ประเทศไทยมีตำบล 7,255 ตำบล หมู่บ้าน 7.5 หมื่นหมู่บ้าน ทำให้ชุมชนเป็นเรื่องที่ไม่ไกลตัวของคนไทย เราอาจจะเป็นคนที่เติบโตมาในชุมชน เคยไปท่องเที่ยว เป็นลูกค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีเอกลักษณ์ เคยทำค่ายอาสากินนอนในชุมชนสมัยเรียน เคยลงชุมชนในโครงการ CSR หรือเป็นนักพัฒนาชุมชน ไม่ว่าเราจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับชุมชนอย่างไร เราสามารถเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนใดชุมชนหนึ่ง และสามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนได้ทั้งนั้น ภาครัฐเองก็มีหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบด้านการพัฒนาชุมชนโดยตรง คือ กรมการพัฒนาชุมชนที่มีงบประมาณ 5 พันล้านบาท ในปี 2564 และสถาบันการศึกษาในปัจจุบันนี้ นอกเหนือจากภารกิจผลิตพลเมือง ให้มีศักยภาพสามารถเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศแล้ว อีกหนึ่งภาระกิจของสถานบันการศึกษา คือการใช้องค์ความรู้ที่มีช่วยพัฒนาท้องถิ่นและบริการชุมชน กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) มีงบประมาณ 10,629 ล้านบาท สำหรับโครงการ U2T (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล) เพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนในระดับตำบล
การพัฒนาชุมชน เดิมทีเริ่มจากการเป็นวิชาการศึกษามวลชน (Mass Education) ในยุคอาณานิคม มีเป้าหมายในการสร้างคนให้เป็นพลเมืองดีและให้ประชาชนตื่นตัวและรับผิดชอบตนเอง ต่อมา ได้มีการพัฒนาหลักการให้การพัฒนาชุมชนมุ่งเน้นการพัฒนาคนในชุมชนเป็นสำคัญในปัจจุบัน เพราะถือว่าคนเป็นทรัพยากรที่มีความสามารถและพลัง ไม่ว่าจะเป็นกำลัง ความคิด แรงงาน ฝีมือ ทักษะ ที่สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชนได้ ดังนั้น การพัฒนาชุมชนจะสำเร็จได้ขึ้นอยู่กับการพัฒนาคนให้มีความพร้อมที่จะคิดริเริ่มการพัฒนา เกิดการร่วมมือกและบริหารทรัพยากรธรรมชาติในชุมชนให้มีประสิทธิภาพและคุ้มค่า โดยองค์กรภายนอกหยิบยื่นช่วยเหลือเท่าที่จำเป็นหรือเกินความสามารถของชุมชนเท่านั้น จึงจะเกิดการพัฒนาชุมชนและเสริมพลัง (empower) ให้คนในชุมชนอย่างยั่งยืน ชุมชนแข็งแกร่งและสามัคคีในระยะยาว ทุนสังคม (social capital) อย่างความไว้เนื้อเชื่อใจสูงขึ้น การมีส่วนร่วมของคนในชุมชน และสุขภาพของคนในชุมชนดีขึ้น
การพัฒนาชุมชน (Community Development) VS การใช้ชุมชนเป็นฐานการพัฒนา (Community-based Work)
เมื่อย้อนดูงานพัฒนาในชุมชนที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจะพบว่าต่างจากหลักการที่กล่าวไว้ข้างต้นอย่างมาก เพราะมักจะเป็นการพัฒนาแบบทำครั้งเดียวจบ (one-off) เช่น องค์กรภายนอกได้รับโจทย์มาล่วงหน้าให้ คิดกิจกรรมจัดอบรมให้ความรู้เฉพาะด้านโดยมีสมมติฐานว่า ถ้าชาวบ้านมีความรู้แล้ว เขาจะสามารถทำต่อเองได้ แต่ในความเป็นจริงยังมีปัจจัยอื่นอีกมากมายในการพัฒนาศักยภาพชุมชน นอกเหนือจากการให้ความรู้ ก็มีการช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์แบบสุดโต่ง (จนชาวบ้านทำต่อเองไม่ได้) กิจกรรมเหล่านี้ ความจริงแล้ว เป็นเพียงกลยุทธ์ส่วนหนึ่งของการพัฒนาชุมชนแต่ไม่ใช่การพัฒนาชุมชนแบบยั่งยืน แต่กิจกรรมลักษณะนี้ ความคล้ายการใช้ชุมชนเป็นฐานการพัฒนาการเรียนรู้ (Community-based Work)
การใช้ชุมชนเป็นฐานไม่ได้เป็นเรื่องไม่ดี มีการพัฒนาดี ๆ มากมายที่เกิดจากการใช้ชุมชนเป็นฐาน ทั้งสองมีบริบทในการทำงานแตกต่างกันไป แม้จะทำงานชุมชนเหมือนกัน แต่มีลักษณะการดำเนินและมีเป้าหมายต่างกันมาก และไม่ใช่ทุกชุมชนจะเหมาะกับการพัฒนาทั้งสองแบบ ผู้พัฒนาควรเลือกใช้ให้เหมาะสม การพัฒนาชุมชนมีลักษณะการทำงานที่เหมาะกับชุมชนที่ต้องการแก้ไขปัญหาสังคม ชุมชนที่มีความเสี่ยง และชุมชนที่ต้องการสร้างทุนสังคมและความสัมพันธ์ในชุมชนมากกว่า ในขณะที่การใช้ชุมชนเป็นฐานนั้น จะเหมาะกับชุมชนที่มีความเข้มแข็งอยู่แล้วในระดับหนึ่ง ชาวบ้านไม่ได้มีปัญหาเดือดร้อนอะไรมากมาย ชาวบ้านอยากแบ่งปันแลกเปลี่ยนหรือเป็นผู้สอนให้ผู้เรียน/ผู้พัฒนาได้
ประเด็นที่น่าสนใจเรื่องความท้าทายในการพัฒนาชุมชน
- ใช้ความเข้าใจนำ
การพัฒนาชุมชนที่ตั้งเป้ามาก่อนแล้ว มักจะมีการลงพื้นที่ถูกวางเป็นขั้นตอนหลัง ระบุไปก่อนแล้วว่าจะอบรมหัวข้อหรือจัดอบรมเชิงปฏิบัติการอะไร เช่น สอนการตลาดให้กับชุมชนที่มีผลิตภัณฑ์อยู่แล้ว บางครั้งมีการจัดบรรยายออนไลน์ ซึ่งคนในชุมชนส่วนใหญ่มีวิถีชีวิตแบบชนบทเข้าไม่ถึง ไม่มีอินเตอร์เน็ตหรือสมาร์ทโฟน จะเข้าร่วมและพัฒนาตัวเองได้อย่างไร
ไม่ว่าเราจะทำกิจกรรมอะไรก็ตาม อย่าลืมว่าเราพัฒนาคนผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการ ฉะนั้น เราต้องศึกษาจนรู้บริบท ความสัมพันธ์ ธรรมชาติในชุมชน จึงประเมินศักยภาพและหาส่วนขาดของชุมชน แล้วค่อยพัฒนาทักษะของแต่ละคนให้สามารถทำโครงการร่วมกันได้อย่างตรงจุด แล้วค่อยเสริมทักษะอื่นๆ

- การเลือกตัวแทน/ผู้นำการพัฒนา
ในฝั่งของชุมชน ผลการศึกษาปัญหาและความต้องการพัฒนาชุมชนของประชาชน พบว่าลักษณะของผู้นำที่ทำให้โครงการพัฒนาไม่สำเร็จ คือ 1) ผู้นำไม่มีความเข้มแข็งจึงทำให้ชาวบ้านขาดความเชื่อถือและศรัทธา 2) ผู้นำครอบงำความคิดเห็นของชาวบ้าน 3) ผู้นำมีการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว ดังนั้นผู้นำชุมชนอาจจะเป็นคนเปิดประตูให้เราเข้าไปในชุมชนได้แต่อาจไม่ได้มีลักษณะการผู้นำการพัฒนาที่ดี เราสามารถพิจารณาคนกลุ่มอื่นที่มีศักยภาพในการเป็นผู้นำได้เช่นกัน อย่างผู้หญิงวัยทำงาน บัณฑิตจบใหม่ที่กลับบ้าน และผู้เกษียณงานที่ยังมีไฟ มาร่วมงาน
ส่วนในฝั่งขององค์กรภายนอก หลายครั้ง ๆ มักจะส่งผู้เชี่ยวชาญเชิงทฤษฎี เน้นดูเรื่องเกณฑ์มาตรฐานและการวัดผลตรวจงาน จึงมีการใช้ศัพท์เฉพาะที่คนในชุมชนไม่เข้าใจ เกิดช่องว่างในการสื่อสาร ส่งผลให้ชาวบ้านไม่อยากร่วมงานด้วย เพราะคนที่ชาวบ้านอยากเจอ คือ คนที่อยู่ในสายงานอาชีพนั้น ๆ มีความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์จริง ล้มลุกคลุกคลานมาก่อน รับฟังเขาจริง ๆ พูดภาษาเดียวกันกับเขา และทำให้เขารู้สึกเชื่อมโยงเป็นพรรคพวกเดียวกันได้
3. การดำเนินงาน
การพัฒนาชุมชนมักมีความซับซ้อนซ้อนอยู่ ไม่ว่าจะแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาอะไรก็ตาม ไม่สามารถทำได้ด้วยคนเก่งเพียงคนเดียว ควรมีทีมจากหลากหลายสาขาเพื่อร่วมกันพัฒนาอย่างบูรญาการ เพราะมีหลายโครงการที่คนจากองค์กรภายนอกเข้ามาช่วยแค่เพียงความเชี่ยวชาญหลักของตัวเองเท่านั้น และไม่ได้คิดต่อว่าคนในชุมชนต้องการความรู้หลากหลายด้านในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ อย่างไรก็ดี การเข้าไปเป็นหมู่คณะ บางครั้งก็เกิดการแบ่งชิ้นงานกันทำแต่ไม่ได้เป็นการทำงานเป็นทีมร่วมกับชาวบ้าน นอกจากจะทำให้งานมีการตกหล่นแล้วอาจจะไปสร้างความรู้สึกไม่ดีเกี่ยวกับการพัฒนาชุมชนได้ด้วย
ด้วยระยะเวลาที่ใช้เวลานานกว่าโครงการพัฒนาแบบอื่นๆ กว่าจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในตัวคน ทำให้หลายๆ โครงการจะต้องเลื่อนระยะเวลาการทำงานให้นานขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้มีปัญหาเรื่องการรับทุน จึงควรพิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อน นอกจากนี้ หลายๆ โครงการมักจะไม่ได้เผื่อเวลาหลังการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้ผลิตภัณฑ์ได้ทำงานกับผู้ประกอบการและลูกค้า แต่ตั้งเป้าที่การขอการรับรองผลิตภัณฑ์แล้วจบกัน การทำผลิตภัณฑ์ชุมชนนั้นไม่ต่างจากการขึ้นผลิตภัณฑ์และบริการในภาคอื่นๆ ที่ต้องใช้เวลาให้การพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทดลองใช้ ทดลองขาย เก็บผลตอบรับ ทิ้งระยะให้มีการปรับปรุง พัฒนาต่อยอด จึงค่อยนำไปขอการรับรองในปีต่อไป
3 เรื่องน่าทำในการพัฒนาชุมชน
ลิงก์ข้อมูล
- School of Changemakers – 8 Insights ถอดบทเรียนจากการทำงานชุมชน
- วารสารพัฒนบริหารศาสตร์ – ยุทธศาสตร์การพัฒนาชาติตามแนวทางชุมชนพึ่งพาตัวเองแบบยั่งยืน กระบวนการพัฒนาที่มุ่งสู่การพึ่งพาตัวเอง
- ทฤษฎีและหลักการพัฒนาชุมชน Theory and Principle of Community Development – ผลการศึกษาปัญหาและความต้องการพัฒนาชุมชนของประชาชน