สถานการณ์ด้านสุขภาพจิตของคนไทยในรอบ 3 ปีที่ผ่านมาตกอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากมีการเปิดเผยตัวเลขเลขว่ามีคนไทยจำนวนมากถึง 1.5 ล้านคนต้องเข้ารักษาอาการทางจิตเวช และมีคนไทยที่มีภาวะซึมเศร้าตลอดช่วงชีวิตมากถึง 900,000 คน หรือประมาณ 1.8% ของประชากรทั้งประเทศ อีกทั้งยังมีกลุ่มคนที่มีอาการทางจิตหลงผิด หรือตกอยู่ในภาวะสะเทือนขวัญหลังเผชิญเหตุการณ์รุนแรง (PTSD) รวมกันแล้วอีกประมาณ 5 แสนคน
จากสถานการณ์ดังกล่าว หากประเทศไทยยังคงนิ่งเฉยอยู่ ธนาคารโลกและองค์การอนามัยโลกได้ทำการสำรวจและคาดการณ์ว่าในปี พ.ศ.2563โรคจิตเวชโดยเฉพาะโรคซึมเศร้าจะสร้างปัญหาให้กับผู้ป่วย และไทยจะขึ้นแท่นเป็นประเทศที่มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามากเป็นอันดับ 2 ของโลก
ซึ่งจากการหาสาเหตุความเครียดของงานวิจัยกรุงเทพโพลล์ในปี 2014 ซึ่งสัมภาษณ์คนไทยมากกว่า 1,194 คนทั่วทุกภูมิภาค พบว่าปัญหาเรื่องค่าครองชีพที่สูงขึ้นเป็นปัจจัยหลักที่เพิ่มความเครียด โดย 66.5 % ของคนที่ให้สัมภาษณ์ระบุว่าค่าครองชีพที่สูงขึ้นเป็นเหตุผลแรกที่ก่อให้เกิดความเครียด ตามมาด้วยความเครียดที่เกิดจากราคาของพืชผลทางการเกษตรที่ตกลง จำนวน 37.3 %, ปัญหายาเสพติด 36.7 % และ ความขัดแย้งในสังคม 33.9 %
จากการสำรวจจึงสรุปได้ว่าสาเหตุที่คนส่วนใหญ่กังวลมากที่สุดหนีไม่พ้นอัตราค่าครองชีพที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสวนทางกับรายได้ที่ขยับขึ้นเพียงเล็กน้อย ซึ่งจากการสำรวจพบว่า มากกว่า 47% ของผู้ให้สัมภาษณ์มองว่าปัญหาค่าครองชีพสูงเป็นปัญหาที่ไม่มีทางออก
ในระยะยาว หากปัญหาเหล่านี้ยังไม่ถูกแก้ไข คาดว่าคนไทยจะจมอยู่กับความเครียด ซึ่งความเครียดนั้นก็เป็นสาเหตุให้เกิดโรคชนิดต่างๆ ตามมามากมาย เช่น ความดันโลหิตสูง ไมเกรน โรคแผลในกระเพาะอาหาร รวมถึงอาการป่วยทางจิตที่รุนแรงขึ้นอย่างเช่นโรคซึมเศร้า และอาจขยายผลร้ายแรงถึงขั้นฆ่าตัวตายได้
ประเด็นที่น่าสนใจ
Link ข้อมูลอ้างอิง
http://englishnews.thaipbs.or.th/high-living-cost-...
http://www.journal.msu.ac.th/upload/articles/artic...
งานประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติครั้งที่ 14 และการประชุมวิชาการสุขภาพจิตและจิตเวชเด็กครั้งที่ 12 ประจำปี 2558