เราต่างเคยเจอสถานการณ์ที่ความตั้งใจและความหวังดีในการแก้ปัญหาอาจไม่ได้ช่วยทำให้ปัญหาหายไป บางครั้งอาจทำให้ปัญหาขยายใหญ่ บางครั้งอาจย้ายปัญหาจากจุดหนึ่งไปไว้อีกจุดหนึ่ง หรืออาจเลวร้ายถึงขั้นสร้างปัญหาใหม่มาเพิ่มและทิ้งปัญหาเดิมให้คงอยู่
ปัญหารถติดที่คิดไม่ตก
การแก้ปัญหารถติดโดยการสร้างถนนเพิ่ม ฟังดูแล้วอาจเป็นวิธีที่จะช่วยแก้ปัญหาได้ แต่เมื่อทำจริงพบว่าการมีถนนเพิ่มขึ้นช่วยได้เพียง “ชะลอ” (delay) ปัญหา เพราะเมื่อถนนมีมากขึ้น ในช่วงแรกรถก็จะเคลื่อนตัวได้คล่องขึ้น แต่เมื่อเวลาผ่านไป การที่ถนนสัญจรได้คล่องขึ้น ขับขี่ได้สะดวก ก็จะไปกระตุ้นสร้างแรงจูงใจให้มีผู้ขับขี่หน้าใหม่มาเติมช่องว่างนั้น เพราะความรวดเร็ว ความสะดวกสบาย ปัญหาจึงไม่ได้หายแต่แค่ถูกทำให้ชะลอไป
มาตรการลดมลพิษในเมืองบางแห่งต้องการลดปริมาณยานพาหนะบนท้องถนน จึงได้ออกกฎบังคับให้อนุญาตให้รถยนต์ทะเบียนเลขคู่ออกวิ่งได้เฉพาะวันคู่ และรถยนต์ที่มีทะเบียนเป็นเลขคี่ออกวิ่งได้เฉพาะวันคี่ แต่ผลลัพธ์กลายเป็นการเพิ่มยอดการจองทะเบียนรถและการทำให้หนึ่งบ้านมีรถเพิ่มอีกคันที่มีทะเบียนต่างกัน ผลลัพธ์คือจำนวนรถที่เท่าเดิม แต่สร้างปริมาณรถยนต์เพิ่มขึ้น
ซึ่งตัวอย่างที่ยกมาไม่ได้หมายความว่าเป็นมาตรการที่ใช้การไม่ได้ แต่มาตรการดังกล่าวหากจะนำไปใช้ในพื้นที่ใด อาจต้องมีความเข้าใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับคนที่อาศัยในพื้นที่นั้นว่ามีสภาพชีวิตเป็นอย่างไร และอาจต้องใช้หลายวิธีควบคู่กันเพื่อให้ผลลัพธ์ คือ ปัญหาถูกขจัดไปได้จริง
ไม่มองปัญหาเป็นเส้นตรงแบบหนึ่งต่อหนึ่ง
การเริ่มต้นแก้ปัญหามักเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจปัญหา จนมองเห็นเหตุที่นำไปสู่ปัญหา (Cause and effect) เช่น เพื่อนไม่มากินข้าวด้วย เพราะ ไม่ได้ชวน ซึ่งหากความเข้าใจนี้ครบถ้วน ในครั้งหน้าหากชวนเพื่อนกินข้าวด้วยกันแล้ว ผลลัพธ์คือเพื่อนก็จะมากินข้าวด้วย
แต่เมื่อนำความเข้าใจนี้ไปแก้ปัญหา ก็อาจพบว่าแม้จะชวนในครั้งถัดไป เพื่อนก็ไม่มากินข้าว เพราะการไม่ได้มากินข้าวด้วยในครั้งก่อน มีผลสะท้อนกลับไปทำให้การชวนครั้งถัดไปมีผลน้อยลง หากยกตัวอย่างให้ง่ายคือ เหตุการณ์ในครั้งก่อนทำให้เกิดความไม่พอใจ
ยิ่งไปกว่านั้น การไม่ชวนกินข้าวด้วยกันในครั้งก่อน อาจส่งผลให้ไปเกิดปัจจัยใหม่ คือ เพื่อนคนนี้ไปกินข้าวกับเพื่อนอีกกลุ่มและเกิดความประทับใจ (B) ทำให้การชวนครั้งถัดไปเพื่อนตอบรับคำชวนน้อยลง หรือ เราเองอยากเอ่ยปากชวนน้อยลงเพราะเห็นว่าเพื่อนคนนี้มีกลุ่มใหม่ที่กินข้าวด้วยกันแล้ว ปัจจัยนี้อาจจะเป็นปัจจัยที่ไปยับยั้งผลที่เราต้องการ คือ B ยิ่งเพิ่มปัจจัยนี้มากเพียงใด โอกาสที่จะได้กินข้าวด้วยกัน (B) ยิ่งน้อยลงไปมากเท่านั้น
แต่บางครั้งชีวิตก็อาจจะมีอีกหลายปัจจัย เช่น การรับประทานอาหารมังสวิรัตของเพื่อน ทำให้ในวันที่เราจะชวนไปกินข้าวที่เป็นเมนูเนื้อสัตว์ เขาจะไม่มีทางตอบรับคำชวนของเรา
การที่ปัญหายังคงปรากฎให้เห็นและเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ส่วนหนึ่งมันคงตัวและเกี่ยวพันกันเป็น “ระบบ” เมื่อปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งถูกกระตุ้น เพิ่มหรือลด ก็เกิดแรงกระเพื่อมในวงจรทำให้ปัญหาที่เราสังเกตและจับตามองอยู่เกิดขึ้น
ภาพจาก The Lancet. A systems approach to preventing and responding to COVID-19
ในการแก้ปัญหาใด ๆ เราจึงควรต้องวิเคราะห์ลงไปยังหน่วยย่อยจนเจอสาเหตุและต้นตอของปัญหา ในขณะเดียวกันเมื่อพบแล้วก็ต้องสงสัยเพื่อขยายความเชื่อมโยงต่อออกไปจนเชื่อมได้กับปัจจัยอื่น ๆ จนได้ออกมาเป็นภาพเชิงระบบของปัญหา สิ่งสำคัญที่จะทำให้มองเห็นปัญหาได้ในลักษณะนี้ คือการมี มุมมองแบบวิเคราะห์ หรือ Analytical mind
Analytical mind คืออะไร ?
มุมมองแบบวิเคราะห์ คือ การมองสิ่งต่าง ๆ อย่างสังเกต ต้องการที่จะใช้ “ข้อมูล” หรือ “หลักฐาน” นำมาไตร่ตรองพิจารณาให้แยกส่วนหรือเชื่อมโยงกันทำให้สามารถอธิบาย ทำนาย หรือให้คำแนะนำเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้
การฝึกฝนเริ่มต้นที่ “ข้อมูล”
ข้อมูลที่จะนำมาใช้ในการวิเคราะห์อาจแบ่งใหญ่ ๆ ได้จาก 3 แหล่งที่มา ได้แก่ ข้อมูลที่เราเป็นผู้เก็บเอง (primary data) ข้อมูลที่นำข้อมูลที่คนอื่นเป็นผู้เก็บรวบรวมไว้มาวิเคราะห์ (secondary data) และข้อมูลที่เราค้นคว้าหรือสืบค้นสิ่งที่มีคนวิเคราะห์และรวบรวมไว้มาใช้ประโยชน์ (tertiary data)
- ข้อมูลที่เราเป็นผู้เก็บเอง
ข้อมูลที่เราเป็นผู้ใกล้ชิดกับแหล่งข้อมูลมากที่สุด เกิดจากประสบการณ์ตรงซึ่งอาจได้จากการ สังเกต (observe) สัมภาษณ์ (interview) การลองทำด้วยคนเอง (experiencing) และทดลอง (experiment)
- ข้อมูลที่นำข้อมูลที่คนอื่นเป็นผู้เก็บรวบรวมไว้มาวิเคราะห์
การขอข้อมูลที่มีคนอื่นเก็บไว้ แล้วนำมาผสมผสานจากหลาย ๆ แหล่งนำมาวิเคราะห์ซ้ำ หรือ การใช้ข้อมูลเดิมแต่ตั้งคำถามเพื่อวิเคราะห์ด้วยวิธีที่แตกต่างไป
- ข้อมูลที่เราค้นคว้าหรือสืบค้นสิ่งที่มีคนวิเคราะห์และรวบรวมไว้มาใช้ประโยชน์
ข้อมูลลักษณะนี้มักจะเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่จัดเก็บงานวิจัยที่ผ่านวิเคราะห์เรียบร้อยแล้วไว้ หรือ หนังสือที่มีการนำงานวิจัยหลายชิ้นมาวิเคราะห์และเรียบเรียงในประเด็นต่าง ๆ
ข้อมูลไม่ได้ช่วยอะไร ถ้าปราศจากความหมาย
หลังจากที่ได้ข้อมูลแล้ว ขั้นตอนถัดไปคือ “การอธิบายและให้ความหมาย” กับข้อมูล เพราะข้อมูลเพียงลำพังอาจไม่ได้ช่วยทำให้เราเข้าใจ เช่น 1 1 3 7 9 9 11 เป็นข้อมูลที่เป็นตัวเลขที่เราอาจไม่สามารถใช้ประโยชน์อะไรได้ แต่เมื่อเราวิเคราะห์แล้วเราอาจให้ความหมายว่า “จำนวนเลขคี่” หรือ “จำนวนเลขคี่ที่ไม่มีเลข 5” หรือหากละเอียดอีกหน่อยอาจจะบอกว่า “จำนวนเลขคี่ตั้งแต่ 1 ถึง 11 ที่ไม่มีเลข 5 และมีเลข 1 กับ 9 ซ้ำ 2 ครั้ง” หรืออาจพยายามอธิบายข้อมูลนี้ด้วยสถิติว่าข้อมูลชุดนี้ ค่าต่ำสุดคือ 1 สูงสุด คือ 11 ค่าเฉลี่ย คือ 5.86
หลังจากอธิบายข้อมูลได้แล้วหากเราสามารถบอกได้ว่า “บริบทของข้อมูล” คืออะไร จะทำให้ข้อมูลนั้นเป็นประโยชน์ยิ่งขึ้นไปอีก เช่น ตัวเลขเหล่านี้คือคะแนนจากการทำแบบทดสอบก่อนเรียนก็จะทำให้เราสามารถแปลความหมายนี้ได้มากขึ้น และสามารถค้นพบ “ความเข้าใจเชิงลึก” เช่น คนกลุ่มนี้มีความเข้าใจก่อนเรียนสูงจำนวนหลายคน ข้อที่คนมักผิดบ่อยคือเรื่อง… คนที่ทำคะแนนได้เพียง 1 คะแนน เป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้เกิดและโตในประเทศไทย ซึ่งอาจนำไปสู่ “ข้อสรุป หรือ ข้อเสนอแนะ” อะไรบางอย่างได้ เช่น คำถามชุดนี้หากนำไปใช้จะต้องระวังเรื่องอิทธิพลของความเชื่อและการเลี้ยงดูในวัฒนธรรมที่แตกต่าง
มองลึกลงไปภายใต้ภูเขาน้ำแข็งของปัญหา
ในสาเหตุของปัญหาต่าง ๆ ที่เราค้นพบระหว่างการสังเกต รวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูล นอกจากความสัมพันธ์ว่าอะไรเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อกันแล้ว การมองให้เห็น “ระดับชั้น” ของปัญหาที่เรียงซ้อนกันอยู่เป็นระบบก็เป็นสิ่งสำคัญ เมื่อเราสามารถทำความเข้าใจลงไปได้ในระดับชั้นที่ลึกขึ้น จะทำให้เมื่อเราแก้ไขปัญหาจะส่งผลให้เกิด “แรงกระเพื่อม” ได้ในวงกว้างมากขึ้น
- สถานการณ์ปัญหา (Event)
คือปัญหาที่เราสนใจ เป็นสิ่งที่สังเกตเห็นได้ง่าย และคนทั่วไปรับรู้
เช่น รถติดบนถนนสุขุมวิท - รูปแบบที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ (Pattern)
หากเราสังเกตและวิเคราะห์ข้อมูลให้ลึกลงไป เราจะพบกับรูปแบบที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ภายใต้สถานการณ์ปัญหานั้น ๆ เช่น รถติดบนถนนสุขุมวิทมากทุกวันจันทร์ช่วง 08:30 น. หรือ รถติดมากกว่าปกติในช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปี
- โครงสร้างหรือกฎกติกา (Structure)
การที่สถานการณ์ปัญหานั้นเกิดขึ้นซ้ำ ๆ และสามารถคาดการณ์ได้ถึงรูปแบบการเกิด แสดงว่าปัญหานั้นอยู่บนฐานของโครงสร้างหรือกฎกติกาบางอย่าง เช่น เดือนพฤษภาคมเป็นช่วงเปิดเทอมโรงเรียนประถม โรงเรียนมีนโยบายให้เข้าแถวหน้าเสาธงและเช็คชื่อทุกวันตอนเวลา 08:00 น. ถนนสุขุมวิทเป็นย่านที่มีโรงเรียนตั้งอยู่หลายโรงเรียนและส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนประถม
- ความเชื่อ / ค่านิยม (Mental model / Belief)
การที่โครงสร้างหรือกติกาเหล่านั้นเกิดขึ้นได้ ก็เพราะมีความเชื่อมีค่านิยมบางอย่างเป็นผู้กำหนด เช่น การเชื่อว่าการเข้าแถวหน้าเสาธงเป็นเรื่องสำคัญเพื่อฝึกวินัยของเด็กเล็ก และการมาสายเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ เดือนพฤษภาคมเป็นช่วงฤดูฝนการขับรถยนต์ไปส่งจะทำให้ลูกไม่ต้องตากฝนไม่เจ็บป่วยง่าย หรือ เด็กประถมยังไม่สามารถขึ้นรถไฟฟ้าไปโรงเรียนเองได้ ฯลฯ
ทำไมจึงต้องมองความซับซ้อนให้เห็นเป็นระบบและลึกลงไปเป็นระดับ ?
ปัญหาที่มีความซับซ้อนและมีปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อกันโยงใยเป็นเครือข่าย ด้วยกำลังและทรัพยากรในการแก้ไขปัญหาที่มีอยู่จำกัดคงไม่สามารถไปป้องกันหรือปรับปรุงได้ในทุกปัจจัย การมองให้เห็นระดับที่ลึกลงไป จะทำให้เราสามารถที่จะพบ “จุดคานงัด (leverage point)” ซึ่งเป็นจุดที่ใช้ทรัพยากรน้อยแต่ได้ผลลัพธ์สูง และมีอิทธิพลต่อหลายปัจจัยได้ในเวลาเดียวกัน
ตัวอย่างจุดคานงัดในการสร้างการเปลี่ยนแปลง
การสูบบุหรี่มีอันตรายต่อสุขภาพ ส่งผลให้เกิดโรคถุงลมโป่งพองและโรคทางเดินหายใจต่าง ๆ ประเทศไทยได้รับการยอมรับจากระดับนานาชาติว่าเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในด้านการควบคุมปริมาณการสูบบุหรี่ โดยหากพิจารณามาตรการหรือวิธีการต่าง ๆ จะเห็นได้ว่ามีความพยายามสร้างการเปลี่ยนแปลงโดยอาศัยจุดคานงัดในระดับความเชื่อและค่านิยม รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง/กฎกติกา ทำให้ปริมาณการสูบบุหรี่ลดลงอย่างชัดเจน
- ความเชื่อและค่านิยม
เดิมการสูบบุหรี่ถูกสื่อสารค่านิยมผ่านนิตยสาร ผ่านภาพยนตร์ โดยตัวเอกที่สูบบุหรี่จะมีความกล้าหาญ มีความมั่นใจ สง่างาม ข้อมูลจากการสำรวจพบว่าเพศชายมีอัตราการสูบบุหรี่สูงกว่าเพศหญิงอย่างชัดเจน และมีผู้สูบหน้าใหม่ราว 1 ใน 5 ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป
โดยจากเดิมการสื่อสารมักจะมุ่งเน้นไปที่ “ผู้สูบบุหรี่” แต่เมื่อปรับเปลี่ยนมุมมองและการสื่อสารใหม่ โดยแทนที่จะสื่อสารกับคน 1 ใน 5 เปลี่ยนเป็นการสื่อสารกับคน 4 ใน 5 เกี่ยวกับโทษของควันบุหรี่มือสอง (การสูดดมและสัมผัสกับควันบุหรี่ที่ผู้อื่นสูบ) และ ควันบุหรี่มือสาม (โทษจากควันบุหรี่ที่ตกค้างในพรม ผ้าม่าน และของใช้ภายในบ้านต่าง ๆ) เมื่อความเชื่อและค่านิยมของคนส่วนใหญ่ตระหนักและเข้าใจเรื่องโทษของบุหรี่ต่อผู้สูบและต่อคนรอบข้าง ส่งผลให้โครงสร้างและกฎกติกาอื่น ๆ ถูกปรับเปลี่ยน
- โครงสร้าง
เมื่อโทษของบุหรี่มีความชัดเจน และค่านิยมการสูบบุหรี่ไม่ได้เป็นสิ่งที่น่าชื่นชมและพึงพอใจ ทำให้การผลักดันนโยบายและกฎหมายต่าง ๆ สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ได้แก่
– การขึ้นภาษีบุหรี่ : สามารถทำให้ยอดจำหน่ายบุหรี่ลดลงได้มากถึง 500 ล้านซองต่อปี
- กฎหมายคุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ : ทำให้สถานที่ทำงาน โรงพยาบาล โรงเรียน ฯลฯ เป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่
- กฎหมายการห้ามโฆษณาบุหรี่
- รูปแบบที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ
การเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างและระดับค่านิยม/ความเชื่อ ทำให้รูปแบบที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ในอดีตอย่างการสูบบุหรี่ที่ใดก็ได้ สูบบุหรี่ในที่สาธารณะลดลง และกลายเป็นสิ่งที่ต้องทำในพื้นที่จำกัด และการสูบบุหรี่ในบ้านก็ลดลง เนื่องจากความรู้ความเข้าใจเรื่องควันบุหรี่มือสาม รวมไปถึงราคาของบุหรี่ที่เพิ่มสูงขึ้นก็ทำให้ปริมาณการซื้อลดลง และจากการควบคุมก็ทำให้บุหรี่ไม่สามารถโฆษณาหรือจัดวางในรูปแบบส่งเสริมการขายในร้านค้าได้
- เหตุการณ์
จากการปรับเปลี่ยนและแก้ไขในระดับความเชื่อ โครงสร้าง ทำให้การเกิดขึ้นซ้ำ ๆ ลดลง เป็นผลให้เหตุการณ์ที่เดิมเคยสังเกตเห็นได้ ก็ลดลงและหายไปในที่สุด
ความซับซ้อนคือความท้าทาย
จะเห็นได้ว่าการแก้ไขปัญหาใดปัญหาหนึ่งอาจไม่สามารถด่วนตัดสินใจ หรือ แก้ไขได้ในเวลาอันสั้น เพราะการที่ปัญหานั้นสามารถคงอยู่ และคงตัวอยู่ได้มาเป็นระยะเวลานาน มักเกิดจากการมีความเชื่อ โครงสร้าง และปัจจัยต่าง ๆ สนับสนุน และมีอิทธิพลต่อกันและกัน เชื่อมโยงกันอยู่เป็นระบบ การรีบเร่งแก้ไขโดยไม่ได้พิจารณาหรือวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยต่าง ๆ อาจพาไปสู่ปัญหาที่ใหญ่กว่า หรือ ผลกระทบตามมาที่ไม่ได้คาดคิด
สิ่งเหล่านี้เป็นความท้าทายหนึ่งที่นักสร้างการเปลี่ยนแปลงทุกคนต้องเผชิญ ดังนั้นแล้ว การมีมุมมองและสายตาที่ช่างสังเกต เก็บข้อมูล และวิเคราะห์ หรือ Analytical mind จึงเป็นคุณสมบัติหนึ่งที่จะขาดไม่ได้ และต้องฝึกฝนพัฒนาอย่างต่อเนื่องต่อไป
สิ่งที่ต้องระมัดระวัง คือ การมีข้อมูลและคิดวิเคราะห์อย่างเดียว อาจไม่ได้ช่วยให้เราสามารถเข้าใจความซับซ้อนของปัญหาได้อย่างแท้จริง การสร้างต้นแบบเพื่อทดสอบ และการทดลองเพื่อพิสูจน์ ก็ยังคงเป็นหัวใจในการจะได้มาซึ่งข้อมูลที่สำคัญที่จะนำมาประกอบเป็นภาพความเข้าใจ ภาพใหญ่ของระบบปัญหาที่เราสนใจ
ค่อย ๆ สร้าง ค่อย ๆ เสริม ค่อย ๆ เติม แลกเปลี่ยนและส่งต่อถ่ายทอดความเข้าใจ ให้ภาพของระบบปัญหานี้ได้มีคนรุ่นถัดไป มีคนที่ตั้งใจมาช่วยกันเสริม จะทำให้การเปลี่ยนแปลงที่เราตั้งใจ เกิดขึ้นได้จริง เห็นผล และยั่งยืน
อ้างอิง:
- ศูนย์ข้อมูล – มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ (ashthailand.or.th)
- The Role of Tobacco Control Policies in Reducing Smoking and Deaths Caused by Smoking in Thailand: Results from the Thailand SimSmokeSimulation Model. Dr.David Levy and Dr.Saranya Benjakul, December 2006
