knowledge

[TK DreamMakers] ความหลากหลายทางเพศ Gender Diversity

5 มีนาคม 2021


, , ,
, , , ,
,

ในปัจจุบัน เราเห็นธงสีรุ้ง ป้าย PRIDE แดร็กควีน (Drag: Dressed Resembling A Girl) หรือคู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศแสดงความรักต่อกันในที่สาธารณะมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องที่หลายคนให้ความสำคัญและเป็นประเด็นที่ได้รับการยอมรับมากขึ้น แม้จะมีความพยายามในการเปิดพื้นที่ให้ คนกลุ่มนี้มากขึ้นจนทำให้เราอาจจะรู้สึกว่าสังคมไทยมองเพศหลากหลายในเชิงบวก แต่ในความเป็นจริง ผู้มีความหลากหลายทางเพศนั้นก็ยังถูกตีตรา แบ่งแยก ถูกเลือกปฏิบัติ และความหลากหลายทางเพศยังเป็นเรื่องต้องห้าม (taboo) ยังต้องการความเข้าใจการสะกิดให้เกิดการเรียนรู้และขยับกรอบความคิด ยอมรับความแตกต่าง และสร้างสังคมที่น่าอยู่สำหรับคนหลากหลายกลุ่มมากขึ้น

Genderbread Person และ LGBTQIA+

ภาพจาก www.genderbread.org

หลายคนอาจจะรู้จักคำว่า ‘LGBT’ ที่มาจากคำว่า Lesbian-Gay-Bisexual-Trans มากกว่า ‘ความหลากหลายทางเพศ’ แต่ LGBT รวมถึง QIA+ ที่รวม Queer-Intersex-Asexual ด้วย เป็นคำเรียกอัตลักษณ์​ทางเพศของกลุ่มผู้มีความหลากหลาย ซึ่งอัตลักษณ์เหล่านี้มีความลื่นไหล สามารถเปลี่ยนได้ทุกเมื่อ เช่น วันนี้เราอาจจะรู้สึกชอบคนเพศตรงข้าม เรามีอัตลักษณ์เป็นผู้หญิง/ผู้ชาย  และในอีกวันหนึ่งเราได้ใกล้ชิดกับคนเพศเดียวกัน เราก็รู้สึกชอบไม่ต่างกัน เราก็จะเปลี่ยนอัตลักษณ์เป็น Bisexual  อย่างไรก็ดี คำเหล่านี้ก็ยังไม่สามารถตอบมิติอื่นๆ ของเพศหลากหลายได้ทั้งหมด เราอยากชวนเรียนรู้ความหลากหลายทางเพศผ่าน Genderbread Person (มาจาก Ginger Bread หรือ ขนมปังขิง)  โมเดลนี้ช่วยให้เราความเข้าใจความหลากหลายทางเพศของตัวเองและผู้อื่นในแต่ละมิติ และสามารถนำไปใช้สื่อสารเพื่อความเข้าใจที่ตรงกันได้ 

1. เราเกิดมาเป็นเพศอะไร หรือ เพศกำเนิด Biological sex
เพศกำเนิดเป็นสิ่งเดียวที่ถูก ‘กำหนด’ มาให้เราตั้งแต่ก่อนเกิด ซึ่งจะเป็นสิ่งที่กำหนดรูปร่างภายนอกและชีวภาพของเรา เพศกำเนิดของเราส่วนใหญ่ดูจากรูปร่างของอวัยวะเพศเป็นหลักโดยมีหมอเป็นคนบอก ตามมาด้วย ฮอร์โมน โครโมโซม รูปร่างของร่างกาย เสียง และขนตามร่างกาย

Spectrum เพศกำเนิดมีอยู่ 3 ประเภทคือ Female/หญิง  Male/ชาย และ Intersex/เพศกำกวม

  • Intersex เพศกำกวม คือ ผู้ที่มีรูปร่างและชีวภาพที่ไม่สามารถบอกเพศได้ชัดเจน ความกำกวมนี้จะถูกพบตอนเกิด ซึ่งหมอจะใช้ดุลพินิจดูว่าเป็นเพศใด (ใกล้เคียงเพศหญิงหรือชาย) แต่การระบุเพศทางในการแจ้งเกิดเป็นการตัดสินใจของครอบครัว เนื่องจากกฎหมายยังไม่มี ‘เพศกำกวม’ ซึ่งอาจจะทำให้มีปัญหาอีกครั้ง  เมื่อคนๆ นั้นเข้าวัยรุ่นและพบว่ารูปร่าง หน้าตา เสียง และอวัยวะเพศของตัวเองโตมาไม่เหมือนกับที่แจ้งเกิด เกิดความสับสนด้านตัวตน​ และยังทำให้มีปัญหาทางกฎหมายในอนาคตด้วย

2. การเลือกว่าเราเป็นเพศใด หรืออัตลักษณ์ทางเพศ  Gender identity
อัตลักษณ์ทางเพศ เป็นการเลือกจากความรู้สึก ว่า เราเป็นเพศใด แม้บริบททางสังคมมักมีส่วนในการหล่อหลอมความคิดของเราในการระบุเพศ แต่ความจริง เราสามารถใช้ความรู้สึกในการเลือกอัตลักษณ์ทางเพศได้เช่นกัน ไม่มีอัตลักษณ์ทางเพศใดที่ถูกหรือผิด ไม่ว่าใครจะพูดหรือคิดกับมันอย่างไร เป็นสิทธิ์ของเราที่จะเลือกระบุว่าเราเป็นอะไรหรือไม่เป็นอะไร ว่าจะเปิดเผยแสดงออกหรือไม่ (ควรจะเปิดเผยเมื่อเราต้องการและรู้สึกปลอดภัย) และเราก็ควรเคารพในสิทธิ์และความรู้สึกของตัวเองและผู้อื่นในเรื่องนี้ด้วย
นอกเหนือจาก หญิงชายตามเพศกำเนิด (Cis female/male) แล้วอัตลักษณ์ทางเพศยังมีอีกมากมาย ได้แก่

  • เลสเบี้ยน Lesbian: หญิงที่ดึงดูดหญิง 
  • เกย์ Gay: ชายที่ดึงดูดชาย (บางครั้งก็ใช้อธิบายเลสเบี้ยนด้วย)
  • ไบ Bisexual: บุคคลดึงดูดบุคคลทั้งเพศหญิงและเพศชาย
  • หญิง/ชายข้ามเพศ หรือ ทรานส์ Transgender: หญิงหรือชายที่เพศกำเนิดไม่ตรงกับอัตลักษณ์ทางเพศที่คิดหรือรู้สึก และแสดงออกตามเพศสภาพ เช่น แต่งตัว ทรงผม คำเรียก ท่าทาง โดยไม่ว่าจะศัลยกรรมแปลงเพศหรือไม่
  • เควียร์ Queer: ไม่มีคำจำกัดความ เป็นเพศลื่นไหล เป็นเพศที่เหนือบรรทัดฐานเดิม เช่น เกย์ที่ต้องชอบเกย์ก็อาจจะเป็นเกย์ที่ชอบผู้หญิง หรือเป็นทอมที่ดึงดูดหญิงข้ามเพศ เป็นต้น  นอกจากนี้ บางครั้ง Q ก็แทนคำว่า Questioning หมายถึงคนๆ นั้นกำลังตั้งคำถามกับอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเองอยู่
  • Intersex: เพศกำกวม
  • Asexual: ผู้ที่ไม่มีความปรารถนาทางเพศ (อธิบายต่อใน รัก/ชอบเพศอะไร Sexual orientation)

3. เราแสดงออกภายนอกว่าเป็นเพศอะไร  Gender expression
เราแสดงออกภายนอกเป็นเพศอะไร เช่น แต่งกาย ไว้ทรงผม มีการแสดงออกทางท่าทาง มีการพูด และใช้คำสรรพนาม เช่น นาย ดิฉัน หรือ คำลงท้าย เช่น คะ/ครับ เป็นต้น ซึ่งเราสามารถสังเกตเห็นความ ‘สองขั้ว’ ได้ แต่ปัจจุบัน ในต่างประเทศ มีการสร้าง gender expression ที่เป็นไม่เป็นหญิงและไม่เป็นชายเสียทีเดียว และรณรงค์ให้ใช้คำสรรพนามที่เป็นกลาง เราอาจจะเคยเห็นจากคอลเลกชันหรือแบรนด์เสื้อผ้าที่เป็น unisex 

4. เรารัก/ชอบเพศอะไร Sexual orientation
เพศที่เราชอบ/รัก/ดึงดูดคือเพศอะไร อาจจะเป็นความต้องการเพศนั้นๆ ทางอารมณ์ ทางจิตใจ หรือทางร่างกาย (อยากมีเซ็กซ์กับเพศใด) ทั้งนี้ รวมเพศที่เราแอบฝัน (Fantasize) ว่าจะมีความสัมพันธ์ทางเพศได้ด้วย นอกจากนี้ก็มี Asexual หรือผู้ที่ไม่มีความปรารถนาทางเพศ กลุ่มนี้ไม่ใช่กลุ่มผู้ถือพรหมจรรย์หรือผู้ที่หมดสมรรถภาพทางเพศ  Asexual สามารถมีความรัก โกรธเกลียด ต้องการความสัมพันธ์แบบใกล้ชิด และมีเพศสัมพันธ์ได้เหมือนเพศอื่น เพียงแต่ไม่ได้ต้องการเซ็กซ์

มิติต่างๆ ทางเพศ ยังเป็นนิยามที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาให้เข้ากับสถานการณ์ในแต่ละสมัย อีกทั้ง ในแต่ละมิติก็ไม่มีคำตอบที่ถูกหรือผิด และไม่มีคำตอบตายตัว เพราะเพศเป็นเรื่องที่สามารถลื่นไหล แปรเปลี่ยนได้ และเป็นสิทธิ์ของเราเสมอ

ความหลากหลายทางเพศ- ที่ไหน อย่างไร?

ความหลากหลายทางเพศมีอยู่ในตัวเราทุกคน แต่ด้วยการเติบโตในสังคมที่มองเพศแบบ binary (ระบบหญิงชาย) ที่สืบทอดแนวคิดมาจากสังคมชายเป็นใหญ่ (Patriarcy) โดย ‘ความเป็นชาย’ ที่แข็งแรง ขึงขัง จะได้รับการยอมรับในสังคม ถูกจัดให้อยู่ด้านบนของลำดับชั้นสังคมและมีอำนาจเหนือกว่า ‘ความเป็นอื่น’ ไม่ว่าจะเป็น ความเป็นหญิงหรือความเป็นชาย ‘แบบอื่น’ เช่น ชายที่อ่อนไหวอ่อนโยน ชายที่แสดงความเป็นหญิง หรือมีลักษณะนอกบรรทัดฐาน จะถูกจัดให้อยู่ด้านล่าง ทำให้เราสร้างอคติทางเพศและสังคมที่ไม่เท่าเทียมขึ้นมา สอดคล้องกับการสำรวจที่พบว่ากลุ่มผู้หญิงข้ามเพศและไบเซ็กชวลชายเป็นกลุ่มที่ถูกตีตราในหลากหลายรูปแบบมากกว่ากลุ่มอื่น

ผู้ที่เป็นเบื้องล่างมักถูกตีตรา แบ่งแยก จัดให้เป็นชนกลุ่มน้อย ถูกเลือกปฏิบัติ ถูกเหมารวม ถูกใช้คำที่อาจสื่อความหมายทางลบหรือชื่อที่ไม่ชอบ ล้อเลียนอัตลักษณ์ ถูกจำกัดไม่ให้แสดงออกทางเพศในที่บ้าน ที่เรียนและที่ทำงาน และถูกคาดหวังให้ชอบกับเพศที่ ‘ควร’ คบ  เสี่ยงไร้บ้านไร้งานไร้สังคม ถูกจำกัดสิทธิทางกฎหมาย อาจไม่สามารถแสดงและพัฒนาศักยภาพได้อย่างเต็มที่ และถูกกระทำรุนแรง (เกินครึ่งถูกละเมิดทางคำพูด และ 16% เคยถูกล่วงละเมิดเพศ) เสี่ยงคิดฆ่าตัวตาย (49% ของกลุ่มผู้ตอบผลสำรวจ LGBT ไทยเคยคิดฆ่าตัวตาย  17% เคยพยายามฆ่าตัวตายแล้ว กลุ่มอายุระหว่าง 18-24 ปีที่ไม่ได้รับการยอมรับและถูกเลือกปฏบัติจากครอบครัวเป็นกลุ่มที่เสี่ยงที่สุด)

ไร้บ้าน ไร้งาน ไร้สังคม

จากการสำรวจพบว่าการยอมรับความหลากหลายทางเพศยังเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก โดยเฉพาะในครอบครัว กลุ่มเพื่อน และในพื้นที่ชนบท โดยผู้ตอบแบบสำรวจส่วนหนึ่งยอมรับว่ารับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศได้แต่ไม่อยากสุงสิง รวมถึงรับได้เฉพาะที่เป็นคนนอกครอบครัว เนื่องจากวัฒนธรรม ความเชื่อ และวิถีปฏิบัตส่วนใหญ่มีแนวคิดแบบสองขั้วชายหญิง เราจึงมีอคติทางเพศ (ไม่มากก็น้อย) ที่ฝังรากลึกทำให้เราเลือกปฏิบัติหรือคิดลบกับผู้มีความหลากหลายทางเพศแบบที่เราไม่รู้ตัว แนวคิดเช่นนี้มักจะทำคนนอกบรรทัดฐานให้ ‘เป็นอื่น’ จากครอบครัวและพวกพ้องของตัวเอง

อย่างการเป็น ‘ปอแน’ ในวัฒนธรรมมุสลิมก็ทำให้ไม่สามารถเข้าร่วมพิธีทางศาสนาได้ เสี่ยงโดนทำร้าย และถูกกดดันจนต้องออกจากบ้าน คล้ายๆ กับสถานการณ์ที่เกิดกับผู้มีความหลากหลายทางเพศ ไม่ว่าจะมาจากสังคม เมือง ชนบท หรือชนเผ่า เป็นผลข้างเคียงจากคำสอนและความเชื่อทางศาสนา ซึ่งแท้จริงแล้ว สามารถตีความได้หลากหลาย แต่ขาดการตั้งคำถามพูดคุยถกประเด็น ทำให้เกิดความรุนแรง การตีตรา และทำให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศต้องต่อสู้ และต่อรองทางความคิดในการตีความนั้น และยังต้องโดดเดี่ยวจาก Homophobia ในโลกศาสนา รวมถึงโลกนอกศาสนาด้วย 
ไม่ว่าจะแสดงออกหรือไม่ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่ง่ายที่จะก้าวผ่าน และสร้างปัญหาทางจิตใจในระยะยาว โดยเฉพาะอยู่ในช่วงสร้างตัวตนหรือวัยเปลี่ยนผ่าน อาจต้องออกจากบ้านมาเร่ร่อนตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น (ภาวะไร้บ้านคือหนึ่งในปัญหาที่กลุ่ม LGBT+ เผชิญมากที่สุด) อาจถูกปฏิเสธเวลาไปหาหมอ เมื่อถึงวัยทำงานก็อาจถูกโจมตีที่เพศสภาพมากกว่าดูที่ผลงาน  สิ่งสำคัญสำหรับเพศหลากหลายคือการยอมรับตัวเอง  การมีสังคมและพื้นที่ปลอดภัย (การยอมรับของครอบครัว) การวางตัวที่เหมาะสม

ครอบครัวพ่อ-พ่อ แม่-แม่

การงาน การเงิน สุขภาพ ความรักคือเรื่องท้าทายในชีวิตที่เกิดขึ้นกับทุกคน แต่สำหรับครอบครัวของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ไม่รวมที่พวกเขาต้องต่อสู้กับอคติของสังคม พวกเขายังต้องเผชิญกับอุปสรรคที่อยู่ในระดับสิทธิขั้นพื้นฐาน แม้จะมีพ.ร.บ.คู่ชีวิต ขึ้นเพื่อให้กลุ่ม LGBTQIA+ ได้รับความคุ้มครองอย่างเท่าเทียมมากขึ้น แต่พวกเขาก็ยังไม่ได้รับสิทธิทางสวัสดิการ สิทธิประโยชน์ของคู่ชีวิต จากการมีครอบครัวเทียบเท่าคู่สมรสชาย-หญิง และยังตอกย้ำความเป็นอื่นของคู่ LGBTQIA+ เช่น การเน้นจัดการทรัพย์สิน ไม่มีการรับรองบุตร การใช้คำที่ไม่ครอบคลุมอัตลักษณ์ทางเพศที่หลากหลาย

แนวคิดเรื่องครอบครัวมีฐานแนวคิดคู่มากับสังคมชายเป็นใหญ่ ที่ว่าครอบครัวต้องมีชายหญิงเป็นสามีภรรยา และมีลูก กลายเป็นอีก stereotype ว่าครอบครัวจะต้องมีพ่อแม่ลูกจึงจะ ‘สมบูรณ์’  เป็นอีกการเหมารวมที่ทำให้เรามองข้ามความเป็นครอบครัวในแบบอื่น เพราะยังมีครอบครัวที่พ่อแม่เป็นหมัน แม่หรือพ่อเลี้ยงเดี่ยว ยายหลาน พี่น้องดูแลกันเองโดยไม่มีพ่อแม่ ซึ่งไม่มีความสัมพันธ์ทางเพศเลย นอกจากนี้ก็มีครอบครัวพ่อพ่อลูก และแม่แม่ลูก และทั้งหมดที่กล่าวมาก็สามารถเป็นครอบครัวที่ ‘สมบูรณ์’ ได้ไม่ต่างกัน

Interesting Facts

  • เนื่องจากเราอยู่ในสังคมที่คนส่วนใหญ่ยังใช้คำว่า เพศ ‘sex’ และ สถานะเพศ ‘gender’ แทนกัน แต่ความจริงแล้ว สองอย่างนี้ต่างกันโดยสิ้นเชิง หากไม่มีการแยกแยะจะยิ่งสร้างความสับสนให้มุมมองที่มีต่อเพศ สิ่งนี้ส่งผลต่อชีวิตของเราในระดับความคิด ระดับครอบครัวและสังคม รวมไปถึงในระดับกฎหมายด้วย
  • ทุกวันนี้ยังไม่มีคำที่เป็นกลางสำหรับทุกเพศอย่างเท่าเทียม อย่าง สามี-ภรรยา ขนาดในพ.ร.บ.คู่ชีวิตยังใช้คำว่าคู่ชีวิต ไม่ใช่สมรส เป็นการยัดเยียดความ eternal ให้กับชีวิตคู่ของเพศหลากหลาย และคำที่ใช้เรียกเพศหลากหลาย หลายคนก็ยังติดคำว่า ‘เพศที่สาม’ แสดงถึงการจัดให้เพศมีลำดับและการเหมารวม โดยมีเพศชายเป็นที่หนึ่ง เพศหญิงเป็นที่สอง แล้วเพศที่สามคือ LGBT+ ที่เหลือทั้งหมดได้อย่างไร รวมไปถึง คำว่า ‘เบี่ยงเบนทางเพศ รักร่วมเพศ สายเหลือง คุณแม่ ซิส ลูกสาว (ไม่ใช่ทุกคนที่อยากเป็นญาติกับเรา และเพราะเขาไม่ได้อยากให้คนอื่นมองเขาว่าเป็นเพศหญิง) ประเทือง แต๋ว เก้ง กวาง ขุดทอง’ ก็สื่อความหมายที่มีความตีตรา เหมารวม คำเหล่านี้ไม่ควรใช้ 
    ในต่างประเทศได้ระบุ ‘คำสากล’ ที่เป็นที่ยอมรับในหมู่ผู้มีความหลากหลายทางเพศ เช่น LGBT+ และคำกลาง (neutral-gender) ไว้ใช้เรียกทุกเพศ และสรรพนามใหม่สำหรับเพศหลากหลาย โดยมีความพยายามที่จะสร้างวัฒนธรรมการแนะนำตัวที่บอกคำที่เราอยากให้คนอื่นใช้เรียกและพูดถึงตัวเอง
  • อีกประเด็นร้อนที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานมานี้ คือ การเลือกเซ็นเซอร์และตัดฉากผู้หญิงจูบกันในหนังและซีรีย์ เนื่องจากเหตุผลทาง ‘ศีลธรรม’ แต่ในขณะเดียวกลับเลือกผลิต ฉายและให้น้ำหนักกับฉากจูบในซีรีย์วาย (Yaoi) ที่มีพระเอก-นายเอก รวมไปถึงฉาก ‘ตบจูบ’ และฉากข่มขืนในละครที่มีคู่พระเอก-นางเอก
  • นอกจากเรื่องความเท่าเทียมทางเพศที่ยังไม่ได้รับการให้ความสำคัญในเพศศึกษาแล้ว Consent (การยินยอม) ก็เป็นอีกเรื่องสำคัญที่ต้องปูพื้นให้กับคนรุ่นใหม่ การยินยอมนี้ไม่ได้หมายถึงการมีเพศสัมพันธ์อย่างเดียวเท่านั้น การเปิดเผยตนกับคนอื่นว่าเป็น LGBTQ ก็ต้องเป็นสิทธิ์และเป็นการยินยอมของเจ้าตัว

Challenges!

  1. การเข้าใจมิติทางเพศ การรู้สิทธิ์และการเคารพเพศหลากหลายอาศัยการเรียนรู้
    มีหลายประโยคที่เราคุ้นชิน ที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศถูกถาม แม้จากคนแปลกหน้าและคนที่เพิ่งรู้จักกันใหม่ แต่เป็นคำพูดที่ล่วงเกินความเป็นส่วนตัวของผู้มีความหลากหลายทางเพศ เช่น “สวยขนาดนี้เอามดลูกฉันไปเถอะ” “ใช่ใช่มั้ย” “ตัดรึยัง” “เคยรึยัง” “ลองสักครั้งจะติดใจ” “มีอวัยวะเพศใหม่แล้วรึยัง” “ใหญ่หรือไม่” “มี sex ยังไง” เป็นต้น
    จากการสัมภาษณ์กับผู้มีความหลากหลายทางเพศในรายการ Bababook พบว่าผู้มีความหลากหลายทางเพศที่อายุน้อยมีแนวโน้มจะรับคำพูดที่ไม่ควรใช้ได้มากกว่าผู้ที่มีประสบการณ์และมีความรู้ด้านเพศเท่าเทียม ซึ่งการรับคำพูดที่ไม่ควรใช้ได้นั้นสามารถสะสมและทับถมไปสู่การอดทนกับความไม่เท่าเทียมอื่นๆ ได้ เราจะทำอย่างไรให้การเข้าใจมิติทางเพศ การรู้สิทธิ์และการเคารพเพศหลากหลายเป็นความรู้พื้นฐานและเป็นสิ่งที่ยิ่งรู้เร็วยิ่งดี
  2. ที่ไหนมีความเกลียดชัง ที่นั่นย่อมมีคนไร้บ้าน
    ผู้มีความหลากหลายทางเพศจำนวนมากไร้บ้าน ซึ่งสาเหตุหลักสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ LGBT ไร้บ้านเป็นเพราะการเปิดเผยตัวตนทางเพศของเรากับครอบครัว แล้วครอบครัวไม่ยอมรับ ถูกตัดขาดการเป็นครอบครัว หรือถูกไล่ออกจากบ้านต้องเร่ร่อนไร้บ้าน   แม้จะเป็นสิ่งที่ใจร้ายที่จะทำ แต่ความเชื่อก็เป็นสิทธิ์ที่ทุกคนสามารถยึดถือได้ไม่ต่างจากอัตลักษณ์ทางเพศ  ดังนั้นพื้นที่ปลอดภัยจึงไม่ใช่แค่บ้าน แต่เป็นสิ่งที่รัฐและสังคมต้องสร้างให้พลเมือง เราจะทำอย่างไรให้มีพื้นปลอดภัยมากขึ้นในสังคม
  3. เพียงผู้ใหญ่ 1 คนที่เข้าใจ
    เกือบครึ่งของกลุ่ม LGBT เคยคิดฆ่าตัวตาย และ 17% เคยพยายามฆ่าตัวตายแล้ว โดยวัยรุ่นไม่ได้รับการยอมรับและถูกเลือกปฏิบัติจากครอบครัวมีแนวโน้มสูงที่สุด แบบนี้เราอาจจะรู้สึกเป็นเรื่องของคนในครอบครัว แต่มีรายงานระบุว่าความจริงแล้ว ในชีวิตพวกเขา เพียงมีผู้ใหญ่เพียง 1 คนที่เข้าใจและรักพวกเขาแบบที่เป็น สนับสนุนเขาในทางที่เขาเลือก สามารถลดความพยายามที่จะฆ่าตัวตายใน LGBT วัยรุ่นได้กว่า 40% ไม่จำเป็นต้องเป็นพ่อแม่เท่านั้น เราจะทำอย่างไรให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศเข้าถึงผู้ใหญ่ที่เข้าใจมากขึ้นเหล่านี้

Our favorite projects to bridge the gap

ทีมฟุตบอลบูคู (Buku FC) เพื่อสันติภาพและความเสมอภาค

ขอบคุณรูปจาก https://www.facebook.com/bukuclassroom 

ปัตตานี จังหวัดที่คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามและเป็นพื้นที่ที่ยังมีความรุนแรงอยู่ ทำให้มีการควบคุมด้านความปลอดภัยมากมาย และทำให้เหลือช่องว่างให้ผู้หญิงมุสลิมและผู้ที่มีเพศหลากหลายในพื้นที่แสดงออกน้อยมาก  อันธิชา แสงชัย หรืออาจารย์อัน เห็นช่องว่างนี้และต้องการทำงานด้านสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศ และต้องการสร้างพื้นที่ทำกิจกรรมให้คนได้มาเรียนรู้ร่วมกันเกิดเป็น Buku Classroom

ณ ร้านหนังสือบูคู มีห้องเรียนเพศวิถีให้คนให้พื้นที่ได้แลกเปลี่ยนกันในประเด็นทางเพศ และ LGBT+ อย่างไม่มีการตัดสิน และเป็นที่ตั้งทีมฟุตบอล Buku FC ที่มีภาพจำว่าฟุตบอลเป็นกีฬาของผู้ชาย และสร้างภาพใหม่ว่าใครก็เล่นฟุตบอลได้ แม้จะมีการชูประเด็นความหลากหลายทางเพศแต่ผู้ที่เข้าร่วมทีมฟุตบอลนี้ไม่ได้มีแค่ LGBT+ เท่านั้น ยังมีผู้หญิงใส่ฮิญาบ ผู้ชายที่มีแนวคิดเปิดกว้าง และคนหลากหลายวัยมาเตะฟุตบอลร่วมกัน อาจารย์อันตั้งใจให้ห้องเรียนบูคูเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะกลุ่ม LGBT ให้เขาเรียนรู้และแสดงความเป็นตัวของตัวเองออกมาได้

แคมเปญ People Have Period ไม่ใช่ผู้หญิงเท่านั้นที่มีประจำเดือน

ขอบคุณรูปจาก CALLALY

จากการสำรวจของ Callaly บริการจัดส่งผ้าอนามัยแบบสอด พบว่า 2 ใน 3 คน ผู้ใช้ผ้าอนามัยไม่รู้สึกว่าประสบการณ์ด้านการมีประจำเดือนของตัวเองถูกถ่ายทอดในโฆษณาและสื่อ เพราะในความจริง ไม่ได้มีแค่ผู้หญิงร่างบางหน้าตาสดใสเท่านั้นที่มีประจำเดือน Callaly จึงทำแคมเปญเล่าเรื่องคน 13 คนที่มีประจำเดือนและรู้สึกมาตลอดว่าถูกลืม โดยมีเรื่องราวในแง่มุมต่างๆ ของผู้พิการและผู้มีความหลากหลายทางเพศ เช่น ผู้ชายข้ามเพศ และเลสเบี้ยน

The Trevor Project: จากหนังแต่ง LGBT สู่โปรเจกต์ช่วยชีวิตวัยรุ่น

จากการทำหนังสั้นเรื่อง Trevor ที่เล่าเรื่องเกย์วัย 13 ปีที่ถูกปฏิเสธจากเพื่อนเพราะเพศของเขาจึงพยายามฆ่าตัวตาย ทีมผู้สร้างได้ค้นพบว่าเรื่องของ Trevor ไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับวัยรุ่นที่มีความหลากหลายทางเพศ ทว่าเป็นเรื่องเดียวกันกับที่หลายคนกำลังเผชิญอยู่ ทีมผู้สร้างจึงค้นหาเบอร์สายด่วนที่ให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายเพื่อฉายขึ้นพร้อมกับหนังแต่ปรากฏว่าสายด่วนดังกล่าวไม่มีอยู่จริง พวกเขาเลยตัดสินใจสร้างสายด่วนนี้ขึ้นมาเองโดยการขอทุนจากมูลนิธิ Colin Higgins Foundation ซึ่งในระหว่างทางพวกเขาก็พบกับอุปสรรคอื่นๆ มากมายที่ต้องเผชิญด้วย เช่น การขาดการยอมรับผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งต้องอาศัยการขับเคลื่อนประเด็นในรูปแบบองค์กร พวกเขาจึงจัดตั้งองค์กร The Trevor Project ขึ้นมา และการช่วยเหลือด้านอุปสรรคอื่นๆ ที่วัยรุ่น LGBT+ พบ 

ปัจจุบัน The Trevor Project เป็นองค์กรแนวหน้าที่ขับเคลื่อนงานป้องกันการฆ่าตัวตายที่เกิดในกลุ่มวัยรุ่น LGBT+ ผ่านสายด่วน The Trevor Lifeline ที่มีผู้ให้คำปรึกษา เว็บไซต์เพื่อรวบรวมแนวทางการดำเนินชีวิตสำหรับ LGBT+ และองค์ความรู้สำหรับผู้ปกครองและคุณครูเพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยและ inclusive ที่วัยรุ่นกลุ่มนี้จะได้รับการยอมรับ ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน นอกจากนี้ก็ทำวิจัยที่จะนำองค์ความรู้ใหม่ๆ ในการช่วยเหลือวัยรุ่นกลุ่มนี้ รวมถึงความรู้ด้านการแพทย์ และทางกฎหมายด้วย

อ่านเพิ่มเติม

สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ ​TK DreamMakers เพื่อทำความเข้าใจประเด็นนี้ในชุมชนและพื้นที่ของตนเอง
ค้นหาไอเดียในการพัฒนาและแก้ไขปัญหา ได้ตั้งแต่วันนี้ ถึง 21 มีนาคม 2564
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ ที่นี่


ใส่ความเห็น

เข้าสู่ระบบด้วย

หรือ