knowledge

Big Little Ideas – ไอเดียใหญ่ของคนตัวเล็ก

9 เมษายน 2022


เราพบว่าไอเดียที่แก้ไขปัญหาสังคมมักเกิดจากการดึงความสนใจและความถนัดของคนทำมาคิด เพราะการแก้ไขปัญหาสังคมนั้นใช้เวลา หากเราได้ทำสิ่งที่ชอบและสิ่งที่ทำได้จะทำให้เราทำสิ่งนั้นได้นาน แถมยังได้เพิ่มศักยภาพให้ตัวเองอีกด้วย ลองมาดูกันว่ารุ่นพี่นักสร้างการเปลี่ยนแปลง เขาคิดไอเดียอะไรมาลองทำแล้วบ้าง

ทีมที่ 1 ผูกพันปิ่นโต

Starting Point

ผูกพันปิ่นโต เกิดจากกลุ่มเพื่อน (พลอย เอด้า และเจิน) ที่มีความสนใจและแนวคิดคล้ายกันในด้านสุขภาพและการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะสิ่งเหล่านี้ทําให้คุณภาพชีวิตของสมาชิกในทีมดีขึ้น จึงอยากสร้างโครงการดีๆ ให้กับคนอื่นๆ ได้มีความสุขกายและใจเช่นเดียวกัน จากเดิมพลอยและเอด้าเริ่มต้นทำโครงการ Meatless Monday ซึ่งสนับสนุนให้คนมาใส่ใจเรื่องสุขภาพ และหันมารับประทานอาหารที่ปราศจากเนื้อสัตว์ทุกวันจันทร์ จึงคิดอยากต่อยอดทําโครงการที่ใช้อาหารเป็นสื่อกลางเพื่อสร้างความสัมพันธ์ของผู้คนในเมือง

Problem Definition

ผู้คนในเมืองใหญ่อยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ต้องใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบและมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างน้อยลง มีเวลาดูแลใส่ใจตัวเองรวมถึงคนรอบตัวน้อยลง โดยเฉพาะเรื่องของการเลือกรับประทานอาหารในแต่ละวัน ส่วนใหญ่เลือกซื้ออาหารที่ให้ความสะดวกรวดเร็วมากกว่าคุณค่าทางโภชนาการ อัตราการรับประทานผักผลไม้ต่ำ ก่อให้เกิดโรคร้ายได้ง่าย

Idea

สนับสนุนการสร้างมิตรภาพในองค์กร โดยการให้กลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมกิจกรรมผูกพันปิ่นโตเชื่อมความสัมพันธ์เพื่อมอบความรู้สึกดีๆ ต่อเพื่อนร่วมงาน ผ่านอาหารที่ดี อร่อย และทําด้วยใจ โดยผ่านกิจกรรมต่างๆ

Prototype

หลังจากได้บริษัทที่สนใจอยากเข้าร่วมทํากิจกรรมกับโครงการ ทีมได้จัดกิจกรรม The Bonding Box Healthy Series x Starlink สานความสัมพันธ์ด้วยการใช้เวลาทานอาหารร่วมกันควบคู่ไปกับการช่วยกันดูแลรักษาสุขภาพของเพื่อนร่วมงาน โดยมีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 30 คน และกิจกรรม The Bonding Box Fun Series x Boehring-Ingelheim Buddy ปิ่นโตทําความรู้จักกันผ่านข้าวกล่อง ส่งข้อความบอกความรู้สึกดีๆ ให้แก่กัน มีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 29 คน นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอื่นๆ ที่ทําระหว่างดําเนินโครงการ เช่น การทําอาหารร่วมกัน เล่นเกม Secret Angel หรือ Buddy และจัดเวิร์กช็อปให้ความรู้เรื่องสุขภาพ โดยเฉพาะอาหารและการออกกําลังกาย

ทีมที่ 2 DOG-TOR

Starting Point

ผูกพันปิ่นโต เกิดจากกลุ่มเพื่อน (พลอย เอด้า และเจิน) ที่มีความสนใจและแนวคิดคล้ายกันในด้านสุขภาพและการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะสิ่งเหล่านี้ทําให้คุเกิดจากการรวมตัวกันของนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ปัน ลัคกี้โม ต้า และบิ๊ก) ที่รักสุนัขและสนใจเรื่องเครื่องกล จึงอยากสร้าง Dog-bot หรือหุ่นยนต์ที่สามารถเก็บปฏิกูลสุนัขในที่สาธารณะได้ เพราะมองเห็นปัญหาว่าสุนัขไม่สามารถออกไปวิ่งเล่นได้อย่างอิสระในพื้นที่สาธารณะ

Problem Definition

เนื่องจากสุนัขไม่สามารถสื่อสารภาษามนุษย์ เพื่อบอกเราว่าตอนนี้กำลังป่วยอยู่ได้ ผู้ดูแลจึงมักใช้วิธีการสังเกตพฤติกรรมของสุนัขว่า มีอาการซึมหรือไม่ยอมกินอาหารหรือเปล่า หรืออีกวิธีการหนึ่งที่สามารถบ่งบอกอาการป่วยเบื้องต้นของสุนัขได้คือการวัดอุณหภูมิร่างกาย (Core body) ด้วยเทอร์โมมิเตอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นโรคที่อันตรายต่อชีวิต สุนัขจะอุณหภูมิร่างกายขึ้นสูง (มีไข้) ก่อนเสมอ ในโรงพยาบาลสัตว์จะต้องมีพยาบาลคอยวัดทุกๆ 2-3 ชั่วโมง แต่สำหรับบ้านพักพิงสุนัขจรจัดอาจจะไม่มีบุคลากรที่สามารถดูแลสัตว์อย่างใกล้ชิดได้ขนาดนั้น

Idea

จากจุดเริ่มต้นแรกของทีมที่รักสุนัขและกําลังเรียนวิศวะ จึงอยากสร้าง Dog-bot หรือหุ่นยนต์ที่สามารถเก็บปฏิกูลสุนัขในที่สาธารณะได้เพราะมองเห็นปัญหาว่าสุนัขไม่สามารถออกไปวิ่งเล่นได้อย่างอิสระในพื้นที่สาธารณะ แต่เมื่อศึกษาความเป็นไปได้ทําให้มองเห็นภาพรวมของปัญหาและเปลี่ยนมาสร้างปลอกคอ DOG-TOR เพื่อเป็นอุปกรณ์ในการตรวจจับความผิดปกติของอุณหภูมิร่างกายสุนัขและแจ้งเตือนเจ้าของเมื่ออุณหภูมิร่างกายมีความผิดปกติ

Prototype

หลังจากเก็บข้อมูลผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อสร้างสมการสําหรับทําปลอกคอ และนํามาผลิตอุปกรณ์ต้นแบบพร้อมเขียนโปรแกรมสําหรับใช้งาน ทีมได้เปลี่ยนแนวทางการใช้ DOG-TOR จากสําหรับสุนัขบ้านทั่วไปมาเป็นใช้ในศูนย์รับเลี้ยงสัตว์เพื่อใช้ในห้องฉุกเฉินของรพ.สัตว์แทน เพราะสามารถควบคุมตัวแปรได้มากกว่า หากใช้ปลอกคอวัดอุณหภูมิในห้องไอซียู โรงพยาบาลสัตว์จะทําให้พยาบาลผู้ดูแลสามารถสังเกตความผิดปกติของสุนัขตัวนั้นๆ ได้ผ่านหน้าจอมอนิเตอร์และใช้เวลาทํางานอย่างอื่นแทน

ทีมที่ 3 Hear & Found

Starting Point

ศิรษา บุญมา (เม) จบการศึกษาด้านดุริยางคศิลป แต่ไม่สามารถทํางานตามสายได้เพราะตลาดรองรับค่อนข้างมีจํากัด ส่วนปานสิตา ศศิรวุฒิ (รักษ์) นั้นจบวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน และความผูกพันกับชุมชนจากการทําค่ายอาสา ทั้งสองจึงได้มาเป็นเพื่อนร่วมงานกันที่กิจการเพื่อสังคมด้านการท่องเที่ยวชุมชน จากการทํางาน ทั้งคู่สังเกตว่า แต่ละท้องที่มีวัฒนธรรมดนตรีเป็นของตัวเอง ทั้งเครื่องดนตรีและคําร้องที่มีเสน่ห์และทรงพลัง เป็นเครื่องมือที่แสดงออกถึงตัวตน บอกเล่าเรื่องราวและรากเหง้า รวมทั้งเชื่อมโยงคนเข้าหากัน

Problem Definition

หลังจากเมและรักษ์เน้นการสัมภาษณ์นักดนตรีชนเผ่าตามพื้นที่ต่างๆ พบว่ากลุ่มคนชนเผ่าในประเทศไทย หลายๆ ชนเผ่า ถูกเข้าใจผิด จากคนทั่วไป เนื่องจากภาพข่าวหรือสื่อที่นําเสนอมาเป็นระยะเวลานาน มักจะเป็นภาพของความน่าสงสาร เป็นเหยื่อของสังคม ซึ่งทําให้คนชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยไม่ได้รับการยอมรับในสังคม ถูกดูถูก ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือ คนชนเผ่าพื้นเมืองสูญเสียความภาคภูมิใจในรากเหง้าของตนเอง บ้างก็ต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้เข้ากับสังคม บ้างก็ต้องย้ายถิ่นฐาน หรือบางคนได้รับผลกระทบถึงชีวิตก็มีซึ่งความรู้สึกของการถูกตัดสิน หรือการถูกเข้าใจผิดเกิดขึ้นกับชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย ถึง 7 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 10 ของจํานวนประชากรไทยทั้งหมด

Idea

เมกับรักษ์เห็นโอกาสมากมายในการทํางานร่วมกับนักดนตรีชาติพันธุ์เช่น การจัดการและพัฒนาองค์ความรู้ด้านดนตรีพื้นบ้านใหมีมาตรฐาน หาพื้นที่ให้วงดนตรีชาติพันธุ์แสดงออก ทั้ง online และ offline พร้อมๆ กับการสร้าง music appreciation จึงเลือกไอเดียที่จะใช้ดนตรีเป็นสื่อให้คนทั่วไปเปิดใจ และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อคนชนเผ่าผ่านบทเพลงและการนําเสนอแบบใหม่ พร้อมกับสร้างโอกาสใหม่ๆ ในการหารายได้ และหาพื้นที่การแสดงออกให้กับวงดนตรีชนเผ่าอีกด้วย

Prototype

เมและรักษ์ก็ตัดสินใจจัด คอนเสิร์ต เป็นตัวต้นแบบ โดยเลือกนักดนตรีชนเผ่าที่มีลักษณะตรงกับกลุ่มที่อยากทํางานด้วยและได้รับการไว้ใจวางใจจากเขา ไปเยี่ยมบ้าน ไปศึกษาและเก็บข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อสร้างเนื้อหา และเตรียมกระบวนการ และได้จัดงาน “ดนตรีจากเขา” เป็นงานอีเวนท์เล็กๆ เพื่อให้คนฟังได้ใกล้ชิดกับนักดนตรีในงานมีทั้งนิทรรศการภาพถ่ายของไร่หมุนเวียน มีภาพของต้นไม้ที่ถูกเผาเพื่อให้คนฟังได้ออกความ เห็นว่ารู้สึกอย่างไร มีเวลาให้คนได้พูดคุยกัน ได้แลกเปลี่ยน ไปจนถึงสนุกสนานกับดนตรีจากชนเผ่า จากพี่ปุ๊ นักดนตรีชาวปกาเกอะญอ

สามารถติดตามและสนับสนุนการทำงานของ Hear & Found ในปัจจุบันได้ที่ https://hearandfound.com

ทีมที่ 4 Oasis

Starting Point

ลี่ ผู้ก่อตั้งโปรเจกต์ Oasis มีโอกาสอยู่เคียงข้างเพื่อนสนิทที่เป็นเหยื่อของความรุนแรงจากคนรัก ตั้งแต่เป็นผู้รับฟัง ให้กําลังใจ การให้ปรึกษาเพื่อช่วยให้เพื่อนหลุดพ้นจากวงจรความรุนแรง ไปขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐ ไปโรงพยาบาล ไปแจ้งความเป็นเพื่อน เมื่อช่วยเพื่อนได้ ลี่จึงเกิดแรงบันดาลใจอยากช่วยคนที่โดนกระทํารุนแรงคนอื่นๆ บ้าง จากนั้นลี่ได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาไอเดียในกิจกรรม Classroom ปี 2559 โดยที่ลี่เป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่เก็บข้อมูลด้านความรุนแรงในครอบครัว ทํางานร่วมกับโค้ช และส่งการบ้านครบถ้วน จนเป็นจุดเริ่มต้นของ Oasis

Problem Definition

จากประสบการณ์ตรงจากเพื่อนและข้อมูลที่น่าสนใจจากผู้ที่แก้ไขปัญหาเดียวกัน พบว่า การกระทํารุนแรงหากเกิดครั้งแรกก็จะมีแนวโน้มที่จะเกิดครั้งต่อไปเรื่อยๆ และไม่ใช่ผู้ถูกกระทําเท่านั้นที่ทุกข์ ผู้กระทําก็เป็นทุกข์เช่นกัน โดยสาเหตุมาจากความเครียด การเงิน สิ่งเสพติด รวมทั้งพื้นหลังครอบครัวที่รุนแรง ทําให้ผู้กระทําไม่รู้วิธีแก้ไขปัญหาด้านความสัมพันธ์ที่เหมาะสม ไม่รู้สิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น และมักจะใช้อํานาจทางเพศ

Idea

จากข้อมูลทั้งหมด Oasis เห็นโอกาสตรงกันในด้านการป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงตั้งแต่ต้นทาง เนื่องจากที่ปลายทาง มีหลายองค์กรให้ความช่วยเหลืออยู่ และระบุไอเดียการแก้ไขที่ยังไม่มีองค์กรใดทํา นั่นคือ การสร้าง Supporter Community สําหรับเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งกลุ่มเป้าหมายที่เลือกเป็นวัยรุ่น ซึ่งเป็นวัยที่เริ่มมีความสัมพันธ์จริงจัง และเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นเหยื่อเงียบ (Silent Victims) ในอนาคต

Prototype

เมื่อได้ทฤษฏีและแผนที่พัฒนาขึ้น Oasis ได้ดําเนินการจัดงานเพื่อทดลองตัวต้นแบบการสร้าง Supporter ด้วยเวิร์กช็อปการให้ความรู้ด้านทักษะการเป็นเพื่อนสําหรับผู้ที่ถูกทําร้าย โดยมีเป้าหมายในการมีผู้เข้าร่วมนักศึกษาเพศชายต่อหญิงในสัดส่วนที่เท่าๆ กัน ในวันจัดกิจกรรม แม้สัดส่วนทางเพศของผู้เข้าร่วมจะไม่ออกมาตามเป้า แต่การฝึกทักษะและเครื่องมือการทําความเข้าใจตัวเองและผู้อื่นและการแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องการช่วยเหลือเหยื่อตลอด 2 วันเต็ม ก็สามารถสร้าง ‘เพื่อน’ ได้ตามเป้าหมายได้จริงๆ แถมยังได้ชุมชน และขยายแนวคิดการมี Healthy Relationship ได้อีกด้วย

สามารถติดตามและสนับสนุนการทำงานของ Oasis ในปัจจุบันได้ที่ https://thaioasister.com

ทีมที่ 5 YOLO

Starting Point

เกศทิพย์ หาญณรงค์ (เกศ) รู้จักกับ School of Changemakers ตั้งแต่สมัยยังทํางานบริษัทในส่วนของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และได้มีโอกาสมาช่วยเป็นโค้ชในกับโปรเจกต์เพื่อสังคมที่ School of Changemakers สนับสนุน หลังคลอดลูกคนที่สอง ด้วยความปราถนาที่อยากเห็นลูกเติบโตในสิ่งแวดล้อมและสังคมที่ดีจึงตัดสินใจพัฒนาไอเดียเพื่อริเริ่มกิจการเพื่อสังคม เริ่มแรก เกศระบุปัญหาที่สนใจ 3 ประเด็น คือ ปัญหาสิ่งแวดล้อม วัยรุ่นท้องไม่พร้อม และ ความปลอดภัยบนท้องถนน หลังจากคิดจริงจังว่าตัวเองสนใจอยากทําประเด็นใดมากที่สุด และลองศึกษาปัญหา จึงตัดสินใจเลือกคิดไอเดียเพื่อแก้ไขปัญหาขยะ

Problem Definition

จากการค้นหาข้อมูลบนอินเตอร์เน็ต การลงพื้นที่คุยกับผู้เชี่ยวชาญโครงการ และหน่วยงานต่างๆ กว่า 6 เดือน เกศพบว่า ปัญหาขยะในประเทศไทยนั้นรุนแรง คนไทยผลิตขยะปีละ 27 ล้านตัน คิดเป็น 1.4 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน จากปริมาณขยะที่ผลิตทั้งหมด 64% เป็นขยะอินทรีย์ และ 30% เป็นขยะรีไซเคิล เกศจึงสนใจที่จะลดปริมาณขยะอินทรีย์จากต้นทาง ซึ่งจะทําให้ลดปริมาณขยะที่ไปสู่หลุมฝังกลบ และช่วยเรื่องการแยกขยะ ให้ขยะที่รีไซเคิลได้ถูกนําไปใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น

Idea

เมื่อได้แนวทางที่สนใจและลงไปศึกษาเพิ่ม พบว่าในประเทศไทยมีการนําขยะอินทรีย์ไปทําปุ๋ยและมีการพัฒนากล่องย่อยขยะสําหรับครัวเรือนอยู่แล้ว เกศจึวใช้ความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับจุดอ่อนและจุดแข็งของเครื่องจัดการขยะอินทรีย์ สาเหตุที่ทําให้เครื่องมือดังกล่าวไม่เป็นที่แพร่หลายในไทย และการจัดการขยะอย่างถูกต้อง มาเป็นไอเดียในการสร้างเครื่องย่อยเศษอาหารที่เหมาะกับบ้านหรือคอนโด โดยจะต้องมีราคาไม่แพง ตัวเครื่องสามารถบดเศษอาหารให้มีขนาดเล็กลง มีสารตั้งต้น เช่น รําข้าวผสมจุลินทรีย์ในระดับเข้มข้นเพื่อย่อยเศษอาหารไทย และมีกลไกที่สามารถช่วยคลุกให้เศษอาหารย่อยได้เร็วขึ้น

Prototype

เกศและโค้ชจึงร่วมกันออกแบบแนวทางการทํางานให้มองหาพาร์ทเนอร์ที่จะทํางานร่วมกันในการพัฒนาและทดลองผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อที่เกศได้ใช้จุดแข็งในเรื่องการบริหารโปรเจกต์การขาย และการประสานงาน โดยมีผู้เชี่ยวชาญการผลิตมาช่วยในเรื่องออกแบบและผลิตสินค้า โดยมุ่งเน้นถึงวิธีการทําให้เครื่อง O-Waste ใช้งานง่าย ราคาประหยัด และเข้าถึงคนหมู่มากได้ง่าย ใช้งานได้อย่างสนุกและไม่ต้องเปลี่ยนไลฟ์สไตล์เพื่อลดขยะ

สามารถติดตามและสนับสนุนการทำงานของ YOLO ในปัจจุบันได้ที่ https://www.zerowasteyolo.com


หากคุณสนใจเรียนคอร์สเรียนสร้างสรรค์ไอเดีย Idea Pools ไปด้วยกัน ดูรายละเอียดที่นี่ (เปิดรับสมัคร วันที่ 17 มี.ค. – 31 กรกฎาคม 2565)

ดาวน์โหลด DIY Worksheet IDEA POOLS ได้ที่นี่


ใส่ความเห็น

เข้าสู่ระบบด้วย

หรือ