ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนบ้านแหลม จัดตั้งขึ้นในปี 2020 เริ่มต้นโดย คิน – อาทิตย์ ทองคำ อดีตนักเรียนในโปรแกรม Insight Tanks 2020 ซึ่งเริ่มต้นด้วยความสนใจอยากรู้ว่า คนที่สร้างการเปลี่ยนแปลงเขามีวิธีการแก้ไขปัญหาสังคมอย่างไร และยังไม่มั่นใจว่าตัวเองจะสามารถลงมือแก้ไขปัญหาอะไรได้บ้าง
ในปี 2020 Insight Tanks เปิดให้ผู้เรียนเลือกประเด็นการเรียนรู้ 4 ประเด็น คือ มองอนาคตกับ Covid-19, เด็กออกจากโรงเรียนกลางคัน, เด็กไม่ได้เข้าเรียน และ เด็กไม่ได้เรียนต่อในระดับสูง คินเลือกหยิบประเด็นที่ตนเคยเกือบเป็นหนึ่งในผู้ประสบปัญหา นั่นคือ เด็กออกจากโรงเรียนกลางคัน
เริ่มต้นออกเดินทางค้นหา Insight
คินเลือกประเด็นปัญหาจากสมมติฐานว่า “นักเรียน ม.1-ม.3 ลาออกกลางคัน เพราะขาดทัศนคติเชิงบวกต่อตนเอง และความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องของคนรอบข้างในจังหวัดเพชรบุรี” หลังจากนั้นไปค้นคว้าหาข้อมูลทุติยภูมิ (Secondary Research) เพิ่มเติม ว่า “ทัศนคติเชิงบวก” และ “ความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง” นั้นหมายความอย่างไร
จากข้อมูลของกระทรวงยุติธรรมและกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พบว่า
เด็กมักขาดเป้าหมายในการเรียน และไม่เชื่อมั่นว่าตัวเองจะสามารถสร้างอนาคตได้จากการเรียน เพราะ เห็นตัวอย่างในครอบครัว และชุมชน ที่มีคนออกจากโรงเรียนกลางคันต่อเนื่องทุกปี รวมถึงการเลี้ยงดู และความสัมพันธ์ในครอบครัว ล้วนมีส่วนในการตัดสินใจของเด็ก
- ในปี 2019 เยาวชนไทยในช่วงอายุ 15-24 ปี มีอัตราการหลุดออกจากระบบการศึกษาก่อนวัยอันควรสูงถึง 12.87% หรือประมาณ 1.2 ล้านคน ผลกระทบที่ตามมา คือ ทักษะแรงงาน และค่าแรงที่ต่ำ ปัญหาหาทางสังคม และความยากจน ในระยะยาวก่อให้เกิดวัฏจักรของปัญหาสังคม และความยากจน
- ปัญหาสัมพันธภาพ และการสื่อสารในครอบครัว ทำให้เด็กต้องออกจากระบบกลางคัน
โดยมีการใช้คำพูดที่รุนแรงต่อเด็กสูงถึงร้อยละ 63.4 - การลาออกจากระบบกลางคัน ทำให้เกิดปัญหาสังคมอื่นๆ เช่น จำนวนคนไทยติดการพนันสูงถึง 32 ล้านคน
เยาวชนอายุ 15 ปีขึ้นไปติดบุหรี่สูงถึง 11.4 ล้านคน และติดสุรา 17.7 ล้านคน นอกจากนี้
ประชาชนร้อยละ 40.4 เห็นว่าในชุมชน/หมู่บ้านยังคงมีการแพร่ระบาดของยาเสพติด
นอกจากนี้คินได้ค้นคว้าข้อมูลจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้แก่ ผู้นำชุมชน ชาวบ้าน ผู้อำนวยการและครูจาก 9 โรงเรียนในชุมชนต.บ้านแหลม อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี ทำให้คินพบข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับความคิด ความเชื่อของพ่อแม่ผู้ปกครองและคนในชุมชนที่มีต่อเด็ก ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจออกจากโรงเรียนของเด็ก เช่น
“พูดจาดีๆ สุภาพกับเด็ก ทำเป็นไม่เป็น ไม่ใช่ผู้ดี”
“เด็กลาออก เพราะ ขี้เกียจเรียน ไม่พยายาม สอนเท่าไหร่ก็ไม่รู้เรื่อง ไม่เคยจำ”
“ตีก็แล้ว ด่าก็แล้ว ไม่ได้ดี ก็ไม่รู้จะพูดว่าไงแล้ว”
รวมถึงประโยคคลาสสิคอย่าง “เรื่องแค่นี้ยังทนไม่ได้ โตไปจะทำอะไรกิน” เป็นต้น
ข้อมูลเหล่านี้ คินสืบค้นและรวบรวมเพื่อทำความเข้าใจประเด็นปัญหาเบื้องต้นในขั้นตอนค้นคว้าข้อมูลทุติยภูมิ จากนั้นไปสัมภาษณ์เก็บข้อมูลจากกลุ่มเป้าหมายหลักคือ นักเรียน ม.1-3 ที่ออกจากโรงเรียนกลางคันจนได้ข้อมูลมาจำนวนหนึ่ง พอให้นำมาสังเคราะห์ข้อมูลในขั้นตอนสุดท้ายของ Insight Tanks จนได้เห็น ช่องว่าง โอกาส และข้อมูลเชิงลึก ที่สำคัญหลายอย่าง เช่น เด็กมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับพ่อแม่ เพราะความคิดเห็นในหลายเรื่องไม่ตรงกัน ทำให้ไม่สามารถแสดงความรักหรือเป็นที่ปรึกษาให้ลูกได้ ส่งผลให้เด็กรู้สึกโดดเดี่ยว ขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง หรือ เด็กที่ออกจากโรงเรียนกลางคันยังคิดว่าการเรียนสำคัญกับชีวิตเขา เพียงแต่ขาดการดูแลช่วยเหลือ และการสนับสนุนที่ดีจากพ่อแม่ และครูในโรงเรียน ทำให้ท้อใจและอยากออกมาทำงานดูแลตัวเอง เป็นต้น ซึ่งเป็นจุดตั้งต้นที่ดีในการนำไปคิดไอเดียแก้ไขปัญหาต่อไป
เส้นทางการค้นหา Insight ของเขาไม่ได้จบลงแค่ในห้องเรียน Insight Tanks เท่านั้น คินนำเอากระบวนการค้นหา Insight ไปทำต่อในพื้นที่บ้านเกิด ซึ่งเขาไม่เคยกลับบ้านมาเป็นเวลากว่า 20 ปี ด้วยความตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหานี้ให้ได้อย่างจริงจัง เพราะการสัมภาษณ์น้องในครั้งนี้ทำให้เขารู้ว่าในอดีตเขาเองก็เคยเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหานี้ จากความคิดที่เคยเชื่อว่าเด็กที่ออกจากโรงเรียนคือคนขี้เกียจ ทำให้ญาติคนหนึ่งของเขาตัดสินใจออกจากโรงเรียนเช่นกัน
ถึงเวลานำกระบวนการหา Insight ไปใช้จริง
หลังจากเรียน Insight Tanks จบ คินกลับไปสัมภาษณ์น้องๆทั้งที่ออกจากโรงเรียนตั้งแต่มัธยมต้น และยังไม่ออกจากระบบ สัมภาษณ์พ่อแม่ผู้ปกครองเพิ่มเติม จนกระทั่งได้เจอ Insight สำคัญที่ว่า
เด็กในพื้นที่มีความคิดอยากจะลาออกตั้งแต่ประถม เพราะเห็นรุ่นพี่ในพื้นที่ลาออกแล้วมีงานทำ มีเงินมาช่วยเหลือครอบครัวได้ จึงอยากทำแบบนั้นบ้าง โดยที่ไม่รู้ว่าการลาออกมาในขณะนั้นต้องมาทำงานอะไรบ้าง ต้องเผชิญกับอุปสรรคอะไร มีผลกระทบอย่างไรบ้าง พวกเขาเพียงอยากได้เงินมาช่วยเหลือพ่อแม่ของตนเท่านั้น
แม้การไปทำงานหาเงินช่วยครอบครัวจะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เด็กออกจากโรงเรียน แต่มีปัจจัยกระตุ้นอีกหลายอย่างที่ส่งเสริมการตัดสินใจ เช่น เรียนไม่ทันเพื่อน มีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับพ่อแม่ผู้ปกครอง เป็นต้น เพราะฉะนั้น หากจะแก้ไขปัญหาเด็กออกนอกระบบได้ คินมองว่าไม่ได้แก้ที่เด็กเท่านั้น แต่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆต้องมีส่วนร่วมด้วย ทั้งพ่อแม่ผู้ปกครอง ครู อบต. หรือหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง
หลังจากเดินสายเล่าให้ทุกคนฟังว่าอยากจะทำอะไรและได้ความร่วมมือจากหลายฝ่ายแล้ว โปรเจกต์ “ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนบ้านแหลม” ก็เริ่มต้นขึ้นที่โรงเรียนวัดในกลาง ซึ่งเป็นโรงเรียนที่คินเคยเรียนตอนประถมและมีเพื่อนเป็นครูอยู่ที่นั่น โดยกลุ่มเป้าหมายหลักของคินคือ เด็กอนุบาลและเด็กประถมที่กำลังจะเติบโตขึ้นและอาจมีความคิดอยากออกจากโรงเรียนในช่วงประถม กลุ่มเป้าหมายรองคือพ่อแม่ผู้ปกครอง และชาวบ้านในพื้นที่ โดยทำงานร่วมกับคุณครูของโรงเรียนวัดในกลาง
เป้าหมายคือ การสร้างความเข้าใจให้เด็กว่าอาชีพที่เขาคิดว่าอยากออกจากโรงเรียนไปทำ ต้องทำอะไรบ้าง เผชิญอะไรบ้าง และให้เขาเห็นว่าการออกจากโรงเรียนไปทำงานในขณะที่ยังไม่พร้อมนั้นจะมีผลกระทบอย่างไรบ้าง
คินจึงออกแบบกิจกรรมให้พ่อแม่ผู้ปกครองที่มีอาชีพอยู่ในพื้นที่ เช่น นาเกลือ นาข้าว ฟาร์มหอยแมลงภู่ ขายของ เป็นต้น ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเข้ามาเล่าวิถีชีวิตใน 1 วันให้เด็กอนุบาลฟัง ว่าพ่อแม่ออกจากบ้านไปทำอะไรบ้างกว่าจะได้เงินมา ส่วนเด็กประถม พาออกไปทัศนศึกษาในพื้นที่อาชีพของตัวแทนพ่อแม่ผู้ปกครอง ไปลองลงมือทำจริง ว่าอาชีพที่เขาคิดว่าจะออกจากโรงเรียนมาทำงาน ต้องทำอะไรบ้าง มีความสนุกอย่างไร หรือเจอปัญหาอุปสรรคอะไรบ้าง รวมถึงเข้าใจว่าพ่อแม่ผู้ปกครองทำอะไร ในขณะเดียวกันกลุ่มเป้าหมายเดิมคือนักเรียนม.ต้นที่ออกจากโรงเรียนกลางคัน ก็ถูกดึงเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงให้กับน้องๆในการทำกิจกรรมต่างๆด้วย

ผลลัพธ์จากการใช้ Insight ออกแบบวิธีแก้ไขปัญหา
เด็กอนุบาล – เด็กประถม
- หลังจากเด็กได้ฟังเรื่องเล่า และได้รับประสบการณ์ตรงจากการลงมือทำ พวกเขาจะเริ่มรู้ว่า สิ่งที่คิดกับความเป็นจริงอาจไม่เหมือนกัน และการออกจากโรงเรียนตอนที่ยังไม่พร้อมที่จะทำในสิ่งที่พ่อแม่ทำ อาจจะส่งผลกระทบต่อชีวิตเขาในเชิงลบมากกว่าบวก ได้เห็นว่าการศึกษามันสำคัญสำหรับชีวิตเขา ซึ่งการศึกษาของที่ศูนย์ไม่เน้นเรื่องการท่องจำในโรงเรียน แต่เป็นการเรียนรู้และพัฒนาตัวเองก่อนที่จะไปทำงาน
- มีการสะท้อนการเรียนรู้จากเด็กว่า เขารู้แล้วว่าการเรียนเป็นสิ่งที่ดี ทำให้เขาไม่ต้องโตไปแล้วลำบาก ถ้าเขาตั้งใจเรียนแล้วเก่งขึ้น วันนึงเขาจะกลับมาช่วยพ่อแม่ขยับขยายกิจการหรืออาชีพของพ่อแม่ได้ มีความฝันที่มันไม่ใช่แค่ ครู หมอ ตำรวจ ทหาร แต่มีความคิดที่อยากจะกลับมาทำอะไรให้ชุมชนดีขึ้น
- พอได้ไปสัมผัสงานจริงๆแล้ว เขาได้รู้ว่าจริงๆแล้วที่พ่อแม่ให้เขาเรียนเพราะอะไร พ่อแม่เจอความยากลำบากอะไรในชีวิต และทำไมจึงพยายามผลักดันให้เขาไปทำในสิ่งที่เรารู้สึกว่าทำไมพ่อแม่ยังไม่เห็นทำเลย เช่น การเรียนต่อในระดับสูง
พี่เลี้ยง (นักเรียน ม.1 – 3 ที่ออกจากโรงเรียนกลางคัน)
- เขารู้สึกว่าเขาทำอะไรได้มากกว่าที่เขาคิด เดิมทีเขาคิดว่าเขาทำอะไรไม่ได้ เพราะเป็นแค่เด็กคนหนึ่ง เรียนไปก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร แต่พอมาเป็นพี่เลี้ยงเขาถึงรู้ว่าเขาสามารถทำอะไรได้มากกว่านั้น
- จากการอยู่กับน้องๆเด็กเล็ก เขาตระหนักว่าการเรียนสำคัญ เขาอยากให้น้องเห็นว่าพี่ตั้งใจเรียนนะ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เรียนเก่ง ชนิดที่เกรด 4.00 แต่ตั้งใจเรียนรู้ให้ดีที่สุด ก็น่าจะทำให้น้องๆที่กำลังโตขึ้นอยากลาออกน้อยลง เพราะเห็นตัวอย่างที่ดี เขาอยากเป็นตัวอย่างที่ดีนั้นให้น้อง
พ่อแม่ ผู้ปกครอง
- พ่อแม่ผู้ปกครองเข้าใจลูกมากขึ้นจากการเข้าไปเล่าเรื่องในโรงเรียน แล้วได้เห็นว่าตลอดทั้งวันลูกเรียนอะไรบ้าง ลูกมีความเครียดความกดดันอะไรบ้าง ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เด็กตัดสินใจออกจากโรงเรียนกลางคันด้วย พ่อแม่ผู้ปกครองที่เข้าร่วมกิจกรรมกลับไปพร้อมวิธีการพูดคุยกับลูกด้วยความเข้าใจมากขึ้น รับฟังลูกมากขึ้น จนทำให้เด็กๆกลับมาสะท้อนว่ารู้สึกดีใจที่พ่อแม่เข้าใจตัวเอง ไม่เหมือนเมื่อก่อน ทำให้มีกำลังใจที่จะเรียนหนังสือต่อ
- การเล่าเรื่องราวชีวิตให้คนอื่นฟัง พ่อแม่ผู้ปกครองเหมือนได้ทบทวนตัวเองไปด้วย บางครั้งเด็กๆก็มักจะมีคำถามที่ชวนให้เขาได้คิดทบทวน เช่น “ถ้ารู้ว่าออกจากโรงเรียนไปแล้วลำบาก ทำไมถึงออก” หรือ “ตัวเองไม่เรียนแล้วทำไมถึงบังคับให้ลูกเรียน” หลังจากนั้นเขาก็ได้โจทย์ไปคุยกับลูก ได้เล่าให้ลูกฟังว่าเขาเคยคิดและรู้สึกอย่างไรบ้างที่ออกมา
- ในขั้นตอนการประชุมทีมทำงาน ครูช่วยเล่าให้ฟังว่าทำไมเด็กถึงไม่อยากมาเรียน เพราะอะไร หรือบางทีเด็กมาเรียนแต่ดูเศร้าๆ ครูไปคุยแล้วได้อะไรบ้าง ได้แลกเปลี่ยนกัน ก็เลยทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองเริ่มเห็นว่าทุกเสียงมีสิ่งที่พูดเหมือนๆกัน แต่เขาอาจจะไม่เคยใส่ใจมัน สิ่งนี้ก็ทำให้เขาเข้าใจลูกดีขึ้น
คนในชุมชน
- คนในชุมชนที่เคยมองปัญหาการออกนอกระบบการศึกษาเป็นเรื่องธรรมดา เริ่มกลับมามองว่าการเกิดขึ้นของปัญหา เพราะบางครั้งพวกเขาปล่อยปละละเลย หรืออาจจะไม่ได้ใส่ใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น เวลาที่มีใครออกจากโรงเรียนสักคน เขาไม่ได้มองว่าเรามีส่วนหรือชุมชนมีส่วนอย่างไร พ่อแม่มีส่วนอย่างไร แต่มองเพียงว่าเด็กเป็นคนสร้างปัญหานั้นขึ้นมาเอง แต่พอหลายๆฝ่ายมาทำงานร่วมกันในศูนย์การเรียนรู้ ได้พูดคุยกัน ทำความเข้าใจซึ่งกันและกันมากขึ้น การแก้ปัญหามันเป็นไปในทางที่เข้าใจกัน ใส่ใจความรู้สึกกันมากขึ้น มากกว่าจะใช้ความรุนแรงในเชิงคำพูด หรือการลงโทษที่มันรุนแรง
- พอทุกคนร่วมมือกัน เขาจะไม่รู้สึกว่าเป็นปัญหาของใคร เช่นในช่วงแรกที่สัมภาษณ์เก็บข้อมูล คนในชุมชนก็บอกว่า ครูต้องดูแลเด็ก เพราะครูอยู่ในโรงเรียนกับเด็ก เพราะฉะนั้นทุกอย่างก็จะโยนไปที่โรงเรียน และมองว่าตนไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมามีส่วนร่วม แต่พอทุกคนมาทำร่วมกัน รับผิดชอบปัญหาร่วมกัน ทุกคนจึงได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สังคมมันดีขึ้นได้
- หลังจากเกิดผลลัพธ์ที่ดีกับกลุ่มเริ่มต้นประมาณ 5-6 คน ชาวบ้านเริ่มพูดคุยสอบถามกันปากต่อปาก จนในขณะนี้ศูนย์การเรียนรู้ดำเนินการมาเกือบ 2 ปี มีเด็กเข้าร่วมโครงการกว่า 182 คน ได้รับความร่วมมือจากทั้งพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีอาชีพที่หลากหลายมากขึ้น โรงเรียนต่างๆในชุมชน หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ชาวบ้าน กลุ่มอาชีพ เจ้าของกิจการผู้มีทุนทรัพย์อยากสนับสนุน รวมถึงกลุ่มบริษัทที่ต้องการคนทำงานในพื้นที่ ที่สำคัญที่สุดคือ จำนวนเด็กที่ลาออกกลางคัน ในตำบลบ้านแหลม ลดลง จาก 400 คน เหลือ 286 คนต่อปี

คินและทีมงานศูนย์การเรียนรู้ชุมชนบ้านแหลมมีเป้าหมายต่อไปว่า
- จำนวนเด็กที่เข้าร่วมโครงการ ไม่น้อยกว่า 200 คน ภายในปี 2022
- จำนวนเด็กที่ลาออกกลางคัน ในตำบลบ้านแหลม ลดลง 50% จาก 400 คน/ปี เหลือ 200 คน/ปี ภายในปี 2023
- เด็ก ผู้ปกครอง ครู และคนในชุมชนมีความพอใจกับโครงการ และมาเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลืองานโครงการต่อไป
- อนาคตในปี 2025 ต้องการจะเปิดเพิ่มอีก 4 ศูนย์ย่อยในตำบลบ้านแหลม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับอบจ. อบต. และบริษัท BMW ประเทศไทย
- มีแผนช่วยจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ในตำบลข้างเคียงอีก 2 ตำบลคือ ตำบลท่าแร้ง และตำบลบางตะบูน ซึ่งอยู่ระหว่างวางแผน คาดว่าต้นปี 2023 น่าจะเริ่มลงพื้นที่คุยกับชุมชนได้
“การลงมือทำมาจนถึงตอนนี้ เป็นความภูมิใจแบบที่ไม่เคยมีมาก่อนในชีวิต…ที่จริงมันไม่ใช่แค่เราไปแก้ปัญหาการเรียนรู้ของคนอื่นนะ เราแก้ปัญหาการเรียนรู้ของเราด้วย คือเรียนรู้ในสิ่งที่เราไม่เคยทำ หรือไม่คิดว่าจะทำได้
วันนี้เราปลดล็อคให้น้องๆหลายคน จนเขาอยากจะเรียนต่อแล้ว…ถ้าเราแก้ปัญหานี้ได้ วันหนึ่งเราอาจไม่ต้องให้คนมาทำงานในกรุงเทพฯก็ได้ เขาอาจจะอยู่ที่บ้าน ทำอะไรที่มีรายได้ และสามารถช่วยชุมชนให้เติบโตไปพร้อมกัน”
คิน ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนบ้านแหลม
ในกระบวนการ Insight Tanks ช่วยให้เห็นว่า การแก้ไขปัญหาสังคมที่ซับซ้อนนั้น มีหลายเหตุ ปัจจัย และหลายจุดที่เราสามารถเลือกจุดที่จะเริ่มต้นได้ ตั้งแต่ก่อนที่จะเกิดปัญหา ระหว่างเกิดปัญหา หรือ หลังจากเกิดปัญหาแล้ว หากใครที่เห็นปัญหาอยู่รอบตัว แล้วไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร เราอยากให้เรื่องราวการเริ่มต้นของคินเป็นกำลังใจให้ทุกคน ลองหยิบยกปัญหาใกล้ตัวที่เราสนใจแล้วลองออกไปทำความเข้าใจผู้คนดู เผื่อเราจะเห็นช่องว่าง โอกาส หรือข้อมูลเชิงลึก (Insight) ที่นำไปสู่การสร้างการเปลี่ยนแปลงได้
ที่สำคัญคือเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ทบทวนในสิ่งที่เคยรู้ ได้เรียนรู้ในสิ่งที่ไม่เคยทำ และลงมือทำในสิ่งที่ไม่เคยคิดว่าจะทำได้ คุณอาจค้นพบศักยภาพของตัวเองในแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน