LSI Sharing of July ข่าวสารและเรื่องราวน่าสนใจประจำเดือนกรกฎาคม

LSI Sharing of July ข่าวสารและเรื่องราวน่าสนใจประจำเดือนกรกฎาคม

Highlight of the Month:

เรื่องราวน่าประทับใจจากโปรแกรม Learning Space Incubation

ทีมที่หลบฝน: อย่ากลัวที่จะล้มสิ่งเดิมและเริ่มต้นสิ่งใหม่ ถ้ามันคือสิ่งที่ใช่มากกว่า

image

เมื่อวันเสาร์ที่ 22 กรกฎาคม 2566 School of Changemakers จัดเวิร์กช็อป ‘การถอดเครื่องมือ ขยายผลพื้นที่เรียนรู้’ ให้กับทีมพื้นที่เรียนรู้ในโปรแกรม Learning Space Incubation โดยมีวิทยากรคือ พี่นุ้ย - พรจรรย์ ไกรวัตนุสสรณ์

อะตอม ไนท์ และนุ่น ทีม ‘ที่หลบฝน’ เป็นหนึ่งในทีมพื้นที่เรียนรู้ที่ได้เข้าร่วมเวิร์กช็อป โดยทีมมีกลุ่มเป้าหมายหลักที่ทำงานด้วยคือ เด็กวัยมัธยมอายุ 15-20 ปีในจังหวัดน่าน และเป้าหมายของทีมคือ ต้องการสร้างพื้นที่เรียนรู้ที่นำกระบวนการศิลปะภายใน (Inner Arts) มาใช้ในการออกแบบกิจกรรม เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาด้านจิตใจให้กับกลุ่มเป้าหมาย

จากการมาเข้าร่วมเวิร์กช็อป ทีมพบว่า การเสริมสร้างทักษะทางจิตใจให้กับกลุ่มเป้าหมายเพียงอย่างเดียวยังไม่ใช่สิ่งที่ตอบโจทย์สำหรับกลุ่มเป้าหมาย และเป็นโมเดลการทำงานที่สร้างรายได้ได้ยากกว่า เนื่องจาก กลุ่มเป้าหมายที่เราทำงานด้วยไม่ใช่กลุ่มเดียวกับที่จะจ่ายเงินให้เรา สิ่งที่ทีมยังขาดอยู่คือ การมองหาโอกาส (Opportunity) ซึ่งก็คือ การมองหาสิ่งที่สังคมขาด และทำให้มีคน (ที่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายโดยตรงของเรา) มาจ่ายเงินให้เราทำงานได้

พี่นุ้ยชวนทีมคิดว่า ‘มีวิธีไหนบ้างที่เราจะสามารถจัดกิจกรรมที่เด็กๆ สามารถทำแล้วเสริมทักษะทางจิตใจและสร้างรายได้ให้กับเด็กๆ ไปด้วยได้ในเวลาเดียวกัน’

ทีมจึงพบ ‘โอกาส’ ในการทำงานคือ จังหวัดน่านมีการจัดอีเวนท์และต้องการคนทำงานอยู่เรื่อยๆ ทีมสามารถออกแบบกระบวนการที่ฝึกทักษะทั้ง 2 ด้าน ได้แก่ ทักษะในการทำงานและทักษะด้านจิตใจ ให้กับกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงมีโอกาสได้ลองฝึกงานจริง (on-the-job training) อีกด้วย

นอกจากนี้ พี่นุ้ยยังแนะนำทีมว่า การทำงานควรปรับจาก product-driven ไปสู่ ‘market-driven’ โดยมองภาพให้กว้างกว่าศิลปะภายใน ตั้งโจทย์ก่อนว่า ‘ตลาดต้องการอะไร แล้วจึงนำศิลปะภายในเข้าไปเสริม’ เพื่อให้ความยั่งยืนเกิดขึ้นกับตัวกลุ่มเป้าหมายเราอย่างแท้จริง กลุ่มเป้าหมายจะมีทักษะทั้งทางด้านการทำงานและด้านจิตใจควบคู่ไปพร้อมๆ กัน

การตัดสินใจปรับการทำงานครั้งนี้ของทีมที่หลบฝนนับว่าเป็นการตัดสินใจครั้งใหญ่ และส่งผลให้ต้องกลับไปทบทวนการทำงานที่ผ่านมาอีกหลายจุด แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่ผิดพลาด ไม่ใช่การถอยหลัง และไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้ทีมไปต่อไม่ได้ หากเป็นก้าวใหญ่ก้าวต่อไปที่จะทำให้ทีมเดินหน้าต่อได้อย่างมั่นคงและมั่นใจมากขึ้น!

ทีม Len La Learn: เครื่องมือเพียง 1 ชิ้นที่นำไปสู่การจัดกิจกรรม Soft Opening ของพื้นที่เรียนรู้แห่งใหม่

image

จากการใช้เครื่องมือ ‘Target & Stakeholders Analysis วิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย’ ทีม Len La Learn ได้ลงพื้นที่สัมภาษณ์กลุ่มเป้าหมายหลักคือ เด็กประถมปลาย อายุ 8-12 ปี และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอีก 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. ครู ผู้อำนวยและโรงเรียน 2. ปราชญ์ชาวบ้าน 3. ผู้ปกครอง ทีมพบว่า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มแรก ซึ่งเป็นกลุ่มที่สำคัญและเป็นกลุ่มที่ทีมอยากที่จะทำงานด้วยนั้น ยังมีความเข้าใจในความหมายและการทำงานของ ‘พื้นที่เรียนรู้’ ที่หลากหลายและแตกต่างกัน ซึ่งหากเป็นแบบนี้ต่อไปก็อาจส่งผลให้การทำงานร่วมกันของทีมและกลุ่มครู ผู้อำนวยการและโรงเรียนนั้นยากขึ้น

ทีมจึงตัดสินใจจัดกิจกรรม Soft Opening พื้นที่เรียนรู้แห่งใหม่บนเกาะสมุย โดยเชิญกลุ่มคุณครูและผู้อำนวยในโรงเรียนของกลุ่มเป้าหมายมาเข้าร่วม มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการรับรู้ร่วมกันว่า พื้นที่เรียนรู้แห่งใหม่นี้คืออะไร จะมีหน้าตาอย่างไร รวมถึง ร่วมมือกันออกแบบพื้นที่เรียนรู้แห่งนี้ให้ออกมาตรงตามความคาดหวังของทุกๆ ฝ่าย และแผนงานหลังกิจกรรม Soft Opening นี้คือ การเริ่มทำกิจกรรมกับคุณครูที่มาเข้าร่วม มีเป้าหมายเพื่อสร้างประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ให้กับเด็ก ผ่านการทำครัวและศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่น

ทีม School of Changemakers เองก็กำลังจะเดินทางไปร่วมกิจกรรม Soft Opening ของทีม Len La Learn ด้วย สัญญาว่า Newsletter ฉบับหน้าจะกลับมาพร้อมรูปภาพกิจกรรมน่าตื่นเต้นกิจกรรมนี้แน่นอน!

Knowledge Sharing of the Month:

ข้อมูลความรู้ที่น่าสนใจและมีประโยชน์สำหรับการสร้างพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชน

Learning Spaces around the World ตัวอย่างพื้นที่เรียนรู้น่าประทับใจในต่างประเทศ

Evergreen เปลี่ยนเมืองให้เป็นพื้นที่เรียนรู้สีเขียว

image

การพัฒนาเมืองที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและฉับพลัน ส่งผลให้ตึกสูง คอนโดมิเนียม บ้านจัดสรร ห้างสรรพสินค้า และสิ่งก่อสร้างอื่นๆ เกิดขึ้นตามไปด้วย สิ่งหนึ่งที่มักถูกละเลยในขั้นตอนการวางผังเมืองและพัฒนาเมืองคือ ‘พื้นที่สีเขียว’ ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะช่วยให้คนในเมืองไม่รู้สึกตัดขาดจากธรรมชาติรอบตัว

Geoff Cape จึงก่อตั้งองค์กรที่มีชื่อว่า ‘Evergreen’ ขึ้นในเมืองโทรอนโต ประเทศแคนาดา โดยมีเป้าหมายในการสร้างเมืองให้เป็นเมืองที่ ‘อยู่ได้ดี (livable), มีพื้นที่สีเขียว (green) และรุ่งเรือง (prosperous)’ ผ่านการทำงานปรับเปลี่ยนพื้นที่สาธารณะให้กลายมาเป็นพื้นที่สีเขียวสำหรับทุกๆ คนในเมือง เพื่อเชื่อมโยงคนเข้ากับธรรมชาติ

Evergreen เริ่มต้นจากการจัดกิจกรรมปลูกป่าปลูกต้นไม้ให้กับบริษัท องค์กร และคนทั่วไปที่สนใจ หลังจากนั้น 2 ปี ก็ได้เริ่มทำงานร่วมกับโรงเรียนหลายแห่ง เกิดโปรเจกต์ ‘Learning Grounds’ ที่ปรับเปลี่ยนพื้นที่ว่างที่โรงเรียนมีอยู่แล้ว ให้กลายเป็นสวนขนาดย่อมๆ ที่สามารถเป็นสนามเด็กเล่นให้กับเด็กๆ ในโรงเรียนอีกด้วย

image
image

ในปี 2010 Evergreen พัฒนาโปรเจกต์ Evergreen Bricks Works’ ซึ่งเป็นโปรเจกต์ที่ใหญ่ที่สุดขององค์กร เป็นการพัฒนาตึกร้างจำนวนหลายตึกในเมืองโทรอนโตให้กลายเป็นศูนย์กลางของกิจกรรมที่ส่งเสริมการเรียนรู้และการเชื่อมโยงกับธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ก็สามารถมาเข้าร่วมกิจกรรมในพื้นที่แห่งนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นตลาดนัด นิทรรศการศิลปะ ค่ายสำหรับเด็กและเยาวชน สวนนก ผึ้งและผีเสื้อ และอื่นๆ อีกมากมาย

image
image
image

ตลอดระยะเวลาการทำงานที่ผ่านมา Evergreen ทำงานร่วมกับหน่วยงานหลากหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานอิสระ เพราะการเปลี่ยนแปลงเมืองนั้นไม่สามารถทำได้ลำพัง เป้าหมายต่อไปของ Evergreen ไม่ใช่แค่เรื่องของพื้นที่สีเขียวแล้ว แต่คือ การผลักดัน ‘Future Cities Canada’ พื้นที่กลางในการร่วมมือกันทำงานของหน่วยงานต่างๆ ทั่วแคนาดา พัฒนาเมืองให้กลายเป็นเมืองที่ ‘เท่าเทียม (equitable), เกิดขึ้นใหม่ (regenerative) และรุ่งเรือง (prosperous)’

Young Africa พื้นที่เรียนรู้ที่เชื่อมโยงเยาวชนและผู้ประกอบการ

image

ทวีปแอฟริกามีประชากรอายุระหว่าง 15-24 ปีจำนวนมากกว่า 200 ล้านคน และจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าภายในปี 2045 นี่อาจจะเป็นโอกาสดีที่จะมีกำลังคนจำนวนมากที่จะช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ในทางกลับกัน หากจำนวนงานมีไม่มากพอที่จะรองรับประชากรกลุ่มนี้ ก็อาจนำไปสู่ ‘ปัญหาการว่างงาน’ ได้

Dorien Beurskens เล็งเห็นถึงความสำคัญและเร่งด่วนของปัญหานี้ และพบว่า สาเหตุหลักของปัญหาการว่างงานคือ เยาวชนอายุระหว่าง 15-24 ปีขาดแคลนโอกาสในการฝึกทักษะการทำงาน ส่งผลให้ไม่ได้รับโอกาสในการทำงาน จึงตั้งองค์กร ‘Young Africa’ ขึ้น ทำหน้าที่เป็นพื้นที่เรียนรู้ที่สอนทักษะการทำงานที่ใช้ได้จริงให้กับเยาวชน เช่น เกษตรกรรม การโรงแรม การช่าง การตกแต่งภายใน การออกแบบเสื้อผ้า ฯลฯ

นอกจากทักษะ Hard Skills ที่เยาวชนจะได้เรียนรู้แล้ว ในโครงการของ Young Africa ยังมีคอร์สพื้นฐานอีก 3 คอร์สที่เยาวชนทุกคนต้องเรียน และมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมทักษะที่เป็น Soft Skills ได้แก่ 1. การเรียนรู้ทักษะชีวิต (Life Skills Education) เปิดโอกาสให้เยาวชนเรียนรู้วิธีการสร้างความมั่นใจในตัวเอง 2. การฝึกฝนทักษะการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship Training) เตรียมความพร้อมให้เยาวชนสามารถเปิดธุรกิจเล็กๆ ของตนเองได้หลังจบโครงการ 3. การเรียนทักษะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) เพื่อสามารถใช้คอมพิวเตอร์ระดับพื้นฐานได้

image
image

อีกหนึ่งความพิเศษของ Young Africa คือ โมเดลการทำงานที่เรียกว่า ‘The Young Africa Franchise Model’ ซึ่งเชื่อมโยงเยาวชนและผู้ประกอบการเข้าด้วยกัน ผ่านการทำงาน 3 ขั้นตอน ได้แก่ 1. เยาวชนที่มาเข้าร่วมโครงการจ่ายค่าเรียน โดยเงินส่วนนี้ไปสู่ผู้ประกอบการที่มาสอนในโครงการ 2. Young Africa Centre เปิดพื้นที่ให้ผู้ประกอบการในพื้นที่เข้ามาเช่าใช้ในการดำเนินงาน และเก็บค่าเช่ารายเดือน 3. Young Africa Centre ดูแลพื้นที่ให้บริการและคุณภาพของคอร์สเรียน รวมถึงสอนคอร์สพื้นฐาน 3 คอร์สให้กับเยาวชนในโครงการเอง

image

โมเดลการทำงานนี้ช่วยให้ Young Africa Centre ในแต่ละประเทศมีรายได้และอยู่รอดได้ด้วยตนเอง เยาวชนที่มาเข้าร่วมโครงการมีโอกาสได้เลือกเรียนทักษะที่หลากหลายจากผู้ประกอบการที่แตกต่างกัน และผู้ประกอบการก็ได้มีพื้นที่ในการทำงาน รวมถึงได้เป็นตัวอย่าง (Role Model) ให้กับเยาวชนด้วย

ในปัจจุบัน Young Africa ดำเนินงานใน 5 ประเทศในทวีปแอฟริกา ได้แก่ บอตสวานา โมซัมบิก นามิเบีย แซมเบีย และซิมบับเว

อ้างอิง

Update of the Month:

เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโปรแกรม Learning Space Incubation

Online Workshop: Time Management เรียนรู้การจัดการ ‘เวลา’ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง!

image

เมื่อวันพุธที่ 5 กรกฎาคม 2566 เวลา 19.00-21.00 น. School of Changemakers จัดเวิร์กช็อปสำหรับทีมพื้นที่เรียนรู้ในโครงการ Learning Space Incubation ในหัวข้อ ‘Time Management เรียนรู้การจัดการเวลาเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง’

‘เวลา’ เป็นทรัพยากรที่แท้จริงแล้วบริหารจัดการไม่ได้ เนื่องจากเราทุกคนมีเวลาอยู่อย่างจำกัด และมีเวลาอยู่เท่ากันเพียง 24 ชั่วโมง ไม่สามารถที่จะเพิ่มหรือลดได้ แต่สิ่งที่เราสามารถบริหารจัดการได้คือ ‘งาน’ หรือสิ่งที่เราต้องทำนั่นเอง เพราะฉะนั้น เราจึงควรกลับมาทบทวนกับตัวเองดูว่า เราจะหาวิธีการบริหารงานภายใต้ระยะเวลาที่เรามีอยู่อย่างจำกัดอย่างไรให้ได้ประสิทธิภาพมากที่สุด และได้ผลลัพธ์ตรงตามเป้าหมายที่เราตั้งไว้

ในบทความนี้ เราจะใช้หลักการง่ายๆ เรียกสั้นๆ ว่า ‘3P’ ในการเรียนรู้ทักษะการบริหารจัดการงาน หรือที่เรามักเรียกกันว่า ทักษะการบริหารจัดการเวลานั่นเอง

  1. PURPOSE (การตั้งเป้าหมาย)

ตัว P ตัวแรกในหลักการ 3P ก็คือ Purpose ในที่นี้หมายถึง เป้าหมายหรือความต้องการในชีวิตของเรา เนื่องจากเราทุกคนมีเวลาจำกัดเท่ากัน วันละ 24 ชั่วโมง แต่สิ่งที่เราอยากทำและอยากเป็นนั้นแตกต่างกันออกไป การกำหนดเป้าหมายหรือความต้องการในชีวิตของเราจึงเป็นสิ่งสำคัญ

เริ่มต้นจากการตั้งเป้าหมายของตัวเราในอีก 6 เดือนหรือ 1 ปีข้างหน้า ขึ้นอยู่กับตัวเราเอง โดยเลือกหัวข้อที่สำคัญที่สุดสำหรับเรา 3 หัวข้อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการงาน/อาชีพ ชีวิตส่วนตัว ความสัมพันธ์ การเงิน สุขภาพ ฯลฯ และเขียนอธิบายรายละเอียดในแต่ละหัวข้อลงไปว่า ‘ในเวลาอีก 6 เดือน/1 ปีข้างหน้า ฉันอยากจะ…’

ตัวอย่าง:

image
  1. PRIORITIZATION (การจัดลำดับความสำคัญ)

เมื่อเรารู้แล้วว่า เป้าหมายชีวิตหรือความต้องการที่สำคัญที่สุด 3 อันดับของเราคืออะไร ในการจะไปถึงเป้าหมายเหล่านั้นได้ ก็จำเป็นจะต้องมีสิ่งที่เราต้องทำระหว่างทางมากมาย ซึ่งการที่เราจะรู้ได้ว่า เราควรทำอะไรก่อน เราทำอะไรหลัง หรืออะไรที่ไม่จำเป็นต้องทำเลย เราก็จะรู้ได้ผ่านการ Prioritize หรือจัดลำดับความสำคัญของงานหรือสิ่งที่เราต้องทำทั้งหมด

เครื่องมือที่จะมาช่วยเราในขั้นตอนนี้ก็คือ The Eisenhower Box หรืออีกชื่อหนึ่งคือ The Eisenhower Matrix

image

วิธีการใช้งาน

2.1 ลิสต์รายการงาน

เรากำหนดกรอบเวลาเองได้ จะเป็นภายในสัปดาห์นี้หรือเดือนนี้ก็ได้ สำคัญคือ ต้องเป็นสิ่งที่เราจะทำทั้งหมดจริงๆ การกินข้าว การนอน หรือการออกกำลังกายก็นับรวมอยู่ในลิสต์นี้ด้วย เพราะสิ่งเหล่านี้ก็ถือเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากสามารถส่งผลกระทบต่อการทำงานหรือการใช้ชีวิตในด้านอื่นๆ ด้วย

2.2 จัดลำดับความสำคัญและประเภทงาน

ตารางนี้จะแบ่งออกเป็นทั้งหมด 4 ช่อง แบ่งออกเป็น

  • งานสำคัญ และเร่งด่วน คืองานที่เราต้องลงมือทำก่อนเป็นอันดับแรก เพราะทั้งสำคัญและเร่งด่วน เราควรเผื่อเวลาไว้สำหรับงานฉุกเฉินประเภทนี้ ซึ่งถ้าเรามีงานในช่องนี้มากเกินไป ก็แสดงว่าการวางแผนของเรากำลังมีปัญหา ควรปรับแผนใหม่
  • งานสำคัญ แต่ไม่เร่งด่วน คืองานที่เราต้องใช้เวลาทำให้เสร็จซึ่งแม้จะไม่เร่งด่วน แต่ก็เป็นงานที่มีความสำคัญและส่งผลต่อการไปถึงเป้าหมาย จึงควรจัดสรรเวลาทยอยทำงานในส่วนนี้ให้เสร็จ เพื่อไม่ให้กลายเป็นงานในช่องที่ 1 ต่อไป
  • งานไม่สำคัญ แต่เร่งด่วน คืองานที่ไม่สำคัญแต่ต้องรีบทำ ซึ่งถ้าเราไม่มีงานค้างในช่องที่ 1 และ 2 ก็สามารถทำงานส่วนนี้ได้ โดยเราอาจต้องพิจารณางานในช่องนี้ว่ามีอะไรที่เราทำได้และอะไรที่เราไม่จำเป็นต้องทำบ้าง แต่ถ้าเรามีเวลาไม่พอ ก็ต้องปฏิเสธไปบ้างหรือแบ่งไปให้คนอื่นช่วยทำแทน
  • งานไม่สำคัญ และไม่เร่งด่วน คืองานที่ไม่ส่งผลต่อการไปถึงเป้าหมาย ดังนั้นงานอะไรที่อยู่ในช่องนี้ควรหาทางตัดทิ้งไปให้หมดและไม่ควรหาข้ออ้างเพื่อทำ เราจะได้มีเวลาไปทำงานส่วนอื่นมากขึ้น

2.3 บันทึกลงปฏิทิน

ขั้นตอนสุดท้ายคือ การลงบันทึกงานหรือสิ่งที่เราต้องทำทั้งหมดลงบนปฏิทินของเรา ไม่ว่าจะเป็นปฏิทินออนไลน์ เช่น Google Calendar, Apple Calendar หรือปฏิทินออฟไลน์ เช่น สมุดแพลนเนอร์ ปฏิทินตั้งโต๊ะ โดยเราควรเริ่มบันทึกจากงานที่สำคัญและเร่งด่วนก่อน แล้วไล่ลำดับความสำคัญและเร่งด่วนลงไปเรื่อยๆ

  1. PRACTICE (การฝึกฝน)

เราต้องอย่าลืมว่า ทักษะการจัดการเวลานั้นเป็น ‘ทักษะ’ แสดงว่า เป็นสิ่งที่ฝึกฝนได้ และต้องได้รับการทำซ้ำๆ พร้อมกับปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เพื่อให้เราได้เครื่องมือที่เหมาะกับตัวเราจริงๆ

หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ผู้อ่านได้เห็นวิธีการจัดการเวลา หรือจริงๆ แล้วคือ การจัดการงานและสิ่งที่ต้องทำในชีวิตให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เราต่างมีเวลาที่จำกัด และมีสิ่งที่เราอยากทำมากมายเต็มไปหมด แต่อย่าลืมว่า ก่อนที่เราจะเริ่มต้นลงมือทำอะไร หยุดแล้วกลับมาถามตัวเองก่อนว่า เป้าหมายของเราคืออะไร และสิ่งที่เรากำลังจะตกลงลงมือทำนั้น จะช่วยให้เราไปถึงเป้าหมายนั้นได้จริงๆ หรือไม่

อ้างอิง

  • Workshop เรียนรู้การจัดการ 'เวลา' เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง จัดโดย School of Changemakers ในโปรแกรม Learning Space Incubation วันเสาร์ที่ 5 กรกฎาคม 2566
  • Introducing the Eisenhower Matrix (https://www.eisenhower.me/eisenhower-matrix/)

อ่าน LSI Sharing of the month ของเดือนอื่น ๆ

LSI Sharing of June ข่าวสารและเรื่องราวน่าสนใจประจำเดือนมิถุนายน
LSI Sharing of July ข่าวสารและเรื่องราวน่าสนใจประจำเดือนกรกฎาคม
LSI Sharing of August ข่าวสารและเรื่องราวน่าสนใจประจำเดือนสิงหาคม
LSI Sharing of October ข่าวสารและเรื่องราวน่าสนใจประจำเดือนตุลาคม