวัตกรรมใหม่ๆ และมีพลังความเป็นคนหนุ่มสาว ส่งผลให้นักเรียนมีความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพสังคมและความท้าทายในการเติบโต
  • “เด็กสมัยนี้” แย่กว่าสมัยก่อนจริงหรือ
    มีการวิจัยเกี่ยวกับประโยค “เด็กสมัยนี้” หรือที่เรียกว่า “The kids these days” Effect ที่ผู้ใหญ่มักใช้บ่นเด็กรุ่นใหม่ ว่ายังไม่มีหลักฐานหรือข้อเท็จจริงที่ไม่ bias ที่ชัดเจนและหนักแน่นพอจะบอกว่าเด็กสมัยนี้ไม่เก่ง ไม่ดีเท่ากับคนรุ่นก่อน และที่ผู้ใหญ่ส่วนใหญ่ทำไปนั้นคือกลไกในจิตใต้สำนึกที่ทำงานในเวลาที่ต้องตัดสินผู้อื่น เราจึงดึงความทรงจำที่มักจะเพี้ยนไปจากความเป็นจริงซึ่งทำให้คิดเปรียบเทียบปัจจุบันกับอดีตผิดพลาดและอคติทางความคิดมาใช้
  • การเหยียดอายุ (Agism)
    โลกกำลังกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ มีคนหนุ่มสาวจำนวนหนึ่งกังวลว่าตนเองจะเป็นเสียงส่วนน้อย อีกทั้งคนรุ่นใหม่บางส่วนนั้นมองว่าตนเองเป็นเหยื่อที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของคนรุ่นเก่า  ยกตัวอย่าง ประโยคยอดฮิต เช่น “OK Boomer” ที่แปลได้ประมาณว่า “โอเค พวกคนหัวเก่า” ที่คนรุ่นใหม่ตอกกลับคนรุ่นเก่าเพื่อแสดงถึงความเหนื่อยหน่าย จะเห็นได้ว่าเป็นการแสดงออกที่ค่อนข้างอันตรายและไม่ทำให้เกิดการจัดการกับช่องว่างระหว่างวัยอย่างสร้างสรรค์ นานเข้าอาจทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติ (discrimination) ทำให้การเสียเปรียบ (disadvantage) และอาจสร้างความรุนแรงขั้นชีวิต เช่น การเรียก Covid-19 ว่าเป็น “Boomer Remover” หรือ เครื่องล้างคนหัวเก่าให้หมดไป 

Challenges!

  1. ลักษณะของครอบครัวที่ความสัมพันธ์เข้มแข็งคือเป็นครอบครัวที่มีการทำกิจกรรมร่วมกัน พูดคุย เล่นกีฬา/ออกกำลังกายด้วยกัน ผ่อนหย่อนใจนอกบ้านด้วยกัน มีการพูดคุยปรึกษาหารือกันพูดคุยกันโดยใช้เหตุผล และแสดงออกถึงความรักและ เอื้ออาทรด้วยคำพูด มีการศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ในครอบครัวใน 5 ภาคของประเทศไทย 
  • ครอบครัวในภาคใต้มีความสัมพันธ์ที่ดีกว่าภาคอื่น ทั้งนี้อาจเป็นผลมาจากทรัพยากรธรรมชาติทางภาคใต้ที่นำรายได้เข้าประเทศในระดับสูง ได้แก่ ยางพารา ดีบุก ประมง สวนผลไม้ และการท่องเที่ยว รวมถึงสังคมมุสลิมที่เข้มแข็ง ภาคใต้จึงมีอัตราการย้ายถิ่นออกเพื่อหางานและโอกาสน้อยกว่าภาคอื่นๆ ครอบครัวอยู่ร่วมกันและใช้เวลาด้วยมากกว่า
  • ส่วนคนภาคอื่นๆ มีอัตราย้ายถิ่นไปสู่เมืองใหญ่ในภาคของตนหรือไปกรุงเทพฯ เพื่อไปทำงานส่งเงินกลับบ้านหรือเด็กโตไปเรียน กลับมาปีละครั้งสองครั้ง ทำให้ครอบครัวเหล่านี้แหว่งกลาง เหลือเพียงเด็กและผู้สูงวัยที่บ้าน อาจส่งผลกระทบกับความใกล้ชิดและขยายช่องว่างในครอบครัว

จะทำอย่างไรให้ครอบครัวที่ไม่มีเวลาอยู่ร่วมกันและมีภาระมาก และครอบครัวที่อยู่ในภาคอื่นๆ ได้มีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน และไม่มีใครรู้สึกถูกทิ้งไว้ข้างหลังด้วย

  1. ไม่ใช่ความต่างของวัยที่ทำให้เราไม่เข้าใจกัน งานวิจัยระบุว่า คนที่อยู่ในวัยเดียวกันก็มีเรื่องให้กระทบกระทั่งกันเป็นประจำ แม้จะอยู่บ้านเดียวกัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการที่มีคนลักษณะหนึ่งในบ้านทำให้ดึงดูดหรือสร้างคนอีกลักษณะหนึ่งขึ้นมาเพื่ออยู่ร่วมกัน และอีกส่วนคือคนที่อยู่ร่วมกันได้อย่าง healthy มักจะแชร์คุณค่า ความเชื่อและเป้าหมายเดียวกันที่มีต่อความสัมพันธ์ สนับสนุนกันและกันในการบรรลุเป้าหมาย  ทำตามพันธสัญญา สร้างและรักษาความไว้วางใจและความชิดใกล้ และรู้จักแก้ไขปัญหาในทางสร้างสรรค์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้แทบจะสร้างได้ไม่ว่าจะในวัยใดหรือรุ่นใดก็ตาม
  1. สุดท้าย มีนักคิดและนักวิชาการจำนวนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดการแบ่ง Generation เพราะมีช่องโหว่ ที่ทำให้โต้แย้งได้ว่า ‘รุ่น’ ไม่มีอยู่จริง เป็นแนวคิดที่ล้าสมัย ไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในสังคมปัจจุบันและยังมองข้ามปัจจัยที่ช่วยสร้างความต่างในระดับบุคคล อีกทั้งยังมักนำเสนอภาพของคนชนชั้นกลาง มองข้ามคนรากหญ้าและมักละเลยประเด็นความเหลื่อมล้ำ  หากเป็นเช่นนั้นเราจะแบ่งกลุ่มคนอย่างไรให้ยังคงข้อดีของการแบ่งรุ่นได้ หรือไม่ควรแบ่งดีกว่า

Our favorite projects to bridge the gap

ช่องว่างระหว่างวัยที่ผลักวัยรุ่นคีร์กีซสถานไปร่วมขบวนการหัวรุนแรง

วัยรุ่นคีร์กีซสถานกว่า 500 คนไปเข้าร่วมกลุ่มจัดตั้งรัฐอิสลามในซีเรีย ด้วยเหตุนี้ องค์กร Helvetas จึงเข้าไปสอบถามข้อมูลจากวัยรุ่นถึงสาเหตุที่ทำให้เข้าร่วมขบวนการและพบว่านอกจากปัญหาความยากจนและการตกงานแล้ว อีกปัญหาที่ซ่อนอยู่และเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักพวกเขาไปก็คือการขาดการสื่อสารพูดคุยกันระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ เนื่องจากสังคมคีร์กีซสถานนั้นมีลำดับชั้นทางสังคม (social hierarchy) ที่ค่อนข้างเด็ดขาด ทำให้คนอายุน้อยไม่สามารถขัดแย้งกับคนที่อายุมากกว่าได้  การสื่อสารส่วนใหญ่จึงมักจะเป็นไปในทางเดียว คือ ผู้ใหญ่สั่งเด็กมากกว่าการคุยกัน ส่งผลให้คนหนุ่มสาวขาดคำแนะนำและการสนับสนุนทางจิตใจ

ทีม Helvetas ได้นำความรู้ใหม่นี้มาออกแบบเป็นกิจกรรมการเรียนรู้ด้านสันติภาพ ซึ่งเน้นการสร้างความเข้าใจระหว่างคนหนุ่มสาวกับผู้ใหญ่ โดยที่คนหนุ่มสาวนั้นจะต้องมีสิทธิ์มีเสียงเป็นของตัวเอง และใช้สิทธิ์และเสียงนั้นเพื่อการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในชุมชน 

เริ่มจากการจัดกิจกรรมที่วัยรุ่นจากต่างพื้นเพได้ทำร่วมกัน และฝึกให้มีการนำเสนอโปรเจกต์ที่จะช่วยลดความรุนแรงให้คนสูงวัยฟัง ส่วนผู้ใหญ่นั้นก็ได้รับการอบรมเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมที่ดี สิทธิ์ของคนหนุ่มสาว การฝึก active listening และ coaching

Vintage Generations Cookbook สูตรอาหาร ‘หมู่บ้านวินเทจ’ จากรุ่นสู่รุ่น

ศูนย์ CRAFT (Center for Regional Agriculture, Food, and Transformation) ของมหาวิทยาลัย Chatham เมือง Pittsburgh รัฐ Pennsylvania ประเทศสหรัฐอเมริกา ทำงานสร้างระบบผลิตอาหารยั่งยืน ได้เห็นโอกาสในการชวนคนหลากหลายเจนเนอเรชั่นมาร่วมงานกัน จึงจัดทำโครงการฝึกงานสำหรับนักศึกษาให้ไปถอดความรู้ด้านอาหาร เพื่อทำ cookbook ที่เป็นเอกลักษณ์ของชาว Vintage หมู่บ้านที่ตั้งอยู่ในละแวกเดียวกัน
การสัมภาษณ์เพื่อเก็บสูตรอาหารใช้เวลาหลายเดือน ทำให้นักศึกษาได้ใช้เวลาร่วมกับคนต่างรุ่นแล้วยังได้เรียนรู้ประวัติความเป็นมาของเจ้าของสูตรไปด้วย (ภาพกลาง: ประวัติเจ้าของสูตร) ส่วนเจ้าของสูตรก็รู้สึกใกล้ชิดกับเด็กรุ่นใหม่มากขึ้น มีสังคม Reconnect กับเพื่อนบ้านและรู้สึกได้สร้างประโยชน์จากการส่งต่อสิ่งที่ทำง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน มาเป็น cookbook ในนามคนหมู่บ้านวินเทจ

Senior Citizens Write Wikipedia ชวนคุณครูเกษียณมาเขียนคอนเทนต์

แม้จะมีความรู้และประสบการณ์มากมาย ผู้สูงวัยมักจะเป็นชนกลุ่มน้อยบนโลกออนไลน์ เนื่องจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่รวดเร็วจนตามไม่ทัน กลายเป็นกำแพงขนาดใหญ่ระหว่างพวกเขากับโลกยุคปัจจุบัน  ส่วน Wikipedia เองก็ประสบปัญหาผู้แก้ไขคอนเทนต์ลดจำนวนลง​  Wikimedia (มูลนิธิเพื่อสร้างเนื้อหาการศึกษาฟรี โดย Wikipedia) กรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก จึงเกิดเป็นไอเดียแมทช์เด็กนักเรียนให้เป็นเมนเทอร์ผู้สูงวัยด้านเทคโนโลยีและให้ผู้สูงวัย หรือครูและอาจารย์สูงวัยที่มากประสบการณ์และความรู้แต่อาจไม่มีแรงไปสอนเหมือนสมัยหนุ่มๆ มาแชร์ให้คนรุ่นหลังบน Wikipedia ในฐานะ ‘อาจารย์เกษียณ’ 

และด้วยความที่โครงการนี้ทำได้ไม่ยากเกินไปทำให้มีหลายคนที่ทราบข่าวนำไปชวนคุณพ่อคุณแม่ที่บ้านทำด้วยกัน เป็นกิจกรรมกระตุ้นสมองผู้สูงวัยและได้ใช้เวลาร่วมกัน

อ่านเพิ่มเติม

The 101 World – สำรวจความอยู่ดีมีสุขของเด็กไทย ในวันที่พ่อแม่ไม่อยู่บ้าน กับ อารี จำปากลาย (24 พ.ย. 2563)

สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ ​TK DreamMakers เพื่อทำความเข้าใจประเด็นนี้ในชุมชนและพื้นที่ของตนเอง
ค้นหาไอเดียในการพัฒนาและแก้ไขปัญหา ได้ตั้งแต่วันนี้ ถึง 21 มีนาคม 2564
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ ที่นี่


ใส่ความเห็น

เข้าสู่ระบบด้วย

หรือ