การทำความเข้าใจปัญหาสังคม เป็นขั้นตอนหนึ่งที่สำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลง และเส้นทางที่จะได้มาซึ่งข้อมูลเชิงลึก (Insight) ช่องว่าง หรือโอกาสในการแก้ไขปัญหานั้น ผู้ที่ทำความเข้าใจปัญหาแต่ละคนต่างมีประสบการณ์และเรื่องราวการค้นหา Insight ที่แตกต่างกัน และเส้นทางนี้เองทำให้พวกเขาได้ค้นพบการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวเอง หลังจากปิดโครงการ Insight Tanks for Young ESG Innovator (YESGI) ไปแล้ว ทีมงาน School of Changemakers ได้ไปตามเก็บข้อมูล สัมภาษณ์ผู้เรียนที่เรียนจบ ว่า ได้เรียนรู้อะไรบ้างจาก กระบวนการทำความเข้าใจปัญหาเชิงลึก ตลอดระยะเวลา 8 สัปดาห์ มีมุมมองอะไรบ้างที่เหมือน – แตกต่างจากเดิม รวมถึงการเก็บฟีดแบคเพื่อนำมาใช้ในการปรับปรุงกระบวนการต่อไป หวังว่าเรื่องราวและมุมมองของพวกเขาจะเป็นแรงบันดาลใจให้ใครหลายๆคน มาร่วมสร้างประสบการณ์การเปลี่ยนแปลงด้วยกัน
มูฟ (ธัญชนก พุทธไพบูลย์ อายุ 25 ปี นักศึกษาปริญญาโท คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาคอมพิวเตอร์)
ที่มาที่ไป
มูฟมีรุ่นพี่ที่เป็นสถานปนิกชุมชนแนะนำให้เข้าร่วมโครงการนี้เพราะกำลังจะทำโครงการที่อำเภอจะนะด้วยกัน เขาเห็นว่าน่าจะมีประโยชน์กับการทำงานของเรา เพราะไม่เคยมีประสบการณ์ทำงานชุมชนมาเลย ตอนที่เห็นทีแรกรู้สึกสนใจ ชอบที่มีรายละเอียด กระบวนการที่ชัดเจน จับต้องได้ ทำซ้ำได้ จึงอยากเรียนรู้เครื่องมือ การทำความเข้าใจคน เพื่อจะนำไปใช้ในการทำงานชุมชน
ในชีวิตปกติที่ทั้งเรียนและทำงาน มีหลายอย่างต้องทำ ทำให้ผลัดวันประกันพรุ่งไม่ได้ศึกษาจริงจัง การได้เข้าร่วมโครงการ YESGI ทำให้มีตัวคอยกระตุ้น มีคนเรียนไปพร้อมกัน และยังมีคนช่วยให้ฟีดแบค ซึ่งดีมาก ๆ ที่ผ่านมาเวลาเรียนมหาวิทยาลัย อาจารย์ไม่ได้มาตรวจการบ้านหรือฟีดแบคเราอย่างละเอียด ทำให้เราไม่รู้ว่าควรจะพัฒนาหรือปรับปรุงตรงไหน แต่โครงการนี้มีคนคอยช่วยเราตลอด เหมือนมีคนช่วย validate สิ่งที่เราคิดทุกสัปดาห์ให้เราเดินหน้าต่อไป
โจทย์ที่มูฟนำมาใช้เรียนรู้ใน Insight Tanks เป็นประเด็นที่เจอในชีวิตประจำวันที่อยากนำมาใช้เรียนรู้ คือ เรื่องปัญหาการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารของผู้บริโภค โดยไม่มีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการผลิต ทำให้เกิดการบริโภคสินค้าที่มาจากกระบวนการผลิตที่ไม่ยั่งยืน นำไปสู่การแปรปรวนของสภาพอากาศ มูฟเคยตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทำไมเพื่อนหรือคนรอบข้าง แม้จะมีไลฟ์สไตล์ที่เหมือนกัน คิดคล้ายกัน แต่ในเรื่องบางเรื่อง เช่นเรื่องการกินอย่างยั่งยืนกลับคิดต่างกันมาก ๆ
มูฟ
“เราเคยพยายามชวนให้คนลดการกินเนื้อสัตว์ แล้วก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่า มันเป็น solution ที่ดีแล้วหรือยัง ประเด็นปัญหาที่เราเลือกมาในตอนแรก มันเป็นปัญหาจริง ๆ หรือเปล่า”
พอได้ลองไปสัมภาษณ์ รู้สึกชอบมากที่บังคับให้ไปคุยกับคนเพราะปกติเราจะไม่คุยเรื่องพวกนี้ เราพยายามทำมาเยอะแล้วแต่ไม่ค่อยสำเร็จ พอได้เรียนรู้กระบวนการ ทำการบ้าน ทำให้เราเข้าใจมากขึ้น กว่าการพยายามทำให้คนอื่นเป็นเหมือนเรา ทำให้เข้าใจเพื่อนเรามากขึ้น เข้าใจสิ่งที่เขาคิด ทำให้เราต้องถอยหลังกลับมาคิดมากขึ้นว่า หากเราสนใจประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน เราควรจะหยิบแง่มุมไหนที่คนอื่นเขาสนใจ อินและอยากจะเริ่มต้นลงมือทำด้วย
มูฟบอกว่ากระบวนการเรียนรู้ worksheet ต่าง ๆ ทำให้เห็นตัวเองเยอะมาก ได้คิดเยอะขึ้น ที่ผ่านมาเหมือนคิดจากโจทย์ที่ต้องทำ ไม่ได้ทำจากความสนใจตัวเองจริง ๆ
สิ่งที่ชอบที่สุด
มูฟชอบกระบวนการสังเคราะห์ข้อมูลที่สุด แม้จะเคยรู้จัก User Journey มาก่อนหน้านี้แล้ว แต่คิดว่าวิธีการคิด ทำตอนเรียนมันต่างกัน ตอนนั้นพยายามเชื่อมสิ่งที่ได้มากับการดีไซน์และ Solution มาก ๆ เราคิดถึงโอกาส(Opportunity) น้อยมาก เพราะต้องพยายาม visualize ให้ออกมาเป็นวิธีการและการทำจริงให้ได้ แต่ใน Insight Tanks ชวนให้เรามองหาโอกาสและ Insight ทุกขั้นตอนที่เราทำ 1-2-3-4-5 เราค่อยปรับ เปลี่ยนทีละเล็กละน้อยมาตลอด พอถึงตอนสุดท้ายกลับรู้สึกว่าอยากทำใหม่หมดแต่แรกเลยเพราะมองเห็น Opportunity จากอันสุดท้าย ที่เราสามารถแตกไอเดียออกไปไปได้อีกเยอะมาก ๆ อยากจะหาข้อมูลมากกว่านี้ พูดคุยกับคนมากกว่านี้
ฮันนาน (ฮันนาน นิยมเดชา อายุ 17 ปี นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนพีระยานาวินคลองหินวิทยา)
ที่มาที่ไป
ก่อนหน้านี้ ฮันนานเคยเรียนคอร์สอื่นของ SOC แล้วอยากลงเรียนต่ออีก ตอนนี้กำลังศึกษาอยู่ชั้น ม.6 ใกล้จะเข้ามหาวิทยาลัย แม้จะเคยได้ยินปัญหาเรื่องการตกงานมาตั้งแต่เด็ก แต่ยังไม่เข้าใจชัดเจน เลยอยากทำความเข้าใจประเด็นนี้ดู คิดว่าเริ่มใกล้ตัวมากขึ้น
หัวข้อที่ฮันนานสนใจ คือ ปัญหาสุขภาพจิตวัยรุ่นของเพื่อนในห้อง เพราะยังหาตัวเองไม่เจอว่าอยากทำอาชีพอะไร อยากเรียนต่ออะไร
สิ่งที่ชอบที่สุด
ชอบหนังสือ Insight Tanks Workbook ที่ให้มา เป็นการอ้างอิงได้ดีว่าจะตั้งคำถามประมาณไหน พอส่งการบ้านไปแล้วมักจะย้อนคิดว่างานที่เราทำไปดีไหม ส่งไปแล้วมีคอมเม้นท์ ให้ทบทวนตัวเองในทุก session ได้กำลังใจจากพี่ที่ตรวจการบ้านทำให้เราอยากไปต่อ
“เหมือนมีคนคอยดูการทำงาน คอยดูการเติบโตของเราอยู่ นอกจากนี้ยังได้ฝึกการคิด ได้เปิดมุมมองอีกหลายเรื่อง ทั้งที่ทำประเด็นเดียว แต่กลับได้เข้าใจเพื่อนและคนรอบข้างขึ้นอีกเยอะมาก”
ฮันนาน
ชอบรูปแบบการทำงานด้วยค่ะ มีการทำงานที่เป็นระบบ ได้วางแผน กำหนดเวลา เป็นขั้นตอน ให้กำหนดปัญหา ลงลึก แล้วค่อย ๆ เริ่มทำงานโดยการตั้งคำถาม เตรียมตัวก่อนไปสัมภาษณ์ ได้ทบทวนตัวเองอยู่เรื่อยๆ ชอบการตั้งคำถามแล้วไปคุยกับคนว่าเขาคิดอะไรยังไง ได้คุยกับคนหลายแบบ เราเรียนรู้ที่จะไม่ตัดสินคนอื่น และเปิดมุมมอง
คิดว่าจะนำสิ่งที่เรียนรู้ไปปรับใช้ในอนาคตอย่างไร
คิดว่าจะนำทักษะที่ได้จาก Insight Tanks นี้ ไปใช้กับการเรียนมหาลัย นำการคิดอย่างเป็นระบบไปใช้ รู้สึกว่าวิชาหรือคอร์สแบบนี้ในระดับมัธยมไม่มีให้เรียน มีแต่วิชาการ ไม่มีที่ไหนสอนการคิดเลย
อยากบอกอะไรถึงคนอื่นๆที่อยากลงมือแก้ไขปัญหาสังคม แต่ยังไม่ได้เริ่มต้นลงมือทำบ้าง
แต่ละคนมีข้อจำกัดไม่เหมือนกัน อย่าเพิ่งคิดว่าทำไม่ได้ตั้งแต่แรก ถ้ามีโอกาสเราสามารถทำได้ถ้าตั้งใจทำจริงๆ ได้ลองพยายามทำดูอย่างน้อยก็ไม่เสียดาย
ป้อน (ญาตาวี อูปเสาร์ อายุ 20 ปี นักศึกษา ชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
ที่มาที่ไป
เห็นโฆษณาในเฟสบุ๊ค ของ SOC โดยตรงเลยลองกดดู ลังเลเหมือนกันว่าสมัครดีไหม เพราะค่อนข้างใช้เวลา แต่ลองชั่งใจแล้วคิดว่าคุ้มค่า ยิ่งเป็นช่วงปิดเทอมด้วย ที่ผ่านมาเราเห็นปัญหาสังคมหลาย ๆ อย่าง พอเห็นวัตถุประสงค์โครงการ รู้สึกสนใจ คิดว่าน่าจะช่วยให้เราออกมาเป็น outcome อะไรบางอย่างได้ก็เลยลองดู
อีกอย่างหนึ่งคือ รู้สึกสะดุดตา คำว่า Insight เพราะสาขาที่เรียนเราเรียนเกี่ยวกับพวก Data เรื่อง Insight จึง ตอบโจทย์เราด้วย ซึ่งตรงตามความคาดหวังมาก เพราะโครงการนี้ตั้งแต่ต้นจนจบช่วยพาเราไปในทิศทางที่ถูกต้องในการค้นหา Insight สอนตั้งแต่เรื่องพื้นฐานแม้คนที่ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อนก็สามารถทำไปด้วยกันได้ มี guideline ที่ชัดเจน เข้าใจง่าย และมี feedback กลับมาเรื่อย ๆ ความรู้และทักษะที่ได้เราสามารถนำไปปรับใช้กับตัวเองและงานต่อไปค่ะ
สิ่งที่ได้เรียนรู้จาก Insight Tanks
โครงการค่อนข้างวางระบบมาดี เข้าใจตัวผู้เรียนว่าต้องการอะไร ไม่รู้อะไร และต้องไปทางไหนตั้งแต่ ช่วยเราให้เราจัดการความคิดได้ดีขึ้นจากที่ไม่รู้อะไรเลย ไม่มีอะไรในหัวเลย ค่อย ๆ นำทางไปทีละขั้น
สิ่งที่ชอบมากคือ ได้ทักษะการสัมภาษณ์ การเข้าหาคน ได้ไปสัมภาษณ์ ฝึกการตั้งคำถาม ปกติคิดว่าตัวเองป็นคนสื่อสารไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่ตอนไปสัมภาษณ์ อ่าน guideline ที่ให้มาละเอียดมากหลายรอบ คิดว่าตัวเองเตรียมคำถามไว้ดีในระดับหนึ่ง หลังจากจบได้ฟีดแบคจากพี่ Insight Assistant ที่ดี ทำให้มีกำลังใจ พอทำครบจบทุกขั้นตอนแล้วในที่สุดเราก็ได้คำตอบในสิ่งที่โครงการอยากให้เราได้เรียนรู้ คือ
“การที่เราได้ทำความเข้าใจคน เข้าใจว่าปัญหามีที่มายังไง ฝึกให้เราคิด ภายนอกเราอาจจะมองปัญหาด้วยเลนส์ของเราเอง ก่อนที่เราจะไปทำความรู้จัก สัมภาษณ์เค้าเรามีมุมมองที่ตัดสินเค้า แต่พอได้ไปค้นคว้าเพิ่มเติม เราได้เข้าถึงเค้าจริง ๆ เราได้ empathize คนจริง ๆ รู้เบื้องลึกเบื้องหลังความคิดของเค้ามากขึ้น”
ป้อน
คิดว่าจะนำสิ่งที่เรียนรู้ไปปรับใช้ในอนาคตอย่างไร
ทักษะที่ได้สามารถนำไปปรับใช้ในอนาคตได้หมดค่ะ ยกตัวอย่างใกล้สุด คือ ปี 4 จะต้องทำโปรเจกต์จบ สามารถนำไปใช้ในเริ่มต้นหาโจทย์ทำโปรเจกต์ได้ เรียกว่าแทบจะทุกงานสามารถนำไปปรับใช้ได้ทั้งนั้น เริ่มจากการคิดปัญหา การค้นคว้าหาข้อมูล Secondary Research การเข้าถึงผู้เกี่ยวข้อง กระบวนการสังเคราะห์ข้อมูล ทำงานกับความคิดตัวเองในตอนสุดท้าย สิ่งที่ได้เรียนรู้ในคอร์สนี้เราไม่จำเป็นต้องทำโปรเจกต์เพื่อสังคมอย่างเดียว สามารถนำไปใช้ได้หมดเลย
ยู (แพรวา ขอนพุดซา อายุ 18 ปี นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย บุรีรัมย์)
ที่มาที่ไป
กำลังเรียนอยู่ชั้น ม.6 ค่ะ และสนใจอยากเข้าคณะเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม พอเห็น Insight Tanks for YESGI ใน social media มีหัวข้อให้ทำเรื่องสิ่งแวดล้อมเลยสนใจสมัคร ที่สำคัญคือฟรีด้วย หัวข้อที่สนใจคือ ปัญหาแนวปะการังในอ่าวไทยเสียหายเนื่องจากชาวประมงขาดความรู้ในการทำประมงที่ถูกวิธี
ความประทับใจตลอดระยะเวลา 8 สัปดาห์
ประทับใจระบบตอบกลับของทีมงานค่ะ เวลามีข้อสงสัยอะไร เราสามารถถามทุกอย่างได้ มีพี่ๆ ทีมงานช่วยตอบคำถามตลอดทุกคำถาม สิ่งที่ชอบมาก คือ การมี deadline ส่งการบ้าน หากใครไม่ส่งตามกำหนดจะไม่จบตามเงื่อนไขโครงการเป็นการฝึกวินัยมาก หลายคนอาจจะส่งไม่ทัน แต่ส่วนตัวรู้สึกดีมากที่มีระบบแบบนี้ ถ้าอยากจะส่งการบ้านช้าเราสามารถแจ้งก่อนได้
ตัวเนื้อหาชอบการปูพื้นฐานและสอนให้เราจัดระเบียบความคิดเป็นขั้นตอนทีละขั้น ดีมาก ๆ เป็นทักษะที่เราขาดไปและได้มาเรียนในคอร์สนี้ นอกจากนี้กระบวนการเรียนรู้ยังช่วยฝึกตั้งคำถามและหาคำตอบไปในทางที่ถูกต้อง คิดและวิเคราะห์ปัญหาอย่างเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น ว่าสิ่งที่เราคิดเราจะทำได้จริงแค่ไหน นำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่เป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ได้ฝึกพูดคุยกับคนตอนสัมภาษณ์ ได้ฝึกเขียนภาษาทางการมากขึ้น ได้ประสบการณ์ใหม่ๆ มากขึ้นค่ะ
ชอบที่สุดคือ ตอนสัมภาษณ์ เพราะตอนแรกเรามีข้อมูลในระดับนึง พอไปสัมภาษณ์คน เราต้องเตรียมความพร้อมมาก ตื่นเต้น แต่พอได้สัมภาษณ์จริง การได้คุยกับคนที่สนใจด้านเดียวกับเรา คุยกับคนที่อยู่ในปัญหา เกี่ยวข้องกับปัญหา ทำให้เราได้เข้าใจคน เข้าใจโปรเจกต์ที่เราจะทำ รู้สึกดีมาก ๆ ได้ข้อมูลที่มีประโยชน์
ยู
“รู้สึกดีมากเมื่อ เราเห็นปัญหามากขึ้น เข้าใจคนมากขึ้น เห็นทางแก้จากข้อมูลจริงตอนสัมภาษณ์ ซึ่งรู้สึกว่าบางครั้งการที่เราหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตอาจจะผิด ทำให้เราเรียนรู้ว่าไม่ควรเชื่อข้อมูลจากแหล่งเดียว”
ก่อนหน้านี้เราหาข้อมูล อ่านข่าวมาเยอะเลยค่ะ ว่าชาวประมงทำลายระบบนิเวศทางทะเล เมื่อไปสัมภาษณ์พบว่า จริง ๆ แล้ว ชาวประมงก็รักทะเล รักอาชีพของเขา เขาไม่ได้ตั้งใจจะทำร้ายทะเลขนาดนั้น อาจจะมีบ้างแต่เป็นอาชีพที่ต้องเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เขาก็มีมุมของเขาและพยายามแล้ว พอคุยแล้วเห็นโอกาสอยากจะช่วยให้การทำประมงเกิดความยั่งยืน ถ้าเป็นประมงพาณิชย์อาจจะยาก แต่ถ้าประมงพื้นบ้านน่าจะทำได้ เลยระบุในข้อค้นพบสุดท้ายว่า ถ้าสนใจทำเรื่องประมงให้ยั่งยืน ควรจะเริ่มจากประมงพื้นบ้านค่ะ
เชน (คเชนทร์ เอกมั่น อายุ 35 ปี คุณครู โรงเรียนเอกวิทยา)
ที่มาที่ไป
คิดว่าหัวข้อน่าสนใจและเรามีประเด็นปัญหาที่สนใจและกำลังพยายามหาทางแก้ไขอยู่ เลยมองว่าคอร์สนี้อาจจะเป็นช่องทางให้เราแก้ไขปัญหาได้เลยลองเรียนดู จากที่แรกไม่ได้คิดว่าจะได้อะไรเยอะ เพราะเราลองแก้ปัญหานี้ทำด้วยตัวเองมาพักนึงแล้วแต่ยังไม่ค่อยเจอทางออก แต่เมื่อลองทำตามกระบวนการ Insight Tanks ปรากฏว่ากระบวนการทำให้เราเห็นโลกกว้างขึ้น เห็นปัญหาได้ชัดขึ้นเยอะ เจอคำตอบชัดขึ้น แม้จะยังไม่ชัดสุด ๆ ซึ่งไม่ได้เป็นที่กระบวนการ แต่เป็นที่ตกผลึกของเราเองที่ต้องกลับไปทำงานกับตัวเองต่อ
สิ่งที่ได้เรียนรู้จาก Insight Tanks
ครูเชน สนใจประเด็นปัญหาครอบครัว (ในโรงเรียนเขตชานเมืองกรุงเทพ) ขาดความเข้าใจเรื่องการพัฒนาคุณค่าในตนเองของบุตรหลานวัยประถม เพราะเชื่อว่าควรใช้อำนาจ และ/หรือความก้าวร้าวในการควบคุมบุตรหลาน เมื่อเริ่มเรียนรู้ ลองทำตามกระบวนการ แม้จะลังเลในตอนแรกว่าจะใช่หรอ แต่เค้าให้ทำอะไรก็ลองทำตามดู ลองค้นไปเรื่อย ๆ สักขั้นที่ 2-3-4 ปรากฏว่าเริ่มเห็นภาพชัดขึ้น ในกระบวนการสุดท้าย การสังเคราะห์ข้อมูล แม้เป็นปัญหาที่เราคิดว่ารู้อยู่แล้ว เมื่อได้ลองตอบคำถามใน worksheet ปรากฏว่ากระบวนการช่วยให้เราหาข้อสรุปได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะการทำ Journey Board ช่วยเราเปิดมุมมอง ปกติถ้าทำเองเรามักจะข้ามขั้นตอนนี้ไปเพราะคิดว่ารู้อยู่แล้ว แต่พอเขาให้ทำ ก็ลองก็เขียนซะหน่อย ตอนเขียนครั้งแรกให้เติม ก็ลองเติม พอเติมเสร็จ ทิ้งไว้ กลับมาดูยังยังเติมได้อีก พอเติมอีก กลายเป็นว่าเราเข้าใจปัญหาลึกขึ้น ขั้นตอนนี้ช่วยทะลายกรอบของตัวเราได้ดีมาก เป็นกระบวนการที่ได้เรียนรู้เยอะ ทั้งงานและชีวิตส่วนตัว เหมือนเป็นพื้นฐานกระบวนการคิด
สิ่งที่ได้กับตัวเอง คือ “อย่างเพิ่งด่วนตัดสิน” ปกติเราคิด รวบรวมข้อมูลในหัวแล้วสรุปไอเดียเลย แต่ Insight Tanks เน้นมากว่า อย่าเพิ่งคิดทางออกนะ ทำให้เรากลับไปเปิดดูปัญหาใหม่อีกรอบ และ ได้ mindset ที่กว้างขึ้น “มองให้รอบ” ว่าง ๆ กลับไปมองใหม่ เผื่อจะเจอ Insight เพิ่มเติม
เชน
“ถ้าเราไม่ได้เรียนจะมองว่าไม่มีทางออกหรอก ใครๆ ก็บอกว่ามันทำไม่ได้ พอลองทำแล้วเหมือนเราเห็นแสงสว่าง เห็นว่ามันมีทางออก ที่ผ่านมาอาจจะเป็นที่ใจเราเอง ที่คิดว่า มันไม่มีทางออก เมื่อเราละลายใจตัวเองทำให้เราเห็นมากขึ้น”
สิ่งที่ได้ด้านการทำงาน คือ รู้วิธีการนำให้คนคิด วางโครงสร้างการเรียนรู้ยังไงให้ผู้เรียนไปตามเราได้ โดยไม่ต้องใช้พลังงานเยอะ การเรียนออนไลน์ผ่าน platform ไม่ได้ปฏิสัมพันธ์กันมากนักแต่กลับพาเราจากจุดแรกไปยันจุดจบได้อย่างเป็นระบบที่ถูกวางไว้
อยากบอกอะไรถึงคนอื่นๆที่อยากลงมือแก้ไขปัญหาสังคม แต่ยังไม่ได้เริ่มต้นลงมือทำบ้าง
ลงมือทำ ผิดถูกไม่ใช่ประเด็น เจ็บมาเยอะและยังต้องเจ็บอีกเยอะ ถ้าเป็นปัญหาที่ง่ายใคร ๆ ก็คงหาทางออกไปหมดแล้วไม่เป็นปัญหาสังคม ถ้าอยากทำ ลงมือทำเลย เรียนรู้ และมีคนพร้อมช่วยเยอะแยะ เช่นที่ School of Changemakers ที่นี่เป็นต้น
ใครที่สนใจอยากแก้ไขปัญหาสังคม แต่ยังไม่ได้ลงมือ อยากชวนให้ลองเริ่มต้นง่ายๆด้วยการหยิบปัญหารอบตัวเรามาทำความเข้าใจ สิ่งที่ได้อาจไม่ใช่เพียงแค่จุดตั้งต้นในการแก้ไขปัญหาเท่านั้น แต่คุณอาจได้พบการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวคุณด้วยเช่นกัน