knowledge

8 Insights ถอดบทเรียนจากการทำงานชุมชน

21 ธันวาคม 2021


, , , ,

การทำงานชุมชนภายใต้โจทย์ “ยกระดับผลิตภัณฑ์” “พัฒนาผลิตภัณฑ์” “สร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ชุมชน” “พัฒนาศักยภาพผลิตภัณฑ์ชุมชน” ดูเหมือนว่าเป็นโจทย์สุดคลาสสิกที่ไม่ว่าใครเข้าไปทำงานร่วมกับชุมชนต่างเข้าไปด้วยโจทย์เหล่านี้ แม้เป้าหมายที่คนส่วนใหญ่เข้าใจตรงกัน คือ การยกระดับเศรษฐกิจในชุมชนให้คนมีรายได้เพิ่มขึ้น พออยู่ พอกิน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม แต่นั่นเป็นสิ่งที่เราเข้าใจในเบื้องต้นเท่านั้น

บทความต่อไปนี้เป็นการถอดบทเรียนจากประสบการณ์ทำงานชุมชนของ “วิชญา อินท​วงศ์” หรือ ครูโอ๋ นักออกแบบผลิตภัณฑ์ นักจัดกิจกรรมและออกแบบการเรียนรู้ให้ชุมชน ที่เราชวนมาบอกเล่าประสบการณ์การทำงานเป็นคนกลางช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์​ระหว่างภาครัฐและผู้ประกอบการในพื้นที่ให้ฟังกัน


ข้อมูลเชิงลึก (Insights) จากประสบการณ์ทำงานชุมชน 

1. ข้อจำกัดและอุปสรรคในการทำงาน

กฎระเบียบ

สำหรับครูโอ๋แล้วการจะพัฒนาชุมชนตามหัวข้อด้านบนได้นั้น เริ่มต้นเราจำเป็นต้องลงไปเจาะลึกให้ถึงจุดเล็กที่สุดก่อน โดยทำงานจากการลงพื้นที่จริงเพื่อเก็บข้อมูลผลิตภัณฑ์ เริ่มต้นจากการไปแหล่งผลิต แหล่งเพาะปลูก บ้านสล่า (บ้านช่างฝีมือ) เช่น ถ้าเขาทำกกก็ไปดูถึงที่ปลูก ไปดูสถานที่ทอกก ถ้าเขาทำแก้วโป่งข่าม เราไปดูสถานที่ขาย ทำพิธี บ่อแช่โป่ง ไปจนถึงขึ้นเขาไปขุดโป่งกับชาวบ้าน เป็นต้นที่ไม่ได้จบแค่ข้อมูลเบื้องต้น ที่อยู่ ประเภทสินค้า สถานที่ขาย กรรมวิธีการผลิต แต่ต้องไปดูให้รู้ถึงที่มาที่ไปของการเกิดขึ้นมาของผลิตภัณฑ์ ว่าเพราะเหตุใดถึงมีผลิตภัณฑ์นี้ขึ้นมาในชุมชน ทำไมเขาถึงขาย  สำหรับเราขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนแรกที่สำคัญมาก การผูกมิตรระหว่างคนแปลกหน้าอย่างเราที่อยู่ดี ๆ เดินเข้าไปหาชาวบ้านจะเกิดขึ้นได้ในขั้นตอนนี้ การสร้างความสนิทสนมคุ้นเคย ความเชื่อใจกันเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ที่ดีในการทำงานร่วมกัน เรามักจะลงพื้นที่ไปแบบคนที่ไปขอความรู้ ขอให้เขาช่วยเล่าให้ฟังหน่อย ช่วยสอนเราหน่อยว่ากำลังทำอะไรอยู่

ในความเป็นจริงบ่อยครั้งที่การลงพื้นที่ถูกวางเป็นขั้นตอนที่ 2 , 3 , 4  โดยมักเน้นตั้งต้นที่การไปให้ความรู้บ้าง การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการก่อนบ้าง สำหรับเราจะต้องลงพื้นก่อน แต่การทำงานกับภาครัฐนั้น หลายครั้งแปลกใจเหมือนกันว่า ในสัญญาจัดซื้อจัดจ้างที่กำหนดการเขียนโครงการมักจะต้องให้ระบุไปก่อนแล้วว่า เราจะอบรมหัวข้ออะไร จะพัฒนาจากเดิมไปเป็นของใหม่อย่างไร

หากเรายังไม่รู้จักผลิตภัณฑ์ของเขา ไม่รู้ว่าเขามีความต้องการอะไร เราจะทำสิ่งนี้ได้อย่างไร?

เมื่อพูดถึงการพัฒนาทักษะ เรามักจะพาผู้เชี่ยวชาญในสายอาชีพลงพื้นที่ร่วมด้วย หนึ่งในปัญหาหลักที่พบคือ โดยมากหน่วยงาน/สัญญาโครงการมักกำหนดคุณสมบัติด้านวุฒิการศึกษา สาขาที่เรียนจบมา หรือต้องมีตำแหน่งอาจารย์สถาบันใดสถาบันหนึ่ง จุดนี้ทำให้หลายครั้งชาวบ้านขาดโอกาสเจอกับคนเก่งสายปฏิบัติเฉพาะด้านนั้นจริง ๆ ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่มีวุฒิการศึกษาตรงสาขา หรืออาจารย์จากสถาบัน ไม่มีความสามารถเท่า แต่จากประสบการณ์ที่พบคือ อาจารย์หรือนักวิชาการบางท่านจะมาในรูปแบบของทฤษฎี เกณฑ์มาตรฐาน การตรวจงาน ตรงนี้ทำให้เกิดช่องว่างในการสื่อสาร พูดแล้วชาวบ้านไม่เข้าใจ คนที่ชาวบ้านอยากเจอ คือ ใครก็ตามที่อยู่ในสายงานอาชีพนั้น ๆ มีความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ล้มลุกคลุกคลาน ทำจริง สามารถสื่อสารเรื่ององค์ความรู้ในรูปแบบที่เขาเข้าถึงได้ จับต้องได้

ด้านเวลา

หลายครั้งโครงการเข้ามาด้วยคำใหญ่ ๆ ไม่ว่าจะเป็น การยกระดับ นวัตกรรม การเพิ่มมูลค่า แต่ด้วยระยะเวลาของโครงการมักไม่สอดคล้องกัน เช่น มีระยะเวลาทำงานที่จำกัด ถ้าดำเนินการตามขอบเขตการดำเนินงาน บางทีสามารถลงพื้นที่ได้แค่ 1 ครั้ง นำด้วยการจัดอบรมให้ความรู้ ซึ่งการสอนครั้งเดียวไม่ได้แปลว่าเขาจะไปทำได้เอง ทำให้ไม่ได้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกัน กลายเป็นว่าเราต้องคิดมาให้ หรือเขาอยากได้อะไร เราทำให้เลย ไม่มีเวลาให้ได้ทำกระบวนการพัฒนาจริงๆ บางทีจบโครงการไปแล้วไม่ได้ไปถึงคำว่า ยกระดับ หรือ นวัตกรรม ตามที่ตั้งไว้แต่แรก

การพัฒนาผลิตภัณฑ์ไปจนถึงสามารถขอมาตรฐานผลิตภัณฑ์ได้นั้น​ สถานการณ์ที่พบคือ ชุมชนมักจะตั้งกลุ่มทำผลิตภัณฑ์ขึ้นมา เข้าโครงการพัฒนา ยื่นขอมาตรฐาน  ในการทำงานจริงนั้นกว่าจะลงลึกไปจับสิ่งที่สามารถนำมาต่อยอดพัฒนา ทำจนขายได้ ไปสู่การขอมาตรฐานให้จบรวดเดียวนั้น พบว่าระยะเวลาค่อนข้างกระชั้นชิดมากเกินไป ในทางปฏิบัติควรเป็นการทดลองพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทดลองขาย ทิ้งระยะให้มีการปรับปรุง พัฒนาต่อยอด แล้วค่อยนำไปขอการรับรองปีหน้าหรือปีต่อไป ควรให้เวลาผลิตภัณฑ์ได้ทำงานกับผู้ประกอบการ กับลูกค้ากลุ่มเป้าหมายเสียก่อน

2. การทำความเข้าใจชุมชนอย่างลึกซึ้ง

ความต้องการของชุมชน

จากประสบการณ์ทำงานชุมชนของครูโอ๋ เล่าให้ฟังว่า “ถ้าถามว่า จริงๆ แล้วชุมชนต้องการอะไร? เมื่อพิจารณาความต้องการของชุมชน บางครั้งชุมชนก็ไม่ได้อยากทำอะไรเลยในแง่ของอาชีพ ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ บางคนเค้าพอใจจะทำแค่นั้นจริง ๆ ประมาณว่าเค้าอยู่ของเค้าดี ๆ บางพื้นที่ชาวบ้านเขาไม่ได้ทำอะไร ไม่ได้มีผลิตภัณฑ์อะไร ประกอบอาชีพทำสวน ทำไร่ ค้าขายสินค้าหรือให้บริการในชุมชน เช่น ช่างเสริมสวย แล้วอยู่ดี ๆ วันหนึ่งมีโครงการเข้ามาในหมู่บ้าน เขาเห็นโอกาส อยากได้งบ จึงมีการตั้งกลุ่ม ตั้งสินค้ากันขึ้นมาในตอนนั้นเอง ด้วยเหตุนี้ทำให้ผลลัพธ์ของโครงการหลายโครงการไม่ยั่งยืนและไม่สามารถไปต่อได้จริง”

หากมองให้ลึกว่าชุมชนต้องการอะไร แน่นอนว่าเขาอยากมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดีกันทั้งนั้น แต่ความสุขที่ว่านี้ ยังมีมิติอื่นอีกด้วยนอกเหนือจากการมีอาชีพ และรายได้ที่ดี ยกตัวอย่าง ยุทธศาสตร์พังงาแห่งความสุข 10 ประการ การสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืน กระจายรายได้อย่างเป็นธรรม เป็นเพียง 1 ใน 10 เรื่องที่เกี่ยวข้องกับความสุขโดยรวมของคนในจังหวัด  มีเรื่องอื่นๆ ที่สำคัญไม่แพ้กัน เช่น การเข้าถึงการศึกษาและบริการสุขภาพของคนในชุมชนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม การฟื้นฟู อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ การฟื้นฟูจารีต ประเพณี วัฒนธรรมตามความหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์และอัตลักษณ์ท้องถิ่น

จะเห็นว่าการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนนั้นควรจะมองให้ครบทุกด้าน มิใช่มีแต่การพัฒนาอาชีพและผลิตภัณฑ์ในชุมชนอย่างเดียวเท่านั้น

ในกรณีที่ชุมชนมีผลิตภัณฑ์อยู่แล้ว ส่วนมากพบว่าความต้องการหลักของชุมชนหลัก ๆ  คือ อยากขายของได้ อยากได้ออเดอร์ คือ ฉันทำของขาย ถ้าจะเข้ามาช่วยหรืออยากให้ฉันเข้าร่วมโครงการทำอะไร ช่วยให้ฉันขายของได้สิ เขาอยากเห็นสินค้าตัวเองถูกซื้อไป ได้รับเงิน ได้ออร์เดอร์กลับมา

การเข้าใจบริบทพื้นที่ 

การเข้าใจบริบทของชุมชนสำคัญมาก บางโครงการมีการดึงกลุ่มชาวบ้านมาเข้าร่วมแต่เขาอยู่ไกลมาก ถนนเป็นทางลูกรัง สัญญาณอินเตอร์เน็ตยังไม่เสถียร ระบบการขนส่งเข้าไม่ถึง แต่เราชวนเขามาเข้าโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ส่งเสริมการตลาด บางทีโครงการมีการระบุสินค้ามาก่อนด้วย จากประสบการณ์ที่เคยทำงานกับพื้นที่ทางภาคเหนือตอนบน เป็นหมู่บ้านเย้า (กลุ่มชาติพันธ์ุ) สิ่งที่เขามีคือฝีมือในการปักผ้า เขาปักเป็นอย่างเดียวคือลายเย้าของเขาเอง โดยใช้เวลาปัก 7-8 เดือนหรือบางคนใช้เกือบปี ปักจนเต็มผืนแล้วซื้อขายกันเองในเผ่าเพราะเขารู้คุณค่า ซื้อไว้ใส่ออกงานในหมู่บ้าน ขายได้ทีผืนละ 20,000 บาท แต่ชาวบ้านบอกว่านี่ไม่ใช่งานหลัก งานหลักยังคงเป็นการทำไร่ทำสวน ว่างเมื่อไหร่ก็มาปัก การปักของเขาคือปักลงบนผ้าสำเร็จ ซื้อจากท้องตลาด ดังนั้นเขามีฝีมือเรื่องการปักอย่างเดียว เมื่อโครงการเข้าไปตั้งกลุ่มและระบุผลิตภัณฑ์เป็นเสื้อผ้าปักลายชนเผ่า  เมื่อทีมพัฒนาเข้าไป เราก็ไปต่อไม่ถูกเพราะเขาตัดเย็บเสื้อไม่เป็น ไม่มีจักรเย็บผ้าและอุปกรณ์ หากซื้อเสื้อสำเร็จมาปัก หรือจ้างช่างตัดเย็บหมู่บ้านข้าง ๆ ต้องช่วยคำนวณต้นทุนว่าจ้างตัดเย็บรวมกับค่าปักต้นทุนจะสูงขึ้นอีกเท่าไหร่ อีกทั้งลายปักมีความเฉพาะทางมาก ดีแง่ของการมีเอกลักษณ์ลายปักเย้า แต่ยังไม่เป็นที่ต้องการของตลาดขนาดนั้น พอลงไปคลุกคลีกับชาวบ้าน ทำให้ได้ข้อมูลว่า อยากขาย อยากมีสินค้า แต่ทำไม่เป็น ไม่รู้จะสร้างสินค้าขึ้นมาอย่างไร ตัวโครงการกำหนดการสนับสนุนของโครงการ คือ ส่งมอบบรรจุภัณฑ์ ฉลากหรือป้ายแขวนสินค้า ชาวบ้านบอกว่า “สินค้ายังไม่มีขาย จะเอาถุงมาทำไม ได้ถุงกับป้ายมาก็ไม่มีอะไรขาย” นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของการที่กลุ่มเป้าหมายกับการสนับสนุนไม่สอดคล้องกัน

หลายโครงการที่มีขอบเขตการดำเนินงานด้านการตลาดควรจะต้องก้าวข้ามการบรรยาย ว่าการตลาดคืออะไร การตลาดมีแบบออฟไลน์ ออนไลน์ วิธีทำเฟซบุ๊ก วิธีโพสต์ ซึ่งบางทีชาวบ้านเขาเข้าไม่ถึง พื้นที่ห่างไกลไม่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ต วิถีชีวิตตอนกลางวันเขาเข้าสวนเข้านา ไม่มีเวลาดูโทรศัพท์จะให้เขามาเฝ้าหน้าจอ รอขายออนไลน์มันเป็นไปแทบไม่ได้ มีครั้งหนึ่งลงไปอบรม โทรตามคุณป้ามาเข้าร่วม โทรกันเป็นวันติดต่อไม่ได้ จนอีกวันเขากลับมาอบรม เขาบอกว่าเมื่อวานไปเข้าสวน แล้วหลานเอาโทรศัพท์ไปเล่นอยู่ไหนไม่รู้ แบตคงจะหมดไปแล้ว ต้องไปหาโทรศัพท์ก่อน (ยิ่งกว่าไม่ได้ออนไลน์หน้าจอ คือโทรศัพท์อยู่ที่ไหนไม่รู้เลย) หรือ เราตั้งใจเข้าไปสอนทำสื่อจากโทรศัพท์มือถือ พอไปเจอหน้างานจริงๆ ผู้ประกอบการในโครงการอายุ 50 ปีขึ้นไปเกือบทั้งหมด บางคนไม่ได้ใช้สมาร์ตโฟนด้วยซ้ำ หรือบางคนใช้สมาร์ตโฟนแต่ใช้งานแอปพลิเคชันไม่เป็นเลยก็มี

“การที่เราเอาตัวเองที่อยู่ในเทคโนโลยี ถือโทรศัพท์ เข้าถึงการสื่อสารได้ได้ตลอดไปมองเขา มันทำไม่ได้” ครูโอ๋กล่าว

3. วงจรอุบาทว์ของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และผลกระทบที่เกิดขึ้น

ก่อนอื่นคนทำงานต้องทำความเข้าใจว่า การพัฒนาผลิตภัณฑ์ไม่ใช่การเปลี่ยนกล่อง เปลี่ยนถุง เปลี่ยนสติกเกอร์ ทำโลโก้ใหม่ แล้วจบ ต้องแยกก่อนว่าการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ยังมีส่วนของตัวผลิตภัณฑ์ กับ ตัวบรรจุภัณฑ์ จะไปเหมาว่าเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ใหม่ คือการพัฒนาแล้ว แบบนั้นไม่พอ ต้องมองให้รอบด้านด้วย ส่วนใหญ่บรรจุภัณฑ์ที่โครงการเข้าไปทำให้มักออกมาเป็นรูปแบบกล่อง อาจเพราะว่าดูดี ดูสวย ดูมีมูลค่า แต่พอจบโครงการแล้วชาวบ้านแทบไปต่อเองไม่ได้

สิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึง คือ การที่เราเข้าไปพร้อมกับเงินสนับสนุนในมือ โครงการมีเงิน เราสั่งทำของให้เขาได้อย่างดี แต่เมื่อเรากลับมาแล้ว ชาวบ้านเขาจะทำต่อเองอย่างไร เคยเจอหลายที่ เช่น ชาวบ้านขายกระยาสารท โครงการเข้าไปจัดทำกล่องให้ จบโครงการแล้ว ชาวบ้านได้รับกล่อง 8,000 ชิ้น และให้ข้อมูลชาวบ้านไปว่าต้นทุนกล่องละ 8 บาท พอเราเข้าไปต่อยอด ชาวบ้านยังอยากได้กล่องเหมือนเดิม เราจึงสื่อสารว่าถ้าทำกล่องเหมือนเดิมจะราคาสูง นำไปสู่การถกเถียงกันว่าโครงการเก่าเคยมาทำให้ บอกว่ากล่องละ 8 บาท เลยต้องอธิบายกันยาวว่า ถ้าจะให้ได้กล่อง 8 บาท เราต้องสั่ง 8,000 ชิ้น x 8 บ. = 64,000 บ. ซึ่งในความเป็นจริงแล้วชาวบ้านจ่ายเงินจำนวนขนาดนี้เพื่อให้ได้กล่องราคา 8 บาทไม่ไหว ไม่มีเงินก้อนที่สามารถไปจมอยู่กับค่ากล่องได้มากขนาดนั้น  ในขณะเดียวกันกล่อง 8,000 ชิ้น สำหรับผลิตภัณฑ์ชุมชนไม่ได้ขายหมดกันง่าย ๆ เมื่อมีโครงการใหม่เข้ามา เขาก็ได้บรรจุภัณฑ์ใหม่เพิ่มเข้าไปอีก ทำให้มีบรรจุภัณฑ์ค้างจากแต่ละโครงการเยอะมาก 

ผลกระทบต่อมาคือนอกจากการที่ผู้ประกอบการสั่งทำเองต่อไม่ได้ คือ ผลิตภัณฑ์ไม่มีภาพจำ บรรจุภัณฑ์เปลี่ยนใหม่ทุกโครงการ ไม่รู้ว่าจะใช้อันไหนดี บางทีวางอยู่ในร้านเดียวกัน 3 แบบ 3 ลายก็มี ถามว่าต่างกันอย่างไร คำตอบคือ ไม่ต่าง! แค่ได้มาจากหลายโครงการ ไม่รู้จะใช้อันไหนดี เลยหยิบมาใช้สลับกันไป 

บ่อยครั้งเราจะเจอการไม่ยอมรับจากชาวบ้าน เหมือนกับว่าอยู่ ๆ เราไปบอกให้เขาคิดใหม่ทำใหม่ เราจะสื่อสารกับชาวบ้านตลอดว่า ไม่ใช่ของเดิมไม่ดี ของเดิมที่มีอยู่ที่เคยทำอยู่ เคยขายยังไงก็ขายต่อไป เคยทำอย่างไรก็ทำไป ลูกค้าเดิมรักษาไว้ การพัฒนา คือ เราจะมาเพิ่มเติมหรือปรับเปลี่ยนบางอย่าง เพื่อให้ขายได้กับลูกค้ากลุ่มใหม่ ได้ตลาดใหม่ อาจจะทำให้ขายได้แพงขึ้น ต้นทุนลดลง หรืออาจจะไม่ได้ปรับอะไรเลย แค่เอามาแพคหีบห่อใหม่ เอามานำเสนอ เล่าเรื่องสินค้าใหม่ โดยแบบเดิมยังคงทำอยู่ ตรงนี้ทำให้เราได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านมากกว่าด้วย เพราะเขาไม่ได้รู้สึกว่าเราไปแก้ของเขา ไปเปลี่ยนแปลงเขา ให้เขาทิ้งของเดิม การเข้าไปพยายามเปลี่ยนแปลงวิถีเดิมหลายโครงการมักจบลงแบบนั้น ซึ่งชาวบ้านเขารับมาไว้ก่อน เพราะ “ฟรี” แต่พอจบโครงการแล้วเขาไม่เอาไปทำต่อ

สุดท้ายผลกระทบจากความไม่เข้าใจบริบท ทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรที่เกินความจำเป็น เช่น บางผลิตภัณฑ์ชาวบ้านเน้นขายในชุมชน พอนักพัฒนาเข้าไป ช่วยออกแบบทำบรรจุภัณฑ์สวยงาม ต้นทุนสูง ยกตัวอย่างที่เคยเจอ ผ้าขาวม้าที่ปกติชาวบ้านเขาขายมีตลาดหลัก คือ ตลาดนัด คนซื้อคือคนในชุมชนและคนในชุมชนใกล้เคียง พอพัฒนาผลิตภัณฑ์มีการทำบรรจุภัณฑ์เป็นกล่อง/กล่องพร้อมเชือก ซึ่งไม่มีความจำเป็นขนาดนั้น หรือบางทีเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม ขายที่ตลาดและร้านค้าในชุมชน แทนที่จะให้ความรู้ความเข้าใจ ผลักดันให้เป็นบรรจุภัณฑ์ที่ซื้อแล้วกินทันที ลงทุนกับวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่ไปออกแบบให้เค้าเป็นขวดแก้วฝาสุญญากาศ เพื่อจะได้เก็บได้นาน สวยงาม (ในความเป็นจริงทำไมไม่สร้างความรู้สึกว่าซื้อไปแล้วกินได้เลย ไม่ต้องเก็บนาน ลูกค้าจะได้กลับมาซื้ออีก และไม่มีความจำเป็นต้องลงทุนกับขวดขนาดนั้น เพราะ ผลิตภัณฑ์ยังไม่ได้ขอรับรองมาตรฐาน ไม่ได้ขึ้นห้าง เป็นต้น)  ทำให้ต้นทุนสูงเกินความจำเป็น และใช้ทรัพยากรได้ไม่คุ้มค่าเท่าไร 

4. วิสาหกิจชุมชนหรือกลุ่มแข็งแรง/ไม่แข็งแรง เป็นอย่างไร 

ปัจจัยสำคัญที่วิสาหกิจชุมชนหรือกลุ่มจะแข็งแรงได้ (ไม่ใช่ทั้งหมด แต่เป็นจากประสบการณ์ที่พบเห็นมา)

1. ชุมชนมีแกนนำที่เข้มแข็ง  เช่น เป็นชาวบ้านหรือคนรุ่นใหม่ที่รวมกลุ่มกันเหนียวแน่น 3-4 คน มีความตั้งใจจริง  หรือ เป็นกลุ่มที่มีคนมีตำแหน่งอยู่ด้วย เช่น ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน, สท. , ภรรยาผู้ใหญ่บ้าน, ลูกผู้นำในชุมชนหรือมีพ่อเลี้ยง/แม่เลี้ยง เจ้าของกิจการธุรกิจรายใหญ่ของชุมชนอยู่ในกลุ่ม คนเหล่านี้จะเป็นผู้ที่คอยดึงกิจกรรม ทุน ช่องทางต่างๆเข้ามาในกลุ่ม มีความน่าเชื่อถือที่จะเรียกรวมตัวกลุ่ม หรือเป็นเสียงหลักในการเจรจาต่อรอง 
2. กลุ่มมีความเข้มแข็ง มีความเป็นเครือข่ายสูง ทำงานร่วมกันและได้รับประโยชน์ อย่างชัดเจนทุกคน 

โดยกลุ่มที่ไม่แข็งแรงนั้น มักพบว่า 

1. ไม่มีผู้นำหลัก
2. เป็นกลุ่มเพิ่งจัดตั้งขึ้นมาเพื่อมาเข้าโครงการ (พบได้บ่อย)
3. กลุ่มชาวบ้านที่ตั้งใจรวมกลุ่มกัน แต่ไม่สามารถหาช่องทางการขายหรือไปต่อได้ สุดท้ายแยกย้ายกันในที่สุด

5. ความต้องการของตลาดแท้ vs เทียม

บ่อยครั้งที่โครงการรับซื้อของจากชาวบ้าน ในบทบาทของออแกไนซ์ที่รับจ้างหน่วยงานลงไปทำงาน มักมีภาระงานที่ต้องซื้อของในโครงการด้วย เช่น ต้องซื้อวัสดุจากชาวบ้าน เพื่อมาสอนทำ ทำจนเสร็จต้องซื้อผลิตภัณฑ์ที่ทำเสร็จด้วย และบางทีหน่วยงานราชการมาเหมาสินค้าไปแจก หรือใช้ในหน่วยงาน เช่น ไม้กวาด ผู้ประกอบการจะบอกว่าตัวเองมีออเดอร์ตลอด แต่พอถามว่าลูกค้าหลักเป็นใคร คำตอบคือ สำนักงานพัฒนาชุมชน, อำเภอ, เทศบาล ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีที่เขาได้ขายของ แต่ทำให้เขาเข้าใจว่าเขามีลูกค้าแล้ว มีออเดอร์แล้ว ไม่จำเป็นต้องพัฒนาอะไร ไม่ได้รู้สึกว่าต้องพัฒนาเพื่อขายคนอื่น  ไม่เห็นความจำเป็นของลูกค้าในตลาดทั่วไป แล้วทำอยู่แบบนั้น ขายอยู่แบบนั้น ทั้งที่จริง ตลาดของเขาสามารถไปได้ไกลกว่านั้น

6. ความฝัน vs. ความจริง 

ผู้ประกอบการในชุมชนส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิต (maker) อย่างเดียวเท่านั้น ไม่เคยรู้ตลาด ไม่เคยรู้ราคาทุน ราคาขาย กำไร เงินที่ได้รับคือ ค่าแรงรายวัน หรือค่าทำเท่านั้น ทำให้เขายังไม่ค่อยเข้าใจความต้องการตลาดเท่าไร พอโครงการเข้ามาทำงานกับผู้ผลิตโดยตรงแบบนี้ บางทีเขายังเข้าไม่ถึงวัตถุประสงค์ของสิ่งที่เราทำ เขายังไม่เข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาเพื่อไปตอบโจทย์ตลาด เพราะเขายังไม่เคยรู้เลยว่าตลาดเป็นอย่างไร ตลาดเป็นสิ่งใหม่มากสำหรับเขา ทำให้เขามองภาพไม่ออก กลัว ไม่กล้าทำ กลัวขายไม่ได้ 

ดังนั้นเมื่อทีมนักออกแบบเข้าไปทำงานต้องชวนให้เขามองเห็นภาพตลาดก่อน ช่วยให้เขาเห็นภาพว่าทำแล้วจะขายได้จริง มีตลาดรองรับ บ่อยครั้งที่เราต้องหาตลาดให้ หาออเดอร์ให้ขายได้จริง ในมุมของการที่ลงไปทำงานกับชุมชนคิดว่าควรจะต้องมีทีมหรือกลุ่มที่มาช่วยขับเคลื่อนเรื่องการขาย บางทีผู้ผลิตเขาขายเองไม่ได้จริงๆ หรือจะให้เขาลุกขึ้นมาขายได้ด้วยตัวเอง อาจจะต้องเทรนกันให้เป็นเรื่องเป็นราวแยกออกมาอีกเนื้องานหนึ่งและจำเป็นต้องเลือกคนกับเนื้อหางาน/เนื้อหาอบรม ให้ตอบโจทย์กัน เช่น โครงการอยากสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ เข้าไปชวนเยาวชนในชุมชนมาเรียนตัดเย็บ 3 วัน 5 วัน มานั่งเย็บผ้า พอจบงานแล้ว ได้เสื้อ 1 ตัว กระเป๋า 1 ใบ ทักษะแค่นี้ไม่ได้ทำให้เขาลุกขึ้นมาเป็นผู้ผลิตเสื้อในชุมชนได้ พอจบโครงการทุกอย่างจบ เขาทำต่อเองไม่ได้เพราะจักรไม่มี แบบเสื้อแบบอื่นทำไม่ได้ เป็นต้น 

จะดีกว่าไหมหากเราแยกเป็นโครงการไปแต่สอดคล้องต่อเนื่องกัน เช่น โครงการนี้เข้าไปทำงานกับผู้ผลิต ชวนมาผลิตกัน มาประยุกต์งานแลกเปลี่ยนเทคนิค หรือมาสร้างงานร่วมสมัยกัน พาเยาวชนมาดู เผื่อเกิดแรงบันดาลใจ ใครอยากเรียนตัดเย็บ ขยายผลเป็นผู้ผลิตรุ่นต่อไปก็สามารถทำได้ ในขณะที่โครงการด้านการตลาด ส่งเสริมการขายหาคนที่มีศักยภาพพร้อม มีอุปกรณ์ มีเวลา มีความสนใจมาเข้าร่วมทำงานโดยเน้นส่งเสริมทักษะแยกส่วน แยกกลุ่มกันแล้วขับเคลื่อนกันเป็นกลุ่มใหญ่ หากมีคนอาจสนใจทั้งเป็นผู้ผลิต เป็นผู้ขาย เป็นผู้จัดการก็สามารถทำได้ แต่บางคนเขาไม่พร้อมที่จะมาผลิตเอง ขายเอง จัดการเอง

เราไม่จำเป็นต้องให้เขาทำทุกอย่างได้ แต่เลือกสนับสนุนให้เขาทำสิ่งที่ตนเองถนัด ตามเวลาและทรัพยากรที่มี 

7. พัฒนาผลิตภัณฑ์ควบคู่ไปกับการพัฒนาคน

ก่อนจะพัฒนาบรรจุภัณฑ์บางทีต้องชวนเขาย้อนกลับมาเข้าใจผลิตภัณฑ์ตัวเองก่อน ว่าทำไมทำผลิตภัณฑ์นี้ ทำต่อๆกันมา หรือเห็นโอกาสว่าของขายได้เลยทำ หรือทำเพราะชอบ เราพบว่า mindset ตั้งต้นในการผลิตและขายสินค้าของคนแต่ละกลุ่มต่างกันอย่างมาก เช่น บางคนผลิตอย่างเดียว บางคนทำอะไรไม่เป็น เขาสั่งซื้อและจ้างทำอย่างเดียวแล้วรับมาขาย พอมาเข้าร่วมโครงการ เขามาในฐานะเจ้าของผลิตภัณฑ์ แต่เมื่อได้คุยกันจริงๆ เขาไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับการผลิต ทำอะไรไม่เป็น จะเปลี่ยนอะไร พัฒนาอะไร ปรับอย่างไร เขาจะยังไม่มีความเข้าใจสิ่งเหล่านี้ เราจึงควรพัฒนาทักษะของคนให้ตรงจุด เช่น คนนี้ฝ่ายผลิต เน้นทักษะการผลิต เทคนิค งานประยุกต์ แล้วค่อยเสริมทักษะอื่นๆ เพื่อให้พอมองการจัดการ เห็นภาพตลาด ทำแล้วเอาไปขายจริง จะได้ผลิตออกมาได้ ในขณะที่คนขาย เราไปช่วยพัฒนาการทักษะขาย แล้วค่อยเสริมการเรียนรู้ด้านการผลิต เริ่มต้นให้ตรงกับความถนัดเขาก่อน

mindset ที่สำคัญ คือ การมองเห็นคุณค่าของสิ่งของที่ตัวเองทำอยู่ว่ามีคุณค่า เป็นสินทรัพย์ทางวัฒนธรรม เป็นภูมิปัญญา หรือมีความพิเศษแตกต่าง ไม่จำเป็นต้องเก่า โบราณ ท้องถิ่น ถึงจะมีคุณค่า อาจจะเป็นสิ่งใหม่ ประยุกต์แล้ว ต่อยอดแล้วก็ได้ แต่ต้องรู้คุณค่าของสิ่งที่ทำด้วย

ทักษะที่สำคัญ คือ ต้องเล่าเรื่องให้เป็น การจะเล่าเรื่องได้ต้องย้อนกลับไปอันดับแรกคือรู้จักผลิตภัณฑ์ตัวเอง รู้จักตัวตนของตัวเอง จะเล่าแบบท้องถิ่น หรือเล่าแบบสมัยใหม่ทำได้ทั้งนั้น ต่อมาต้องมองเห็นตลาดตัวเอง เข้าถึงตลาดให้ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นตลาดใหญ่ แต่รู้ว่าทำมาแล้วขายใคร มีคนซื้อ ต้องรู้จักกลุ่มลูกค้าของตัวเอง อีกทักษะที่จำเป็น คือ การจัดการเชิงธุรกิจ มองให้เป็นว่าการขายของก็คือการทำธุรกิจ บางทีทำไปทำมาไม่ได้คิดค่าแรงให้ตัวเอง ทำไปทำมาวัสดุที่ใช้ไม่ได้เอามาเป็นต้นทุน ขายในโครงการได้ไม่ได้แปลว่ามีตลาดแล้ว เป็นต้น

ถึงแม้ mindset และทักษะเหล่านี้สำคัญมากก็จริง แต่บางทีในระยะเวลาและข้อจำกัดของโครงการพาคนไปไม่ถึง งบที่มาถึงคนทำงานไม่เพียงพอสำหรับการทำงานไปในเชิงลึกได้จริง

8. สิ่งสำคัญสำหรับคนที่เข้าไปทำงานกับชุมชน

คนที่เข้าไปทำงานกับชุมชน ควรใช้เลนส์ในการมองชุมชนจากการเอาตัวเองไปเป็นเขาแล้วค่อยมองออกมา ไม่ใช่มองจากตัวเองเข้าไปหาเขา ลองดูว่าถ้าเราอยู่ในพื้นที่แบบนี้ มีทักษะนี้ มีทรัพยากรแบบนี้ การขนส่งแบบนี้ จะทำอะไรได้บ้าง ไม่ใช่มองจากความเจริญหรือความเป็นไปได้รอบด้าน แล้วไปบอกให้เขาทำ คิดว่าเขาต้องทำได้สิ เราบอกตัวเองเสมอว่า

“เรามาขอความรู้ และเอาความรู้ที่เรามีมาแลกเปลี่ยน เอาแรงมาร่วม”

การพัฒนาผลิตภัณฑ์ไม่จำเป็นต้องไปรื้อทิ้งของเดิมของเขา แค่เปลี่ยนวิธีกิน วิธีใช้ เปลี่ยนวิธีเล่าเรื่องใหม่ ทำให้เกิดเป็นการต่อยอดผลิตภัณฑ์ ก็สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้แล้ว และแบบนี้ผู้ประกอบการเองไม่รู้สึกว่าถูกทำให้เปลี่ยนแปลงมากเกินไป เช่น กลุ่มผู้สูงวัยทำผงกล้วยดิบขาย โดยเอากล้วยดิบไปตากแล้วบดเป็นผง ขายเป็นผงกล้วยบด สำหรับแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ รักษาลำไส้ เราเข้าไปชวนกลุ่มศึกษาประโยชน์และสรรพคุณที่มากขึ้น พากันดูว่ากล้วยบดผงทำอะไรได้อีก และพากันลองทำ เกิดเป็นกระบวนการค้นคว้า ทดลองทำร่วมกัน ลองเอาผงกล้วยบดมาทำขนม ซึ่งทุกคนชอบใจ สุดท้ายแล้วได้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ “แป้งกล้วย” ได้ตลาดใหม่ ได้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายใหม่ และผงกล้วยดิบก็ยังคงขายต่อไปเหมือนเดิม เป็นต้น


การเล็งเห็นศักยภาพและเข้าใจบริบทของผู้คน วิถีชุมชน พาตัวเราเข้าไปร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ผสมผสานภูมิปัญญาพื้นบ้าน และสมัยใหม่นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อให้คนในชุมชนมีความสุขและคุณภาพชีวิตที่ดีครบทุกมิติ ไม่ใช่แค่การมีอาชีพ หรือรายได้เพิ่มขึ้นเท่านั้น หัวใจหลัก คือ การช่วยให้คนในพื้นที่สามารถเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง พึ่งพาตัวเองได้ โดยมีรัฐหรือคนจากภายนอกเป็นเพียงผู้สนับสนุนเหตุและปัจจัยตามสมควร เพื่อให้เขามีความเชื่อมั่นในศักยภาพของตนเอง ต่อยอดจากทรัพยากรที่ตนเองมี

ทั้งนี้ การทำงานร่วมกับชุมชนในแต่ละบทบาทหน้าที่ อาจจะมีบทเรียนและ Insights ที่แตกต่างกันไปจากในบทความนี้ จุดมุ่งหมายเพื่อชวนมองสถานการณ์จากคนทำงานจริง มิใช่ชวนชี้ให้เห็นข้อบกพร่องของระบบหรือคน เพราะไม่ว่ารัฐ เอกชน หรือภาคประชาสังคมก็ตาม ต่างมีความท้าทาย ปัญหา และอุปสรรคในการทำงานของตนเองที่เรามองให้เป็นโอกาสในการพัฒนาได้ ทีมงาน School of Changemakers ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะพูดคุย แลกเปลี่ยน เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ต่อยอดจากประสบการณ์ของแต่ละคน

– Everyone a Changemaker




ใส่ความเห็น

เข้าสู่ระบบด้วย

หรือ