คนพิการ คือ คนที่ถูกจำกัดความสามารถหรือมีข้อจำกัดในการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือเข้าไปมีส่วนร่วมทางสังคมได้อย่างบุคคลทั่วไป เนื่องจากมีความบกพร่องทางร่างกายหรือสติปัญญา ทำให้มีความต้องการพิเศษด้านต่างๆ เพื่อให้สามารถดําเนินชีวิตและมีส่วนร่วมในสังคมได้อย่างปกติ ซึ่ง WHO ได้นิยามความพิการออกมาอย่างน่าสนใจว่าเป็น ความเสียเปรียบของบุคคล
สังคมไทยส่วนใหญ่ยังมองผู้พิการในเชิงสงเคราะห์ น่าสงสาร ซึ่งพวกเขาไม่ได้ต้องการ ระยะหลังมานี้ เราจะเห็นกลุ่มผู้พิการออกมามีบทบาทมากขึ้นในการเรียกร้องสิทธิและความเท่าเทียมด้วยตัวเอง พวกเขาออกมาเล่าเรื่องราวของตนให้สังคมได้รู้จักพวกเขาในฐานะคนๆ หนึ่งมากขึ้น ทว่าปัญหาของคนพิการอาจเป็นหนึ่งในหลายๆ สิ่งที่สังคมรับรู้แต่ยังไม่ได้ให้ความใส่ใจมากเท่าใดนัก การสร้างสังคมที่มีทรัพยากรทางกายภาพที่อำนวยความสะดวกด้านต่างๆ และออกแบบให้ตอบโจทย์คนทุกกลุ่ม (Universal Design) ไม่สามารถรอรัฐบาลมาสร้างอย่างเดียวได้ ‘ความเสียเปรียบ’ นี้มีอีกหลากหลายมุมที่ยังต้องอาศัยการยอมรับ ความเข้าใจจากสังคมที่ต้อนรับคนทุกประเภท (Inclusive) ด้วย
คนพิการ
ความพิการมี 7 ประเภท คือ ความพิการทางการมองเห็น ทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย ทางการเคลื่อนไหว ทางจิตใจหรือพฤติกรรม ทางสติปัญญา ทางการเรียนรู้ และทางออทิสติก ทั้งนี้ยังไม่รวมความพิการซ้ำซ้อน หรือเป็นได้มากกว่า 1 ประเภท ซึ่งทำให้เกิดความลำบากในการใช้ชีวิตมากขึ้น
นอกจากประเภทของความพิการแล้ว การแบ่งผู้พิการเป็นกลุ่มอายุก็น่าสนใจ ชวนตั้งคำถามต่อได้ไม่แพ้กัน
- กว่าครึ่งของผู้พิการทั้งหมดมีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป
- คนพิการอายุ 15–59 ปี หรืออยู่ในวัยทำงาน มีจำนวนกว่า 8 แสนคน
- คนพิการที่เป็นเด็กแรกเกิด-21 ปีนั้นมีความพิการทางสติปัญญามากที่สุด
อุปสรรค ที่ไหน อย่างไร
บ้าน
การมีผู้พิการในบ้านทำให้มีค่าใช้จ่ายในการรักษาดูแลและต้องการแรงงานในการดูแลมากกว่าบ้านอื่น คนในบ้านถือเป็นกำลังสำคัญ หากในครอบครัวมีผู้พิการที่ดูแลตัวเองไม่ได้ ทำให้ต้องมีคนหนึ่งทํางานนอกบ้านและอีกคนหนึ่งเป็นผู้ดูแลผู้พิการ และด้วยค่าใช้จ่ายในการรักษา ค่าอุปกรณ์เทคโนโลยี ค่าเดินทาง การเข้าถึงการศึกษาที่สอดคล้องกับความต้องการความจําเป็นพิเศษของคนพิการ รวมไปถึงเวลา อาจต้องใช้มากกว่าคนอื่นนั้นทำให้หลายครอบครัวมีรายได้ไม่เพียงพอ ส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กพิการและการฟื้นฟูสมรรถนะของผู้พิการอย่างมาก
สถานศึกษา
ในประเทศไทยมีผู้พิการจบการศึกษารวมตั้งแต่ระดับปวส.ถึงปริญญาเอกเพียงไม่ถึง 3 หมื่นคนเท่านั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากอุปสรรคในการเข้าถึงความต้องการจำเป็นพิเศษที่โรงเรียนทั่วไปไม่มี เช่น ครูเฉพาะทาง เทคโนโลยีต่างๆ โครงสร้างทางกายภาพที่เอื้ออำนวย และหลายๆ ครั้งก็เรียนในห้องใหญ่ทำให้ผู้สอนไม่ทราบว่ามีผู้พิการอยู่ในห้องด้วย ทำให้พวกเขาไม่สามารถทำกิจกรรมเพื่อเก็บคะแนนแบบเพื่อนได้ และอีกส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดแรงใจในการเรียนจบสูงของนักเรียนพิการ
นึกถึงการไปเรียน คนตาดีไปเรียนยังเหนื่อย แล้วคนตาบอดจะทำอย่างไร จากประสบการณ์การทำงานของ The Guidelight พบว่านักเรียนตาบอดใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ในการจำทางไปห้องเรียน 1 วิชา ยังไม่รวมว่า ผู้สอนอาจไม่ทันรู้ว่ามีนักเรียนตาบอดอยู่ ทำให้หลายๆ ครั้ง นักเรียนตาบอดจึงไม่ได้เช็คชื่อเข้าเรียน ขาดสอบ ไม่สามารถตอบคำถามจากวิดีโอ และไม่สามารถอ่านชีทติวสอบได้ แม้จะได้ทุนเข้ามาเรียนแต่การไปเรียนก็ยากลำบาก เกิดความท้อแท้ และอาจเสี่ยงหลุดออกจากระบบ
ที่ทำงาน
ปัญหาด้านการศึกษาส่งผลต่อเนื่องให้มีผู้พิการมีข้อจำกัดทางวุฒิการศึกษาในการสมัครงานในภาควิชาชีพ รวมถึงผู้พิการยังถูกจำกัดตัวเลือกด้านอาชีพด้วยโครงสร้างทางกายภาพและระบบการทำงานส่วนใหญ่ถูกคิดมาเพื่อให้คนทั่วไปมากกว่าคิดถึงกลุ่มผู้พิการ ผู้พิการจึงมีสิทธิ์ถูกปฏิเสธไม่รับเข้าทำงานมากกว่ากลุ่มเสี่ยงอื่นๆ หรือหากได้รับเข้าทำงาน ก็อาจมีปัญหาในการเดินทาง ต้องใช้เวลาและมีค่าใช้จ่ายมากกว่าผู้อื่น (ผู้พิการทางการเคลื่อนไหวใช้เวลาเดินทางเข้ามาในกรุงเทพกว่า 3 ชั่วโมง เพราะไม่สามารถขึ้นรถเมล์ได้และมักโดนปฏิเสธจากแท็กซี่ ทำให้กระทบกับเวลาและผลการทำงาน ผู้พิการส่วนใหญ่จึงจำต้องทำงานรับจ้างทั่วไป มีรายได้ไม่มั่นคง หรือทำงานในภาคการเกษตร การประมง ซึ่งพวกเขาก็มีข้อจำกัดในการทำงานและยังได้ค่าตอบแทนน้อย
ขอบคุณภาพจาก Twitter Account: ThaiPBS
ชุมชน/สังคม
ปัจจุบัน ผู้พิการถูกละเลยจากสังคมด้วยโครงสร้างและระบบยังไม่ตอบโจทย์ความเสียเปรียบของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นระบบขนส่งที่ไม่เอื้อให้ผู้พิการเดินทางด้วยตนเองได้ ส่วนกฎหมายที่ควรจะป้องกันสิทธิ์ก็มีความยืดหยุ่น ทำให้ไม่มีการบังคับบทลงโทษที่ชัดเจนสำหรับการสร้างตึกไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการ และปฏิเสธไม่รับผู้พิการขึ้นรถแท็กซี่หรือไม่รับเข้าทำงานโดยไม่ดูผลงานก่อนเพราะความพิการ ถือเป็นการเลือกปฏิบัติและการละเมิดสิทธิของคนพิการ ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นสิ่งผิดกฎหมาย เมื่อผู้พิการถูกกันออกจากสังคม คนทั่วไปก็ไม่ค่อยมีโอกาสเห็นและเข้าใจความยากลำบากที่พวกเขาพบ การอยู่ร่วมกัน ทำงานร่วมกันจึงเป็นเรื่องยาก เพราะคนทั่วไปไม่รู้ว่าควรจะปฏิบัติตัวกับผู้พิการอย่างไร และมองผู้พิการด้วยความสงสารและสงเคราะห์แทน
Interesting Facts
- จากจำนวนผู้พิการไทยทั้งหมด ครึ่งหนึ่งเป็นผู้พิการทางการเคลื่อนไหว และอีก 2 กลุ่มใหญ่ๆ เป็นผู้พิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมายและทางการมองเห็น ซึ่งล้วนแต่เป็นความพิการที่มีความชัดเจนในระดับหนึ่ง ระบุได้ไม่ยาก แตกต่างจากความพิการอื่นๆ อาจไม่มีอาการชัดเจน เช่น ความพิการทางจิตใจหรือพฤติกรรม ทางสติปัญญา ทางการเรียนรู้ และทางออทิสติก ทำให้ผู้พิการประเภทนี้จำนวนหนึ่งได้รับการดูแลรักษาช้า และอาจทำให้เกิดความล่าช้าด้านพัฒนาการและลดความสามารถในการดูแลตัวเองได้
- เรามีผู้พิการทางการได้ยินอยู่ถึง 1.5 พันล้านคนบนโลก แต่ภาษามือ (Sign Language) ในแต่ละประเทศนั้นไม่เหมือนกัน แม้จะเป็นภาษาเดียวกันอย่างภาษาอังกฤษ ในอเมริกาและอังกฤษก็ไม่สามารถใช้สื่อสารในความหมายเดียวกันได้ มีหลากหลายคำที่ท่าทางใกล้เคียงกันแต่ความหมายแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
- คำนิยามของความพิการส่งผลต่อทัศนคติ การปฏิบัติและปฏิสัมพันธ์ที่ผู้พิการได้รับจากคนทั่วไป อย่างในอเมริกา เรียกผู้พิการว่าแฮนดีแคป (Handicap) ซึ่งหมายความว่า ผู้ที่ต้องการแต้มต่อจากผู้อื่น และในสหราชอาณาจักร (UK) เรียกว่า ดิสเอเบิล (Disable) หรือผู้ไร้ความสามารถ ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะแม้พวกเขาจะไม่สามารถทำสิ่งหนึ่งได้ แต่เขายังมีความสามารถอย่างอื่นอีกมากมายที่รอเราค้นหา
- การมีทัศนคติต่อผู้พิการเชิงสงเคราะห์ สงสารและรู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัวนั้นอาจไม่เป็นจริงเสมอไป เพราะว่าวันหนึ่งเราเองก็อาจจะต้องพิการ เมื่อดูสถิติปัจจุบันแล้ว มีผู้พิการจำนวนมากไม่ได้มีความพิการมาตั้งแต่เกิด แต่เกิดจากการเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุ ซึ่งอาจจะเกิดได้จากอุบัติเหตุทางท้องถนน ไปจนถึงความเจ็บป่วยเรื้อรังจากการเลี้ยงดูและสภาพแวดล้อมที่เติบโตมา
Challenges!
- อีกเหตุผลหนึ่งที่ผู้พิการหลายคนไม่ได้รับสิทธิและสวัสดิการขั้นพื้นฐาน คือ อุปสรรคของการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ทั้งความเสียเปรียบทางร่างกายของตัวเองไปจนถึงการเข้าถึงสังคมที่มีคนทั่วไปที่สามารถกระจายข่าวถึงเขา ทำให้ผู้พิการมักจะรู้ข่าวสารช้ากว่าคนไม่พิการ ยกตัวอย่างเช่นสื่อส่วนใหญ่ไม่มีล่ามภาษามือหรือคำบรรยายด้านล่าง ทำให้ผู้พิการทางการได้ยินไม่สามารถเข้าใจได้และต้องรออ่านข่าวจากบทความหรือภาษามืออีกทีหนึ่ง เราจะทำอย่างไรให้ผู้พิการทางการสามารถรับรู้ข่าวสารน่าเชื่อถือ (รวมถึงสื่อความบันเทิงด้วย) ไปพร้อมๆ และเท่าๆ กับคนทั่วไปได้บ้าง
- น้อยกว่า 1 ใน 5 ของผู้พิการวัยทำงานได้รับการจ้าง จากการสำรวจพบว่าส่วนใหญ่ผู้พิการอาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบทและมีรายได้น้อย เฉลี่ยเดือนละ 4,326 บาท เท่านั้น เราลองนึกดูว่ามีอาชีพหรืองานใดบ้างที่มั่นคง สร้างรายได้ และช่วยพัฒนาศักยภาพของผู้พิการแต่ละประเภท
- Role Model หรือบุคคลต้นแบบ มีความสำคัญสำหรับทุกคน พวกเขาเป็นแรงบันดาลใจให้เรากล้าฝัน กล้าทำ กล้าล้ม กล้าลุก แต่สำหรับผู้พิการแล้ว พวกเขาแทบจะรู้เรื่องราวของ Role Model ที่เขารู้สึกเชื่อมโยงด้วยน้อยมาก อาจทำให้ขาดแรงบันดาลใจในการเรียนและทำอาชีพ และคนไม่พิการก็ยิ่งติดภาพจำเดิมๆ ที่ผู้พิการน่าสงสาร ทั้งๆ ที่มีผู้พิการมากมายที่เป็นบุคคลต้นแบบได้ เราจะทำอย่างไรให้มีผู้พิการและสังคมได้รับรู้เรื่องราวของผู้พิการที่เป็นต้นแบบเพื่อสร้างแรงบันดาลใจและลบล้างภาพเก่าๆ ได้บ้าง
Our favorite projects to bridge the gap
Love is Hear คอนเสิร์ตที่คนหูหนวกกับคนหูดีเอ็นจอยดนตรีไปด้วยกันได้
ขอบคุณภาพจาก Facebook Page: Love is Hear
เริ่มมาจากคำถามที่ว่า คนหูหนวกฟังดนตรีอย่างไร เพราะไหม สนุกไหม เพราะเราไม่เคยเห็นคนหูหนวกดูคอนเสิร์ตเลย แต่ความจริงคนหูหนวกฟังดนตรีได้ผ่านอีก 4 ประสาทสัมผัสอื่น พี่บี๋ ปรารถนา จริยวิลาศกุลและเพื่อนๆ จึงคิดว่าอยากให้คนหูหนวกกับคนหูดีสัมผัสกัน เป็นคอนเสิร์ตที่ใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน เพื่อให้คนทั่วไปเห็นว่าคนพิการก็คือคนปกติคนหนึ่งที่เต้นเพลงเดียวกับเรา สามารถรับรู้เสียงดนตรี และจังหวะเดียวกับเราได้ จากคำถามนั้นก็กลายมาเป็นคอนเสิร์ตที่ตั้งใจจะจัดวันเดียวรอบเดียว ในปี 2010 (ต่อมาได้จัดอีกครั้งในปี 2020) แต่สามารถทำให้เกิดการรับรู้เรื่องนี้ และสร้างผลกระทบให้ได้มากที่สุด โดยการไม่หักค่าใช้จ่าย และให้กับการกุศล
ในการชมคอนเสิร์ตนั้น น้องๆ หูหนวกจะนั่งแถวหน้าและได้รับแจกลูกโป่งประจำตัว ลูกโป่งนี้ เป็นสื่อกลางรับแรงสั่นสะเทือนตามคลื่นเสียงของเครื่องดนตรีแต่ละชนิด และทำให้ลูกโป่งสั่นตามจังหวะหนักเบาแตกต่างกันตามเสียงดนตรี ด้วยความคิดสร้างสรรค์นี้ น้องๆ หูหนวกก็สามารถสนุกไปกับจังหวะและแรงสั่นสะเทือน ยิ้มขยับซ้ายขวา เต้นไปพร้อมกับแสงสีเสียง แรงสั่นที่อยู่ตรงหน้าได้ ซึ่งผู้ชมปกติก็สามารถลองรับรู้ดนตรีผ่านการสัมผัสได้จากลูกโป่งที่อยู่ประจำที่นั่งของตัวเองได้เช่นกัน
ขอบคุณภาพจาก Facebook Page: The Guidelight
จากการช่วยเพื่อนตาบอดอ่านหนังสือสอบจนจบในวันนั้น ทำให้จูน เมธาวี ทัศนาเสถียรกิจ เริ่มสนใจและต้องการทำงานกับผู้พิการทางสายตา เธอใช้เวลาหลายเดือนในการทำความเข้าใจปัญหานักเรียนตาบอดต้องเผชิญและพบว่าคนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจศักยภาพและไม่ได้จัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของนักเรียนตาบอด คนตาบอดจึงเสี่ยงไม่เรียนหนังสือและต้องประกอบอาชีพขายลอตเตอรี่ ร้องเพลงเล่นดนตรีเรี่ยไรเงินบริจาค หรือโอเปอเรเตอร์รับสาย กลายเป็นภาพจำและการผลิตซ้ำของความสงสารในสังคม
จูนจึงเริ่มก่อตั้ง The Guidelight สร้างระบบสนับสนุนนักศึกษาตาบอดในการเรียน ด้วยการสร้างสื่อการเรียนที่เหมาะสมและเข้าถึงได้ง่ายสำหรับนักเรียนตาบอด เช่น หนังสือเสียงระบบ DAISY (Digital Accessible Information System) ทำเครื่องมือให้อาจารย์เข้าใจและสามารถปรับการสอนให้เหมาะสมกับคนตาบอดได้ จัดคู่ จัดงานให้นักเรียนตาบอดมาเจอกับ Role Model ตาบอดเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ รวมไปถึงจัดกิจกรรมที่ทำให้คนตาดีกับตาบอดใกล้ชิดกันมากขึ้น ปัจจุบัน The Guidelight จับมือกับบริษัทด้านเทคโนโลยี จัดกิจกรรมเสริมทักษะงานในอนาคตให้กับนักเรียนตาบอดและนักเรียนผู้พิการทางการเคลื่อนไหว เพื่อทำหน้าที่ ‘AI Data Labeling’ ฟังหนังสือเสียงและฟัง text ส่วนนักเรียนวีลแชร์ก็ตรวจคำผิด เป็น editor ทำให้น้องๆ ผู้พิการได้ทั้งทักษะแห่งอนาคตและค่าตอบแทนด้วย
ขอบคุณรูปภาพจาก 3andathird
ลิซา นูสซะโควซี่ ผู้ก่อตั้ง MoGo บริการแชร์จักรยานในดีทรอยด์ สหรัฐอเมริกา ได้รับคำถามจากจอนห์ วอเทอร์แมน ผู้ก่อตั้งโครงการ Programs to Educate All Cyclists ต้องการสอนผู้พิการใช้จักรยานเป็นวิธีหลักในการเดินทาง และเป็นการเดินทางด้วยตนเอง ว่าเธอจะทำให้บริการของเธอช่วยให้ผู้พิการใช้จักรยานได้อย่างไร เธอจึงร่วมมือกับเขาทำจักรยานดัดแปลงเพื่อคนหลากหลาย 13 คัน ซึ่งแต่ละคันถูกออกแบบมาให้ตอบโจทย์ตั้งแต่ผู้พิการในหลากหลายประเภท ผู้สูงวัย แม่ลูกอ่อน ผู้ที่มีสุนัขนำทาง รวมไปถึงคนไม่พิการที่มีของต้องขนย้ายเยอะ แม้จะโครงการนี้จะยังอยู่ในขั้นทดลองและมีจักรยานหลายคันที่ต้องปรับปรุงใหม่ให้ตอบโจทย์ผู้ใช้งานมากขึ้น แต่ก็ได้รับผลตอบรับดีไม่น้อย
อ่านเพิ่มเติม
- BBC – ใช้ชีวิตในประเทศไทย เป็นอย่างไรสำหรับคนพิการ
- งานวิจัยเกี่ยวกับการเสริมสร้างความอบอุ่นของครอบครัวลักษณะเฉพาะ
- ThisAble.me – We Fair ชี้ 1,000 ไม่พอเยียวยาคนพิการจากโควิด-19 แถมเพิ่มเบี้ยบางกลุ่มยิ่งตอกย้ำความจน
สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ TK DreamMakers เพื่อทำความเข้าใจประเด็นนี้ในชุมชนและพื้นที่ของตนเอง
ค้นหาไอเดียในการพัฒนาและแก้ไขปัญหา ได้ตั้งแต่วันนี้ ถึง 21 มีนาคม 2564
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ ที่นี่