knowledge

เรื่องเล่าจากโค้ชมือใหม่

8 สิงหาคม 2022


, ,

ก่อนมาเป็นโค้ช

ปกติในการทำงานเราใช้บทบาทครูเป็นหลัก เป็นการทำกิจกรรมกับเด็กอนุบาลและประถม เช่น เล่านิทาน งานประดิษฐ์ และสันทนาการเด็ก ในส่วนของเด็กม.ต้นและม.ปลายจะเป็นการสอนยุวบรรณารักษ์ของแต่โรงเรียน โดยในการทำกิจกรรมแต่ละครั้งเราก็จะมีเป้าหมายอยู่แล้วว่ากิจกรรมนี้ผู้เข้าร่วมจะต้องได้รับอะไร หรือผลิตออกเป็นชิ้นงานอะไรออกมาในตอนท้ายกิจกรรม เราก็จะพยายามสอนเพื่อให้ได้ผลงานออกมาตรงตามเป้าที่วางไว้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เรารู้ล่วงหน้าอยู่แล้วว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างตั้งแต่ระหว่างทางจนถึงปลายทาง

คุณฮาซาน๊ะ โต๊ะเส็น หรือโค้ชซาน๊ะ
ผู้ช่วยบรรณารักษ์ อุทยานการเรียนรู้ปัตตานี

ทำไมถึงได้มาเป็นโค้ช รู้สึกอย่างไรกับการโค้ชครั้งแรก

ได้มาเข้าร่วมโครงการ TK Dreammakers ที่ทาง School of Changemakers เป็นผู้ดำเนินงาน ภายใต้การสนับสนุนของทาง TK Park ในบทบาทโค้ชเป็นครั้งแรก น้องๆ ที่เราโค้ชเป็นน้องม.ปลาย ในตอนแรกรู้สึกเครียดมากเลยค่ะ เพราะได้สองกลุ่มแตกต่างกันมาก ให้ความร่วมมือต่างกัน จนเราตั้งคำถามกับตัวเองว่าจะทำงานกับน้องอย่างไรได้บ้าง ทำให้ต้องปรับรูปแบบและบทบาทการทำงานของเราให้เหมาะกับน้องแต่ละทีม เมื่อพบว่าน้องไม่เข้าใจอะไร ก็จะต้องสลับบทบาทเป็นครูเเทน ในส่วนทีมที่พร้อมที่จะทำงาน แม้จะพูดไม่เก่ง แต่ก็ใช้ใบงาน Team role (หนึ่งในใบงานที่ใช้ในโครงการเพื่อให้สมาชิกทีมได้แบ่งหน้าที่ในการประชุม) มาทำให้ทุกคนได้พูด เราก็พบว่าน้องพยายามพูดมากขึ้น ซึ่งพอเห็นว่าน้องมีใจพยายามก็ทำให้เรามีแรงสู้ไปกับน้องเช่นกัน แม้งานจะยุ่ง เราก็ฮึบสู้ขึ้นมาเพื่อคุยกับน้องให้ได้ 

สิ่งที่ต้องปรับเมื่อสวมบทบาทโค้ช

ต้องหยุดตัวเองให้ได้ การโค้ชไม่ใช่การสอน ต้องพยายามจากคนที่สอนมาเป็นคนที่โค้ชจริงๆ พยายามตั้งคำถาม พอเห็นน้องๆ มีปัญหาก็จะใช้วิธีการถามให้เขาฉุกคิด แล้วให้เขาตัดสินใจเอง เราตั้งตั้งเป้าหมายว่าอยากให้เขาตัดสินใจเอง เลยต้องอดทนพอสมควร ต้องสะกดตัวเองให้ให้ได้ว่าเราอยู่ในบทบาทไหน บวกกับความคาดหวังของโครงการให้เรามาโค้ช เลยรู้สึกว่าต้องทำให้ได้ แม้จะมีบางครั้งที่รู้สึกว่าต้องสอนแต่น้อยครั้งมาก เพราะต้องการให้น้องคิดเองจริงๆ ซึ่งเราเองก็ชีแจงกับน้องให้ชัดเจนในเรื่องบทบาทของเราตั้งแต่แรกว่าพี่ไม่ใช่ครูนะ ถ้าเขามีปัญหาอะไรสามารถพูดคุยกันได้ เป็นคนรับฟัง ช่วยให้เขาเห็นตัวเลือกต่างๆ ในการทำงานหรือแก้ปัญหาที่เขาต้องพบเจอ

การเปลี่ยนแปลงที่ได้เห็นเมื่อสวมบทบาทโค้ช

จากที่เราฮึบสู้ไปกับน้อง จนเห็นการเปลี่ยนแปลงของน้อง เห็นว่าน้องสามารถสรุปงานได้ดีขึ้น มีสื่อสารที่ดีขึ้น และจับประเด็นได้ดีมาก ได้เห็นพัฒนาการของน้องๆ ก็รู้สึกภูมิใจ เพราะงานปกติเป็นงานวันต่อวัน เรารู้อยู่แล้วว่าคนที่เข้ากิจกรรมกับเราจะได้อะไร และจบในกิจกรรมเป็นครั้งๆ ไป  แต่พอมาโค้ช เราไม่รู้เลยจะว่าจะเกิดอะไรขึ้น จนมันเกิดการเปลี่ยนเเปลงในตัวน้องอย่างเห็นได้ชัดก็ทำให้ดีใจมาก 

ส่วนการเปลี่ยนแปลงของตัวเรา เราเห็นความอดทนในตัวเองไม่สอน จัดสรรเวลาที่ดีขึ้น การตั้งคำถามที่ดีขึ้น เรามีทางให้เขาเลือก ให้เขาตอบเอง ไม่ใช่คำถามแบบปลายปิดที่เลือกได้แค่คำตอบใช่ แต่เป็นการเปิดให้เขาคิดเขาเลือกมากขึ้น รวมถึงความรู้ใหม่ๆ ที่เราต้องมีเพื่อให้ทันกับน้องๆ เช่น เรื่องผลกระทบต่อการเรียนออนไลน์ เลยไปหาข้อมูลมาเพื่อที่จะคุยกับน้องได้ดีขึ้น พัฒนาทักษะด้านไอทีเพื่อให้ทันกับเด็กๆ ลดช่องว่างอายุ ได้ลองใช้ Google Meet ในการคุยกับน้อง จากที่ไม่เคยใช้มาก่อนเลย

ที่สำคัญคือมุมมองในการมองเด็กที่เปลี่ยนไป จากเดิมเรามีคำถามว่าน้องจะไหวไหม ใช้มุมมองตัวเองในการมองน้องว่าตอนที่ฉันตัวเท่าเธอฉันก็ไม่ไหว แต่น้องเดี๋ยวนี้คือเก่งมาก ไปไกลกว่าเราแล้ว ความคิดสร้างสรร ฝีมือในเรื่องต่างๆเขาดีขึ้นมาก 

ในเรื่องการมองตัวเองก็ดีขึ้น จากที่ไม่ได้คาดหวัง ว่าเราจะสามารถทำหน้าที่โค้ชได้ จากคนที่สอนคนอื่นมาลองโค้ช พออดทนได้ครั้งที่หนึ่ง ครั้งต่อๆ ไปเราก็รู้สึกว่ามันง่ายขึ้น สามารถจับทางได้ดีขึ้น 

ปัจจัยที่ให้เรามีความสุขในการเป็นโค้ช นอกจากการที่น้องไม่เกเร น้องตั้งใจทำงาน ทำให้เรามีแรงไปด้วยแล้ว ตัวเราเองก็อยากให้น้องประสบความสำเร็จ เราใส่ใจ เราให้ใจกับน้อง  มีความหวังดี  แต่ไม่ได้กดดันว่าน้องต้องทำให้ได้ ให้กำลังใจ สามารถปล่อยวางได้ ทำให้ค้นพบความสุขในการเป็นโค้ช และการมีเพื่อนร่วมงานที่คอยซัพพอร์ตเราในวันที่ต้องโค้ช มีคนรอบตัวให้การสนับสนุน มีเพื่อนโค้ชร่วมแชร์กัน ทำให้รู้สึกว่ามีเพื่อนร่วมแบ่งปันไปด้วยกัน 

อยากให้ทุกคนได้ลองเป็นโค้ชดูสักครั้งนึงในชีวิต เราอาจจะมีมุมมองที่แตกต่างไปจากเดิม การมาโค้ชครั้งนี้เรามาโค้ชคนอื่น แต่ไม่แน่ว่าเราอาจจะเอามาโค้ชชีวิตตัวเองก็ได้ และเวลาเราตั้งคำถามกับเด็ก เพื่อให้เด็กมีทางเลือกเยอะๆ แม้ว่าบางครั้งเขาจะเลือกคำตอบที่เราไม่ได้ต้องการ แต่ก็จะนำไปสู่ผลงานใหม่ๆ ที่ดีกว่า


ใส่ความเห็น

เข้าสู่ระบบด้วย

หรือ