เชื่อไหมว่าธุรกิจเพื่อสังคมและภาคธุรกิจร่วมมือกันสร้างการเปลี่ยนแปลงให้โลกนี้ดีขึ้นได้?
ในโลกนี้มีปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมที่รอการแก้ไขอยู่มากมาย หลาย ๆ ปัญหาเป็นปัญหาที่หนัก เร่งด่วน และยากที่จะแก้ได้ตามลำพัง จะดีแค่ไหนถ้าเราไม่ได้แก้ปัญหาอยู่คนเดียว แต่ร่วมมือกันกับคนอื่น ๆ เพื่อช่วยกันแก้ปัญหาไปด้วยกัน และเป็นส่วนหนึ่งในการทำเป้าหมาย SDGs (Sustainable Development Goals) ข้อ 17 ‘Partnerships for the Goals’ การร่วมมือกันเพื่อพิชิตเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
บทความนี้สรุปเนื้อหามาจาก Corporate-Ready Report ซึ่งเป็นงานวิจัยโดย Acumen องค์กรไม่แสวงหากำไรระดับโลกที่มุ่งขจัดความยากจน, IKEA Social Entrepreneurship และองค์กรพันธมิตรที่ศึกษาว่าธุรกิจเพื่อสังคมและภาคธุรกิจจะสร้างความร่วมมือกันได้อย่างไร มีอะไรที่เป็นโอกาสและอุปสรรคในการร่วมมือกัน โดยได้ศึกษาและเก็บข้อมูลธุรกิจเพื่อสังคมทั่วโลกมากกว่า 300 องค์กร
ทำไมภาคธุรกิจและธุรกิจเพื่อสังคมจึงควรสร้างความร่วมมือกัน?
ภาคธุรกิจมีบทบาทสำคัญในการสร้างโลกที่เป็นธรรมและมีความยั่งยืน ตอนนี้ภาคธุรกิจทั่วโลกใส่ใจปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้นและเริ่มเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาเหล่านี้ด้วยการตั้งเป้าหมายว่าจะสร้างสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน และคำนึงถึงเรื่องเหล่านี้ในการตัดสินใจและการดำเนินธุรกิจมากขึ้น แต่ภาคธุรกิจยังพบความท้าทายในการปรับตัว ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินงานให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ การทำงานที่ต้องใส่ใจเรื่องสิทธิมนุษยชน ความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม และการสร้างผลกระทบทางสังคม หรือแม้กระทั่งการเปลี่ยนโมเดลธุรกิจจากที่เคยความสำคัญกับผู้ถือหุ้นเป็นหลัก มาเป็นการให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ความท้าทายเหล่านี้ทำให้ภาคธุรกิจต้องการนวัตกรรมและการสร้างความร่วมมือใหม่ ๆ
ความท้าทายที่ภาคธุรกิจกำลังเผชิญกลับเป็นจุดแข็งของธุรกิจเพื่อสังคม ทั้งด้านเป้าหมายในการทำธุรกิจเพื่อแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม ไอเดียใหม่ ๆ โมเดลธุรกิจใหม่ ๆ รวมทั้งวิธีการดำเนินงานที่ช่วยสนับสนุนให้ภาคธุรกิจปรับตัวได้เร็วขึ้น และนี่คือโอกาสที่ภาคธุรกิจและธุรกิจเพื่อสังคมจะมาร่วมมือกันสร้างการเปลี่ยนแปลง
เราอาจจะเคยคิดว่าธุรกิจเพื่อสังคมไม่พร้อมทำงานกับภาคธุรกิจ แต่จากงานวิจัย Corporate Ready Report พบว่ามีธุรกิจเพื่อสังคมจำนวนมากที่ไม่ได้แค่มีความพร้อมร่วมมือทำธุรกิจกับภาคธุรกิจ แต่มีธุรกิจเพื่อสังคมหลายประเภทจากที่ต่าง ๆ ทั่วโลกที่ประสบความสำเร็จในการสร้างความร่วมมือ ตอบโจทย์สิ่งที่ภาคธุรกิจต้องการ เช่น การพัฒนาพนักงาน สินค้า ความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม บริการไอที ฯลฯ ที่สำคัญคือความร่วมมือเหล่านี้ได้สร้างผลกระทบเชิงบวกทางสังคมที่วัดผลได้ งานวิจัยนี้ยังยืนยันว่าการสร้างความร่วมมือกันระหว่างภาคธุรกิจและธุรกิจเพื่อสังคมไม่ได้ยากอย่างที่คิด
โดยงานวิจัยนำเสนอ Insight ที่น่าสนใจ 3 เรื่อง ได้แก่
- ธุรกิจเพื่อสังคมพร้อมมีภาคธุรกิจมาเป็นลูกค้า (จากที่คิดว่าไม่พร้อม)
- ธุรกิจเพื่อสังคมช่วยให้ภาคธุรกิจทำเป้าหมายความยั่งยืนให้เกิดขึ้นได้และวัดผลได้
- ความท้าทายและอุปสรรคที่ธุรกิจเพื่อสังคมเจอสามารถแก้ไขได้
ธุรกิจเพื่อสังคมพร้อมมีลูกค้าเป็นภาคธุรกิจ (จากที่คิดว่าไม่พร้อม)
เราอาจจะคิดว่าธุรกิจเพื่อสังคมยังไม่พร้อมทำงานกับภาคธุรกิจ แต่ที่จริงแล้วธุรกิจเพื่อสังคมส่วนใหญ่ที่ทำงานกับภาคธุรกิจเป็นธุรกิจเพื่อสังคมขนาดเล็กที่มีพนักงานน้อยกว่า 20 คนด้วยซ้ำ นอกจากนี้ยังมีธุรกิจเพื่อสังคมมากกว่า 150 องค์กรที่ร่วมมือกับภาคธุรกิจมานานกว่า 3 ปีแล้ว และส่วนใหญ่ร่วมมือกับภาคธุรกิจมากกว่า 5 องค์กร ธุรกิจเพื่อสังคมบางแห่งมีรายได้มากกว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี โดยรายได้มากกว่าครึ่งหนึ่งมาจากลูกค้าที่เป็นภาคธุรกิจอีกด้วย แสดงให้เห็นว่าที่จริงแล้วธุรกิจเพื่อสังคมมีความพร้อมอย่างมากที่จะร่วมมือกับภาคธุรกิจ
ที่น่าสนใจคือทั่วโลกมีธุรกิจเพื่อสังคมหลากหลายประเภทที่ประสบความสำเร็จในการร่วมมือกับภาคธุรกิจ โดยมีทั้งธุรกิจเพื่อสังคมที่ทำงานด้านการให้บริการทางธุรกิจ (การตลาด เทคโนโลยีข้อมูล การฝึกอบรม โลจิสติกส์ เป็นต้น) ด้านสิ่งทอ ด้านการให้บริการทางสังคม (การศึกษา การดูแลเด็ก) ไปจนถึงด้านอาหารและเกษตรกรรม
แล้วธุรกิจเพื่อสังคมกับภาคธุรกิจมาร่วมมือกันได้อย่างไร?
ธุรกิจเพื่อสังคมมีวิธีค้นหาภาคธุรกิจที่มีศักยภาพในการสร้างความร่วมมือหลายวิธี โดยวิธีที่ใช้มากที่สุดคือการหาภาคธุรกิจที่จะร่วมมือด้วยจากเครือข่ายคนรู้จักส่วนตัวและเครือข่ายจากการทำงาน แสดงให้เห็นว่าการมีเครือข่ายที่กว้างขวางหลากหลายวงการจะเป็นประโยชน์กับการเติบโตของธุรกิจเพื่อสังคมมาก นอกจากนี้ยังมีวิธีอื่น ๆ เช่น การเสนอขายสินค้าและบริการกับภาคธุรกิจโดยตรง งานประชุมและแสดงสินค้า เครือข่ายนักลงทุน หรือแม้กระทั่งภาคธุรกิจเป็นฝ่ายติดต่อมาหาธุรกิจเพื่อสังคมเอง ส่วนการจัดซื้อจัดจ้างจากภาคธุรกิจกลับทำให้เกิดความร่วมมือได้เพียง 21% เท่านั้น ซึ่งอาจเป็นเพราะภาคธุรกิจยังไม่ได้กระตือรือร้นในการจัดซื้อจัดจ้างจากธุรกิจเพื่อสังคมมากนัก
เมื่อธุรกิจเพื่อสังคมร่วมมือกับภาคธุรกิจแล้ว พบว่าธุรกิจโดยรวมแข็งแกร่งขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจเพื่อสังคมที่มีลูกค้าภาคธุรกิจมากกว่า 5 แห่ง ที่ได้ขยายฐานตลาด ชื่อเสียงของแบรนด์เป็นที่รู้จักมากขึ้น มียอดขายและการสื่อสารเพิ่มขึ้นกว่าเดิมมาก นอกจากนี้การร่วมมือกับภาคธุรกิจยังทำให้เป้าหมายผลกระทบทางสังคม นวัตกรรมของสินค้าและ R&D รวมไปถึงการจัดการภายในองค์กรของธุรกิจเพื่อสังคมแข็งแกร่งขึ้นด้วย
ในการปรับตัวเพื่อทำงานกับภาคธุรกิจ การมีเป้าหมายผลลัพธ์ทางสังคมและภาพความเปลี่ยนแปลงที่อยากเห็นอย่างชัดเจนเป็นสิ่งที่สำคัญในการสร้างความร่วมมือกับภาคธุรกิจ เพราะภาคธุรกิจจะเห็นความแตกต่างระหว่างธุรกิจเพื่อสังคมจากธุรกิจอื่น ๆ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ธุรกิจเพื่อสังคมได้สร้างความร่วมมือ ซึ่งธุรกิจเพื่อสังคมต้องแสดงให้ภาคธุรกิจเห็นว่าพวกเขาแตกต่างจากธุรกิจอื่น ๆ อย่างไร และจะสามารถแก้ไขปัญหาและสร้างผลลัพธ์ที่มีคุณค่าได้อย่างไร
นอกจากการมีโมเดลธุรกิจหลากหลายที่เป็นโอกาสในการเติบโตแล้ว หากธุรกิจเพื่อสังคมสามารถพัฒนาตัวเองให้ตอบสนองสิ่งที่ภาคธุรกิจต้องการและพร้อมสำหรับโอกาสในการเติบโต เชื่อมั่นในความสามารถของตัวเอง และกล้าทำสิ่งที่ไม่เคยทำ เป็นจุดที่ทำให้ธุรกิจเพื่อสังคมเติบโตขึ้น เช่น ถ้าได้รับออเดอร์จากภาคธุรกิจมากกว่าออเดอร์ต่อเดือนที่เคยทำ 2 เท่า จะไม่ยกเลิกออเดอร์ แต่จะต่อรองเรื่องเวลากับภาคธุรกิจเพื่อให้ส่งมอบสินค้าได้ตามสัญญา
การได้รับประกาศนียบัตรจากองค์กรในประเทศและนานาชาติ เช่น World Fair Trade Organization, International Organization for Standardization, B-Corps, The Global Organic Textile Standard เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่รับรองว่าธุรกิจเพื่อสังคมได้สร้างผลกระทบทางสังคมจริง ๆ
ธุรกิจเพื่อสังคมช่วยให้ภาคธุรกิจทำเป้าหมายความยั่งยืนให้เกิดขึ้นได้และวัดผลได้
ภาคธุรกิจต่าง ๆ ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เห็นได้จากการให้ความสำคัญกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) และพยายามสร้างผลกระทบที่สอดคล้องกับ SDGs อย่างไรก็ตาม การศึกษาของ WEF พบว่ามีภาคธุรกิจแค่ 38% ที่สอดคล้องกับ SDGs และอีก 55% ที่อยู่ในระดับกลาง ๆ หรือไม่สอดคล้องกับ SDGs ทั้ง ๆ ที่ถ้าภาคธุรกิจทั่วโลกมีความสอดคล้องกับ SDGs และสร้างผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมได้ จะทำให้เป้าหมาย SDGs สำเร็จได้ไวขึ้น
ธุรกิจเพื่อสังคมมีหัวใจอยู่ที่การสร้างผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่วัดผลได้ และยังสอดคล้องกับ SDGs จึงช่วยเติมเต็มช่องว่างของภาคธุรกิจในการทำเป้าหมายความยั่งยืนให้เกิดขึ้นและมีความสอดคล้องกับการดำเนินงานและคุณค่าของภาคธุรกิจ
โดยธุรกิจเพื่อสังคมทำงานกับประเด็นปัญหาหลากหลาย ตั้งแต่สุขภาพ ความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม การเข้าถึงแหล่งน้ำที่สะอาดและปลอดภัย การมีส่วนร่วมของผู้พิการ เป็นต้น ภาคธุรกิจจึงสามารถเลือกธุรกิจเพื่อสังคมที่ทำงานตรงกับเป้าหมายทางสังคมและสิ่งแวดล้อมของภาคธุรกิจเพื่อสร้างความร่วมมือได้
จาก Corporate-Ready Report ประเด็นปัญหา 3 อันดับแรกที่ธุรกิจเพื่อสังคมทำงานเพื่อแก้ไขมากที่สุดคือ การจ้างงาน ความยากจน ความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งภาคธุรกิจที่อยากตั้งเป้าหมายทางสังคมเกี่ยวกับค่าครองชีพ ศักดิ์ศรีและความเท่าเทียมของงาน การมีส่วนร่วมของผู้หญิง คนยากจนและด้อยโอกาส สามารถร่วมมือกับธุรกิจเพื่อสังคมเหล่านี้ได้
นอกจากนี้ภาคธุรกิจสามารถเลือกธุรกิจเพื่อสังคมที่มีเป้าหมายต่าง ๆ กัน และภาคธุรกิจอยากร่วมมือด้วยจากกลุ่มเป้าหมายที่ธุรกิจเพื่อสังคมเหล่านั้นช่วยเหลือ เช่น คนด้อยโอกาส คนที่มีรายได้น้อย แรงงานและคนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล เยาวชน ผู้พิการ เป็นต้น
หลังจากสร้างความร่วมมือแล้ว ต้องไม่ลืมเรื่องการประเมินผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น เพราะภาคธุรกิจจำนวนมากไม่ได้ให้ความสำคัญแค่เรื่องความสอดคล้องของคุณค่า แต่ต้องการเห็นความคืบหน้าในการทำเป้าหมายของภาคธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรมด้วย การประเมินผลลัพธ์ทางสังคม ซึ่งโดยปกติแล้วใช้ประเมินความสำเร็จของธุรกิจเพื่อสังคม จะเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าภาคธุรกิจมีความคืบหน้าในการสร้างผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง โดยภาคธุรกิจอาจจะประเมินปีละครั้ง
แม้ภาคธุรกิจจะมองว่าผลลัพธ์ทางสังคมคือตัวชี้วัดความสำเร็จที่สำคัญ แต่ในระยะแรก ๆ ที่สร้างความร่วมมือกับธุรกิจเพื่อสังคม ภาคธุรกิจส่วนใหญ่กลับไม่ค่อยถามข้อมูลเกี่ยวกับผลลัพธ์ทางสังคม ซึ่งจะทำให้พลาดโอกาสในการทำความเข้าใจผลลัพธ์ทางสังคมที่เกิดจากธุรกิจเพื่อสังคม และความเชื่อมโยงกับความยั่งยืน การมีส่วนร่วม และเป้าหมายผลลัพธ์ทางสังคม รวมทั้งกระทบกับความสำเร็จของภาคธุรกิจโดยรวมด้วย
ความท้าทายและอุปสรรคที่ธุรกิจเพื่อสังคมเจอสามารถแก้ไขได้
แม้ว่าจะมีความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างธุรกิจเพื่อสังคมและภาคธุรกิจที่ประสบความสำเร็จจำนวนมาก แต่ก็ยังมีความท้าทายและอุปสรรคหลายอย่างที่ธุรกิจเพื่อสังคมเจอ
- การตกลงเรื่องราคาและการจ่ายเงิน และระยะเวลาในทำสัญญา
การตกลงเรื่องราคาและการจ่ายเงิน และระยะเวลาในการทำสัญญาเป็นอุปสรรคอันดับต้น ๆ ที่ธุรกิจเพื่อสังคมเจอ ธุรกิจเพื่อสังคมเกือบครึ่งหนึ่งเจออุปสรรคในการตกลงเรื่องราคา โดยเฉพาะธุรกิจเพื่อสังคมที่ตั้งราคาสินค้าและบริการให้ครอบคลุมค่าครองชีพของพนักงานและผู้ผลิต อย่างธุรกิจกลุ่มงานฝีมือและสิ่งทอ ในขณะที่ภาคธุรกิจจะจ่ายเงินตาม ‘ราคา’ ที่ไม่ได้รวมมูลค่าด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมเข้าไปในห่วงโซ่อุปทานด้วย ซึ่งถ้าภาคธุรกิจคำนึงถึงผลลัพธ์ทางสังคมในการตัดสินใจจ่ายเงิน อาจจะตกลงจ่ายเงินในราคาที่สูงขึ้น รวมมูลค่าทางสังคมและสิ่งแวดล้อมเข้าไปด้วย เป็นทางหนึ่งจะช่วยให้พนักงานและกลุ่มเป้าหมายธุรกิจเพื่อสังคมช่วยเหลือมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ - การหมุนเวียนกระแสเงินสดและเพิ่มการผลิต
แม้ว่าการหมุนเวียนกระแสเงินสดจะไม่ใช่ปัญหาหลักของธุรกิจเพื่อสังคมส่วนใหญ่ แต่มีธุรกิจเพื่อสังคมจำนวนหนึ่งที่มีปัญหานี้ ได้แก่ ผู้ผลิตอาหารและสินค้าเกษตรกรรม และผู้ผลิตสินค้างานฝีมือ เพราะเมื่อธุรกิจเหล่านี้รับออเดอร์ที่เพิ่มขึ้นจากปกติสองเท่า พวกเขาต้องลงทุนเพิ่ม โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กที่ต้องลงทุนมากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ มีทั้งการจ้างพนักงานเพิ่ม ลงทุนกับวัตถุดิบและทรัพยากรสำหรับการดำเนินงาน หรือการเพิ่มประสิทธิภาพของพนักงาน ซึ่งธุรกิจอาจจะใช้เงินทุนที่มีอยู่แล้วหรือกู้ยืมเพิ่ม และธุรกิจเพื่อสังคมส่วนใหญ่ยังอยากให้ภาคธุรกิจจ่ายเงินล่วงหน้าเพื่อลงทุน ถ้ามีภาคธุรกิจที่สามารถจ่ายเงินล่วงหน้าได้เพิ่มขึ้น จะมีธุรกิจเพื่อสังคมที่สามารถผลิตสินค้าและให้บริการได้เพิ่มขึ้นอีกมาก - การสื่อสารกับภาคธุรกิจ
ความท้าทายอีกอย่างในการทำงานกับภาคธุรกิจคือ ภาคธุรกิจบางแห่งจะขอข้อเสนอโครงการหรือตัวต้นแบบ (prototype) หลายครั้งโดยไม่ให้ระยะเวลาและเกณฑ์การตัดสินใจที่ชัดเจนทำให้เสียเวลา การมีกระบวนการและระยะเวลาที่ชัดเจนจะช่วยธุรกิจเพื่อสังคม (ที่มีทรัพยากรน้อยอยู่แล้ว) จัดลำดับทรัพยากรและการต่อรองกับลูกค้าได้ดีขึ้น และถ้าภาคธุรกิจติดต่อกับธุรกิจเพื่อสังคมสม่ำเสมอ ชัดเจน มีช่องทางติดต่อหลักให้ จะช่วยให้ธุรกิจเพื่อสังคมที่ทำงานด้วยได้ข้อมูลที่ต้องการง่ายขึ้นและแก้ปัญหาได้เร็วขึ้น
บทบาทของ Accelerator Program และ Capacity Building Program
การมี Accelerator Program และ Capacity Building Program ทำให้ธุรกิจเพื่อสังคมที่ได้เข้าร่วมโปรแกรมสามารถก้าวข้ามความท้าทายและอุปสรรคต่าง ๆ ได้ มีธุรกิจเพื่อสังคมจำนวนมากที่เข้าร่วมโปรแกรมเหล่านี้ ก่อนที่จะได้ภาคธุรกิจรายแรกมาเป็นลูกค้า และการเข้าร่วมโปรแกรมเหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้มีความพร้อมในการร่วมมือกับภาคธุรกิจอีกด้วย รวมทั้งทำให้รู้จักคนใหม่ ๆ และมีเครือข่ายสร้างความร่วมมือกับภาคธุรกิจได้ในอนาคต อย่างไรก็ตาม ยังมีธุรกิจเพื่อสังคมไม่มากนักที่ได้ภาคธุรกิจมาเป็นลูกค้าจากโปรแกรมเหล่านี้ ซึ่งตัวโปรแกรมเองอาจจะต้องให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่ายในโปรแกรมมากขึ้น
Accelerator Program มีการสนับสนุน ทั้งการให้เงินทุน การตั้งทีมผู้เชี่ยวชาญมาช่วยธุรกิจเพื่อสังคมทดสอบแนวทางแก้ปัญหาที่คิดไว้ โดยทดสอบกับห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ในระดับโลก ซึ่งการมีโอกาสทดสอบเช่นนี้ช่วยให้ธุรกิจเพื่อสังคมได้รู้และมั่นใจมากขึ้นว่าสินค้าหรือบริการนั้นใช้ได้ และตอบโจทย์ภาคธุรกิจที่อาจจะมาเป็นลูกค้าในอนาคต นอกจากนี้ Accelerator Program ยังมีบทบาทในการสร้างระบบนิเวศของธุรกิจเพื่อสังคมที่พร้อมมีลูกค้าภาคธุรกิจ ซึ่งการสนับสนุนในรูปแบบต่าง ๆ (เช่น การให้คำปรึกษา เทรนนิ่ง) การแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน การมีโมเดลการบริการที่เหมาะสมกับพื้นที่เป็นปัจจัยสำคัญของความสำเร็จเลยทีเดียว
นอกจากการสนับสนุนธุรกิจเพื่อสังคมผ่าน Accelerator Program และ Capacity Building Program แล้ว ภาคธุรกิจสามารถร่วมมือกับธุรกิจเพื่อสังคมโดยตรงเพื่อสนับสนุนการเติบโต เช่น IKEA ร่วมมือกับ Jordan River Foundation และธุรกิจเพื่อสังคมอื่น ๆ ให้คนชายขอบและผู้หญิงในชุมชนเปราะบางทำสินค้าให้ IKEA และจ่ายเงินให้คนกลุ่มนี้มีรายได้ โดย IKEA ให้องค์ความรู้เกี่ยวกับการวางแผนและการผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐาน
บทบาทของนักลงทุน
นอกจากภาคธุรกิจที่เป็นลูกค้าของธุรกิจเพื่อสังคมแล้ว นักลงทุน ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนแบบ Venture Capital ทั่วไป หรือนักลงทุนด้านผลลัพธ์ทางสังคมและสิ่งแวดล้อมมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจและทำให้ธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้นผ่านความท้าทายและอุปสรรคได้ โดยนักลงทุนสามารถให้เงินทุน เป็นโค้ชให้คำปรึกษาแนะนำ เป็นบอร์ดของธุรกิจนั้น และนักลงทุนมักจะมีเครือข่ายที่เข้มแข็งที่แนะนำให้ธุรกิจเพื่อสังคมได้ โดยเฉพาะเมื่อนักลงทุนแนะนำภาคธุรกิจรายใหญ่ที่จะมาเป็นลูกค้ารายแรกของธุรกิจเพื่อสังคม เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ธุรกิจเพื่อสังคมมีความน่าเชื่อถือ และสร้างความร่วมมือกับภาคธุรกิจต่อไป
3 อย่างที่ภาคธุรกิจควรทำเพื่อให้สนับสนุนการทำงานร่วมกันระหว่างภาคธุรกิจและธุรกิจเพื่อสังคม
- ขจัดอุปสรรค: การมี Accelerator Program หรือโปรแกรมเทรนนิ่งที่ภาคธุรกิจทำเองหรือให้การสนับสนุน อย่างที่ AB InBev Unilever หรือ IKEA ทำ หรือเป็นโครงการและโปรแกรมขององค์กรอื่น ๆ ที่สนับสนุน เช่น Acumen, Ashoka, Yunus Social Business, the Social Enterprise World Forum ช่วยให้ธุรกิจเพื่อสังคมมองเห็นอุปสรรคและขจัดอุปสรรคเหล่านั้นได้ เชื่อมโยงกับภาคธุรกิจที่เป็นลูกค้าและขยายผลงานไปได้ไกลขึ้น ล็อบบี้ผู้มีอำนาจตัดสินใจ ผลักดันนโยบายและกฎหมายใหม่ ๆ ที่จูงใจให้ภาคธุรกิจจัดซื้อจากธุรกิจเพื่อสังคมที่สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
- แสดงความเป็นผู้นำ: ภาคธุรกิจต้องกล้าเปลี่ยนตัวเอง เปลี่ยนโครงสร้างและสิ่งที่อยู่ตลอดห่วงโซ่คุณค่า ลดเงื่อนไขยุ่งยากที่ไม่จำเป็น เพื่อแสดงให้เห็นว่าภาคธุรกิจพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลง มีความยืดหยุ่น และสามารถสร้างนวัตกรรมในการจัดซื้อหรือสรรหาสินค้าและบริการได้ ภาคธุรกิจต้องกลับมาดูว่าในตอนนี้กระบวนการเลือกผู้ผลิต กระบวนการจ่ายเงิน การพัฒนาผู้ผลิต หรือตัวภาคธุรกิจเอง มีอะไรที่เป็นอุปสรรคในการสร้างความร่วมมือกับธุรกิจเพื่อสังคมบ้าง และพยายามแก้อุปสรรคเหล่านั้นเพื่อให้ภาคธุรกิจทำงานกับธุรกิจเพื่อสังคมได้ง่ายขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนตัวเองของภาคธุรกิจทำได้ตั้งแต่ระดับ CEO ไปจนถึงพนักงานที่ต้องตัดสินใจในทุก ๆ วัน เกี่ยวกับแบรนด์ ตลาด และการทำงานระดับภูมิภาค
รายงาน “The Social Procurement Manual’’ โดย Yunus Social Business (YSB) มีตัวอย่างดี ๆ ที่เล่าว่าภาคธุรกิจเปลี่ยนโมเดลธุรกิจของตัวเองเพื่อให้จัดซื้อจากธุรกิจเพื่อสังคมสำเร็จได้อย่างไร และให้แนวทางภาคธุรกิจในการเปลี่ยนตัวเองเพื่อสร้างความร่วมมือกับธุรกิจเพื่อสังคม
- การเรียนรู้และแบ่งปันความรู้กันเพื่อเติบโตไปด้วยกัน: ภาคธุรกิจต้องเรียนรู้ให้เร็วขึ้นหากอยากคว้าโอกาสใหม่ ๆ ในการทำงานกับธุรกิจเพื่อสังคม มีภาคธุรกิจที่อยากทำงานกับธุรกิจเพื่อสังคมมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งภาคธุรกิจสามารถสร้างการเรียนรู้ซึ่งกันและกันด้วยการเล่าเรื่องราวการเติบโตของภาคธุรกิจเอง และค้นหาข้อมูลเชิงลึกจากภาคธุรกิจอื่น ๆ ไปด้วย เช่น The Alliance มีสมาชิกมากกว่า 85 รายที่ตั้งเป้าว่าจะสร้างอนาคตที่ยั่งยืนและมีส่วนร่วมด้วยการสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ เป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้และแบ่งปันความรู้ และดูว่าสิ่งนี้จะสนับสนุนให้ธุรกิจเพื่อสังคมเข้าถึงห่วงโซ่คุณค่าของภาคธุรกิจมากขึ้นได้อย่างไร
ตัวอย่างความร่วมมือระหว่างธุรกิจเพื่อสังคมและภาคธุรกิจ
Cacao de Colombia คือแบรนด์ช็อกโกแลตจากประเทศโคลัมเบียที่มุ่งมั่นอยากทำช็อกโกแลตที่ดีที่สุดในโลก และที่สำคัญคือพวกเขามีเป้าหมายที่จะสื่อสารเรื่องศักดิ์ศรีและความเคารพในธรรมชาติและโลกใบนี้ให้ไปถึงผู้บริโภค และเป็นแรงบันดาลใจให้พวกเขาเป็นอีกพลังในการช่วยเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้น
Cacao de Colombia ประสบความสำเร็จในการทำงานกับชนพื้นเมืองและคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล และยังได้รับเงินทุนจากหลายแหล่ง จึงสามารถซื้อโกโก้จากคนปลูกได้ในราคาที่สูงกว่าตลาดและขยายการผลิตได้ด้วย ยิ่งกว่านั้น พวกเขาสร้างผลกระทบทางสังคมให้กว้างขึ้นด้วยการร่วมมือกับ Crapes & Waffles ผู้นำเชนร้านอาหารในโคลัมเบีย ทำไอศกรีมรสใหม่จากช็อกโกแลต ซึ่งการร่วมมือกับ Crapes & Waffles ทำให้คนปลูกโกโก้มีรายได้มากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ได้สื่อสารเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อมไปสู่ลูกค้ากลุ่มใหญ่ขึ้นได้ตามเป้าหมายของแบรนด์ และนอกจากไอศกรีมแล้ว Crapes & Waffles ก็ยังมีสินค้าใหม่ ๆ ที่ทำจากช็อกโกแลตของ Cacao de Colombia ด้วย
ผู้พิการเป็นพนักงานที่มีคุณค่ากับองค์กร เพราะพวกเขามีทักษะที่สำคัญในการสร้างนวัตกรรม คือความคิดสร้างสรรค์ที่พวกเขามีจากการต้องปรับตัวกับโลกรอบตัวมาตลอด รวมทั้งทักษะการแก้ไขปัญหา ความมุ่งมั่น และความกล้าทดลองทำสิ่งใหม่ๆ Harvard Business Review ยังพบว่า 75% ของพนักงานผู้พิการมีไอเดียที่สร้างคุณค่าให้กับองค์กร และองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของผู้พิการมียอดขายโตเร็วขึ้นเกือบ 3 เท่าและทำกำไรได้เร็วกว่าองค์กรอื่นๆ 4 เท่า
Inclusively คือธุรกิจเพื่อสังคมที่เชื่อมโยงผู้สมัครงานที่เป็นผู้พิการ ผู้มีปัญหาสุขภาพจิต หรือผู้ป่วยโรคเรื้อรังกับองค์กรต่างๆ เช่น Microsoft, Dell, FIS Global, Georgetown University, General Services Administration ให้ผู้สมัครงานได้งานที่เหมาะสมกับประสบการณ์และทักษะ ได้ทำงานในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ซึ่งองค์กรต่างๆ ที่รับผู้สมัครงานจาก Inclusively เป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญกับความหลากหลาย ความเสมอภาค และการมีส่วนร่วมในที่ทำงาน และนำมาเป็นเป้าหมายขององค์กร รวมทั้งต้องการเห็นผลลัพธ์ทางสังคมที่ชัดเจนด้วย
นอกจาก Inclusively จะเชื่อมโยงผู้สมัครงานเข้ากับงานในองค์กรที่เหมาะสม ยังช่วยผู้สมัครงานให้มีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น สบายใจที่จะพูดคุยเกี่ยวกับสิ่งที่ต้องการเป็นพิเศษในการทำงาน และสนับสนุนผู้สมัครงานจนประสบความสำเร็จในการทำงาน สำหรับองค์กร Inclusively มีระบบติดตามข้อมูลเพื่อให้องค์กรประเมินความคืบหน้าในการทำตามเป้าหมาย ให้ความรู้ผู้จัดการฝ่ายบุคคลเรื่องแนวปฏิบัติในการสัมภาษณ์และจ้างงานผู้พิการ และให้ความรู้กับพนักงานองค์กรว่าจะสร้างบรรยากาศในการทำงานที่เป็นประโยชน์กับทุกคนได้อย่างไร ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้พนักงานผู้พิการประสบความสำเร็จในระยะยาว
ทั้งหมดนี้ทำให้เราเห็นว่าธุรกิจเพื่อสังคมและภาคธุรกิจมีศักยภาพมากในการร่วมมือกันเพื่อสร้างความยั่งยืน ธุรกิจเพื่อสังคมพร้อมสนับสนุนสิ่งที่ภาคธุรกิจต้องการได้อย่างการมีสินค้าและบริการที่สร้างผลกระทบเชิงบวกและมีคุณภาพสูงที่ภาคธุรกิจนำไปใช้ได้ และยังมีความพร้อมสำหรับการเพิ่มรายได้ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการสนับสนุนการปรับตัวของภาคธุรกิจ
ส่วนภาคธุรกิจก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ธุรกิจเพื่อสังคมเติบโตและมีกำไร รวมทั้งทำให้ธุรกิจเพื่อสังคมเข้มแข็งขึ้นด้วย ภาคธุรกิจสามารถซื้อวัตถุดิบ สินค้า และบริการทางธุรกิจ เช่น การพัฒนาคุณภาพแรงงาน พลังงานหมุนเวียน หรือเทคโนโลยี จากธุรกิจเพื่อสังคมมาใช้ในการทำงานของภาคธุรกิจเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และสร้างความร่วมมือกับธุรกิจเพื่อสังคมเพื่อให้ภาคธุรกิจบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนและสร้างผลกระทบได้กว้างขึ้น
Corporate-Ready Report มีเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจอีกมาก ทั้งตัวอย่างความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจและธุรกิจเพื่อสังคมจากทั่วโลก ‘Top 100’ ธุรกิจเพื่อสังคมประเภทต่าง ๆ 100 แห่งจากทั่วโลกที่พร้อมร่วมมือกับภาคธุรกิจ อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://acumen.org/corporate-ready/
ข้อมูลที่น่าสนใจ
UN Sustainable Development Goals: How companies stack Up
The Case for Improving Work for People with Disabilities Goes Way Beyond Compliance
สรุปและเรียบเรียงโดย
