ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา การพัฒนาส่วนใหญ่ถูกทุ่มให้กับด้านเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเพียงมิติเดียว ทำให้ละเลยการพัฒนาด้านอื่น ๆ ไป ประกอบหลายกิจกรรมที่ไม่ได้คำนึงถึงทรัพยากรธรรมชาติและทำลายสิ่งแวดล้อมในชุมชน กิจกรรมที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติในชุมชนมีหลายมิติตั้งแต่การหาของล่าสัตว์ ใช้พื้นที่ทำไร่นา อยู่อาศัย การใช้ทำประโยชน์ให้กับนายทุน เช่น การจ้างปลูกพืชอาหารสัตว์ ซื้อที่ดินแบบเหมาเพื่อจัดตั้งสถานที่ทางเศรษฐกิจ ให้เช่าที่กับชาวบ้านทำไร่ทำนา การใช้พื้นที่ในเชิงวิชาการ เช่น ใช้พื้นที่ทำวิจัยศึกษา ทำโครงการอาสาสมัครต่าง ๆ หรือใช้ชุมชนเป็นฐานเรียนรู้ การใช้พื้นที่ทางธรรมชาติในการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการทำการเกษตร การก่อตั้งโรงงาน การจัดงาน การท่องเที่ยว หรือการทำเหมืองถ่าน ซึ่งชาวบ้านก็อาจจะไม่ใช่ผู้ที่ต้องการให้มีกิจกรรมเหล่านี้ในชุมชน แต่เหตุผลทางการเงิน โอกาส หรือไม่มีทางเลือก กิจกรรมเหล่านี้จึงได้เกิดขึ้น
การละเลยทรัพยากรธรรมชาตินั้นส่งผลต่อระบบนิเวศและสุขภาพของคนทุกคนทั้งทางตรงและทางอ้อมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในชุมชนเอง นอกเหนือจากการถูกตีตราว่าชาวบ้านเป็นผู้ทำลายธรรมชาติ ถึงแม้ทำเพื่อตอบจะความต้องการนายทุนหรือตลาดก็ตาม ผลตอบแทนที่ได้รับกลับมาอย่างไม่คุ้มเสีย คือการที่พวกเขาต้องแบกรับที่จะใช้ชีวิตอยู่กับต้นทุนทางทรัพยากร ระบบนิเวศที่ถดถอยและเสื่อมโทรม และสุดท้าย พวกเขาก็เป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบจากโรคภัยที่รุมเร้าอย่างช้า ๆ
ของเหลือจากการเกษตร
ประเทศไทยมีประชากรส่วนใหญ่อยู่ในภาคการเกษตรและปลูกพืชหลากหลาย โดยมีเกษตรกรส่วนหนึ่งเร่งการผลิตพืช ให้ได้หลายรอบต่อปี จากข้อมูลล่าสุด เรามีชีวมวลที่เหลือใช้ 159 ล้านตัน ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ คิดเป็น 53% ของชีวมวลที่เกิดขึ้นทั้งหมด 296 ล้านตัน ไม่ว่าจะเป็นใบอ้อย ตอซังและฟางข้าว และตอซังข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ การจัดการของเหลือจากการเกษตรยังขาดการจัดการที่ดี และเลือกใช้วิธีการเผาเศษวัสดุทางการเกษตรแทนวิธีการอื่น ๆ เพราะเป็นหนทางที่ง่าย สะดวก รวดเร็ว ต้นทุนต่ำ นำมาซึ่งปัญหามลพิษทางอากาศ และโรคทางเดินหายใจ
นอกจากการนำไปหมักปุ๋ย หรือแปรรูปแล้ว มีการคาดการณ์ว่ามูลค่าจากปริมาณเศษเหลือใช้ทางการเกษตรคงเหลือ จะสามารถกระตุ้นทางเศรษฐกิจได้เฉลี่ยสูงกว่าแสนล้านบาทต่อปี เพื่อตอบความต้องการน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuels) เพื่อลดการพึ่งพิงน้ำมันเชื้อเพลิงจาก (Fossil Fuel) และลดสาเหตุของก๊าซเรือนกระจก ช่วยส่งเสริมรายได้เกษตรกร และการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน เพราะเชื้อเพลิงชีวภาพสามารถสร้างขึ้นใหม่ได้ โดยของเหลือทิ้งทางการเกษตร ทุก ๆ 1 ตัน เมื่อเทียบเป็นค่าพลังงาน จะมีมูลค่าน้ำมันดิบเฉลี่ย 2 บาท ดังนั้น หากเกษตรกรสามารถจัดเก็บเศษเหลือใช้จากการเกษตร ที่มีอยู่ในประเทศได้ทั้งหมด โดยไม่มีต้นทุนค่าขนส่ง
การท่องเที่ยว
ธรรมชาติที่มีสภาพดีและสวยงามเป็นแรงดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่และเกิดกิจกรรมต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบทั้งบวกและลบต่อชุมชน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เพราะในขณะที่เศรษฐกิจทางการเงินดีขึ้น แต่ ต้องแลกมาซึ่งความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นขยะมูลฝอย น้ำเสีย มลภาวะทางเสียง ยกตัวอย่าง การจัดคอนเสิร์ตในป่านั้นจะเกิดแสง สี เสียงที่ทำให้สัตว์ป่าที่เป็นทรัพยากรธรรมตื่นกลัว ทิ้งที่อยู่อาศัย และส่งผลต่อการสืบพันธุ์ สัตว์ป่าโดนเฉี่ยวชน รวมถึงขยะมหาศาลหลังจบงานคอนเสิร์ต เป็นต้น


การสูญเสียความหลากลายทางชีวภาพ (Biodiversity Loss)
ระบบนิเวศของไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพและมีห่วงโซ่อาหารที่ซับซ้อนมาก เรามีพืชสวนครัวหลากหลายสายพันธุ์ แต่กลับอยู่ในวิกฤติใกล้สูญพันธ์ มีการรับสินค้าเกษตรจากต่างชาติเข้ามาขายในตลาด และยังมีเหตุการณ์ขาดแคลนอาหารให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะช่วง Covid-19 ดร. นณณ์ ผาณิตวงศ์ ASEAN Biodiversity Hero จากผลงานอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ได้อธิบายว่า หากสิ่งหนึ่งหายไปตอนนี้อาจยังไม่มีผลกระทบมาก เราสามารถเปลี่ยนไปกินสิ่งอื่นได้ แต่การหายไปของสิ่งมีชีวิตนั้นเกิดขึ้นถี่มากขึ้นเรื่อย ๆ จนวันหนึ่ง ประเทศเราก็จะเป็นระบบนิเวศน์ที่ซับซ้อนน้อยกว่านี้ มีสิ่งมีชีวิตคีย์สโตน (keystone species) น้อยลงเรื่อย ๆ และถูกแทรกแซงด้วยเอเลียนสปีชีส์ (alien species)
ตัวอย่างผลกระทบจากการพัฒนาชุมชนที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
เดิมที เรามีข้าวกว่าหมื่นชนิด ซึ่งแต่ละชนิดก็มีทรง ความมัน ความหอม และรสชาติที่ต่างกัน เพื่อให้ทานคู่กับอาหารประจำถิ่นนั้น ๆ แล้วอร่อย ดังนั้น ข้าวแต่ละชนิดก็มีลักษณะพื้นที่ที่ปลูกขึ้นไม่เหมือนกันเช่นกัน เมื่อเกิดความนิยมในข้าวกระแสหลักก็ทำให้เกิดการระดมปลูกข้าวเศรษฐกิจแทนกระทั้งข้าวพื้นถิ่นสูญพันธุ์ไปจนเหลือไม่กี่สิบชนิดที่กินกัน แม้ข้าวจะเป็นพืชที่ปรับตัวกับพื้นที่ใหม่ ๆ เก่ง ข้าวต่างถิ่นก็ถือเป็นเอเลี่ยนสปีชีส์ที่ไม่แข็งแรง มีภูมิต้านทานต่ำ ต้องมีการพึ่งสารเคมี เป็นพิษต่อผู้ปลูกและผู้กิน สารเคมีไหลลงแหล่งน้ำและ ทำลายแมลงที่ช่วยผสมเกษรในพื้นที่ที่มีความเซนซิทีฟต่อเคมี อย่างเต่าทองและผึ้ง (ที่เป็นสิ่งมีชีวิตคีย์สโตนที่แพร่กระจายเกสรพืช ผสมละอองเกสรให้ 90% ของพืชดอกป่า และ 75% ของพืชอาหาร ปัจจุบัน ผึ้งลดจำนวนลงเหลือเพียง 50% ใน 1 ปี) ส่งผลให้ต้องใช้เคมีในการจัดการเพลี้ย มีพืชผสมพันธุ์ออกดอกผลน้อยลง สุดท้าย แมลงและสัตว์อื่นก็ไม่มีอาหาร เสี่ยงสูญพันธุ์ตามไปด้วย

ตัวอย่างที่สอง การทำถนนผ่าป่าหรือปรับปรุงถนนลูกรังในป่า มีผลทำให้รถในพื้นที่ป่าสามารถขับได้เร็วขึ้น (เสี่ยงชนสัตว์และแมลงมากขึ้น นำคนมาได้เยอะขึ้น และเกิดเสียงดังสร้างความตกใจแก่สัตว์มากขึ้น) หากผ่านลำธาร ก็เสี่ยงทำลายแหล่งกินน้ำของสัตว์ แถมยังเป็นการแบ่งพื้นที่ป่าออกเป็นส่วนเล็ก ๆ ทำให้สัตว์ป่าอยู่ในสภาพ ‘ติดเกาะที่ล้อมด้วยทะเลมนุษย์’ ขาดการติดต่อกับกลุ่มอื่น ไม่เกิดการแลกเปลี่ยนทางพันธุกรรม ซึ่งเป็นสาเหตุใหญ่ของการสูญพันธุ์

การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพจากการสูญพันธุ์ของพืชและสัตว์ เป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงที่สุดในระดับโลก ตามมาด้วยปัญหาจากไนโตรเจน (ส่วนใหญ่เกิดจากปุ๋ยทางการเกษตรที่ปนเปื้อนดินและน้ำ) และวิกฤติภูมิอากาศ จำเป็นต้องมีการแก้ไขอย่างเร่งด่วนที่สุด
การจัดการทรัพยากรธรรมชาติในปัจจุบัน
มีการกำกับเพื่อไม่ให้ทรัพยากรธรรมชาติถูกใช้มากเกิน ด้วยแนวทางการดูแล 3 ส่วน ส่วนแรกคือ การควบคุมโดยตรงจากรัฐ (ออกข้อบังคับให้มีทางเลือกที่ถูกต้องและลงโทษหากมีการทำผิด ออกนโยบายและจัดหาทุนในการแก้ไขปัญหาหรือพัฒนา) และส่วนที่ 2 คือ รัฐให้สัมปทานกับเอกชน (privatization) และแนวทางที่ 3 คือชุมชนดูแลจัดการกันเองภายใต้การกำกับของรัฐ (ตามสิทธิของชุมชน รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540) เพราะชาวบ้านก็สามารถเรียนรู้วิธีการจัดการ และมักจะพยายามหาทางออกที่ดีขึ้นเมื่อมีโอกาส และหากพวกเขาได้รับเครื่องมือในการจัดการร่วมกัน ก็จะสามารถดูแลทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แนวทางการดูแลทรัพยากรโดยรัฐนั้น จะประสบผลดีต่อ หากมีการทำข้อมูลและการบังคับใช้กฎอย่างแม่นยำทั่วถึง ซึ่งในความจริงอาจจะไม่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากรัฐบาลที่หวังคะแนนเสียงการเลือกตั้งนั้นจะไม่เวนคืนป่าที่ถูกทำลายกลับมา เพราะกลัวเสียคะแนนนิยมหรือกลัวกระทบนายทุน ทำให้เกิดช่องว่างในการทำผิดกฎ ในขณะที่การให้สัมปทานกับเอกชนนั้นก็ทำภายใต้ความเชื่อที่ว่าเอกชนมีแรงจูงใจในการดูแลให้อยู่สภาพดี และช่วยดูชุมชน และในความเป็นจริง ทรัพยากรส่วนใหญ่มีอย่างจำกัด (อาจเสี่ยงต่อการผูกขาด) และมีความไม่แน่นอน (เสี่ยงต่อการขาดทุน) รวมถึงกิจกรรมที่เอกชนใช้ทรัพยากรนั้นอาจส่งผลต่อวิถีชีวิตชุมชนและเกิดเป็นความขัดแย้ง
ส่วนการดูแลโดยชุมชนนั้น มักประสบปัญหาการกำหนดขอบเขตของสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ และความรับผิดชอบดูแลทรัพยากรที่ไม่ชัดเจน ซึ่งคนในชุมชนส่วนใหญ่เป็นเด็กและคนชรา มีความรู้เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมไม่มาก และหากไม่รู้จักกัน หรือไม่มีความไว้เนื้อเชื่อใจ ไม่มีความรู้สึกหวงแหนหรือรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของทรัพยากรร่วมกัน รวมถึงกรณีที่ชุมชนเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจก็อาจเลือกใช้อย่างสิ้นเปลืองแทน ท้ายที่สุด ทรัพยากรก็ตกเป็นสภาพเปิด (open for all) ไม่มีกรรมสิทธิ์ที่ชัดเจน ถูกใช้จนเกิดขีดจำกัดจนหมดไป
“ทรัพย์สินที่เป็นของทุกคน ย่อมจะไม่เป็นของใครเลยสักคน”
ประเด็นที่น่าสนใจ
- การเปลี่ยนเป็นชุมชนเศรษฐกิจหมุนเวียนและยั่งยืน ทำ Bioenergy, Biomaterial และ Biochemical เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่หากชุมชนยังไม่รู้จัก ไม่รู้จะเปลี่ยนอย่างไร ไม่รู้จะเริ่มตรงไหน ขาดเทคโนโลยี องค์ความรู้ และผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่จะร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเขา ก็จะจัดการและทำให้เกิดขึ้นได้ยาก นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ระบุว่า วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรยังขาดการลงทุนและขาดระบบการรวบรวมที่มีประสิทธิภาพพอทำให้เป็นอุปสรรคต่อการนำมาผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพในระยะแรก
- การจัดการการท่องเที่ยวที่ดีจะให้ประโยชน์ยั่งยืนไปสู่รุ่นหลัง แต่ต้องอาศัยความเสียสละ และการพูดคุยในชุมชนให้มีเป้าหมายเดียวกันและความเข้าใจว่าบางครั้งการเสียโอกาสทางการเงินจะได้มาซึ่งระบบนิเวศที่สมดุล สุดท้าย คนในชุมชนจะสามารถประกอบอาชีพ ทำมาหากินได้ง่ายขึ้นในระยะยาว ซึ่งเป็นกระบวนการที่ใช้เวลา และความเข้าอกเข้าใจสูง
Global Sustainable Tourism Council (GSTC) จึงได้เสนอแนวทางการพัฒนามาตรฐานการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน สำหรับชุมชนที่ต้องการรักษาสิ่งแวดล้อมที่อาจเปลี่ยนแปลงไปและปกป้องสิ่งแวดล้อมในชุมชนไม่ให้ถูกรุกรานจากคนภายนอกดังเช่น การได้ผืนป่าคืน และยังสามารถป้องกันการเข้ามาของนายทุน โดยมีองค์ประกอบที่ชุมชนสามารถใช้เป็นแนวทางในการพัฒนา ทั้งหมด 4 ด้าน คือ ด้านการบริหารจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน ด้านการจัดการเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตที่ดี ด้านการอนุรักษ์และส่งเสริมมรดกทางวัฒนธรรมชุมชน และด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบและยั่งยืน
- ในปัจจุบัน ความต้องการด้านการท่องเที่ยวยั่งยืนและเป็นมิตรต่อธรรมชาตินั้นกำลังเติบโต มีนักท่องเที่ยวไทยกว่า 73% เลือกการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและต้องการใกล้ชิดกับธรรมชาติ พวกเขาต้องการมั่นใจว่า เงินที่ใช้จ่ายไปจะถูกกระจายไปสู่คนทุกระดับในสังคม และรู้สึกหงุดหงิดหากที่พักไม่เอื้อให้พวกเขาสร้างความยั่งยืน เช่น ไม่สามารถเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่สามารถรีไซเคิล หรือสิ่งของอำนวยความสะดวกที่ลดการใช้พลังงานได้ จึงเป็นโอกาสที่จะปรับปรุงการท่องเที่ยวชุมชนให้ยั่งยืนด้วยพร้อมหาเงินได้ด้วย เมื่อพิจารณาสถานการณ์ปัจจุบันดูแล้ว ก็ยังมีช่องว่างในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนควบคู่กับการดูแลทรัพยากรธรรมชาติอีกมาก
- ดร. นณณ์ ผาณิตวงศ์ ASEAN Biodiversity Hero จากผลงานอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ได้กล่าวไว้ว่า การฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพต้องเริ่มจากการทำความรู้จักก่อน ยกตัวอย่าง หากคนเจองูก็จะตีทันที โดยไม่รู้ว่าเป็นงูพิษหรือไม่ แต่หากคนมีความรู้ดูงูออก และรู้ถึงประโยชน์ทางความหลากหลายทางชีวภาพ ว่างูตัวนี้ช่วยกินหนูได้ ดังนั้นถ้ามันไม่มีพิษก็อยู่ด้วยกันได้ งูก็จะไม่ถูกตี เช่นเดียวกับการอนุรักษ์แหล่งน้ำ หากเราไม่รู้ว่าในน้ำมีปลาอะไร หรืออะไรเสี่ยงจะสูญพันธุ์ คนก็ไม่สนใจจะร่วมกันอนุรักษ์อยู่ดี ดังนั้น หากคนรู้จักสัตว์ แมลงและพืชไม้ แม้แต่จากการบริโภค (กิน ใช้) ก็ยังสร้างโอกาสให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ
“สมมุติว่าพรุ่งนี้โลกแตก มนุษย์ต้องขึ้นยานอวกาศไปดาวดวงอื่น จะต้องพาสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นไปด้วยหรือ คิดว่าไปแต่มนุษย์แล้วรอดไหมล่ะ ไม่น่ารอดนะ”
- นักเศรษฐศาสตร์ David R. Kinsle ได้ศึกษาพฤติกรรมทำลายสิ่งแวดล้อมจนพบว่า คนมองว่าธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ เป็นสมบัติของคนที่ทนต่อการใช้ประโยชน์และไม่มีวันหมดไป ทำให้คนสามารถใช้ผลประโยชน์จากธรรมชาติได้ โดยไม่ต้องคิดถึงผลระยะยาวหรือ ผลประโยชน์ส่วนรวมของใครไม่รู้ กระทั้งทรัพยากรธรรมชาติฟื้นตัวไม่ทันและหมดไป Elinor Ostrom นักรัฐศาสตร์ (ผู้หญิงคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี 2009 ได้ให้แนวคิดเรื่อง ‘การบริหารจัดการทรัพยากรร่วม’ (Common-pool Resources) จึงได้เสนอ ‘หลักการออกแบบกติกา’ (Design Principle) เพื่อให้ผู้ใช้ทรัพยากรในชุมชนมีจุดร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน โดยหลักการที่ว่านี้มีทั้งหมด 8 ประการ คือ
- มีการระบุขอบเขตไว้อย่างชัดเจน
- มีความสอดคล้องระหว่างกติกาว่าด้วยการเก็บเกี่ยวทรัพยากรและบำรุงรักษาระบบทรัพยากรกับเงื่อนไขทางสังคมและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่
- คนส่วนใหญ่ที่ได้รับผลจากการบริหารจัดการทรัพยากรต้องมีสิทธิ์ในการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและปรับปรุงกฎกติกาในการจัดการทรัพยากร
- ต้องมีการกำกับดูแลที่มีประสิทธิผลโดยคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการใช้ทรัพยากรนั้นๆ
- การลงโทษต้องเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป และหากมีการกระทำผิดซ้ำ การลงโทษจะรุนแรงขึ้น ควรทำไปเพื่อสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในชุมชนมากกว่าเพื่อทำให้เกิดความแปลกแยก
- ต้องมีกลไกในการจัดการความขัดแย้งที่มีต้นทุนต่ำและทำได้ง่าย
- รัฐบาลรับรู้และให้สิทธิ์แก่ผู้ใช้ทรัพยากรในการวางกติกาการใช้และจัดการทรัพยากร
- กติกาและการจัดการทรัพยากรต้องเชื่อมโยงและสอดคล้องกับระบบที่ใหญ่กว่า
ตัวอย่างการพัฒนาเศรษฐกิจระดับชุมชนที่น่าสนใจ


หลายสิบปีก่อน บ้านห้วยหินลาดในเคยผ่านการทำสัมปทานจนกลายเป็นภูเขาหัวโล้น เมื่อเหลือต้นลำพูเพียงต้นเดียว ปราชญ์ชาวปกาเกอญอจึงชวนชุมชนมาทำข้อตกลงว่าจะช่วยฟื้นฟูและรักษาสภาพของธรรมชาติไว้ให้ดีที่สุด ชาวบ้านจึงกลับมาดูแลและทำไร่หมุนเวียนตามวิถีดังเดิม จนไม่กี่ปีก่อนได้รับรางวัล ตอนนี้ หินลาดในกลับมาเป็นป่าที่สมบูรณ์ ชาวบ้านช่วยกันทำโพรงผึ้งด้วยความหวังที่จะเป็นบ้านให้กับผึ้ง คีย์สโตนสปีชีส์ที่ช่วยผสมเกษร และสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งผึ้งจะมาทำรังในโพรงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับกลิ่นเคมีที่อาจติดอยู่ที่ไม้ที่นำมาทำโพรง สภาพอากาศ ความไกลกับความชุกของอาหารผึ้ง รวมถึงอารมณ์ของผึ้ง ทำให้แต่ละปี ชุมชนได้ปริมาณและรสชาติน้ำผึ้งต่างกันไป
นอกจากชาวปกาเกอญอรุ่นใหม่ที่หินลาดในจะใช้ผลิตภัณฑ์อย่าง น้ำผึ้งในการฟื้นฟูธรรมชาติ การสร้างความหลากหลายของชีวภาพ เป็นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่เอารัดเอาเปรียบ และคืนกำไรให้ชุมชนแล้ว พวกเขายังเล่าเรื่องราวของชุมชน การจัดการป่า และความมั่นคงทางอาหาร ผ่านน้ำผึ้งและกาแฟออแกนิกให้คนปลายน้ำได้เรียนรู้ด้วย
- บริษัท หว่านเมล็ดปลูกต้นไม้ จำกัด บริษัทรับจ้างปลูกต้นไม้ที่เชื่อว่าการปลูกต้นไม้คือคำตอบในการดูแลธรรมชาติ ไม่ว่าจะอยากแค่ปลูกต้นไม้หลังบ้านหรืออยากมีป่าส่วนตัว เช่นปลูกไม้เศรษฐกิจเพื่อขายไม้ก็ยังให้ประโยชน์แก่ส่วนรวม

- ฟางไทย : ธุรกิจเพื่อสังคมที่สร้างมูลค่าให้เศษฟางข้าวลำปาง และใจดีต่อสิ่งแวดล้อม – The Cloud
- Regen Districts โปรเจกต์ที่ชวนศิลปินและนักออกแบบมาร่วมกันทำ biomaterials จาก food waste ที่เกิดจาก คาเฟ่ ร้านอาหารและครัวเรือน โดยมีการพาร์ทเนอร์กับร้าน – The Cloud
- เมื่อครูลุกขึ้นปฏิวัติพลังงาน ในโรงเรียนแสงอาทิตย์บ้านปุน – Greenpeace Thailand
- “เปลี่ยนจำเลยเป็นเจ้าภาพ” ชวนคุยแนวคิดเชียงใหม่โมเดลกับการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ PM2.5 จากล่างขึ้นบน – Greenpeace Thailand
อีก 2 เรื่องที่น่าสนใจในการพัฒนาชุมชน
ลิงก์แหล่งที่มาของข้อมูลและเรื่องราวที่น่าสนใจ
- School of Changemakers – 8 Insights ถอดบทเรียนจากการทำงานชุมชน
- School of Changemakers – ความท้าทายในการพัฒนาชุมชน
- RECOFTC – ประโยชน์จากป่าชุมชน
- การหายไปของความหลากหลายทางชีวภาพ ส่งผลต่อมนุษยชาติอย่างไร – สืบ นาคเสถียร
- การท่องเที่ยวหรืออุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด – Tourism Authority of Thailand Magazine
- เจาะปัญหา ป่าทับคน คนทับป่า – Workpoint Today