ในการทำความเข้าใจปัญหาสังคม School of Changemakers มักใช้โมเดลภูเขาน้ำแข็ง (Iceberg Model) เป็นกรอบช่วยวิเคราะห์ปัญหาแบบลงลึกว่าปัญหานี้เป็นปัญหาระดับพฤติกรรม รูปแบบที่เกิดขึ้นซ้ำๆ หรือโครงสร้าง แล้วรากของปัญหาเกิดจากอะไรบ้าง หากเราเลือกจุดที่เหมาะสมในการเริ่มต้น จะช่วยให้แก้ไขปัญหานั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจาก Iceberg Model แล้ว สำหรับภาคธุรกิจยังมีกรอบแนวคิดที่เรียกว่า ESG (Environment, Social, Good Governance) ช่วยให้บริษัทมีแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ สิ่งแวดล้อม สังคม และ ธรรมภิบาล และเป็นตัวชี้วัดให้กับนักลงทุนที่สนใจลงทุนในธุรกิจที่ยั่งยืน

แม้ ESG จะยังเป็นที่รู้จักและใช้วัดคะแนนความยั่งยืนแค่ในกลุ่มธุรกิจ ในบริบทของคนทั่วไป เราสามารถใช้ ESG มามองปัญหาใน 3 ด้าน และสะท้อนว่าชีวิตของเรามีความยั่งยืนมากน้อยแค่ไหน หากเรามองปัญหาสิ่งแวดล้อมว่าส่วนใหญ่เป็นปัญหาที่เกิดพฤติกรรมมนุษย์ (Behavior) ที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ซึ่งรูปแบบพฤติกรรมเหล่านี้ส่งผลกระทบ (Impact) ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและคนในสังคมอย่างไรบ้าง นอกเหนือจากพฤติกรรมคนแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้องมากมาย คือ “ระบบ” (Systems) ไม่ว่าจะเป็น กฏหมาย ภาครัฐ วัฒนธรรม ความเชื่อ ทัศนคติของคนในสังคม ที่ประกอบกันขึ้นมา ล้วนส่งผลกระทบหรือได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมคนทั้งนั้น
พฤติกรรม (Behavior) | ผลกระทบ (Impact) | โครงสร้างหรือระบบ (Systems) |
---|---|---|
พฤติกรรม (behavior) หรือการกระทำ (action) ที่เห็นได้ไม่ต้องวิเคราะห์ก็สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า ว่าใครทำอะไร แสดงออกอย่างไร สามารถวัดความถี่ได้ อาจจะเกิดซ้ำ ๆ จนเป็นรูปแบบ (Pattern) | ผลกระทบ (Impact) ของพฤติกรรมที่เกิดซ้ำ ซึ่งส่งผลบวกหรือลบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ คน สัตว์ สิ่งมีชีวิตและทรัพยากร | โครงสร้างหรือระบบ (Systems) เป็นสิ่งที่เป็นรูปแบบที่เชื่อมต่อกันจนเกิดระบบ เช่น กฎระเบียบ หรือสิ่งที่ทำๆ ต่อกัน เช่น วัฒนธรรมองค์กร รวมถึงชุดความคิด คุณค่า ทัศนคติ ความเชื่อ และอคติ ที่ได้รับอิทธิพลจากคนหรือสิ่งแวดล้อมรอบข้าง |
ตัวอย่าง การมองปัญหาสังคมในแต่ระดับด้วยประเด็นท้องไม่พร้อมในวัยรุ่น
พฤติกรรม (Behavior) | ผลกระทบ (Impact) | โครงสร้างหรือระบบ (Systems) |
---|---|---|
• การซื้อถุงยางอนามัยเป็นเรื่องยากสำหรับเด็ก จึงมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน และเสี่ยงท้องไม่พร้อม • เมื่อเด็กท้องและมีปัญหา ไม่มีความรู้ ไม่มีข้อมูลในการช่วยตัดสินใจ และไม่มั่นใจว่าควรทำอย่างไร มักจะปรึกษาเพื่อนก่อน ซึ่งเพื่อนก็ช่วยให้คำตอบไม่ได้ ขณะเดียวกันก็ไม่กล้าปรึกษาคนในครอบครัว หรือครู | • เด็กมัธยมต้นท้องไม่พร้อมต้องออกจากระบบการศึกษา โดยไม่มีอาชีพ หรือวิชาชีพ ทำให้เกิดปัญหาสังคมตามมาหลายด้าน เช่น แม่วัยรุ่นเกือบ 70% ที่ไม่มีความพร้อมในเรื่องการดูแลบุตร อันเนื่องมากจากไม่มีอาชีพหรือรายได้ มีปัญหาทางเศรษฐกิจในครอบครัวและไม่มีความรู้ในการดูแลบุตร | • ระบบชายเป็นใหญ่ทำให้ผู้ชายถูกผ่อนปรนจากเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ การป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น และการรับผิดชอบในครรภ์ ทำให้เด็กผู้หญิงต้องรับผิดชอบหรือรับ ‘ผิด’ มากกว่าผู้ชาย • แม่วัยใสมีสิทธิ์ทางกฎหมายในการศึกษาต่อ แต่ถูกครูและเพื่อนนักเรียนนินทาว่าร้ายจนไม่สามารถอยู่ได้ |
จากตัวอย่าง จะเห็นได้ว่าปัญหาประเด็นเดียวมีแง่มุมหลากหลาย พฤติกรรมที่เป็นปัญหา ผลกระทบที่เกิดซ้ำๆ จนเป็นรูปแบบ และโครงสร้าง
การแก้ไขปัญหาสังคมนั้นไม่ง่าย การที่เราลงมือทำบางอย่างไม่ได้แปลว่าปัญหาจะหายไปในทันที เพราะปัญหานั้นซับซ้อน เกี่ยวข้องเชื่อมโยงถึงกันหมด เราควรจะทำความเข้าใจปัญหาให้ลึกซึ้ง เห็นเหตุและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เชื่อมโยงกัน ทั้งคน และ ระบบ แล้วเลือกจุดที่จะเริ่มต้นแก้ไขปัญหา คิดไอเดีย ทดลองจนได้รูปแบบและระบบใหม่มาทดแทน สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องใช้เวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมีเป้าหมายอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างต้องใช้เวลาหลายสิบปีในการเปลี่ยนแปลง เช่น การปรับเปลี่ยนความคิด ความเชื่อ ค่านิยมของคนในสังคม แม้จะเป็นปัญหาที่ทำแล้วสร้างผลกระทบได้มากที่สุด
สุดท้าย สังคมของเรามีปัญหารอการแก้ไขอยู่ในทุกระดับ เราอาจจะเริ่มจากปัญหาเล็ก ๆ ในระดับพฤติกรรมที่สามารถทำได้ด้วยตัวเองเลย หรือสถานการณ์ที่เห็นอยู่ทุกวันและทำให้เราหงุดหงิดก็ได้ แต่อย่าลืมมองให้เห็นสิ่งที่อยู่ลึกลงไป ทำความเข้าใจสาเหตุ ปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมหรือสถานการณ์นั้นๆ ให้เข้าใจ “ระบบ” ในภาพรวม ทุกปัญหาต้องการใครสักคนมาเริ่มเปลี่ยนเป็นคนแรก เราอยากชวนคุณมาเป็นคน ๆ นั้น และชวนคนอื่นมาช่วยกันแก้ปัญหา
ตัวอย่างปัญหาสังคมที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน









ขอบคุณภาพจาก prachachat dasintergroup bbc positioningmag prachachat chula khonthaifoundation linkedin.com democracyandme