อัตลักษณ์คืออะไร
อัตลักษณ์ (Identity) มีรากศัพท์จากภาษาลาตินคำว่า Idem ที่แปลว่า เหมือนกัน ในมิติสังคม อัตลักษณ์คือ จิตสำนึกที่บอกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เกิดจากการนิยามว่า ตัวเองคือใคร มีความเป็นมา มีรากเหง้ามาจากไหน (1 รากเหง้าจากอดีตสามารถแตกออกเป็นหลากหลายอัตลักษณ์ในปัจจุบันได้) เรามีความแตกต่างจากคนกลุ่มอื่นอย่างไร และเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงความเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นดนตรีพื้นถิ่น ความรู้ด้านการเพาะปลูก การผลิตผลิตภัณฑ์ การเขียน ภาษา การแต่งกาย เรื่องเล่า การแพทย์ สูตรอาหาร รวมถึงวิถีชีวิตอีกด้วย
การสูญหายของอัตลักษณ์ท้องถิ่น
ประเทศไทยเป็นสังคมที่มีหลากหลายวัฒนธรรม ใช้หลายภาษา (พหุภาษา) แต่ ‘คิดว่าตัวเองเป็นสังคมภาษาเดียว’ จากความพยายามในการสร้าง ‘ชาติ’ และวัฒนธรรม ‘ไทย’ เพื่อรวมคนทั้งประเทศด้วยแนวคิดชาตินิยม ความหลากหลายในยุคนั้นจึงถูกมองเป็น ‘ภัยคุกคาม’ ของความมั่นคงในประเทศ อัตลักษณ์ (Identity) และวัฒนธรรม ‘หลัก’ ถูกสร้างขึ้น และถูกให้คุณค่าความศิวิไลซ์ (Civilize) ทำให้ผู้คนพยายามหลอมตัวเองเข้ากับวัฒนธรรมหลักเพื่อให้ได้การยอมรับ
หนำซ้ำอัตลักษณ์ท้องถิ่นยังต้องเผชิญกับโลกาภิวัฒน์ที่มาพร้อมกับการพัฒนาเทคโนโลยี และการที่อินเทอร์เน็ตเข้าถึงง่ายขึ้น มีราคาถูกลง และกลายเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตมากขึ้นเรื่อย ๆ คนรุ่นหลังจึงเข้าถึงความคิดและโลกทัศน์ที่เป็นสากลมากขึ้น มีตัวเลือกด้านความสนใจมากกว่าคนยุคก่อน มีความเป็นปัจเจกมากขึ้น และมีความเป็น ‘พลเมืองโลก’มากขึ้น ทำให้คนรุ่นหลังมีการแสดงออกทางวัฒนธรรมดั้งเดิมน้อยลง ส่งผลให้ภูมิปัญญา (Wisdom) มีความเสี่ยงที่จะสูญหาย
ผลกระทบจากการสูญเสียอัตลักษณ์ท้องถิ่น
การขาดโอกาสทางรายได้และการจ้างงาน
แม้จะยังไม่มีตัวเลขมาวัดความเสียหายทางการเงินของการสูญเสียอัตลักษณ์ท้องถิ่น เนื่องจากขาดการเก็บข้อมูล เราสามารถดูตัวเลขในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industries) ที่ได้รับความต้องการด้านผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ในตลาดโลกสูงขึ้นกว่า 2 เท่า ในช่วงปี 2002 ถึง 2015 จากข้อมูลของ CEA พบว่า อุตสาหกรรมสร้างสรรค์สร้างรายได้คิดเป็น 10% ของ GDP ไทย จากการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม มีสัดส่วนสูงสุดถึง 28.04% มีมูลค่ารวม 409 พันล้านบาท อันดับที่ 2 คือ อุตสาหกรรมอาหารไทย มีสัดส่วน 18.29% มูลค่ารวม 267 พันล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีคนที่ใช้อัตลักษณ์ท้องถิ่นประกอบอาชีพ คิดเป็นจำนวนกว่าครึ่งของ แรงงานในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทั้งหมด 8.3 แสนคน เช่น 3 แสนคนทำงานคราฟท์ (Craft) 7 หมื่นคนทำงานศิลปะและการแสดงด้านศิลปะวัฒนธรม เป็นต้น
แม้จะมีตลาดและความต้องการมากมาย แต่ในความจริง งานคราฟต์อัตลักษณ์ท้องถิ่น อย่างงานหัตถกรรมไทยกำลังขาดผู้สานต่อ เนื่องจากผู้ผลิตส่วนหนึ่งไม่สามารถสร้างรายได้ที่ยั่งยืนได้ เพราะสินค้าไม่เหมาะกับวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ในชุมชนและในประเทศ ขาดความรู้ด้านการตลาด ไม่สามารถขยายงานหรือพัฒนาให้มีมาตรฐานโดยนำองค์ความรู้ภูมิปัญญาพื้นถิ่นมาต่อยอดได้ ส่วนตลาดก็ไม่สามารถเข้าถึงผู้ผลิตหรือช่างฝีมือตัวจริงได้
การสูญหายของภูมิปัญญา
นอกจากเราเป็นประเทศที่ มีความหลากหลายของชีวิภาพ (Biodiversity) แล้ว ประเทศไทยยังเป็นบ้านให้กับผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์มาหลายร้อยปีก่อนจะที่จะมีคำว่า ‘คนไทย’ จำแนกตามลักษณะที่ตั้งถิ่นฐาน ได้แก่ พื้นที่สูงดอยเขา พื้นที่ราบลุ่ม ทะเล และป่า ครบทุกภูมิประเทศที่เรามี ซึ่งผู้อพยพเหล่านี้ก็ได้มาปฎิสัมพันธ์กับคนต่างชาติพันธุ์ ได้มีการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และหยิบนิดผสมหน่อยจนเกิดเป็นภูมิปัญญาในการใช้ชีวิต การกิน การผลิต การเพาะปลูก และที่สำคัญ การวิถีชีวิตและจัดการทรัพยากรธรรมชาติตามระบบนิเวศที่ถิ่นที่อยู่อาศัยอยู่ อย่างวิธีการทำไร่หมุนเวียนของชาวปกาเกอญอ ความรู้ในการทำเกษตรของชาวอาข่า การนำกะทิมาปรุงเป็นกับข้าวของคนภาคกลาง การดองปลาร้าของชาวอีสาน การดูน้ำดูเดินเรือของชาวเล การใช้ส้มป่อยในอาหารเครื่องดื่มและพิธีกรรมทางภาคเหนือ จนกลายเป็นอัตลักษณ์ประจำถิ่นนั้น ๆ
ในความเป็นจริง วิถีชีวิตของผู้มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมก็ถูกทำให้กลายเป็น ‘สินค้า’ ของการท่องเที่ยว โดยไม่ได้รับการสนับสนุนการผลิตสินค้าเลย เช่น การทอผ้านั้นต้องใช้อุปกรณ์ตามวิธีการดั้งเดิม และบางอย่างอาจอยู่ในเขตป่าสงวน ป่าอุทยาน ไม่สามารถนำมาผลิตผ้าได้
หากอัตลักษณ์จะหายไป ภูมิปัญญาเดิมก็จะได้รับความสำคัญน้อยลงจากคนในชุมชน เสี่ยงจะหายไปและสร้างปัญหาอื่นตามมาด้วย ยกตัวอย่าง หากภูมิปัญญาการกินอาหารพื้นบ้านที่มักมีสมุนไพรหลากหลาย เป็นการใช้อาหารเป็นยาเพื่อสร้างภูมิต้านทานนั้น ถูกทดแทนด้วยการกินวิตามินเสริมแบบแพทย์แผนปัจจุบัน หรือว่าการทานพืชเมืองนอกที่หาซื้อง่ายในตลาด ก็จะทำให้พืชผักสมุนไพรพื้นถิ่นหายไป มีความหลากหลายทางชีวภาพน้อยลง หากมีโรคในพืชรุกรานเข้ามาง่ายขึ้น การผสมพันธุ์พืชก็มีตัวเลือกน้อยลงและผลออกมาไม่แข็งแรง ส่วนคนก็จะทานพืชนอกถิ่นที่ปลูกโดยการใช้สารเคมีกันมากขึ้น เช่นเดียวกับชาวบ้านที่เคยปลูกข้าวก็ต้องออกบ้านไปทำงานในเมืองและซื้อข้าวกิน หรือหันไปทำไร่กาแฟตามคำชวนและตลาด ทำให้ชุมชนนั้นเกิดปัญหาความมั่นคงทางอาหาร ต้องใช้สารเคมีในการปลูกพืชเกษตรต่างถิ่น เกิดเป็นปัญหาความยากจนและปัญหาสุขภาพในระยะยาวได้ ผลกระทบทางอ้อมของการกินอาหารจากต่างถิ่น คือ ต้นทุนการขนส่งที่แพงขึ้นถูกเพิ่มเข้าไปในราคาสินค้า ปริมาณเชื้อเพลิงและมลพิษที่เกิดขึ้นจากการขนส่งที่เรามองข้ามไป
การตัดขาดจากรากเหง้า
George Murdok นักมนุษวิทยาได้ระบุไว้ว่า วัฒนธรรมนั้นประกอบไปด้วยลักษณะนิสัยที่คนส่วนใหญ่ในสังคมมีร่วมกัน เป็นผลจากการเรียนรู้ ไม่สามารถส่งต่อทางพันธุ์กรรมได้ ดังนั้น อัตลักษณ์เป็นสิ่งที่เรียนรู้เปลี่ยนแปลงจนพัฒนาเป็นสิ่งใหม่ได้ แต่ที่ผ่านมา อัตลักษณ์ท้องถิ่นนั้นถูกทำให้จำกัดด้วยคำอธิบายแคบ ๆ คือ ‘ความเป็นไทย’ มีการถูกตั้งมาตรฐานให้ทุกชุมชนมีลักษณะแบบเดียวกัน ซึ่งไม่ใช่อัตลักษณ์ท้องถิ่น เป็นการลดทอนคุณค่าของวัฒนธรรมย่อยด้วยอำนาจรัฐหรืออำนาจทุน ถูกทำให้เชื่อว่า โง่ จน เจ็บ แม้ในความจริงจะมีศักยภาพแต่ถูกกดทับไม่ให้พัฒนา เรียกได้ว่าเป็นการล่าอาณานิคมสมัยใหม่ (neo colonialism) ดังที่ Franz Boas นักมานุษวิทยา ได้ระบุไว้ว่า คนไม่มีอดีตเป็นคนไม่มีอนาคต คนไม่รู้ที่มาก็ไม่รู้ที่ไป คนไม่มีรากเหง้าจะถูกเขาครอบงำ และกำหนดอนาคตให้หมดเลย
ในระดับบุคคล คนไร้รากเหง้าคือคนที่ได้รับการตัดขาดจากสังคม ผู้คนที่มีวิถีชีวิต การกินอยู่ ค่านิยม ประสบการณ์ร่วมกับตน กลายเป็นการสูญหายทางตัวตน ขาดสถานะ ขาดชุมชน (Community) ซึ่งงานวิจัยหลายชิ้นพบว่าการมีรากเหง้าที่แข็งแรงส่งผลต่อความสามารถในการมีสุขภาพจิตที่ดี และเป็นยาต้านโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวลขนานดี
“หากอัตลักษณ์ร่วมของชุมชนเรานั้นเลือนหาย ตัวตนส่วนหนึ่งของเราก็จะหายไปด้วย”

ประเด็นที่น่าสนใจ
- ถ้าเราทำความเข้าใจลึกซึ้งถึงที่มาของชุมชนใดชุมชนหนึ่ง เราจะเห็นต้นทุนที่เราสามารถใช้ต่อยอดเพิ่มศักยภาพหรือทักษะชุมชนได้ ซึ่งภูมิปัญญาและอัตลักษณ์ก็สามารถเป็นคุณค่าและพลังในการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนมากขึ้น ผ่านการใช้อัตลักษณ์เป็นทุนสังคม สร้างศักยภาพและอำนาจสำหรับการร่วมงานกันในชุมชน จนเกิดป็นการพัฒนาด้วยคนตัวเล็ก ๆ จากล่างขึ้นบน (Bottom-up) ให้มีพื้นที่และภารกิจร่วม นำไปสู่การสร้างพลังอำนาจของชุมชน เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบโครงสร้าง
- การพัฒนาของไทยนั้นเป็นการพัฒนาแบบ ‘เมืองโตเดี่ยว’ (Primate city) นั้นคือการมีเมืองเอกเมืองเดียวที่มีการเติบโต มีความเจริญ เนื่องจากได้รับการให้ความสำคัญ การจัดการดูแล และการลงทุนมากกว่าเมืองอื่น ๆ ดังนั้น โอกาสจึงกระจุกตัวอยู่ในเมืองเดียว ทำให้คนจำนวนมากย้ายถิ่นฐานจากต่างจังหวัดไปกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพ ชุมชนเล็ก ๆ เหลือเพียงเด็กและผู้สูงวัยที่บ้าน มีสภาพแหว่างกลาง ทำให้ขาดผู้นำรุ่นใหม่ที่มีองค์ความรู้ไอเดียใหม่ ๆ และได้รับทรัพยากรที่จำเป็นในการพัฒนาน้อยกว่าเมืองใหญ่ จึงกลายเป็นความเหลื่อมล้ำ ในการทำงานกับชุมชน จะต้องคำนึงถึงศักยภาพขั้นพื้นฐานตรงนี้ด้วย
- จากความเสี่ยงที่จะสูญหายของอัตลักษณ์ท้องที่ บางที่ที่มีผลิตภัณฑ์ชุมชนก็อาจจะไม่มีผู้สานต่อ ไม่มีลูกหลานมาทำต่อ (การถอดองค์ความรู้ที่สืบทอดจากปกติเป็นสอนแบบปากต่อปาก) ทำให้ไม่มีผู้สืบทอดภูมิปัญญา เนื่องจากบางอย่างที่เป็นของดั้งเดิมก็อาจจะไม่ถูกใจคนรุ่นปัจจุบันแล้ว และไม่ใช่ทุกผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าและขายได้ในชุมชนนั้นจะสามารถใช้เทคโนโลยีมาช่วยผลิตขายส่งหรือทำการตลาดไปสู่ผู้บริโภคนอกชุมชนได้ ตัวผลิตภัฑณ์เองอาจจะมีคุณค่าในชุมชนด้วยกิจกรรมทางสังคมของชุมชนนั้น ๆ หรือผู้ผลิตเองอาจจะทำเป็นงานอดิเรกทำให้มีต้นทุนสูงและอาจไม่ต้องการทำเพื่อเพิ่มการขาย บางครั้งการสืบทอดอาจจะทำได้ง่าย ๆ เช่น บันทึกความรู้นั้น ๆ เป็นหนังสือเพื่อส่งต่อ
- งานพัฒนาหรือฟื้นฟูอัตลักษณ์พัฒนาเพื่อทำให้รากเหง้าแข็งแรง ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคน สร้างคุณค่าแก่ภูมิปัญญาเดิม และตอบรับโอกาสในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ไม่ควรทำในลักษณะการแช่แข็ง (อัตลักษณ์จากการนิยามของส่วนกลางที่ห้ามแตะต้อง พัฒนา เปลี่ยนแปลง) และไม่ควรทำเพื่อเป้าหมายในการหารายได้อย่างเดียว “หอไอเฟลที่กรุงปารีสไม่มีวันได้สร้าง หากในตอนนั้นมีการคำนวณ Cost-benefit analysis (การวิเคราะห์ต้นทุนและประโยชน์ของโครงการ) แบบที่ทำกันในปัจจุบัน ”
ดังนั้น จำเป็นต้องมีหน่วยงานหรือผู้จัดการชุมชนที่เข้าใจชุมชน เข้าใจอัตลักษณ์ เข้าใจผลกระทบด้านมนุษย์เชิงบวกจากการพัฒนา มีวิธีการสนับสนุน มีเครื่องมือ มีเลนส์ในการมองภาพสุดท้าย (vision) และสามารถเชื่อมโยงชุมชนกับเครือข่ายที่จำเป็นจึงจะสำเร็จ โดยช่องว่างที่มีอยู่ในการพัฒนาชุมชนเชิงวัฒนธรรม ได้แก่- ขาดการดูแลจัดการ Soft Factors (อิทธิพล การเปลี่ยนแปลงความคิด การทำให้ผู้คนมีส่วนร่วม หรือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้อื่น) เช่น การสร้างผู้นำ การสร้างโอกาสให้ชุมชนได้พบและมีกิจกรรมทำร่วมกัน
- ขาดการสื่อสาร ทำงานร่วมกัน ระหว่างประชาชนทั่วไปกับหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ดูแล และผู้ประกอบการด้านวัฒนธรรมรุ่นใหม่
- ขาดการสนับสนุนทางการตลาดในผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ของชุมชน
- ขาดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างความรู้ใหม่และภูมิปัญญาเดิม
- กลุ่ม G20 เชื่อว่าอัตลักษณ์ท้องถิ่นและวัฒนธรรมหลากหลายมีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม และได้ให้แนวทางในการทำนโยบายด้านการทำงานพัฒนาอัตลักษณ์ท้องถิ่น ได้แก่
- สนับสนุนการมองวัฒนธรรมให้เป็นการลงทุนทางเศรษฐกิจและสังคม ไม่ใช่เป็นค่าใช้จ่าย
- ให้ความสำคัญกับอัตลักษณ์และวัฒนธรรมหลากหลาย โดยการลงทุนกับ Creative Professionals และบริษัทในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ในการจ้างงาน/สร้างงาน สร้างนวัตกรรม และระบบสนับสนุนผู้ประกอบการสร้างสรรค์
- สนับสนุนการทำให้วัฒนธรรมย่อยเป็นที่รู้จักและเป็นที่เข้าใจในวัฒนธรรมหลัก เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันในสังคม นวัตกรรม สุขภาพ สุขภาวะ สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาชุมชนยั่งยืน
- เก็บข้อมูลและให้การเข้าถึงข้อมูลอย่างโปรงใสและมีมาตรฐานสากล เพื่อดึงดูดนักลงทุน เล่าเรื่องราวและผลกระทบที่เกิดขึ้นในโครงการอย่างเป็นรูปธรรม
- พัฒนาศักยภาพของหน่วยงานรัฐในระดับชุมชนและในระดับประเทศอย่างเสมอภาค เพื่อบูรณาการวัฒนธรรมสู่การเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมได้จริง
ตัวอย่างการฟื้นฟูอัตลักษณ์ท้องถิ่น
- ม่วนจอย “ผลิตภัณฑ์ในชุดม่วนจอย คือ สัญลักษณ์ของการมีชีวิตอยู่ของความเป็นคนแพร่ มันคือความละเมียดละไม และประณีตเหนือกาลเวลา”

แพร่เป็น ‘เมืองหลวงแห่งไม้สักและงานฝีมือ’ หัตถศิลป์เมืองแพร่เป็นที่รู้จักกันมาเนิ่นนานนับร้อยปี จากจุดเริ่มต้นจากงานไม้สักเป็นหลักและต่อยอดไปยังงานทำมือแขนงอื่น เช่น การยอม้าม่อฮ่อม งานเซรามิกปั้นมือ ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติต่าง สิ่งเหล่านั้นมีคุณค่ากับอุตสาหกรรมในอดีตมากกว่า งานไม้สักไม่สามารถสร้างงาน สร้างรายได้เพียงพอให้กับคนในจังหวัดอีกต่อไป ชาวแพร่จึงไปทำงานต่างจัดหวัดในอุตสาหกรรมสมัยใหม่ จนแพร่กลายเป็นสังคมสูงวัยและยิ่งบั่นทอนสภาพเศรษฐกิจของจังหวัดให้ย่ำแย่ลง ม่วนจอยต้องการฟื้นฟูงานฝีมือเมืองแพร่ ไม่เพียงแค่สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจสำหรับคนท้องถิ่น แต่ยังเป็นการสร้างโอกาสให้กับชาวแพร่รุ่นใหม่ ได้กลับบ้านและกลับมายังชุมชนของตน เพื่อคืนชีวิตให้กับเมืองแพร่อีกครั้ง
- Hear & Found เบื้องหลังงานดนตรีที่เล่าเรื่องการรักษาผืนป่าและวัฒนธรรมพื้นบ้าน ผ่านบทเพลงล้ำค่าจากนักดนตรีชาติพันธุ์ – The Cloud
- ถอดบทเรียนจากงาน Creative Nakhon 10 วิธีเปลี่ยนย่านซบเซาให้สร้างสรรค์ที่นำไปใช้ได้ทุกเมือง – The Cloud
- จากตลาดนัดแห่งแรกของภาคเหนือ สู่โรงเรียนสอนภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีพ่ออุ๊ยแม่อุ๊ยเป็นครู – The Cloud
- ‘Dare to Dream‘ ระบบบ่มเพาะนักธุรกิจสูงวัย
Eli Gimmon อาจารย์เศรษฐศาสตร์และการจัดการ และ Shira Hantman อาจารย์บริการสังคมและวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับวัยชรา สองอาจารย์จากวิทยาลัย Tel-Hai ประเทศอิสราเอล เชื่อว่า สังคมควรสนับสนุนผู้คนให้หาจุดมุ่งหมายและรายได้จากการเป็นผู้ประกอบการ เพื่อมีสุขภาพดีขึ้นและชีวิตที่ยืนยาวขึ้น พวกเขาจึงตั้ง Dare to Dream ระบบบ่มเพาะนักธุรกิจวัยเกษียรที่ไม่เคยมีประสบการณ์ด้านการประกอบการ
ผลคือ 70% ของผู้สูงวัยได้จัดตั้งวิสาหกิจรายย่อยจริง จากไอเดียและประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมา การสนับสนุนผู้สูงวัยให้ทำกิจกรรมเชิงประกอบการให้ผลดีมากกว่าการเติมเต็มความต้องการส่วนตัวของผู้สูงวัย เพราะเป็นการสนับสนุนการเป็นอยู่ที่ดีในชุมชนและเศรษฐกิจด้วย
อีก 2 เรื่องที่น่าสนใจในการพัฒนาชุมชน
ลิงก์แหล่งที่มาของข้อมูลและเรื่องราวที่น่าสนใจ
- School of Changemakers – 8 Insights ถอดบทเรียนจากการทำงานชุมชน
- School of Changemakers – ความท้าทายในการพัฒนาชุมชน
- เมื่อ “เมือง” กลายเป็นโจทย์ของการบริหารจัดการท้องถิ่นสมัยใหม่ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรทัย ก๊กผล วิทยาลัยพัฒนาการปกครองท้องถิ่น สถาบันพระปกเกล้า
- OECD – Economic and social impact of cultural and creative sector
- ถอดรากเหง้าไทยอดีตถึงปัจจุบัน หนีไม่พ้น ‘เหยียดถิ่นกำเนิด’ ทั้งที่ทุกคนควรเท่ากัน – Workpoint Today
- ว่าด้วยอัตลักษณ์ไทยอะไรกัน – Matichon Online