ประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา มีหลายปัจจัยที่ใช้ชี้วัดสถานะดังกล่าวแต่สิ่งที่มักจะถูกหยิบยกขึ้นมาใช้เป็นตัววัด คือ รายได้ต่อหัว หรือ GDP (Gross Domestic Product) ซึ่งเป็นตัววัดที่ไม่ได้สะท้อนถึงความอยู่ดีกินดี และคุณภาพชีวิตที่แท้จริงของคนในประเทศเพราะ GDP นั้นเกิดในยุคอุตสาหกรรมที่เน้นการผลิตให้มากที่สุด โดยไม่คำนึงถึงคุณภาพของสินค้าหรือการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ (Environmental Degradation) ไม่นับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สร้างการเติบโตนอกระบบ (เช่น การทำงานอาสาสมัคร การขายบริการทางเพศ หวยใต้ดิน) และที่สำคัญไม่สามารถชี้วัดระดับความกินดีอยู่ดี (welbeing) ของประชนในยุคที่ความเหลื่อมล้ำสูงได้ ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมานั้น การพัฒนาทุ่มให้กับด้านเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเพียงมิติเดียว ละเลยการพัฒนาด้านอื่น ๆ การส่งเสริมให้บริโภคเกินขีดจำกัดของความยั่งยืน (Overconsumption) การละเลยการพัฒนาด้านมนุษย์และสังคม และทวีความรุนแรงด้านความเหลื่อมล้ำ ซึ่งผู้ที่จะได้รับความเดือดร้อน มักจะเป็นชุมชนเล็ก ๆ คนรากหญ้า หรือคนจนที่มีช่องทางหารายได้จำกัดและมีจำนวนมาก หนำซ้ำ การพัฒนาทางเศรษฐกิจแบบสุดโต่ง ยังเป็นเหตุให้หลายชุมชนชนบทล่มสลายและเกิดปัญหาสังคมตามมาอีกด้วย
บทความนี้บอกเล่าถึง สถานการณ์และประเด็นความท้าทายที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจระดับชุมชนที่เห็นว่าเป็นประเด็นน่าสนใจ ตั้งแต่ปัญหาการกระจายรายได้ในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ต่อด้วยผลกระทบที่ชุมชนกำลังเผชิญ และความท้าทายการในพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนให้ยั่งยืน
การกระจายรายได้ที่ไม่เท่าเทียม
การพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมมักจะเกิดความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจอยู่เสมอ สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ การกระจายรายได้ของคนในชุมชนในทุกอุตสาหกรรม ตั้งแต่การท่องเที่ยว การเกษตร และอุตสาหกรรมแปรรูป ซึ่งทั้งหมดเป็นแหล่งรายได้หลักของประเทศไทยและมีชุมชนเกี่ยวข้องโดยตรง
การท่องเที่ยว
ประเทศไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวกว่า 20% ของ GDP โดยในช่วงก่อนโควิด 19 รายได้จากการท่องเที่ยว คิดเป็น 17% ของ GDP โดยมี 10% มาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ มีรายได้เข้าประเทศกว่า 2 ล้านล้านบาท ดังนั้น การท่องเที่ยวได้ช่วยสร้างอาชีพและการจ้างงาน ยกคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้ดีขึ้น กระตุ้นเศรษฐกิจ-การผลิต ช่วยลดปัญหาการอพยพเข้าไปในเมือง และช่วยอนุรักษ์ ฟื้นฟูวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ดี รายจ่ายเหล่านั้นคิดเป็นมีเพียง 5% ที่กลับไปสู่คนในชุมชน อีก 15% หมุนเวียนอยู่ในมือนายทุนคนไทย และอีก 80% อยู่ในกระเป๋าสายการบิน โรงแรมและเอเจนซี่ท่องเที่ยวต่างประเทศ
การเกษตร

นอกจากการท่องเที่ยวแล้ว ประเทศไทยยังเป็น ‘ครัวโลก’ และเราส่งออกข้าว ยางและอาหารสัตว์เลี้ยงอันดับต้น ๆ ของโลก การเกษตรเป็นแหล่งรายได้สำคัญ คิดเป็นประมาณ 10% ของ GDP ประเทศ และยังใช้สัดส่วนแรงงานถึง 32.3% จากทั้งหมด แต่กลับสร้างรายได้ให้เกษตรกรได้ไม่ถึงครึ่ง เนื่องจากสินค้าไทยกลับมีราคาตกต่ำ เกษตรกรเป็นกลุ่มที่มีหนี้ครัวเรือนสูงสุด เกิดวิกฤตความหลากหลายทางชีวภาพ
ยกตัวอย่างเช่น แผนที่ข้าวพื้นบ้าน ที่ชาวนาอินทรีย์กำลังฟื้นฟูและพัฒนา และการขาดแคลนอาหารในหลายพื้นที่
อุตสาหกรรมในชุมชน
อุตสาหกรรมในชุมชน คือ การผลิตง่าย ๆ โดยมีคนในครอบครัวหรือหมู่บ้านทำ เช่น หัตถกรรมจักสาน เซรามิก ไม้กวาดดอกหญ้า น้ำตาล เป็นต้น โดยที่แต่ละกลุ่มมีสินค้าของตัวเองทำให้ชุมชนมีเศรษฐกิจในชุมชน เงินหมุนเวียนอยู่ในชุมชน อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมในชุมชนมักจะไม่มีกำไรมากเพราะมักผลิตไว้เพื่อบริโภคมากกว่าขาย และเมื่อต้องการขายจริงจังเพื่อตอบรับตลาดสินค้าท้องถิ่น ชาวบ้านก็มักขาดความรู้ เช่น การคิดต้นทุน การทำบัญชี การเข้าถึงลูกค้า ขาดนวัตกรรมและเทคโนโลยีในการผลิตและจัดการ ขาดโอกาสในการแข่งขัน และขาดเงินทุน ทำให้คนในชุมชนไม่สามารถแข่งขันกับนายทุนเข้ามาแฝงตัวเล่นในตลาดนี้
นอกจากนี้ในช่วง 10 กว่าปีให้หลัง สินค้าอุตสาหกรรมในชุมชนได้กลายเป็นที่รู้จักในนาม สินค้า OTOP หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ คือ การเปลี่ยนการผลิตสินค้าหลากหลายในยุคก่อนหน้าให้กลายเป็น 1 ชุมชนผลิต 1 สินค้า มีข้อเสีย เช่น ชุมชนจะต้องพึ่งพารายได้จากคนนอกชุมชน และเพิ่มการพึ่งพาสินค้าจากนอกชุมชน เป็นต้น ซึ่งสินค้า OTOP ในปัจจุบัน มีมากกว่า 20,000 รายการ แต่เกือบครึ่งไม่สามารถก้าวสู่ตลาดโลกได้ เนื่องจาก ยังขาดการพัฒนาแบรนด์ที่มีสินค้าหลากหลายแต่มีเอกลักษณ์ร่วมกัน แตกต่างจากคู่แข่งตำบลอื่น ๆ ขาดการพัฒนาต่อรากฐานจากภูมิปัญญา ขาดการปรับปรุงสินค้าให้มีมาตรฐานที่จะทำให้ลูกค้าซื้อซ้ำหรือบอกต่อ และขาดการตั้งราคาที่สอดคล้องกับต้นทุน
ควบสอง-ขอ-กู้ วิธีแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าจากพิษเศรษฐกิจชุมชนที่ไม่ยั่งยืน
ประเทศไทยเหลื่อมล้ำสูงเป็นอันดับต้นของโลก โดยมีคนเพียง 1% ที่ถือครองทรัพย์สิน 67% ของทรัพย์สินทั้งประเทศ ในขณะที่อีก 99 % ถือครองทรัพย์สิน 33% ที่เหลือ รวมถึงในระดับจุลภาพด้วย ชุมชนเองก็มีคนหลากหลายกลุ่มรายได้ และมีลักษณะ ‘รวยกระจุก จนกระจาย’ เช่นกัน ชาวบ้านหาเช้ากินค่ำจึงต้องจัดการหารายได้ทางอื่น ยกตัวอย่างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจชุมชนด้วยกรณีของชาวไร่ชาวนา กลุ่มที่มีปัญหาด้านเศรษฐกิจมากที่สุด พวกเขาต้องทำงานสองกะ/สองงาน (ชาวไร่ชาวนาได้รายได้ 40% มาจากผลิตผลทางการเกษตร อีก 60% ทำงานรับจ้างในเมือง หรือขับแท็กซี่นอกฤดูเกษตร) หรือจะขอความช่วยเหลือจากลูกหรือญาติที่ทำงานในเมือง หากไม่พอก็จำเป็นต้องขายทรัพย์สิน ซึ่งส่วนมากเป็นที่ดินมรดก โดยที่ชาวบ้านไม่สามารถแบ่งขายได้ เพราะนายทุนต้องการซื้อที่ดินแบบยกผืนแลกกับราคาที่ดี และสุดท้าย ก็ต้องเช่าที่ทำนา แถมยังต้องกู้ทั้งในและนอกระบบ เพื่อมาลงทุนในการเกษตร ทำให้ทุกวันนี้ 71% ของชาวนาทำนาบนที่ดินติดจำนองหรือเช่าจากนายทุน
ทางออกปัญหาเศรษฐกิจชุมชนคือคนรุ่นใหม่ (จริงหรือ) ?
ปัจจุบันชาวไร่ชาวนาคือคนส่วนน้อยในชุมชน ที่เห็นมากคือคนแก่และเด็ก เราจะสามารถพึ่งเด็กรุ่นใหม่ ให้เป็นความหวังในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและพัฒนาชุมชนได้หรือไม่ ในเมื่อพวกเขาได้เข้าไปเรียนและทำงานในเมือง เป็นผู้หารายได้มาจุนเจือครอบครัวที่อยู่ชุมชน ประกอบกับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้สถานที่ประกอบการ ต้องปรับการทำงาน ลดคน และวัยทำงานย้ายออกจากเมือง 8% ไปอยู่ชนบท จึงเป็นโอกาสที่น่าสนใจมาก
แต่เมื่อลองพิจารณาสถานการณ์จริงในชุมชนดูแล้ว พบว่า บริบทชุมชนอาจยังไม่สามารถตอบโจทย์ของคนรุ่นใหม่ ในกลุ่มลูกหลานชาวไร่ชาวนาให้อยู่ในชุมชนได้ ทั้งในแง่ของรายได้ที่เพียงพอต่อภาระ ความต้องการด้านงานที่มีความท้าทาย ได้พัฒนาทักษะ เครือข่าย โอกาสในการเข้าถึงองค์ความรู้และการพัฒนาตัวเอง และมีเส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพ (career path) ดังนั้น หากยังไม่มีโอกาสด้านการงาน ทางออกปัญหาเศรษฐกิจชุมชนอาจจะยังไม่ใช่คนรุ่นใหม่ในตอนนี้
ประเด็นที่น่าสนใจเรื่องความท้าทายในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน
- การพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนและยั่งยืน หนทางหนึ่งคือการที่คนในชุมชนเป็นลูกค้าของกันและกันได้ มีสินค้าและบริการหลากหลาย และตอบโจทย์คนในชุมชน กระจายรายได้เข้าสู่ชุมชนทำให้ลดการพึ่งพาสินค้าจากภายนอก ไม่ใช่การที่ทุกคนในชุมชนมาพัฒนาสินค้าและบริการเดียว และต้องรอลูกค้าที่เป็นคนนอกชุมชน อย่างที่มีปัญหาในช่วงโควิดที่คนไม่สามารถเดินทางได้มากนัก การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนส่วนใหญ่ ยังขาดโมเดลที่เงินทุกบาทไหลและวนเวียนอยู่ในชุมชน
- จากการวิเคราะห์โอกาส ‘เศรษฐกิจชุมชน’ เทรนด์การตื่นรู้ของผู้บริโภคยังเปิดโอกาสใหม่ ๆ ในลักษณะ Local to Local Economy (สองชุมชนเป็นลูกค้าของกันและกัน) และเปิดโอกาส Local to Global Economy ในการเข้าตลาดโลกด้วย แต่จะไม่ได้เลยหากเรายังขาดความเป็นมืออาชีพ (การทำตามข้อตกลง การสร้างความเชื่อถือในคุณภาพ) การบริหารต้นทุน โดยใช้เครื่องมือทันสมัย และ การบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า การดูแลรักษาความเชื่อมั่นไว้วางใจเพื่อให้ลูกค้ากลับมาซื้อ และสุดท้ายเพื่อให้สามารถแข่งขันกับนายทุนได้
- ยังมีอีกโมเดลในการทำงาน โดยไม่ต้องแข่งขันกับนายทุน แต่เป็นการร่วมมือกับนายทุน และเรียนรู้จุดแข็งของเขา ตั้งแต่การจัดการ องค์ความรู้การตลาดและการค้าขายแบบปลีก ตัวอย่างเช่น การร่วมกันทำตลาด ‘Local Sourcing’ที่เปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้พบและรับผลตอบรับจากลูกค้า โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง (เป็นการลดการใช้สารพิษในสินค้าสด และลดการแพร่กระจายโรคในสัตว์) เพราะธุรกิจแบ่งปัน (Sharing Economy) คือทางรอดของธุรกิจ ที่เปิดโอกาสให้ทั้งชาวบ้านและนายทุนคิดนอกกรอบมากขึ้น โดยยังคงตัวตนและเสน่ห์ของตัวเองไว้ และหาทางใช้ประโยชน์จากทรัพยากรตัวเองให้มากที่สุด
- นักท่องเที่ยวภายในประเทศไทยกว่า 73% มีแนวโน้มที่จะเลือกการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และต้องการใกล้ชิดกับธรรมชาติ พวกเขาต้องการมั่นใจว่า เงินที่ใช้จ่ายไป จะถูกกระจายไปสู่คนทุกระดับในสังคม และรู้สึกหงุดหงิดหากที่พักไม่เอื้อให้พวกเขาสร้างความยั่งยืน เช่น ไม่เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์ หรือสิ่งของอำนวยความสะดวกที่สามารถรีไซเคิลได้ ซึ่งการท่องเที่ยวเชิงชุมชนและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนั้น ช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองรอง ลดจำนวนนักท่องเที่ยวที่มากเกินในเมืองหลัก และยังดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยว ‘Work from Anywhere’ ที่มีศักยภาพในการจ่ายสูงและพักนาน
ตัวอย่างการพัฒนาเศรษฐกิจระดับชุมชนที่น่าสนใจ
สถาบันที่ต้องการถ่ายทอดวิธีการสร้างชุมชนที่คนมีความสุข จากบทเรียนการทำงานขับเคลื่อนมายาวนานกว่า 10 ปีของ ชุมชน ภาคประชาสังคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สร้างชุมชนแข็งแกร่ง จนสามารถทำงานร่วมกับภาครัฐในการสร้างยุทธศาสตร์และทิศทางในการพัฒนาจังหวัดร่วมกันได้ โดยเน้นการสร้างความสุข สร้างพลังประชาชน ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการรวมตัว ร่วมคิด ร่วมทำ ในทุกเรื่อง ทุกพื้นที่ทุกเครือข่ายประเด็น เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและขยายไปสู่พื้นที่อื่นไปพร้อมๆ กัน
สถาบันไทยเบิ้งโคกสลุงเพื่อการพัฒนาเป็นองค์กรในการขับเคลื่อนการทำงาน โดยมีเป้าหมายที่สำคัญคือ ความสุขร่วมของคนในชุมชนบนวิถีวัฒนธรรมไทยเบิ้ง เพื่อพัฒนาคนกระบวนการ ให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของสังคม พัฒนาความยั่งยืนของชุมชน ภายใต้วิถีวัฒนธรรมชุมชนภูมิปัญญาท้องถิ่น และ สร้างความร่วมมือเครือข่ายการทำงานทุกภาคส่วน
- โครงการศึกษาอัตลักษณ์ของเมืองสกลนครและต่อยอดในรูปแบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ – The Cloud
- โครงการต่อยอดมาเป็นการถ่ายทอดความรู้จากมหาวิทยาลัยไปสู่ผู้ประกอบการรายย่อย โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
อีก 2 เรื่องที่น่าสนใจในการพัฒนาชุมชน
ลิงก์แหล่งที่มาของข้อมูลและข้อมูลที่น่าสนใจ
- School of Changemakers – 8 Insights ถอดบทเรียนจากการทำงานชุมชน
- School of Changemakers – ความท้าทายในการพัฒนาชุมชน
- บทวิเคราะห์สถานการณ์ สาขาธุรกิจท่องเที่ยว ปี 2564 และแนวโน้มปี 2565 โดย นายณัฏฐกฤติ นิธิประภา ฝ่ายวิเคราะห์สถานการณ์และเตือนภัยทางเศรษฐกิจ กันยายน 2564
- การศึกษาอิสระการกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยว ในชุมชนท้องเนียน อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช โดย ภคพร คงแก้ว
- Bangkokbiznews – หนี้สินครัวเรือนไทยเป็นนิวนอร์มอล
- Marketingoops – 3 จุดอ่อน “OTOP ไทย” กับ 5 เคล็ดลับความสำเร็จ 20 แบรนด์ไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก
- OpenDevelopment – ผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมจากการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ
- The 101 World (Politics) – แพงทั้งแผ่นดิน ถูกอย่างเดียวคือค่าแรง: เสียงจากคนขับรถ ชาวนา และชาวประมง
- Workpoint Today – ท่องเที่ยววิถีชุมชนอย่างยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำในยุคดิจิทัล
- สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ – เกษตรกรรมยั่งยืน (Sustainable Agriculture)
- บทบาทอุตสาหกรรมต่อการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน โดย รศ.ดร.ธภัทร ศิลาเลิศรักษา
- สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม – สรุปผลสำรวจภาวะการทำงานของประชากร เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563
ข้อมูลน่าสนใจมากครับ